4 ธ.ค. 2019 เวลา 04:57 • ปรัชญา
ศรัทธา โชคลาภ วาสนาและปาฏิหาริย์
วันพระก็เลยอยากจะเขียนอะไรที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาสักหน่อยครับ อันที่จริงมันไม่ได้ถือว่ามีความสำคัญอะไรมาก แต่ก็ต้องรู้
เมื่อหลายวันที่ผ่านมาในช่วงที่หวยออก ผมยังคิดว่าอยากจะเขียนเกี่ยวกับโชคลาภวาสนา ของแต่ละบุคคล และมันก็สอดคล้องกับประเพณีงานไหม ในขอนแก่น ที่มีอายุครบ 222 ปี
และมันก็เป็นที่มาของผลหวยออก คือ 22 สอดคล้องกับที่ชาวขอนแก่นถูกหวยเลข 22 คิดเป็น 80% ของคนในจังหวัด รวมทั้งผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในนั้น
ผมไม่ได้สนับสนุนให้คนเล่นหวยนะครับ แต่เพราะมันอาจจะเป็นช่วงเวลาดีๆ สำหรับเราก็ได้ ที่โชคลาภวาสนามาบรรจบ
สำหรับ ศรัทธาหรือความเชื่อในทางศาสนาได้แบ่งเป็นสี่อย่าง คือ
1. กัมมสัทธา เชื่อกรรม เชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่า เมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา คือ จงใจทำทั้งรู้ ย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความชั่วความดีมีขึ้นในตน เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป การกระทำไม่ว่างเปล่า และเชื่อว่าผลที่ต้องการ จะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือนอนคอยโชค เป็นต้น
2. วิปากสัทธา เชื่อวิบาก เชื่อผลของกรรม เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วย่อมมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว
3. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของ จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบาก เป็นไปตามกรรมของตน
4. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจในองค์พระตถาคต
ศรัทธา คือความเชื่อเราจำเป็นจะต้องยึดหลักปฏิบัติเพื่อไม่ให้โดนหลอกจนกว่าจะพิสูจน์ด้วยตัวเอง ในกาลามสูตร (เรียกอีกอย่างว่า เกสปุตตสูตร) เป็นหลักแห่งความเชื่อที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชน ไม่ให้เชื่อสิ่งใด ๆ อย่างงมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณโทษหรือดีไม่ดีก่อนเชื่อมี 10 ประการดังนี้
1. มา อนุสฺสวเนน - อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
2. มา ปรมฺปราย - อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
3. มา อิติกิราย - อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
4. มา ปิฏกสมฺปทาเนน - อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
5. มา ตกฺกเหตุ - อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ (การคิดเอาเอง)
6. มา นยเหตุ - อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน (คาดคะเน)
7. มา อาการปริวิตกฺเกน - อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
8. มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา - อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
9. มา ภพฺพรูปตา - อย่าปลงใจเชื่อมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
10. มา สมโณ โน ครูติ - อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา
สำหรับโชคลาภวาสนา
วาสนา หมายถึง บุญบารมี, กุศลที่ทำให้ได้รับ หรือลาภยศ คุณความดีที่สั่งสมมา, สิ่งที่ฝังอยู่ในใจ, ความรู้ความความประพฤติที่เกิดติดมาจากชาติก่อน บุญบาปที่อบรมมา จริยาที่ประพฤติจนเคยชิน กุศลให้ถึงซึ่งยศศักดิ์ อำนาจ โดยจำแนกออกเป็นข้อ ๆ ดังนี้
วาสนาก็คือ บุญกุศล ความรู้ที่สะสมไว้ทั้งในชาติปางก่อนและในปัจจุบัน ซึ่งจะตอบสนองต่อบุคคลที่ได้สะสมไว้มากน้อยตามแต่อัตภาพ วาสนาจึงมีลักษณะคล้ายกับผลของกรรม และบารมีที่สะสมไว้และจะตอบสนองในเวลาต่อมา
และปาฏิหาริย์นั้นพระพุทธเจ้าสอนไว้ว่ามี ๓ อย่าง คือ
๑ อิทธิปาฏิหาริย์ เป็นปาฏิหาริย์ในเรื่องฤทธิ์ คือการแสดงฤทธิ์หรือความเป็นผู้วิเศษ ดลบันดาลอะไรต่าง ๆ เหาะเหินเดินอากาศ หูทิพย์ ตาทิพย์ เป็นต้น
๒ อาเทศนาปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการทายใจได้ ทายใจโยมได้ว่า อ้อโยมกำลังคิดเรื่องนี้ โยมกำลังคิดว่าหลังจากฟังธรรมนี้แล้วจะไปโน่น หรือว่าฟังองค์แสดงธรรมแล้ว คิดต่อองค์แสดงธรรมว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อะไรทำนองนี้ คือทายใจได้อันนี้เรียกว่าอาเทศนาปาฏิหาริย์
๓ อนุศาสนีปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือคำสอนที่เป็นอัศจรรย์ คำสอนที่แสดงความจริงให้ผู้ที่ฟังรู้เข้าใจ มองเห็นความจริงเป็นอัศจรรย์ แล้วก็สามารถนำประพฤติปฏิบัติตามได้ผลจริงเป็นอัศจรรย์ อันนี้คือให้โยมเกิดปัญญา รู้ความจริง
พระพุทธเจ้าทรงแนะนำและสนับสนุนให้ใช้อนุศาสนีปาฏิหาริย์ เพราะเป็นการความเพียร ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ฤทธิ์ให้เกิดความเชื่อ
ผู้ที่ศรัทธาต่อคำสอนโดยตรงควรที่จะเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาสอนให้เชื่อในหลักเหตุผล การบูชาขอหวย หรือโชคลาภวาสนาเป็นเพียงสิ่งที่เกิดจากกรรม
โชคลาภ วาสนา และปาฏิหาริย์จึงเกิดจากผลของการประพฤติปฏิบัติ การสร้างบุญกุศล จึงเป็นเครื่องช่วยให้บุคคลผู้นั้นไปสู่แต่สิ่งที่ดี หรือพบเจอแต่สิ่งดีงาม
หากผู้ศรัทธาต่อพระพุทธศาสนายังมีการปฏิบัติ จนลืมหลักปฏิบัติที่แท้จริงก็จะทำให้มีแต่อ้อนวอน ขอพร แต่โชคลาภ ไม่คิดที่จะดำเนินชีวิตตามหลักคำสอน คือ ศีล สมาธิ และปัญญา
การที่จะเชื่อสิ่งใดควรใช้ปัญญาในการนำมาวิเคราะห์มากกว่าการเชื่อแบบลืมหูลืมตา ที่ไหนให้หวยเด็ดก็พากันไป ที่ไหนให้โชคลาภก็พากันเชื่อ หรือที่ไหนมีผู้วิเศษก็พากันไปกราบไหว้
ทั้งที่ความจริงแล้วพระพุทธศาสนาก็มีการสอนอยู่แล้ว จึงใคร่ให้ผู้อ่านตั้งอยู่ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา และเป็นผู้มีปัญญา วันพระนี้ขอให้ทุกท่านมีความสุขความเจริญ
ด้วยความปรารถนาดี
โฆษณา