5 ธ.ค. 2019 เวลา 09:57 • ประวัติศาสตร์
MovieTalk มูฟวี่ชวนคุย:
ประมวลภาพ “ประติมากรรมของพ่อ”
วันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
วันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันพ่อแห่งชาติ
วันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันดินโลก
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสนพระราชหฤทัย และมีพระปรีชาสามารถในการสร้างสรรค์งานประติมากรรม ดังที่อาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการบำนาญ กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ซึ่งได้รับพระมหากรุณาให้เข้าไปปฏิบัติงานประติมากรรมถวายในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เล่าว่า ในหลวงฯ รับสั่งถึงการทำงานและเทคนิควิธีการทำแม่พิมพ์ จากการปั้น การหล่อ ทรงเข้าพระราชหฤทัยถึงกระบวนการและขั้นตอนของงานประติมากรรมด้านนี้เป็นอย่างดี โดยทรงศึกษาจากหนังสือด้านประติมากรรมและทรงลงมือปฏิบัติด้วยพระองค์เอง
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ได้ทรงสร้างสรรค์งานประติมากรรมฝีพระหัตถ์
รวม ๒ ชิ้นคือ
ชิ้นที่ ๑ รูปผู้หญิงเปลือยนั่งคุกเข่าทรงปั้นด้วยดินน้ำมัน ขนาดความสูง ๙ นิ้ว
ชิ้นที่ ๒ รูปปั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รูปครึ่งพระองค์ ความสูง ๑๒ นิ้ว
ทรงปั้นด้วยดินน้ำมัน ซึ่งต่อมาอาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ได้ขอพระราชทานพระบรม-
ราชานุญาตทำแม่พิมพ์หล่อเป็นปูนปลาสเตอร์ประติมากรรมฝีพระหัตถ์ชิ้นนี้ พระองค์ทรงจัดท่าทางและองค์ประกอบที่มีความกลมกลืนอย่างงดงามสะท้อนคุณค่าความงาม ทิ้งร่องรอยฝีพระหัตถ์ที่มีชีวิตการเคลื่อนไหวบนผิวดินน้ำมันที่ทรงปั้น
พระพุทธรูป ภปร.
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกา
ธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ทรงสนพระราชหฤทัยในการสร้างพระพุทธรูป เป็นลักษณะของการอนุรักษ์และสร้างสรรค์ โปรดเกล้าฯให้สร้างพระพุทธรูป ภปร. ปางประทานพรโดยดัดแปลงแก้ไขจากพุทธลักษณะของพระพุทธรูปที่วัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘ พระราชทานแนวพระราชดำริแก่ช่างปั้นพระพุทธรูปปางประทานพร ภปร. ให้มีพุทธลักษณะเข้มแข็งแต่ไม่แข็งกระด้าง อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ ในการนี้ทรงควบคุมดูแลการปั้นและการหล่ออย่างใกล้ชิดโดยตลอด โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูป ๒ ขนาด คือขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว และขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว ด้วยมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนมีไว้เพื่อสักการบูชาด้วย
พระกำลังแผ่นดิน หลวงพ่อจิตรลดา
ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘ มีพระราชดำริสร้างพระพิมพ์ส่วนพระองค์ครั้งแรก โปรดเกล้าฯ ให้แกะแบบแม่พิมพ์ด้วยหินลับมีดโกน แล้วหล่อเป็นปูนปลาสเตอร์ ต่อจากนั้นทำแม่พิมพ์ด้วยขี้ผึ้งจากรูปหล่อปูนปลาสเตอร์ แล้วทรงบรรจุผงศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ตามวิธีส่วนพระองค์จนสำเร็จเป็นองค์พระพิมพ์ภายหลังเปลี่ยนจากแม่พิมพ์ขี้ผึ้งเป็นแม่พิมพ์ยางทำให้สามารถหล่อพระพิมพ์ได้หลายๆ ครั้ง ด้วยมี
พระราชประสงค์จะบรรจุไว้ที่ฐานบัวหงาย
ด้านหน้าขององค์พระพุทธนวราชบพิตร
ด้วยพระองค์เอง และเพื่อพระราชทานแก่
ข้าราชบริพารและบุคคลอื่นไว้สักการบูชา
โดยให้ผู้รับพระราชทานนำไปปิดทองที่ด้านหลังองค์พระพิมพ์ และได้พระราชทานพระบรมราชโอวาทโดยสรุปว่า
“ให้ทำดีเหมือนกับการปิดทองหลังองค์พระพิมพ์ “
พระพิมพ์ส่วนพระองค์นี้ต่อมาเรียกกันว่า
หลวงพ่อจิตรลดา หรือ พระกำลังแผ่นดิน
พระพุทธนวราชบพิตร
ต่อมาเมื่อเดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๐๙ ทรงหล่อพระปางมารวิชัยขึ้นอีกองค์หนึ่ง ขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว ด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ และโปรดเกล้าฯ ให้ทำฐานองค์พระพุทธรูปเป็นกลีบบัว
มีขนาดที่จะบรรจุพระพิมพ์ส่วนพระองค์ได้
ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๙ โปรดเกล้าฯ ให้ช่างหล่อทำเป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว ฐานเป็นกลีบบัวหงายสำหรับบรรจุพระพิมพ์ส่วนพระองค์ และโปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นจำนวน ๑๐๐ องค์ เพื่อพระราชทานไปประดิษฐาน ณ จังหวัดต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักร และพระราชทานนามพระพุทธรูปนี้ว่า
“ พระพุทธนวราชบพิตร “
และจากการที่ผมได้ทำหน้าที่นักข่าว-ช่างภาพอาสาในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ตลอดจนตระเวนตามงานนิทรรรศการในหอศิลป์หลายแห่ง และได้มีโอกาสเก็บภาพถ่ายจากงานเหล่านั้นไว้เป็นจำนวนมาก
หนึ่งในนิทรรศการที่หอศิลป์ทุกแห่ง ได้มีการจัดนำเสนอผลงานประติมากรรมประเภท พระบรมรูปหล่อ, พระบรมรูปปั้น ซึ่งรังสรรค์ขึ้นจากความจงรักภักดีของบรรดาศิลปินที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ ๙
ผมจึงได้นำภาพถ่ายผลงาน “ประติมากรรมของพ่อ” มาให้ทุกท่านได้ชื่นชม เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระองค์
เรื่อง: มูฟวี่
Photo by มูฟวี่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา