4 ธ.ค. 2019 เวลา 15:02 • ปรัชญา
พระเจ้าสร้างโลก
สถาปนิก สร้าง พระเจ้า
. . . .
ผมพึมพำวลีนี้ทุกครั้ง ในบางโอกาสที่ได้พบกับพระเจ้า
ยามที่ได้เข้าเฝ้าพระองค์ในศาสถาน ...
ที่ถือเป็นสถาปัตยกรรมชั้นเยี่ยม
เมื่อไม่นานมานี้
ในบราซิล ยังมีคุณทวดคนหนึ่ง
แม้จะอายุถึง 100 ปี คุณทวดยังคงทำงานออกแบบอาคารอยู่
คุณทวดไม่เพียงออกแบบอาคารกว่า 600 หลังทั่วโลก แต่ยังมีส่วนร่วมในการออกแบบ "บราซิเลีย" เมืองหลวงของประเทศบราซิลอีกด้วย
คุณทวดมีชื่อว่า ออสการ์ นิมไมเยร์
คุณทวดออสการ์ หยุดทำงานออกแบบในปี 2015 ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ
เสียชีวิต
. . . . . . . . . .
เห็นเส้นทางที่เปี่ยมพลังชีวิตของคุณทวดออสการ์แล้ว นึกถึง เพื่อนๆที่ร่ำเรียนสถาปัตย์มาด้วยกัน
ณ.ปัจจุบัน  แต่ละคนก็ไปได้ดีกับหนทางอาชีพของตัวเอง โดยที่บางคน แทบจะไม่เคยจับงานออกแบบเลยตั้งแต่เรียนจบ
เส้นทางของพวกเขา แม้จะแตกต่างจากคุณทวดออสการ์ แต่มันก็น่าสนใจและทำให้เกิดร่องรอยชวนสะกิดสงสัยให้กับผม
อะไรคือสาเหตุ
แห่งการเหือดหายของ แรงบันดาลใจ
.
เจ้านายเก่าของผม เคยพูดถึงปัญหาสถาปนิกไทยแบบ หัวเราะร่า น้ำตาริน ไว้เมื่อยี่สิบปีก่อนว่า
"รสนิยมสูง รายได้ต่ำ"
วันนั้น ในฐานะผู้ที่เคยใฝฝันอยากเป็นสถาปนิกตั้งแต่อายุ 14
ท่ามกลางภาวะวิกฤตเศรฐกิจ ฟังคำเจ้านายแล้ว ผมเข้าใจสถานการณ์เพียงครึ่งเดียว คือ ปัญหาเรื่องรายได้ ส่วนภาวะของรสนิยม ผมไม่เคยรับรู้มาก่อนเลยว่า
ในโลกใบนี้ ...
พระเจ้าจะยินยอม ให้คนของพระองค์
สร้างความเหลื่อมล้ำของคุณค่าได้มากมายขนาดนี้
.
รสนิยมของคนเรา
มักบ่มเพาะมาจากประสบการณ์ชีวิต
ในฐานะนักออกแบบ ผมชื่นชอบเติมรสนิยมของตัวเองด้วยการเดินทางและอ่านหนังสือ
เมื่อชอบเดินทาง
ผมจึงเชื่อว่า ได้เห็นโลกมามาก
เมื่อชอบอ่านหนังสือ
ผมจึงเชื่อว่า ได้รู้จักความคิดของผู้คน
และทำให้ผมเชื่อต่อไปว่า เรามีความสามารถในการสร้างสรรค์งานออกแบบ
จวบจนกระทั่งวันหนึ่ง
ผมพบกับพื้นที่ที่ผมออกแบบไม่ได้
มันไม่ใช่พื้นที่ที่มีลักษณะซับซ้อน
มันเป็นเพียงแค่
ห้องน้ำ
ห้องน้ำในบ้านเจ้าสัวคนหนึ่ง
ห้องน้ำที่มีสุขภัณฑ์ไม่กี่ชิ้นเหมือนห้องน้ำอื่นๆกับพื้นที่ ที่กว้าง 8  ยาว10 เมตร
พื้นที่ ที่แค่พอสำหรับเป็นบ้านของชาวชุมชนแออัดได้ 3-4 ครอบครัวเท่านั้น
สถาปนิกหลายคนคงรู้สึกแฮปปี้กับการได้ออกแบบบ้านขนาดใหญ่แบบนี้ แต่สำหรับผม ...
รสนิยมจากการเดินทางและอ่านหนังสือ ย้อนกลับมาเล่นงานตัวตนของผมเข้าให้แล้ว
.
สถาปนิกสร้างพระเจ้า โดยการสร้างพื้นที่แห่งศรัทธาให้กับพระองค์
บางครั้ง เพียงใช้การจัดวางหินก้อนใหญ่ๆไม่กี่ก้อน กับรอคอยความร่วมมือของแสงตะวัน
ง่ายๆเพียงแค่นี้ ก็สามารถสร้างเรื่องราวระหว่างศรัทธากับปัญญาได้ไม่รู้จบ
และเมื่อนั้น พระเจ้าจะจุติขึ้นมาอย่างเงียบๆ
พร้อมกับความใฝฝันของผู้คน
.
ตะวันตก ล่องลอยบนฟ้า
ตะวันออก เจิดจ้าในใจ
ผมพึมพำวลีนี้ ยามอยู่ต่อหน้าพระพุทธองค์ในอุโบสถเก่าแก่ของเมืองโบราณแห่งหนึ่ง
ความเงียบ ความน้อย ความว่าง
ทำให้เราเข้าใจอะไรๆได้มากขึ้น
บางครั้ง สิ่งที่มีคุณค่าจริงๆ
ไม่ต้องไปแสวงหาจากที่อื่นไกล..
.
หลังจากงานออกแบบบ้านขนาดมหึมาของเจ้าสัว ผมถอยตัวเองลงมา รับงานออกแบบที่เล็กลง นั่นหมายถึง ค่าวิชาชีพก็ลดน้อยลงไปด้วย
แต่ผมกลับรู้สึกสัมผัสถึงความเป็นจริงได้มากขึ้น
และเมื่อเราไม่บิดเบือนความจริง
เราจึงเห็นคุณค่าของความงาม
สิ่งมหัศจรรย์ที่สุดในกระบวนการออกแบบ คือการเข้าไปมีส่วนร่วมในความฝันของผู้คน
การปรับปรุงบ้านเก่า  หรือการออกแบบเว้นที่ว่างเล็กๆสำหรับปลูกผัก
หรือการเริ่มต้นในพื้นที่ใหม่หลังมรสุมชีวิต
สิ่งเล็กๆเหล่านี้ กลับคล้ายเป็นโลกทั้งใบสำหรับพวกเขาเหล่านั้น
ดังนั้นการสร้างงานสถาปัตยกรรม
จึงมิใช่มีไว้เพื่ออวดอ้างหรือปักหมุด
แต่มันดำรงอยู่เพื่อรับใช้ความฝันของผู้คน
รอยยิ้มและคำขอบคุณจากเจ้าของอาคาร คือผลพลอยได้ ที่ต่อเติมแรงบันดาลใจให้สถาปนิก ..
ให้มีแรงที่จะก้าวเดินต่อไป
.
ถ้าต้องเลือก... ระหว่าง
การทุ่มเทเพื่อให้ได้เป็นสถาปนิกใหญ่กับการแต่งงาน
พี่จะเลือกอะไร ?
รุ่นน้องสถาปนิกผู้มองโลกเป็นสีชมพู
ถามผมในค่ำคืนหนึ่ง
ผมเหลือบตามองหน้าน้อง พยายามมองลึกเข้าไปให้ถึงความฝันที่แอบซุกซ่อนอยู่
ผมเห็นความสับสนที่ผมคุ้นเคย เคลือบฉายอยู่ในแววตาคู่นั้น
ผมยิ้มให้กับคำถาม พลางพึมพำออกไปเบาๆ ราวกับเป็นคำตอบให้ตัวเองว่า
"ถ้าอยากจะสร้างโลก 
จงเลือกเป็นสถาปนิก ...
แต่ถ้าอยากสร้าง"คน"
จงเลือกครอบครัว"
. . . . . . . . . . . . . . .
** สัปดาห์นี้ผมติดภารกิจเดินทาง เรื่องบ้านๆจึงขอหยุดไว้ชั่วคราว ขอคั่นเวลาบทความนี้ ซึ่งผมเคยเขียนเล่าไว้นานแล้วในเฟสบุ๊ค วันก่อนเลื่อนหน้าจอกลับไปเจอ คิดว่าเนื้อหาพอจะเข้ากับ คอลัมน์"คิด แบบ สถาปนิก" จึงขออนุญาตเอามาให้เพื่ออ่านกันนะครับ
ถือเสียว่า เป็นเรื่องราวอีกแง่มุมหนึ่งที่แอบมองเบื้องหลังชีวิตของสถาปนิก
ส่วนความรู้เรื่องบ้าน จะกลับมาในตอนหน้านะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา