1 ธ.ค. 2019 เวลา 23:23 • การเมือง
"ความสวยความหล่อ" : ปัญหาที่สัมผัสได้ในตลาดแรงงาน
การมีหน้าตาที่สวยหล่อเหลาและมีรูปร่างที่สมส่วนเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน
นักเศรษฐศาสตร์มองว่าความสวยก็สะท้อนถึงประเด็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญด้วยเช่นกัน โดยประเด็นที่น่าสนใจที่สุดก็คือผลกระทบของความสวยความหล่อกับตลาดแรงงาน โดยสิ่งที่เรียกว่า "ความสวยความหล่อ" นี้ถูกมองว่าเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิด "การแบ่งแยก" หรือ "ความไม่เท่าเทียมกัน" ในตลาดแรงงาน เช่นเดียวกับการแบ่งแยกทางเพศ และการแบ่งแยกทางเชื้อชาติื
http://th.gofreedownload.net/free-vector/vector-abstract/team-work-drawing-staffs-office-workplace-colored-cartoon-266173/#.XeRJg2l8E0M
ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แห่งความสวย (Economics of Beauty) ได้อธิบายไว้ว่า การตัดสินใจของมนุษย์ ในบางครั้งอาจจะมาจากการตัดสินใจโดยใช้ความชอบและรสนิยมส่วนตัวมากกว่าในเรื่องของเหตุผล ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักจะนำมาสู่การตัดสินใจที่บิดเบือน
ยกตัวอย่างเช่น การประกวดร้องเพลงที่เราเห็นๆ กันอยู่ตามโทรทัศน์ก็มักจะได้ผู้ชนะที่มีหน้่าตาดีกว่าผู้ชนะที่มีความสามารถสูง เช่นเดียวกับการทำงานที่นายจ้างอาจจะชอบพนักงานที่บุคลิกหน้าตามากกว่าความสามารถที่แท้จริง
แนวคิดของเศรษฐศาสตร์กับความสวยไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่ได้มีการศึกษาไว้นานแล้ว
จะยกตัวอย่างงานวิจัยมา 3 เรื่อง ดังนี้
ศาสตรจารย์ Daniel Hamermesh ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์แรงงานที่ University of Texas at Austin ได้ทำการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของความหล่อความสวยกับความไม่เสมอภาคในตลาดแรงงาน โดยเขาได้ศึกษาพบว่าพนักงานที่สวยหรือหล่อมักจะมีรายได้มากกว่าพนักงานที่มีหน้าตาปานกลางอยู่ประมาณ 5-10% โดยจะส่งผลกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ในขณะที่พนักงานที่หน้าตาแย่กว่าเฉลี่ยจะได้รับรายได้ที่น้อยกว่าเช่นกัน แต่อย่างไรก็ดีความแตกต่างของรายได้นี้ขึ้นอยู่กับแต่ละอาชีพว่าต้องใช้หน้าตาหรือการแต่งตัวมากน้อยเพียงใด
งานวิจัยของ Biddle and Hamermesh (1993) ตามมาว่าถึงแม้พนักงานแต่ละคนจะมีความสามารถและระดับการศึกษาที่เท่ากันแล้ว พนักงานที่หน้าตาดีกว่าจะมีรายได้มากกว่าพนักงานคนอื่นๆ โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการเก็บข้อมูลของทนายความ แต่ละคนที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเดียวกันและในปีเดียวกัน พบว่าทนายความที่มีหน้าตาดีกว่าและจบการศึกษามาแล้ว 5 ปีจะได้รับเงินได้จากการว่าความมากกว่าเพื่อนร่วมชั้นที่จบมาพร้อมกัน รวมถึงทนายความในบริษัทเอกชนมักจะมีหน้าตาที่ดีกว่าโดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับทนายความในภาครัฐ
การศึกษาของ Hamermesh and Parker (2003) กล่าวว่าความสวยหรือความหล่ออาจจะทำให้เกิดการบิดเบือนในการวัดความสามารถที่แท้จริงของบุคคลได้ งานวิจัยนี้ใช้การเก็บข้อมูลของบุคคลที่ทำอาชีพอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย พบว่า อาจารย์สอนหนังสือที่มีหน้าตาดีกว่าจะได้คะแนนจากการประเมินทางการสอนสูงกว่าอาจารย์ทั่วไปที่มีอายุเท่ากันและสอนนักเรียนในกลุ่มเดียวกัน โดยเฉพาะกับอาจารย์ชายมากกว่าอาจารย์หญิง
ภาพจาก The standard
สรุป
ผู้ที่มีหน้าตาดีมักจะได้เปรียบเพื่อนร่วมงานอื่นๆ ในอันที่จะมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากกว่า ดารานักร้องที่ลงเลือกรับเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรจะได้รับความสนใจมากจากประชาชนและมีโอกาสสูงกว่าที่จะชนะการเลือกตั้ง
ความสวยความหล่อ ถือว่าเป็นสาเหตุสำคัญต่อความไม่เท่าเทียมกันในตลาดแรงงาน ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญอย่างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศชายกับเพศหญิง แต่ประเด็นทางด้านความสวยและความหล่อก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการบิดเบือนในตลาดแรงงานได้มาก โดยผู้จ้างควรที่จะจ้างคนงานหรือให้การปรับเลื่อนขั้นตามความสามารถจริง
ถึงอย่างไรก็ตาม ปัญหานี้คงไม่ใช่ปัญหาสำคัญอะไรที่จะต้องมีการแก้ไขเหมือนกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและปัญหาทางสังคมอื่นๆ เนื่องด้วยประการแรก ความสวยเป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืนอะไร ในท้ายที่สุดศักยภาพที่อยู่ข้างในคนๆนั้นจริงๆย่อมมีความสำคัญกว่า ประการที่สอง "สมการความพึงพอใจของมนุษย์" มิได้วัดคนเฉพาะแค่เพียงความสวยความหล่อแต่เพียงอย่างเดียวแต่ยังคงมีอีกหลายๆ ปัจจัยเพื่อมาประกอบการพิจารณาความชอบส่วนบุคคล ดังนั้นท่านผู้อ่านที่คิดว่าตัวเองไม่สวยไม่หล่อก็ไม่จำเป็นต้องกังวลอะไรครับ
เขียนโดย ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ จากหนังสือ เศรษฐศาสตร์นักคิด
ขอบคุณทุกคนที่ติดตามอ่าน และเราจะมาให้เนื้อหาดีๆอีกเรื่อยๆ นะครับ
โฆษณา