10 ธ.ค. 2019 เวลา 02:21 • ความคิดเห็น
ลายผ้าปักของขุนนางจีนในอดีตบ่งบอกถึงตำแหน่งขั้นในการรับราชการกันอย่างไร!!!
ลวดลายผ้าปักในอดีต
สังคมจีนโบราณเป็นสังคมแบบศักดินาการปกครองมีพระจักรพรรดิหรือที่เราเรียกกันว่าฮ่องเต้เป็นองค์ประมุขสูงสุดในการปกครองประเทศ
ในพระราชวังจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากมาย ถ้าไม่นับฝ่ายในที่มีแต่ผู้หญิง ฝ่ายหน้าจะมีทหารและข้าราชการผู้ชายที่เข้ามาถวายงานแทบทั้งสิ้น
เมื่อมีคนมากรวมทั้งตำแหน่งงานที่หลากหลายใครใหญ่หรือใครอยู่ฝ่ายไหนจะจดจำกันได้อย่างไรจึงมีการกำหนดโดยสร้างรูปตราสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ 1 ฟุตให้ขุนนางทั้งหลายประดับไว้ที่หน้าอกของเสื้อราชการที่สวมใส่
cr : wikiwand.com
การแบ่งระดับของขุนนางจีนด้วยเสื้อผ้าที่มีการติดผ้าปัก "ปู่จึ (补子)" หรือภาษาอังกฤษเรียก "Rank badges" บนเครื่องแต่งกายขุนนางซึ่งมีลวดลายรูปสัตว์อื่น ๆ โดยมีจุดเด่นในการแบ่งระดับชั้นขุนนางมีสองแบบคือ แบบกลมและแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสซึ่งลายปักบนผ้าจะแตกต่างกัน
1
cr : th.facebook.com
~ แบบกลมจะใช้สำหรับ "เชื้อพระวงศ์" เท่านั้น โดยติดประดับบนบ่าทั้งด้านซ้ายและขวารวมทั้งกลางหน้าอกและกลางแผ่นหลัง
~ แบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสใช้สำหรับ "ขุนนางจีน" ซึ่งจะแบ่งขุนนางเป็น สองฝ่ายคือ ฝ่ายบู๊ (ทหาร) และฝ่ายบุ๋น (พลเรือน) ถ้าเทียบกับของเมืองไทยฝ่ายบู๊น่าจะเป็นกลาโหม ส่วนฝ่ายบุ๋นต้องเป็นมหาดไทย
1
ขุนนางจีนฝ่ายบุ๋นจะใช้ผ้าลายปักที่มีพื้นภาพเป็น "สัตว์ปีก" มีทั้งหมด 9 ชั้นยศโดยแต่ละชั้นยศจะเป็นรูปสัตว์ปีกที่แตกต่างกัน แต่สัตว์ปีกทุกตัวจะหันหัวไปทางขวาของผู้สวมใส่และมองแหงนหน้าไปหา ดวงอาทิตย์เสมอ (สื่อให้เห็นว่ามองตะวันแล้วมุ่งหน้าบินไปให้ถึง)
cr : thai.cri.cn
ส่วนขุนนางจีนฝ่ายบู๊ (ทหาร) จะเป็นลายปักพื้นรูป "สัตว์ที่แสดงพลังอำนาจ" มีทั้งสิ้น 9 ชั้นยศ โดยสัตว์ทุกตัวจะหันหัวไปทางซ้ายของผู้สวมใส่และมองแหงนหน้าหาดวงอาทิตย์ (สื่อว่ามองตะวันแล้วไปให้ถึงเช่นกัน)
cr : thai.cri.cn
การติดผ้าปัก "ปู่จึ" แสดงยศรูปสัตว์สัญลักษณ์เริ่มมีมานานแล้ว แต่การจัดการและใช้งานเป็นระบบอย่างแท้จริงจะเริ่มในสมัยราชวงศ์ "หมิง" และต่อเนื่องมาถึงราชวงศ์ "ชิง" จนสิ้นสุดเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่เป็นระบอบ คอมมิวนิสต์ (ปู่จึสมัยราชวงศ์ หมิง เป็นผ้าปักผืนเดียวทั้งด้านหน้าและด้านหลังแบบสวมคลุม)
ในรัชสมัยฮ่องเต้ จูหยวนจาง (ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ หมิง) ครองราชย์ช่วงปี ค.ศ.1368 - 1399 ทรงออกพระราชกำหนด ดังต่อไปนี้
การแบ่งลำดับขั้นของขุนนางทั้งสองฝ่ายของจีนโบราณแบ่งเป็นฝ่ายละเก้าขั้น....
ขุนนางฝ่ายบุ๋น ให้ใช้ผ้าปักเป็นรูปสัตว์ปีกที่มีขนาดใหญ่เพื่อเป็นตัวแทนของภูมิปัญญาด้านความรู้ โดยกำหนด...
ขั้นที่หนึ่ง (ขั้นสูงสุด) : ภาพนกกระเรียนมงกุฎแดง
ขั้นที่สอง : ภาพไก่ฟ้าสีทอง
ขั้นที่สาม : ภาพนกยูง
ขั้นที่สี่ : ภาพห่านป่า
ขั้นที่ห้า : ภาพไก่ฟ้าหลังขาว (ไก่ฟ้าสีเงิน)
ขั้นที่หก : ภาพนกกระยาง
ขั้นที่เจ็ด : ภาพนกเป็ดน้ำ
ขั้นที่แปด : ภาพนกขมิ้น
ขั้นที่เก้า (ตำแหน่งต่ำสุด) : ภาพนกกระทา
สำหรับขุนนางฝ่ายบู๊ ให้ใช้ผ้าปักเป็นรูปสัตว์สี่เท้าเป็นตัวแทนถึงความแข็งแรง , พลังและอำนาจ โดยกำหนด...
ขั้นที่หนึ่ง (ขั้นสูงสุด) และขั้นที่สอง : ภาพสิงโต
ขั้นที่สาม : ภาพเสือ
ขั้นที่สี่ : ภาพเสือดาว
ขั้นที่ห้า : ภาพหมี
ขั้นที่หก และขั้นที่เจ็ด : ภาพเสือดำ
ขั้นที่แปด : ภาพแรด
ขั้นที่เก้า : ภาพม้าทะเล
ต่อมาในยุคราชวงศ์ "ชิง" ตอนปลาย มีการเปลี่ยนแปลงรูปสัตว์สัญลักษณ์เล็กน้อย เช่นขุนนางฝ่ายบุ๋น ขั้นที่แปดใช้ภาพนกกระทา และขั้นที่เก้าใช้ภาพนกแซวสวรรค์ (เจ็ดขั้นแรกใช้ภาพเดิมเหมือนราชวงศ์ "หมิง")
ส่วนขุนนางฝ่ายบู๊ มีการเปลี่ยนขั้นที่หนึ่งใช้ภาพกิเลน , ขั้นที่สามใช้ภาพเสือดาว , ขั้นที่สี่ใช้ภาพเสือ , ขั้นที่เจ็ดใช้ภาพแรด และขั้นที่แปดใช้ภาพแรด(คล้ายวัว)
นอกจากนี้ผ้าปัก "ปู่จึ" ในสมัยราชวงศ์ "ชิง" จะมีขนาดเล็กกว่าสมัยราชวงศ์ "หมิง" รวมทั้งผ้าปักด้านหน้าจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนซ้ายและขวาเนื่องจากการสวมใส่แบบผ่ากลางด้านหน้า
cr : thai.cri.cn
เครื่องแต่งกายขุนนางชาย-หญิงทั้งสมัยราชวงศ์ หมิงและราชวงศ์ชิง โดย ปู่จึของฝ่ายหญิงจะมีขนาดที่เล็กกว่าและยึดลวดลายตามตำแหน่งขั้นของสามี/บุตรชายของตน
การใช้ตราสัญลักษณ์รูปสัตว์จึงเป็นการช่วยให้ไม่เกิดความสับสนทั้งในด้านการเลื่อนขั้น การบังคับบัญชาในระบบการทำงานเพราะแต่ละขั้นมีสัญลักษณ์รูปสัตว์ที่ไม่เหมือนกันเป็นตัวแบ่งที่ชัดเจน ผู้ที่อาวุโสน้อยก็จะสังเกตและรู้ได้ว่าใครตำแหน่งขั้นใหญ่กว่าตนจะได้วางตัวให้ความเคารพได้เหมาะสมจะไม่มีการปีนเกลียวในการทำงานร่วมกัน
โชคดีที่ได้เขียนครับ!!!
KATO
DEC 10 , 2019
โฆษณา