4 ธ.ค. 2019 เวลา 13:00 • ปรัชญา
นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ
พรุ่งนี้ก็จะถึงวันพ่อแห่งชาติแล้ว สำหรับบทความนี้ แอดนำเข้า จึงขอเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับ พระราชนิพนธ์แปลของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่อง “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” และข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้
ก่อนอื่น ขอเริ่มต้นด้วย พระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 25 กรกฎาคม พ.ศ.2506 ตอนหนึ่งที่ว่า
"การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด”
หนังสือ “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” ในหลวงทรงแปลจาก ต้นฉบับภาษาอังกฤษเรื่อง “A Man Called Intrepid” โดยชื่อ อิน-ตรี-ปิด (Inteprid) เป็นนามรหัส ของเซอร์วิลเลียม สตีเฟนสัน (William Stevenson) เป็นหัวหน้าหน่วยราชการลับอาสาสมัครของอังกฤษ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
โดยพระองค์ท่านทรงใช้เวลาว่างส่วนพระองค์วันละเล็กวันละน้อยในการแปล โดยทรงแปลหน้าแรกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2520 เสร็จวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2523 รวมเวลาแปลทั้งสิ้นถึง 3 ปี
Cr. Goodread
ซึ่งสำหรับชื่อเรื่องหนังสือนั้น จริงๆแล้วคำว่า Intrepid หากแปลตรงตัวจะได้ความหมายว่า “ความกล้าหาญ” แต่พระองค์ทรงเลือกใช้กลวิธีการแปล โดยการถ่ายทอดเนื้อหาและความหมาย แล้วนำมาปรับให้เป็นแบบไทยๆ…
โดยนายวิลเลียม สตีเฟนสัน เป็นชาวแคนาดา เขาเป็นคนที่อยากรู้อยากเห็น ช่างซักถาม เป็นหนอนหนังสือ แต่ก็ชอบเล่นกีฬาคือการชกมวย ต่อมาสตีเวนสัน ได้ไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่โชคร้ายที่ได้รับบาดเจ็บจนพิการไม่สามารถออกรบแนวหน้าได้อีก
เมื่อออกรบแนวหน้าไม่ได้ เขาก็เลยไปสมัครเป็นนักบิน “เหล่ากล้าตาย” แทน และออกปฏิบัติการอย่างกล้าหาญ จนได้รับเหรียญสดุดีสูงสุดสำหรับนักบินในสมัยนั้น
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและที่วิทยาลัยการบิน โดยเขาสนใจวิชาวิทยุการสื่อสารเป็นอย่างยิ่ง จนได้รับการยกย่องให้เป็น “นักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ที่ปราดเปรื่อง” เป็นผู้นำยุคในการพัฒนาวิทยุ และเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า
จนเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 สตีเฟนสัน ได้ร่วมงานกับวินสตัน เชอร์ชิล ในการต่อสู้กับนาซีเยอรมัน โดยเขาได้รับมอบหมายให้บัญชาการกรมสืบราชการลับ สามารถปฏิบัตงานได้อย่างอิสระ สามารถใช้ทูตลับหรือหน่วยลับใดก็ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐบาลฉุกเฉินก่อน โดยเชอร์ชิล ก็เป็นผู้ที่ให้นามรหัส “Intrepid” ให้แก่สตีเฟนสันด้วยตนเอง
ด้วยความเสียสละของเหล่าสายลับทั้งหญิงชาย ที่มุ่งสะกัดกั้นนาซีเยอรมัน ทำให้ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ โดยอาจกล่าวได้ว่า Intrepid คือปัจจัยสำคัญที่หยุดยั้ง ฮิตเล่อร์ไม่ให้ครองโลก!!
โดยสรุป Intrepid เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ และเสียสละ ถึงแม้จะไม่สามารถไปรบแนวหน้าได้ แต่ก็คอยสืบข้อมูล จนนำมาสู่ชัยชนะในสงครามได้ในที่สุด พระองค์ท่านจึงทรงเลือกใช้ ชื่อ “พระอินทร์” หรือ “นายอินทร์” ซึ่งคล้องเสียงกับคำพยางก์แรก ของ อิน-ตรี-ปิด ต่อด้วย ประโยค “ผู้ปิดทองหลังพระ” ซึ่งคล้องเสียงกับ Pid กลายมาเป็นชื่อเรื่อง “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” ด้วยประการนี้
“ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น”
หากพูดถึงเรื่องปิดทองหลังพระทีไร เนื่องจากส่วนตัวแอดนำเข้า เป็นแฟนฟุตบอลอังกฤษตัวยงเหมือนกัน ก็พาให้นึกถึงผู้เล่นตำแหน่งหนึ่งในสนามฟุตบอลนั่นก็คือตำแหน่ง “มิดฟิลด์ตัวรับ” ตำแหน่งที่ดูไม่ได้โดดเด่นมากเท่าไหร่ ค่าตัวก็ไม่ได้แพงอะไร เทียบกับกองหน้าที่ยิงประตูถล่มทลาย อย่าง ลีโอเนล เมสซี่หรือกองหลังสุดแกร่งอย่าง เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค
แต่จริงๆ แล้วตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรับที่ทำหน้าที่คอยปัดกวาด คอยตัดเกม ไม่ให้คู่แข่งทำเกมได้ถนัด ก็ถือว่าเป็นคนที่ปิดทองหลังพระ อย่างแท้จริง (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตำแหน่งอื่นไม่สำคัญนะ)
มิดฟิลด์ตัวรับ Kante Cr. Independent
หากประยุกต์ในการทำงานตัวอย่างเช่น การทำงานกลุ่ม แน่นอนว่าอาจมีบางคนที่มีทักษะการนำเสนองานที่ดีเยี่ยม อาจดูโดดเด่นต่อหน้าผู้อื่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสมาชิกในทีมจะไม่มีความสามารถ เชื่อเหลือเกินว่างานที่ออกมาดี ต้องมีคนที่คอยทำหน้าที่ “ปิดทองหลังพระ” อยู่ คือคนที่คอยช่วยเหลือคนอื่นในยามที่เพื่อนๆ มีปัญหา
พออ่านแบบนี้คิดว่าหลายๆ คนน่าจะนึกถึงหน้าเพื่อนคนนั้นได้ หากคิดออกแล้ว กลับไปขอบคุณเค้าด้วย ก็เพราะว่า…
“แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้"
ดังที่พระองค์ท่านให้พระบรมราโชวาทไว้ คือ พระจะไม่มีทางเป็นพระที่บริบูรณ์ได้ หากไม่มีใครปิดทองหลังพระ
ยิ่งร้ายไปกว่านั้น หลังพระอาจมีทับหลังอันงดงาม ซึ่งหากคนที่เอาแต่ปิดทองข้างหน้า ก็ไม่มีทางเห็นความสวยงามของ “ทับหลัง” ที่ด้านหลังของ “หลวงพ่อฉาย” พระพุทธรุปที่ประดับใน “วัดพระแก้ว” บ้านบางน้ำพระ ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท วัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 1900…
หลวงพ่อฉาย Cr.Eakpawin Travel
ก็คงเหมือนกับทีม หากไม่ได้มีการยอมรับความสามารถ และชื่นชมกันและกัน ก็คงเรียกว่า “ทีมที่ดี” ไม่ได้
เกร็ดความรู้: รู้ไหมทำไมร้านหนังสือในเครือ อัมรินทร์ ถึงชื่อ 'ร้านนายอินทร์'
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานนามจากหนังสือพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” เป็นชื่อร้านหนังสือในนาม “ร้านนายอินทร์” เป็นร้านที่อยู่เคียงข้างและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนนักอ่านมาตั้งแต่ 20 มิถุนายน 2537
พอทราบที่มาที่ไปของเรื่องนี้ ก็ยิ่งรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านมุ่งมั่นทำเพื่อประเทศไทย…ทำเพื่อแผ่นดินและลูกๆของพ่อ…
ภาพที่คุ้นตา Cr. Pantip
ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์
ที่มา:
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และกลยุทธ์ทางธุรกิจ
กดติดตาม "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า"
และสำหรับผู้นำเข้าส่งออก เชิญเข้าร่วมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ หาช่องทางนำเข้าส่งออก และข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออก ได้ที่
#แอดนำเข้า
โฆษณา