10 ธ.ค. 2019 เวลา 05:58 • ไลฟ์สไตล์
เมื่อวันก่อนพี่โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ CEO บริษัท The Standard มาบรรยาย ให้กับBase Playhouse ภายใต้หัวข้อเรื่อง Life Designing Skillหรือ ทักษะที่ใช้ออกแบบชีวิตตัวเองได้ พี่โหน่งเล่าว่าส่วนตัวชอบเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาอยู่แล้ว เพราะเชื่อว่ามันเป็นสิ่งสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเรา ที่กำลังอ่อนมากเรื่องการศึกษา
พี่โหน่งเป็นนักทำสื่อมา 20 ปี ได้ไปบรรยายความรู้และข้อคิดต่างๆ สิ่งที่พบจากนิสิตนักศึกษาจำนวนมาก คือ เด็กไม่มีความสุขในการเรียนเลย คำถามหนึ่งที่นักศึกษาอยากให้พี่โหน่งทิ้งท้ายคืออะไร
พี่โหน่งตอบว่า “อย่ายอมมีชีวิตชนิดที่ต้องทนอยู่กับมันไปทั้งชีวิต”ซึ่งแอดฟังแล้วรู้สึกว่ามันเป็นประโยคที่อาจทำให้หลายคนได้คิดอะไรกับชีวิตมากขึ้น หรืออีกคำถามยอดฮิตคือ จะค้นหาตัวเองเจอยังไง พี่โหน่งตอบว่า
มันง่ายกว่าการค้นหาคนอื่นตั้งเยอะ เราอยู่กับตัวเราตั้งแต่วินาทีแรกของชีวิต เราน่าจะเป็นคนที่เข้าใจและรู้ตัวเราดีที่สุด แต่พอเราโตขึ้น น่าแปลกที่เรากลับไม่รู้จักตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายเป็นคนแปลกหน้าของตัวเราเอง
พี่โหน่งแนะนำหนังสือ Designing your life เป็นหนังสือเขียนโดยดีไซเนอร์ สองคนที่ได้เปิดคอร์สสอนการออกแบบชีวิตที่มหาลัย Stanford พี่โหน่งยกตัวอย่างเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งตอนเด็กๆพ่อแม่สังเกตเห็นลูกชอบสะสมก้อนหิน
เวลาเดินทางไปที่ต่างๆ จึงแนะนำให้ลูกเรียนเกี่ยวกับด้านธรณีวิทยา ปรากฎว่าเด็กเชื่อแล้วเรียนตามที่พ่อแม่บอก จนกระทั่งเรียนจบและทำงาน ถึงจุดนึงจึงรู้ว่าไม่ได้อยากทำอาชีพธรณีวิทยาจริงๆ เธอเพียงแค่ชอบสะสมก้อนหินเท่านั้น
ตอนเด็กๆครูมักจะถามเราว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร คำถามนี้ค่อนข้างแคบ เพราะในชีวิตประจำวันเรามักรู้จักเพียงไม่กี่อาชีพเท่านั้น ปัจจุบันโลกเรามีอาชีพทั้งหมดราวๆ 15,000 อาชีพ ดังนั้นคำถามที่ว่าเราอยากเป็นอะไรเมื่อโตขึ้น
ดูเหมือนจะเป็นคำถามที่ไม่สลักสำคัญอะไร แต่มันกลับเป็นกรอบรัดกุมความคิดและทิศทางของเด็กจำนวนมากให้เดินไปทางนั้น จนท้ายที่สุดเด็กก็ไม่ได้โตไปตามในสิ่งที่เค้าต้องการ
ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ มีการทำวิจัยผลสำรวจข้อมูลในอเมริกา มีนักศึกษาเพียงแค่ 27% ที่จบมาแล้วทำงานในคณะที่ตัวเองจบมา นั่นหมายความว่ามีนักศึกษา อีก 73% ที่ทำงานไม่ตรงกับที่เรียนจบมา ซึ่งเทียบเป็น 3 ใน 4 ของคนทำงานในปัจจุบัน ไม่ว่าจะที่ไทยหรือทั่วโลกซึ่งเป็นภาวะที่เป็นกระแสการศึกษาทั่วโลกที่เกิดการผิดเพี้ยนอะไรบางอย่าง จนทำให้เด็กไม่ได้ทำงานที่ตัวเองเรียนจบไม่ได้ทำงานที่ตัวเองอยากทำและไม่ได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองรักจริงๆ
มีคนถามพี่โหน่งว่าปรัชญาชีวิตของเค้าคืออะไร
แกตอบว่า “อิคิไก” อิคิ แปลว่า การมีชีวิต และ ไก แปลว่า เหตุผลและที่มา รวมกันเป็น ความหมายของการมีชีวิตอยู่ เค้าบอกว่าคุณค่าและความหมายของชีวิต มีองค์ประกอบ 4 อย่างด้วยกันคือ
1.การได้ทำในสิ่งที่เรารักจริงๆ หรือ passion
2.คือสิ่งที่เราทำมันได้ดี
3.ข้อนี้สำคัญมาก คือมันสามารถสร้างรายได้กับเราได้ด้วย เพราะหากเราทำในสิ่งที่เรารักและถนัด แต่ปราศจากรายได้ก็คงไม่ใช่ชีวิตที่มีความสุขนัก
4.สำคัญที่สุด คือการได้ทำในสิ่งที่โลกต้องการ มีประโยชน์ต่อสังคม สิ่งที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น
ซึ่งภาวะอิคิไกหรือเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ มันจะเกิดขึ้นเมื่อ 4 อย่างที่เราทำมัน
ทับซ้อนกันพอดีจึงเป็นที่มาที่ทำให้พี่โหน่งทำสื่อมาตลอด
สมัยเรียนมหาลัยพี่โหน่งเป็นเด็กที่ไม่ได้เรียนดีนัก แต่สิ่งที่เค้าชอบคือการออกไปเรียนรู้ข้างนอกมากกว่าในห้องเรียน เค้าชอบอ่านหนังสือวรรณกรรมมาก เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี จีน ญี่ปุ่น อ่านจนกระทั่งสะสมเป็นสกิลในตัว กลายเป็นคนอยากเขียน อยากเล่าเรื่องราว
จนได้ทำกิจกรรมมากมายเช่น หนังสือทำมือ จัดนิทรรศการ และศิลปะ การละคร
กระทั่งเรียนจบ สุดท้ายถามตัวเองว่าจริงๆว่าอยากทำอะไร มีทักษะอะไร อยากอยู่กับอะไรไปนานๆ คำตอบคือ การได้เขียนและอ่านหนังสือ ชอบสิ่งที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ ชอบการเดินทาง ชอบทำสิ่งที่แปลกใหม่ ชอบทำสิ่งที่มันมีเป็นประโยชน์กับผู้คนจนกลายเป็นงานแรกที่ทำคืองานหนังสือและงานสื่อในปัจจุบัน
ซึ่งสื่อนั้นก็คือสำนักข่าว The Standard สื่อออนไลน์ที่เป็นที่นิยมและตรงกับวิถีชีวิตคนในยุคปัจจุบัน ที่แสดงในทุก platforms ทางโซเชียลมีเดีย พี่โหน่งบอกว่าเค้าอยากทำสำนักข่าวที่ให้การศึกษากับคนและเล่าทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังสม สถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม บันเทิง และไลฟ์สไตน์ ซึ่งจะเป็นงานที่อยู่กับเค้าไปทั้งชีวิต
ภาพ : alizila
เมื่อสองวันที่แล้ว The Standard ไปที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับงานสัมมนาการศึกษาโลก โดยมี Jack Ma อดีต CEO ของบริษัท Alibaba ได้พูดเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาไว้ว่า
1.สอนให้เรียนรู้ตลอดชีวิต
2.สอนผ่านความเชื่อมั่น
3.สอนให้ทุกคนมีความแตกต่าง
4.เคารพครูคือเคารพอนาคต
5.เลิกวัดผลด้วยการสอบแบบเดิม
6.สอนให้คนมี Q of love (ไม่ใช่สอนให้เด็กเรียนรู้เพียงอย่างเดียว แต่สอนให้เรียนรู้ที่จะรักด้วย)
7.สอนให้เคารพความแตกต่าง
พี่โหน่งทิ้งท้ายว่า “ทักษะ ความสามารถ หรือใบปริญญา ในอนาคตอันใกล้ องค์กรธุรกิจระดับโลกคงไม่ได้สนใจว่าคุณจะได้เกียรตินิยมเท่าไหร่ จบจากไหน แต่เค้าสนใจที่หน้า
งานว่าคุณทำได้จริงหรือเปล่า มีสกิลที่ดีรึเปล่า มีทัศนคติที่จะพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น ดีขึ้นหรือเปล่า การเรียนการสอนในยุคถัดไป ผู้เรียนควรจะเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ศูนย์กลางที่มีสิทธิที่จะเรียนรู้และ ค้นหาสิ่งตัวเองที่รัก”
สำหรับแอดเรารู้ดีว่าการศึกษาสามารถเปลี่ยนชีวิตเราได้ แต่การศึกษาในยุคปัจจุบันเรานั้นต่างจากรุ่นพ่อแม่ของเรามากที่เรียนจบเพียงปริญญาตรี แล้วจะสามารถเลี้ยงชีพเราได้
ตลอดชีวิต หลักสูตรบางอย่างอาจใช้ไม่ได้แล้วในยุคนี้ ปัจจุบันโลกเราเปลี่ยนไปเร็วมากแต่น่าแปลกที่มุมมองของเรากลับไม่เปลี่ยนไปด้วย
บางคนแม้ไม่มีใบปริญญามาการันตีการศึกษาแต่หากอาศัยการฝึกฝนทักษะ เรียนรู้นอกห้องเรียน ประสบการณ์การทำงานต่างๆ ก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ดังนั้นจริงๆแล้วการศึกษาที่แท้จริงคือการเรียนรู้ตลอดชีวิตต่างหากที่ทำให้มนุษย์เราประสบความสำเร็จ
มือถือที่เราใช้ยังออกแบบใหม่ได้ทุกๆ 6 เดือน แล้วทำไมเราถึงออกแบบชีวิตเราใหม่ไม่ได้กันล่ะ
ขอบคุณที่สละเวลาอ่านค่ะ
10 ธันวาคม 2562
ท่านเด็ก

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา