5 ธ.ค. 2019 เวลา 12:09 • ปรัชญา
คนจนก็เหมือนต้นบอนไซ
ดร.มูฮัมหมัด ยูนุส ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2006 เคยกล่าวว่า "คนจนก็เหมือนต้นบอนไซ"
โดยคนจนถึงแม้จะมีความเก่งฉกาจเพียงใด แต่หากสภาพแวดล้อม บีบบังคับ คือ ถูกเลี้ยงในกระถางเล็กๆ พวกเขาก็ไม่มีทางที่จะเป็นต้นไม้ใหญ่ได้ เต็มที่ก็ใหญ่ได้แค่กระถางที่ปลูก
แล้วมีวิธีไหนที่จะช่วยคนจนแก้จนได้ดีที่สุด??
ดร.ยูนุส ใช้วิธีแก้จนด้วย "โยเกิร์ต"
Cr. Wikipedia
ช่วงปี ค.ศ. 2005 ขณะนั้นประเทศบังคลาเทศเป็นประเทศที่ยากจนประเทศหนึ่งของโลก โดยมี GDP ต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 485 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคนต่อปี (เทียบกับไทยช่วงเดียวกันอยู่ที่ เกือบ 3 พันเหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี) นอกจากนี้บังคลาเทศยังประสบปัญหาขาดแคลนสารอาหาร
หลังจากที่ ดร.มูฮัมหมัด ยูนุส ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งกับธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ที่ปล่อยกู้ไมโครไฟแนนซ์ (Micro Finance) คือ ปล่อยกู้เงินก้อนเล็กๆ ให้กับคนยากจนในบังคลาเทศแบบไม่มีหลักประกัน
หลังจากนั้นโรงงานโยเกิร์ตเล็กๆ ก็เกิดขึ้นในบังคลาเทศ จากความร่วมมือ ระหว่างบริษัท ดาน่อน (Danone) แห่งประเทศฝรั่งเศส และ ธนาคารกรามีน ที่นำโดย ดร.ยูนุส
กิจการร่วมทุน Gramene Danone Food ก่อตั้งด้วยทุนต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนสารอาหารของเด็กในบังคลาเทศ และทำให้เกิดการจ้างงาน โดยผลิตภัณฑ์แรกชื่อว่า "Shakti Doi" หรือ โยเกิร์ตที่ให้พลัง
Cr. Gramene Danone
Shakti Doi  ผลิตจากนมและเสริมด้วยวิตามินและแร่ธาตุ โดยจำหน่ายเริ่มต้นที่ราคาเพียง 5-7 Bangladesh Taka หรือประมาณ 2.5-3.5 บาท ต่อชิ้น เพื่อให้คนจนสามารถซื้อหาได้
ปัญหาถัดไปคือ การกระจายสินค้า โดยทางบริษัทก็ใช้โมเดล คล้ายๆ "สาวยาคูลท์" คือ กองทัพพนักงานสุภาพสตรี มีชื่อเท่ห์ๆ ว่า "the Shakti Ladies" เริ่มต้นจำนวน 821 คน เดินไปเคาะประตูบ้าน โดยเซลล์วูแมน แต่ละคน จะได้ค่าคอมมิชชั่น ประมาณ 1.3 Takas จากราคาขายที่ 7 Takas
Cr. co-society
ด้วยโมเดลดังกล่าว ทำให้บริษัทขายโยเกิร์ต ได้กว่า 100,000 ชิ้นต่อวัน ซึ่งตรงจุดนี้จริงๆ ก็ไม่ค่อยได้กำไรซักเท่าไหร่
1
แต่กำไรของบริษัท ก็ได้มาจากการตั้งร้านค้าในเมืองใหญ่ โดยจะมีราคาขายที่สูงกว่า คือขายที่ราคา 12-15 Takas
บริษัท Gramene Danone Food ได้สร้างงานให้ท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่การรับซื้อวัตถุดิบทั้งนมและน้ำตาล รอบบริเวณโรงงาน การจ้างพนักงาน และตัวแทนจำหน่าย เป็นการช่วยยกระดับชีวิตของคนโดยรอบ
จากเรื่องนี้ให้ข้อคิดที่ดีคือ จริงอยู่ว่า วิธีในการช่วยเหลือคนที่ดีที่สุด ไม่ใช่การให้ปลา แต่เป็นการสอนวิธีหาปลา
แต่นอกจากสอน "วิธี" แล้ว บางทีการแก้จน ก็อาจต้องทำให้มากกว่านั้นด้วย ซึ่ง ดร.ยูนุส เลือกใช้โมเดลธุรกิจเพื่อสังคม หรือ "Social Business" ที่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการทำกำไร
ดร.ยูนุส แสดงให้โลกเห็นถึงจุดอ่อนของระบบทุนนิยม โดยการจัดตั้ง ธนาคารกรามีน ที่ใช้แนวคิดที่แตกต่างจากธนาคารทั่วไปโดยสิ้นเชิง
หนึ่ง ธนาคารทั่วไป ชอบคนรวย ยิ่งรวยยิ่งอยากปล่อยกู้ให้ และอัตราดอกเบี้ยต่ำ ตรงข้ามกับคนจน ที่เก็บดอกเบี้ยสูงมากๆ และไม่ค่อยอยากจะปล่อยกู้ให้
แต่กรามีนทำตรงข้าม ยิ่งจนยิ่งดี ยิ่งเป็นเป้าหมายของธนาคารกรามีน
สอง ธนาคารทั่วไป เรียกร้อง ให้มีสินทรัพย์ค้ำประกันถึงจะปล่อยกู้
กรามีนคิดต่าง ไม่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน ไม่ต้องมีนักกฎหมาย แต่ปล่อยกู้เป็นเงินก้อนเล็กๆ
สาม คนที่มาขอเงินลงทุนต้องมีแผนธุรกิจและรู้เรื่องการใช้เงินเป็นอย่างดี คนต้องเดินมาหาธนาคาร เพื่อขอกู้
ธนาคารกรามีน เดินหาลูกค้า โดยกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้หญิงในบังคลาเทศ คนที่ไม่เคยได้มีโอกาสจัดการเรื่องเงิน แต่ยูนุส รู้ดีว่าผู้หญิงคือ คนที่ทำงานหนัก และหากได้เงินไปจะสร้างประโยชน์มหาศาลให้ครอบครัวของพวกเธอ
ดร.ยูนุส เลยเลือกทำวิธีที่ต่างออกไป ทั้งธนาคารกรามีน และการร่วมทุนตั้งโรงงานโยเกิร์ตกับดาน่อน
"Social Business" คือ คือการทำดีต่อผู้อื่น และดีต่อโลก โดยสิ่งที่คุณได้กลับมาก็คือ เงินลงทุนของคุณเอง โดยไม่คาดหวังผลกำไร
หากพูดเรื่องนี้ให้คนอื่นฟังเมื่อ 30 ปี ที่แล้ว คนคงไม่เชื่อ ดร.ยูนุส มากนัก แต่ปัจจุบันเราก็ได้เห็นผลกระทบของการทำธุรกิจโดยไม่ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมกันแล้ว
แต่ในสภาพที่ทั้งสังคม และสิ่งแวดล้อมมีปัญหา ธุรกิจ Social Business กำลังมีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อยๆ และอย่าลืมว่า เงินปัจจุบันมันล้นโลกไม่มีที่ไป จนดอกเบี้ยต่ำติดดิน อาจเพิ่มโอกาสสำเร็จของธุรกิจแบบนี้
Cr.Grupobbc
เพื่อนๆที่มีไอเดีย น่าลองศึกษา Social Business กันดูครับ
1
หากบทความเป็นประโยชน์ ไลค์ และแชร์ให้เพื่อนๆฟังด้วยนะ 😀
ที่มา:
หนังสือโลกสามศูนย์
ข้อมูลบริษัท Gramene Danone Food
GDP จาก Worldbank
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และกลยุทธ์ทางธุรกิจ
กดติดตาม "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า"
และสำหรับผู้นำเข้าส่งออก เชิญเข้าร่วมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ หาช่องทางนำเข้าส่งออก และข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออก ได้ที่
โฆษณา