9 ธ.ค. 2019 เวลา 02:16 • ความคิดเห็น
หลักเกณฑ์ในการพิจารณาความเป็นผู้ใหญ่ของ "วัยผู้ใหญ่"!!!
พัฒนาการของความเป็นมนุษย์ของพวกเราทุกคนจะเริ่มพัฒนาทันทีที่มีการผสมระหว่างตัวอสุจิกับไข่โดยจะพัฒนาเป็น "ตัวอ่อน" อยู่ในมดลูก
เมื่อผ่านการคลอดแล้วจะพัฒนาจาก "วัยทารกแรกเกิด" ไปสู่ "วัยเด็ก"
จาก "วัยเด็ก" เข้าสู่ "วัยรุ่น" พัฒนาจากวัยรุ่นไปเป็นผู้ใหญ่จนถึงปลายทางของชีวิตบั้นปลายคือวัยชรา
ตลอดเวลาของพัฒนาการนี้ มนุษย์จะต้องมีการอยู่ร่วมกับสมาชิกในสังคม ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสังคมและวัฒนธรรมที่ตนเองดำรงอยู่รวมทั้งจะอยู่ภายใต้อิทธิพลของสังคมวัฒนธรรมนั้นตลอดไป
"วัยผู้ใหญ่" ถือเป็นวัยที่มีวุฒิภาวะเต็มขั้นแล้วโดยจะมีการแบ่งวัยผู้ใหญ่ออกเป็น 3 ระยะคือ
cr : besterlife.com
1) ผู้ใหญ่ระยะต้น : ช่วงอายุ 21 - 40 ปี เรียกกันว่า "วัยฉกรรจ์" ผู้ใหญ่กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะใช้กำลัง/อารมณ์ในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ มากกว่าจะใช้เหตุผลมาแก้ปัญหารวมทั้งประสบการณ์ของชีวิตจะยังมีไม่มากเนื่องจากกำลังเรียนจบหรือเริ่มทำงาน
2) ผู้ใหญ่ระยะกลาง : ช่วงอายุ 41 - 60 ปี มักจะเรียกกลุ่มนี้ว่า "วัยกลางคน" ผู้ใหญ่กลุ่มนี้เริ่มที่จะใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ในการตัดสินใจ หน้าที่การงานเริ่มจะเข้าที่เข้าทางรวมทั้งมีการสร้างครอบครัวของตนเองขึ้นมา
3) ผู้ใหญ่ระยะปลาย : ช่วงอายุ 61 ปี - ถึงแก่กรรม เรียกกลุ่มนี้ว่า "วัยชรา" บางสังคมจะเรียกตัวเองว่ากลุ่ม ส.ว. (สูงว้ย) ในอนาคตผู้ใหญ่กลุ่มนี้จะมีจำนวนเพิ่มมากขี้นเรื่อยๆ ครับ
cr posttoday.com
หลักเกณฑ์ในการพิจารณาความเป็นผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีวุฒิภาวะเต็มขั้นแล้ว ผู้ใหญ่ที่ดีควรมีคุณสมบัติทั้ง 10 ข้ออย่างครบถ้วน ดังต่อไปนี้ (แต่อาจจะมีบางคุณสมบัติบกพร่องเล็กน้อยก็ยังไม่ถือว่าเสียความเป็นผู้ใหญ่)
1) ความสามารถในการสนองตอบต่อเหตุการณ์และสภาวะแวดล้อมได้อย่างถูกต้อง โดยอาศัยสติปัญญา , การเรียนรู้ที่มาจากการอบรมรวมถึงประสบการณ์ในอดีตของตนทำให้รู้ว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร สามารถแสดงออกและเลือกการโต้ตอบได้อย่างถูกต้อง อาทิเช่น เวลาที่จะสนทนากับผู้ที่มีอายุมากกว่าควรจะพูดและแสดงออกอย่างไร
2) การได้ช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่สามารถช่วยได้ มีการเอื้อเฟื้อกันระหว่างสามีภรรยา ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ผู้ร่วมงาน มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
3) สามารถร่วมกิจกรรมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข มีการแสดงความคิดเห็น มีความทุ่มเทกำลังกาย/ใจทำให้ตนเองเกิดความภูมิใจและพอใจในความสำเร็จที่เกิดขึ้น
4) สามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น/บุคคลที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดีด้วยกิริยา , วาจาและท่าทางที่แสดงออกไป มีการสื่อสารที่รัดกุมและมีความหมายที่ชัดเจนตลอดการออกคำสั่งนั้น ๆ ออกไปยังผู้อื่นทุกครั้ง
5) รู้จักการเอาใจเขามาใส่ใจเรา : นึกถึงความต้องการของผู้อื่นมิใช่เอาแต่ใจตัวเองฝ่ายเดียวโดยไม่สนใจว่าผู้อื่นจะรู้สึกเช่นไร
6) นักวางแผนตัวยง : สามารถประเมินในผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นเนื่องมาจากการวางแผนในปัจจุบันและสามารถวางแผนเพื่อให้บรรลุผลตามที่ได้คาดคะเน
7) สามารถแก้ไขปัญหาและทนต่อความผิดหวังได้ เมื่อประสบความผิดหวังก็พยายามหาทางแก้ไขด้วยวิธีที่เหมาะสม ซึ่งบางปัญหานั้นยังไม่สามารถแก้ไขได้ก็มีความอดทนที่จะรอโอกาสใหม่ที่จะผ่านเข้ามาในวันหน้าได้
8) มีความเต็มใจในการเสียสละและกล้าหาญพอที่จะช่วยรับผิดชอบต่อส่วนรวมโดยคำนึงถึงหน้าที่และความสามารถของตนเอง
9) นักแสดงยอดเยี่ยม : มีความสามารถควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ต่าง ๆ ได้ อาทิเช่น เวลาอิจฉา , โกรธ , ระแวงสงสัย หรือความรู้สึกไม่เป็นมิตร รวมถึงความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมที่สอดคล้องกับอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นดังกล่าวได้
10) มีเอกลักษณ์ประจำตัว : มีลักษณะประจำตัวที่เหมาะสมผ่านการอบรมมาจากครอบครัวพร้อมกับได้รับการศึกษาและการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ทางสังคมที่ผ่านมาตั้งแต่วัยเด็กจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
ประพฤติตัวอยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคมได้อย่างมีความสุข อีกทั้งยังสามารถควบคุมอารมณ์ , พฤติกรรมและความต้องการของตนเองให้สอดคล้องกับระเบียบทางสังคมที่ตนดำรงชีวิตอยู่
เพื่อน ๆ ลองสำรวจกันดูว่าท่านมีคุณสมบัติครบทั้งหมดไหมในการที่จะเป็น "ผู้ใหญ่ที่ดี" กันครับ
โชคดีที่ได้เขียนครับ!!!
KATO
DEC 9 , 2019
โฆษณา