5 ธ.ค. 2019 เวลา 10:22 • ปรัชญา
เมื่อเราได้เรียนรู้ว่าเราจะตายย่างไร
เมื่อนั้นเราถึงจะได้เรียนรู้ว่า...เราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างไร...
ตอนตี 1 เมื่อวานนี้ ขณะจะเข้านอนรอบ 2 ก่อนหลับได้อ่านเรื่องราวของ นพ.ริชาร์ด เตียว แพทย์ศัลยกรรมความงามชื่อดังชาวสิงคโปร์ ที่จบชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดในวัยเพียง 40 ปี ...ได้คุณค่ามหาศาลจากเรื่องนี้ จึงขอนำมาถ่ายทอดต่อในภาษาของพี่เจนเอง
คุณหมอริชาร์ดได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เด็กจากสื่อและสังคมที่ว่า
"การมีความสุข คือการเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ และการที่จะวัดความสำเร็จนั้น จะต้องเป็นคนที่ร่ำรวยมั่งคั่ง"
ทำให้คุณหมอชอบการแข่งขันตั้งแต่เด็กในทุกเรื่อง ตั้งแต่เรียน กีฬา และสุดท้ายเรื่องเงินทอง และนำมาสู่การผลักดันให้คุณหมอเปลี่ยนอาชีพ จากจักษุแพทย์ มาเป็นศัลยแพทย์ เพราะหมอเห็นว่า การจะหากินกับคนจน ไม่มีวันทำให้เขารวย แต่การหากินกับดารา นักการเมือง เศรษฐี และคนมีชื่อเสียงต่างหากที่จะทำให้เขารวย
หมอพบว่า คนส่วนใหญ่ มักจะมีความคิด "แพง" ติดอยู่เสมอ อย่างเช่น เราจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลสักพันสองพัน เราจะมองว่าแพง แต่ในขณะเดียวกัน เราอาจจะยอมจ่ายเป็นแสนเพื่อเป็นค่าเสริมความงาม
กิจการของหมอก็เจริญรุ่งเรืองมาก ผู้เข้าคลีนิคล้นแล้วล้นอีก หมอมีเงินเหลือเก็บมากมาย รายได้ต่อปีร้อยกว่าล้าน การออกรถเฟอรารีสักคันจึงเป็นเรื่องง่ายมาก รวมถึงการลงทุนต่างๆด้วย ชีวิตหมอกำลังไปสู่จุดสูงสุด
แต่วันหนึ่งขณะหมอกำลังออกกำลังกาย จู่ๆเกิดมีอาการเสียวสันหลังไม่หาย จึงไปตรวจ และพบว่า กระดูกไขสันหลังครึ่งหนึ่ง ถูกแทนที่ด้วยเซลล์มะเร็งไปแล้ว และมะเร็งได้กระจายไปทั่วสมอง ไขสันหลัง ปอดสองข้าง ตับ ต่อมหมวกไต ฯลฯ
หมายความว่า หมอเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย และเขาจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน
แน่นอนว่าหมอรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะชีวิตกำลังก้าวไปถึงจุดสูงสุด แต่แค่ชั่วข้ามคืน กลับได้รับข่าวร้ายใหญ่แบบคนละขั้ว ที่สำคัญคือ ญาติฝ่ายพ่อฝ่ายแม่ร้อยกว่าคน ไม่มีใครมีประวัติของโรคมะเร็งเลย การที่หมอจะป่วยเป็นมะเร็งมันจึงยิ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะมันไม่สมควรจะมาเกิดขึ้นกับหมอเลย
อ่านถึงตรงนี้...พี่เจนชะงักและเก็ทว่า ชีวิตที่ขึ้นสูงแล้วจู่ๆถูกกระฉากให้ลงเหว มันจึงเป็นเรื่องที่ยากจะรับได้ในขณะนั้น
ในขณะที่หมอรับการรักษาด้วยคีโม เขาได้ตระหนักและเริ่มเข้าใจว่า ความสุขที่แท้จริงคืออะไร เมื่อก่อนหมอแสวงหาความสุขด้วยการไขว่คว้าความร่ำรวย แต่หมอกลับค้นพบว่า ความสุขที่แท้จริงกลับเรียบง่ายและมาจากความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนรอบข้างเท่านั้นเอง
และสัจธรรมที่หมอได้ค้นพบคือ
"เมื่อเราได้เรียนรู้ว่าเราจะตายย่างไร
เราถึงจะได้เรียนรู้ว่าเราจะมีชีวิตอย่างไร"
เรื่องของคุณหมอริชาร์ดสัมผัสสะเทือนใจพี่เจนมาก
พี่เจนเป็นคนหนึ่งที่ชอบการแข่งขัน ก่อนหน้านี้อยู่ในโลกของการแข่งขันมาตลอดตั้งแต่ ป.3 เวลาทำอะไรสำเร็จ โมเมนต์ของการทำได้มันสัมผัสความสุขได้น้อยลงๆ และมันก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าทำเพื่อพิสูจน์ตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคอยเตือนตัวเองอยู่บ่อยๆ เวลาทำงานหรือทำโปรเจกต์จนลืมโลก
แต่พอได้อ่านเรื่องนี้ จึงได้ย้อนกลับมาคิดจริงๆว่า ทุกวันนี้ เราทำอะไรมากมายหลายอย่างไปเพื่ออะไร? คำตอบหนึ่งที่ชัดเจนมากคือ ทำไปเพื่อความสุข
แต่ดูเหมือนว่ามันช่างย้อนแย้งกันเองเสียเหลือเกิน
เพราะยิ่งพยายามมากเท่าไร...ความสุขก็ยิ่งห่างไกลออกไปทุกที สัมผัสได้เพียงความเหนื่อย และความไม่บาลานซ์ชีวิตเท่านั้น
เวลาตั้งใจทำสิ่งใด เช่น โปรเจกต์สักงาน จะทุ่มสุดตัวสุดหัวใจไปกับมัน ชีวิตด้านอื่นๆ ถูกตัดทิ้งไปหมด นึกได้อีกที เหมือนวิ่งอยู่ตัวคนเดียวอย่างบ้าบ้า...555 เขียนถึงตรงนี้ก็อดขำตัวเองไม่ได้ เพราะการเป็นสูตรสำเร็จที่ตายตัวแบบนี้ ทำให้สร้างผลลัพธ์กับชีวิตได้จริง แต่ในขณะเดียวกันก็มีผลกระทบด้วย สำหรับการเป็นแบบนี้ของพี่เจน ผลกระทบคือ ชิลล์ไม่เป็น ชอบกดดันตัวเองตลอด (มีใครเป็นบ้างมั้ยคะ?)
ต้องขอบคุณคุณหมอมากๆ ที่ทำให้ได้ตระหนักกับชีวิตจริงๆว่าแท้ที่จริงแล้ว ต้องการอะไร กำลังทำงานอย่างบ้าบ้าเหมือนเดิมรึเปล่า
"เมื่อเราเรียนรู้ว่าจะตายอย่างไร
เราถึงจะได้เรียนรู้ว่า เราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร"
ประโยคนี้เหมือนฉุดให้พี่เจนเบรคตัวเองกลับมา แล้วมองชีวิตไปยาวๆ และเริ่มหันกลับมาเริ่มต้นจากจุดจบ (Begin wiht the End)
พี่เจนรู้สึกว่าตัวเองยังโชคดีที่หันไปแล้วยังมีทั้งพ่อ ทั้งแม่ พี่ๆน้องๆ หลานๆอยู่ครบ แค่ในบางขณะ เราลืมที่จะนึกถึงความโชคดีตรงนี้ไป เหมือนภาษิตจีนว่า
身在福中不知福 shēn zài fú zhōng bù zhī fú หมายถึง
เวลาเราตกอยู่ในความโชคดี
เรามักจะไม่รับรู้ถึงความโชคดีอันนั้น
ขอบคุณคุณหมอริชาร์ดที่แม้จะลาโลกแล้ว
ยังได้ทิ้งเรื่องราวอันทรงคุณค่ามาเตือนสติให้ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท
เพื่อนๆ อ่านถึงตรงนี้ได้คุณค่าอะไรกันบ้างคะ แบ่งปันประสบการณ์ดีดีเป็นข้อคิดซึ่งกันและกันค่ะ
อ่านบทความเต็มได้ที่นี่ shorturl.at/rsQTW
โฆษณา