4 ธ.ค. 2019 เวลา 14:38 • การศึกษา
"แจ้งความยังไงให้ถูกต้องและมีผลตามกฎหมาย?"
ในฐานะประชาชนตาดำ ๆ คนหนึ่ง เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นจนทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินทั้งของตัวเองหรือคนใกล้ชิด
ยิ่งสาเหตุของความเสียหายนั้น เกิดขึ้นเพราะบุคคลอื่นเป็นผู้ก่อเหตุแล้วล่ะก็ คงหนีไม่พ้นที่จะต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเช่น ตำรวจ ให้เป็นผู้ติดตามจับกุมคนร้ายให้ประชาชนอย่างพวกเรา
pixabay
แต่หลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้อยู่ในขณะเกิดเหตุนั้นด้วย จึงมีความจำเป็นที่ผู้เสียหายต้องไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่เกิดเหตุเพื่อให้ติดตามและดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดต่อไป
ซึ่งจริงๆ แล้วคำว่าแจ้งความนั้นเป็นคำที่คนทั่วไปเรียกติดปากกันมา แต่ภาษากฎหมาย เรียกการกระทำนี้ว่า...
"การร้องทุกข์"
ซึ่งการร้องทุกข์ที่ถูกต้องและมีผลตามกฎหมายที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนสอบสวนต่อไปนั้นจะต้องประกอบ
ไปด้วย...
1) ผู้ร้องทุกข์ต้องเป็นผู้เสียหาย หรือผู้ที่กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจจัดการแทนในกรณีที่ผู้เสียหายไม่สามารถร้องทุกข์เองได้ เช่น พ่อแม่ ลูก หรือสามีภรรยา
2) มีผู้กระทำความผิดเกิดขึ้น
3) จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ได้
4) ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย
5) จะต้องกล่าวหาโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ (ข้อนี้สำคัญมากห้ามพลาดเด็ดขาด!)
ซึ่งการแจ้งความหรือการร้องทุกข์ที่มักจะผิดพลาดกันอยู่บ่อย ๆ ก็คือ
- ผู้เสียหายไม่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจนว่าต้องการให้เจ้าหน้าที่นำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษหรือดำเนินคดีจนถึงที่สุด
ซึ่งการแจ้งความโดยไม่แสดงเจตนาดังที่กล่าวมานั้นจะมีผลทำให้การแจ้งความในครั้งนั้นเป็นเพียงการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ไม่ถือเป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย
ในคดีอาญาที่ยอมความได้ เช่น ความผิดฐานฉ้อโกง หรือความผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้น การร้องทุกข์ที่ไม่ถูกต้องมีผลทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจสอบสวน และอาจทำให้คดีขาดอายุความได้ครับ
1
รู้หรือไม่?
ในคดีอาญาที่ยอมความได้นั้น ผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือฟ้องคดีเองต่อศาล ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด
มิเช่นนั้นจะถือว่าคดีขาดอายุความ
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา