6 ธ.ค. 2019 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ประวัติการค้นพบยาแห่งมวลมนุษชาติ "Statin" ตอนที่ 1
Statin เป็นกลุ่มยาที่ใช้ลดระดับไขมันในเลือด เรื่องราวที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้เป็นเรื่องราวการค้นพบอันน่าอัศจรรย์ของยากลุ่มดังกล่าวนั่นเองครับ แต่เรื่องราวจะเป็นอย่างไร มาติดตามอ่านไปพร้อมกันเลยครับ
วันที่ 14 พฤศจิกายน ปีค.ศ. 1933 หนุ่มน้อยนามว่า "Akira Endo" ได้ถือกำเนิดขึ้น ท่ามกลางครอบครัวของชาวนาใน
เมืองอากิตะ (Akita) ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น
เมื่ออายุ 10 ขวบ Akira Endo ใฝ่ฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ (เหมือนผมตอนนั้นไม่มีผิด) โดยแรงบันดาลใจของเด็กน้อยมาจากคุณปู่ของเขานั่นเอง คุณปู่เป็นคนที่มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์
คุณปู่จึงสอนความรู้ต่าง ๆ ให้กับเขา และทำให้เด็กน้อยมีความสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับเห็ดและราเป็นอย่างมาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะไอดอลของเขาคือ Hideyo Noguchi ซึ่งเป็นนักแบคทีเรียวิทยา (bacteriologist) ชายต้นแบบที่หนุ่มน้อย Akira Endo อยากเป็น
Akira Endo เรียนระดับชั้นมัธยมที่โรงเรียนในเมืองอากิตะ พอสำเร็จการศึกษาแล้ว จึงไปสอบเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยโทโฮคุ (Tohoku) ที่เมืองเซ็นได (Sendai)
หากใครจำเรื่องราวความสนใจของ Akira Endo ได้ ตอนเด็กเขาสนใจเกี่ยวกับเห็ดและราเป็นอย่างมาก พอเข้ามาเรียนในระดับมหาวิทยาลัยจึงสนใจวิชาชีววิทยาเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้เขายังสนใจประวัติของบุคคลสำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Alexander Fleming ผู้ค้นพบยา Penicillin จาก blue-green mold หรือ Selman Waksman ผู้สังเคราะห์ยา Streptomycin จาก Streptomyces griseus และนำมาใช้เป็นยารักษาวัณโรค
ต้องบอกว่ายุคนั้นศาสตร์ในการสร้างยาจากสิ่งมีชีวิต หรือ ยาปฏิชีวนะ กำลังเฟื่องฟูอย่างมาก และ Akira Endo ก็เป็นหนึ่งในผู้สนใจเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
... เล่ามาตั้งนานแล้วมันเกี่ยวกับ "Statin" อย่างไร ...
ในปี 1957 Akira Endo ก็สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโทโฮคุ และเขาได้เข้าทำงานที่บริษัทยาชื่อ Sankyo ในกรุงโตเกียว พอมาทำงานที่นี่เขาก็ได้รับมอบหมายให้ทำงานกับทีมจุลชีววิทยาของบริษัท แน่นอน Akira Endo ชอบมาก
ภารกิจของทีมนี้คือ การพัฒนาเอนไซม์ตัวหนึ่งที่ชื่อว่า Pectinase จากไวน์ (wine) และไซเดอร์ (cider) [ไซเดอร์เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หมักทำจากน้ำแอปเปิ้ล]
จนในปี 1958 เขาได้ค้นพบเชื้อราตัวหนึ่งที่ชื่อว่า Coniothyrium diplodiella ราตัวนี้สามารถสร้างเอนไซม์ Pectinase ได้ดีเลยทีเดียว ในที่สุดเขาก็สามารถพัฒนาเอนไซม์ Pectinase จนสามารถผลิตออกมาขายในท้องตลาดได้
... เกร็ดความรู้เสริม ...
เอนไซม์ Pectinase ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม (beverage) น้ำผลไม้ เพื่อช่วยทำให้การสกัดน้ำผลไม้ง่ายขี้น และได้ผลผลิตที่มากขึ้น
จากความสนใจในเรื่องของเอนไซม์นั่นเองทำให้ Akira Endo เกิดสนใจเรื่องราวบางอย่างขึ้น นั่นคือการสังเคราะห์คลอเรสเตอรอล (cholesterol biosynthesis)
ศาสตร์ความรู้นี้ไม่มีที่ญี่ปุ่น จึงเป็นเหตุผลที่ Akira Endo ต้องออกเดินทางจากบ้านเกิดเพื่อไปเรียนศาสตร์นี้ซึ่งไกลถึงอเมริกา
ในปี 1965 Akira Endo ได้เขียนจดหมายถึงบุคคลสำคัญคนหนึ่ง ชื่อของเขาคือ Konrad Bloch ผู้ได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Prize) ในปี 1964 เรื่อง cholesterol biosynthesis
อะไรจะดูดีขนาดนั้น อยากเรียนอะไร ก็ได้เรียนเลย แต่ !!
ขณะที่ Akira Endo เดินทางไปอเมริกา ช่วงนั้นน่าจะเป็นฤดูใบไม้ร่วง ในปี 1966 โชคร้ายปรากฎขึ้น ... คลาสเรียนของ Konrad Bloch เต็มแล้ว ทำไงดีล่ะทีนี้
เมื่อมาแล้วไม่ได้เรียน จะกลับญี่ปุ่นก็กระไรอยู่ เขาจึงหางานทำที่อเมริกา และได้ทำงานกับ Bernard Horecker ที่ The Albert Einstein College of Medicine ในกรุงนิวยอร์ก เป็นเวลาถึง 2 ปี (1966-1968)
งานที่เขาทำเป็นงานเกี่ยวกับบทบาทของ phospholipids และเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในการสังเคราะห์ผนังเซลล์ของเชื้อแบคทีเรีย
ขณะที่อยู่ในกรุงนิวยอร์ก ก็ได้สร้างความประหลาดใจให้กับ Akira Endo เป็นอย่างมาก ความประหลาดใจนั้นคืออะไร พอเดาได้ไหมครับ ... เขาเจอคนอเมริกันที่เป็นผู้สูงอายุและอ้วน เป็นจำนวนมาก เดินอยู่ตามท้องถนน
ในบางคราวก็มีรถ Ambulances มารับเขาเหล่านั้นไปเพราะเกิด Heart attack ผู้สูงอายุเหล่านี้เป็นโรคหัวใจและเป็นสาเหตุการตายหลักของอเมริกาในขณะนั้นเลย
... Akira Endo ... กำลังคิดอะไรอยู่ เมื่อได้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าว
... โปรดติดตามตอนต่อไป (To be continued)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา