2 ธ.ค. 2019 เวลา 03:53 • ปรัชญา
ชีวิตกับแคคตัส (กระบองเพชร)
จากช่วงวันหยุดที่ผมเหน็ดเหนื่อยกับงานบริการมา ก็อยากจะหาเวลาเขียนบทความ สักหน่อย แต่เวลาจำกัดก็ยังพอเขียนสักเรื่องแบบเร่งด่วนโดยเอาบทความเก่าที่เคยลงเฟสบุ๊คมาปรับแก้ แล้วลงบทความ
ตอนนี้เป็นเวลาเที่ยงคืนพอดีหลังจากไปเก็บภาพบรรยากาศงานอีสานเขียวมา พอดียังไม่ง่วงก็เลยอยากจะเขียนบทความสักเรื่องขึ้นมา
มีหลายคนที่ให้ความสนใจในแคคตัส (กระบองเพชร) จึงอยากนำข้อคิดเกี่ยวกับการตีความของแคคตัสกับชีวิต
การที่แคคตัสจะสวยงามออกดอกจะต้องอาศัยอายุของต้นไม้ ความสมบูรณ์ วัสดุปลูกที่เหมาะสมกับสายพันธุ์ ปุ๋ย ยา อากาศ แสงแดด สภาพแวดล้อมต่างเป็นปัจจัยในการให้แคคตัสออกดอกที่สวยงาม
มันก็เหมือนชีวิตคนที่จะต้องสั่งสมความรู้ ประสบการณ์ จนเกิดความรู้ความเข้าใจ แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการเล่าเรียน อบรม ฝึกฝน บ่มเพาะ ให้ตกผลึก ทางความคิดและความรู้ ผู้เขียนจึงขอเสนอข้อคิดที่ได้จากแคคตัสดังนี้
1. หนาม การที่แคดตัสมีหนามก็เหมือนชีวิต ความแหลมคมของหนามก็เหมือนความแหลมคมทางสติปัญญา หรือต้องมีไหวพริบ รู้เท่าทันคน ไว้ป้องกันตัวเองจากอันตรายต่างๆ
มีครั้งหนึ่งตอนที่ผมทำรายการวิทยุ มีผู้ฟังโทรมาถามว่าอะไรที่แหลมคมที่สุด ผมจึงตอบกลับไปว่า ปัญญา เพราะสามารถแทงได้ทุกอย่าง ทั้งที่เป็นรูปธรรม สสาร วัตถุ และนามธรรม อสสาร วิญญาณ จิต
และอีกเรื่องคือปัญญาของขงจื้อ ที่เปรียบกับไผ่ที่ถูกทำเป็นลูกธนู ที่เมื่อถูกยิงไป จะมีความเร็ว และแหลมคม ไปได้ไกล
เหมือนหัวพระพุทธรูปที่ต้องปั้นให้ตรงเกศผมแหลมเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งปัญญาของพระพุทธเจ้า
ปัญญา (บาลี: ปญฺญา ) แปลว่า ความรอบรู้, ความรู้ทั่ว หมายถึงความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด
ปัญญา แปลว่า ความรู้ทั่ว คือรู้ทั่วถึงเหตุถึงผล รู้อย่างชัดเจน, รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ, รู้สิ่งที่ควรทำควรเว้น เป็นต้น เป็นธรรมที่คอยกำกับศรัทธา เพื่อให้เชื่อประกอบด้วยเหตุผล ไม่ให้หลงเชื่ออย่างงมงาย
ในศาสนาพุทธถือว่าปัญญาคือความรู้เข้าใจได้ในเหตุผล ดีชั่ว คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น ในทางวิปัสสนาคือความรอบรู้ในกองสังขารตามความเป็นจริง
ส่วนปรัชญาตะวันตกถือว่าปัญญาเป็นคุณธรรมทางจิตในการเข้าถึงความเป็นจริงในอุดมคติ
การใช้ปัญญาต้องยึดหลักโยนิโสมนสิการ (บาลี: yonisomanasikāra, คำอ่าน: โยนิโสมะนะสิกาน) หมายถึง การทำในใจให้ดีละเอียดถี่ถ้วน กล่าวคือ การพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วน
ทางพุทธศาสนาถือว่ามีคุณค่าเท่ากับความไม่ประมาทหรือ "อัปมาท" ซึ่งเป็นแหล่งรวมแห่งธรรมฝ่ายดีหรือ "กุศลธรรม" ทั้งปวง
นอกจากนั้น ยังจัดเป็นธรรมะข้อหนึ่งในกลุ่มธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญด้วยปัญญา และเป็นธรรมะมีอุปการะมากแก่มนุษย์
การใช้ความคิดถูกวิธี คือ การกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสายแยกแยะออกพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบและโดย อุบายวิธีให้เห็นสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย เช่น
คิดจากเหตุไปหาผล
คิดจากผลไปหาเหตุ
คิดแบบเห็น ความสัมพันธ์ต่อเนื่อง เป็นลูกโซ่
คิดเน้นเฉพาะจุดที่ทำให้เกิด
คิดเห็น องค์ประกอบที่มา ส่งเสริมให้เจริญ
คิดเห็น องค์ประกอบที่มา ทำให้เสื่อม
คิดเห็นสิ่งที่มา ตัดขาดให้ดับ
คิดแบบ แยกแยะองค์ประกอบ
คิดแบบ มองเป็นองค์รวม
คิดแบบ อะไรเป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้
เหมือนดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า ปญฺญา โลกสฺมิ ปสฺโชโต แปลว่า ปัญญาเป็นแสงสว่างแห่งโลก ขยายความ ปัญญาเป็นแสงสว่างที่ส่องนำทางของมนุษยโลก
2. การออกดอก จะต้องใช้เวลาก็เหมือนชีวิตคนเรา ที่ต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะความรู้ให้สมบูรณ์ และปฏิบัติอย่างถูกต้องจนได้รับผลคือความสำเร็จ
3. ดินสำหรับปลูก ก็เหมือนสถานที่ต้องเหมาะสม มีความพร้อมเพียง สำหรับดินส่วนประกอบหลักที่เราจะผสมก็ได้แก่ ดินที่ระบายน้ำได้ดี ผสมแกบและมะพร้าวนิดหน่อย
4. อากาศที่เหมาะสม ก็เหมือนสิ่งแวดล้อมที่ต้องเหมาะสมของคนเรา แสงแดด เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับต้นไม้ทุกชนิดรวมถึงแคคตัสด้วย ต้นไม้แต่ละชนิดต้องการแสงแดดมากน้อยแตกต่างกันไป สำหรับแคคตัสควรได้รับแสงแดดอย่างน้อยครึ่งวัน หรือมากกว่าวันละ 6-8 ชั่วโมง
และต้องพรางแสงให้ลดลงเหลือ 50-80 เปอร์เซนต์ หรือวางให้รับแดดในช่วงเช้าหรือบ่ายๆ ซึ่งเป็นช่วงที่แดดไม่แรงนัก
5. น้ำ ก็เหมือนคนเราควรดื่มน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ และมีประโยช์ สำหรับแคคตัสแม้จะทนแล้งได้ดี นานๆ รดน้ำทีก็ยังเติบโตได้ ไม่ควรให้น้ำมากเกินไป ทำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
–ความโปร่งร่วนของดินหรือวัสดุปลูก ดินที่โปร่ง ร่วนซุยจะระบายน้ำได้ดีกว่าดินที่เหนียว หรืออัดแน่นอยู่ในกระถาง
–ขนาดของกระถางหรือภาชนะปลูก ถ้ากระถางใหญ่ใส่ดินหรือวัสดุปลูกมากจะอุ้มความชื้นไว้นานกว่าภาชนะเล็กๆ
1
การเลือกความเหมาะสมของดิน อากาศ น้ำ ที่เหมาะสมในการรู้ว่ามีประมาณเท่าใด ใช้ระยะเวลาเพียงใด รู้ว่าตนควรเป็นอย่างไร คนเราก็เหมือนกันการจะประสบความสำเร็จต้องรู้สิ่งต่างๆ ในตนเอง ก็เหมือนหลักสัปปุริสธรรม 7 หลักธรรมของคนดี หรือคุณสมบัติของคนดี
1. ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ
2. อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล
3. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตน
4. มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ
5. กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา
6. ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักชุมชน
7. ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเลือกคบคนดี
6. ปุ๋ย ก็เหมือนการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตในหลายด้าน การฝึกอบรม การเรียนรู้ การปฏิบัติในสิ่งที่เราไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่เพียงพอจึงจำเป็นต้องแสวงหาความรู้เพิ่มเติม ปุ๋ยเป็นอาหารเสริมที่สำคัญของต้นไม้และแคคตัส แม้เราจะผสมปุ๋ยคอกหรือใบไม้ผุเมื่อตอนปลูกแล้วก็ตาม แต่ธาตุอาหารก็อาจไม่เพียงพอกับการเจริญเติบโต
การให้ปุ๋ยควรให้ 2 สัปดาห์ครั้ง โดยเจือจางกว่าอัตราที่ระบุไว้บนฉลากครึ่งหนึ่ง เมื่อให้แล้วต้องรดน้ำตาม นอกจากนี้อาจฉีดยากันเชื้อราสักเดือนละครั้ง หรือในช่วงฤดูฝน
ชีวิตของมนุษย์ก็เหมือนกัน การแสวงหาความรู้ในทางพระพุทธศาสนา ที่กล่าวถึงบ่อเกิดปัญญา ทำให้เกิดได้ 3 วิธี คือ
1. สุตมยปญฺญา โดยการสดับตรับฟัง การศึกษาเล่าเรียน (สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการฟัง) ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า สุสุตฺสงฺ ลภเต ปญฺญงฺ แปลว่า ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา
2. จินตมยปญฺญา โดยการคิดค้น การตรึกตรอง (จินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการคิด)
3. ภาวนามยปญฺญาโดยการอบรมจิต การเจริญภาวนา (ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการอบรม)
ปัญญา ที่เป็นระดับ อธิปัญญา คือปัญญาอย่างสูง จัดเป็นสิกขาข้อหนึ่งใน สิกขา 3 หรือ ไตรสิกขา คือ อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา
1
หลักปฏิบัติไตรสิกขา คือ การศึกษา ที่ฝึกอบรมพัฒนาชีวิต 3 ด้าน มีดังนี้
1.สิกขา/การฝึกศึกษา ด้านสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม จะเป็นสิ่งแวดล้อมทางสังคม คือ เพื่อนมนุษย์ ตลอดจนสรรพสัตว์ หรือสิ่งแวดล้อมทางวัตถุก็ตาม ด้วยอินทรีย์ 5 หรือด้วยกาย วาจา ก็ตาม เรียกว่า ศีล (คำเต็มเรียกว่า อธิสีลสิกขา)
2.สิกขา/ การฝึกศึกษา ด้านจิตใจ เรียกว่า สมาธิ (คำเต็มเรียกว่า อธิจิตตสิกขา)
3.สิกขา/ การฝึกศึกษา ด้านปัญญา เรียกว่า ปัญญา (คำเต็มเรียกว่า อธิปัญญาสิกขา)
ศีล คือ สิกขาหรือการศึกษาที่ฝึกในด้านความสัมพันธ์ ติดต่อ ปฏิบัติ จัดการกับสิ่งแวดล้อม ทั้งทางวัตถุและทางสังคม ทั้งด้วยอินทรีย์ต่างๆ และด้วยพฤติกรรมทางกาย วาจา ศีลเป็นเหมือนการจัดปรับพื้นที่และบริเวณแวดล้อมให้สะอาดหมดจด เรียบร้อย ราบรื่น แน่นหนามั่งคง มีสภาพที่พร้อมจะทำงานได้สะดวก คล่องแคล่ว
สมาธิ คือ สิกขาหรือการศึกษาที่ฝึกในด้านจิต หรือระดับจิตใจ ได้แก่ การพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ ของจิต คือ
ด้านคุณธรรม เช่น เมตตา กรุณา ความมีไมตรี ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เอื้อเฟื่อเผื่อแผ่ สุภาพอ่อนโยน ความเคารพ ความซื่อสัตย์ กตัญญู
ด้านความสามารถของจิต เช่น ความเข้มแข็งมั่นคง ความเพียรพยายาม ความกล้าหาญ ขยัน ความอดทน รับผิดชอบ ความมีสติ สมาธิ
ด้านความสุข เช่น ปิติยินดี ร่าเริงเบิกบานใจ พอใจ
สมาธิเปรียบเหมือนการเตรียมตัวของผู้ทำงานให้มีเรี่ยวแรงกำลัง ความถนัดจัดเจนที่พร้อมจะลงมือทำงาน
7. การดูแลอื่นๆ ก็เหมือนการยึดหลักการความใส่ใจ ตั้งใจ ตั้งมั่นในสิ่งที่ตนกำลังทำอยู่ หลักที่นำไปสู่ความสำเร็จ คือ อิทธิบาทสี่ ที่ประกอบด้วย
ฉันทะ คือความรัก ความชอบ ความพอใจในสิ่งที่เราทำและกำลังทำ
วิริยะ คือ ความหมั่นเพียร พยายาม ที่จะทำในสิ่งนั้นๆ ด้วยความอดทน
จิตตะ คือ การมีใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ ไม่คิดถึงสิ่งอื่น
วิมังสา คือ (ความไตร่ตรอง หรือ ทดลอง) คือ หมั่นใช้ปัญญา พิจารณาใคร่ครวญ ตรวจหาเหตุผล และตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น
-หากเห็นว่าลำต้นมีฝุ่นเกาะ ควรทำความสะอาดบ้าง โดยใช้แปรงขนนุ่มๆ หรือพู่กัน ปัดเบาๆ หรือใช้เครื่องเป่าผม เปิดระดับลมเบาที่สุด และทำความสะอาดโคนต้นเพื่อป้องกันแมลงรบกวน
-หากต้นเสียหาย เช่น เน่า แห้ง ให้ตัดส่วนที่เสียหายทิ้งให้หมด
-แคคตัสที่แตกหน่อเป็นกลุ่มๆ ควรตัดแต่งบ้าง เพื่อให้ต้นแตกหน่อใหม่และสวยงาม
-แคคตัสที่ออกดอกแล้วและเหี่ยวแห้ง ให้เด็ดดอกทิ้ง
ผมว่าชีวิตคนเราก็เหมือนกับแคคตัสที่กว่าจะเจริญงอกงามออกดอกได้นั้นต้องใช้เวลา ต้องให้น้ำ ให้ปุ๋ยอย่างพอเหมาะ มีอากาศที่เหมาะสม คนเราก็เช่นกัน
ชีวิตของเราทุกคนถ้าทำอะไรโดยไม่เต็มที่ความสำเร็จก็คงมาไม่ถึง แต่ถ้ามีการปฏิบัติอย่างเต็มที่ทุกสิ่งทุกอย่างก็มาเอง ก็เหมือนแคคตัส ก็ต้องรอเวลาและการดูแล รักษา ถึงจะออกดอกสวยๆ ให้ได้เห็น
ดังนั้น การจะประสบสำเร็จในชีวิต ก็ต้องอาศัยปัจจัยหลายด้านเหมือนกับแคคตัส เพราะน้อยคนนักจะเห็นแคคตัสที่ปลูกออกดอก ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านทุกท่าน
ด้วยความปรารถนาดี
โฆษณา