16 ธ.ค. 2019 เวลา 10:00 • กีฬา
ภาพจำชาวโลก : ปูมหลังนักกีฬาไทยผ่าน “มังงะ” ญี่ปุ่น สะท้อนถึงอะไรในสังคม?
เหตุใดตัวละครสัญชาติไทยในการ์ตูนญี่ปุ่น ต้องเก่งมวยไทย? ใครคือผู้จุดประกายนี้ จนกลายเป็นภาพจำของชาวโลกเมื่อนึกถึงคนไทย แล้วตัวละครในจินตนาการเหล่านั้น ใกล้เคียงกับตัวตนที่แท้จริงของชาวไทยหรือไม่?
1
บ่อยครั้งที่ คนไทยและประเทศไทย มักปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมความบันเทิงของชนชาติญี่ปุ่น ด้วยอัฒลักษณ์ความเป็นไทยที่มีเสน่ห์น่าสนใจ และไม่เหมือนใคร
1
โดยเฉพาะการสร้างภาพจำว่า คนไทยมีความเก่งกาจด้านมวยไทย ผ่านความบันเทิงต่างๆ อาทิ การ์ตูนมังงะญี่ปุ่น ที่ทำให้ชื่อเสียงของมวยไทย และผู้คนในวงการหมัดมวยบ้านเรา ได้ออกไปเผยแพร่ศิลปะการต่อสู้เฉพาะตัวของชนชาติไทย สู่สายตาชาวโลก
1
แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ อะไรที่ทำให้นักวาดฯ ชาวต่างชาติ คิดเช่นนั้นกับคนไทย? ที่ต้องเป็น ชาติที่มีวิถีชีวิตผูกกับ มวยไทย มีความใกล้เคียงกับบริบท วิถีชีวิตที่แท้จริงของชายไทย มากน้อยแค่ไหน?
Main Stand จะพาผู้อ่านไปสัมผัสโลกจินตนาการของผู้เขียนการ์ตูนญี่ปุ่น และโลกคู่ขนานแห่งความเป็นจริงของผู้ชายในสังคมไทย
ชายไทยในจินตนาการ
“ผมแค่อยากจะสร้างตัวละครให้มีจุดเด่น และเชิดชูความเป็นไทยได้ ก็เลยคิดตัวละครที่เคยเป็นนักมวยไทยมาก่อนอย่าง (บุนนาค สิงห์ประเสริฐ) และนักตะกร้อ (3 พี่น้องกรสวัสดิ์ - สกุล, ฟ้าลั่น, ชนะ) ที่ต่อมาได้กลายเป็นนักฟุตบอล มันเกิดจากไอเดียของผมนั่นแหละ ไม่ได้มาจากผู้เล่นคนไหนของไทยหรอก”
อ.โยอิจิ ทากาฮาชิ ผู้เขียนการ์ตูนมังงะฟุตบอลก้องโลก เรื่อง “กัปตันซึบาสะ” เฉลยถึงที่มาในการสร้างคาแรกเตอร์ตัวละครคนไทย ที่มีพื้นเพมาจากการเป็นนักมวยไทยเก่า
Photo : www.gamy.jp
สิ่งนี้สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า ภาพจำของคนไทยในจินตนาการของนักวาดการ์ตูนญี่ปุ่น เป็นไปในลักษณะไหน
การ์ตูนญี่ปุ่น หรือที่เรียกกันว่า มังงะ (Manga) ถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก
อันที่จริงภาพจำ หรือ Stereotype ของประเทศไทยในการ์ตูนญี่ปุ่นนั้นก็มีหลากมิติ เช่น มีอาหารการกินที่อร่อย จากการที่มีตัวละครหลายคน เก่งในเรื่องการทำอาหาร, หรือในด้านมืดของสังคม เช่น การเป็นมาเฟีย หรือ หญิงสาวที่ทำงานเป็นโสเภณี ที่เราได้เห็นตามการ์ตูนบางเรื่อง
แต่หากเน้นไปที่มุมมองทางกีฬาในการ์ตูนมังงะ ก็จะพบว่ามี 2 เรื่องที่เราได้พบเห็นเกี่ยวกับคนไทย นั่นก็คือ ต้องมีปูมหลังชีวิตที่มาจากครอบครัวยากจน และเก่งมวยไทย
การ์ตูนมังงะหลายๆเรื่อง จึงมี ตัวละครสัญชาติไทยหลายราย ที่มีความสามารถด้านมวยไทย ปรากฏอยู่ในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น เกรียงอาจ สุวรรณภักดี จากเรื่อง ใครว่าข้าไม่เก่ง, ฉ่ำอุรา จากเรื่อง ถึงจะเห่ยแต่ก็สู้นะเฟ้ย, ครุฑ เมืองสุรินทร์ จากเรื่อง ลุยแหลกเกินหลักสูตร, มวยไทย ชูชัย จากเรื่อง ทาคาคาเอะ ราเม็งแมน ฯ
แม้กระทั่งการ์ตูนที่เกียวกับมวยสากล ก็มีนักชกชาวไทยฝีมือดีอย่าง จิมมี่ ศรีฟ้า และ พรชัย ชูวัฒนา ปรากฎในเรื่องเช่นกัน
1
การ์ตูนบางเรื่องถึงแม้จะไม่ได้มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับวงการมวยโดยตรง แต่ตัวละครที่มาจากประเทศไทย บางราย ก็เป็นอันต้องมีความเกี่ยวพันกับมวยไทยเช่น บุนนาค สิงห์ประเสริฐ กัปตันทีมชาติไทยในเรื่อง กัปตันซึบาสะ ซึ่งเคยเป็นนักมวยไทย ก่อนจะเบนเข็มสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพ
1
แน่นอนว่ายิ่งการ์ตูน กัปตันซึบาสะ หรือมังงะเรื่องอื่นๆ ที่มีเรื่องราวของคนไทย แพร่จะกระจายได้รับความนิยมไปโลกมากเพียงใด ก็ยิ่งเป็นการสร้างภาพจำคนไทยให้ผูกกับมวยไทยมากขึ้นเท่านั้น ในสายตาชาวโลก
1
จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า เหตุใดคนญี่ปุ่นถึงชื่นชอบมวยไทย จนต้องนำศิลปะการต่อสู้นี้ไปสอดแทรกในวัฒนธรรมร่วมสมัยของญี่ปุ่นอยู่เสมอ
คิกบ็อกซิ่งเปลี่ยนโลก
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 ทัตซึโอะ ยามาดะ นักกีฬาคาราเต้ เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายกับ ศิลปะการต่อสู้ที่มีต้นกำเนิดจากชนชาติตนเอง
เนื่องจากกติกาที่มีข้อบังคับมากมาย ไม่สามารถเข้าปะทะได้อย่างเต็มรูปแบบ จึงเริ่มให้ความสนใจในกีฬามวยไทย ที่สามารถทำเช่นนั้นได้
เจ้าตัวได้เสนอไอเดียนี้กับทางโอซามุ โนกูชิ โปรโมเตอร์มวย ซึ่งก็สนใจในการต่อสู้ชนิดนี้เช่นกัน พวกเขาจึงตัดสินใจเชิญนักมวยไทย มาขึ้นชกที่ประเทศญี่ปุ่น โดยกำหนดให้ใช้กติกาใหม่ ห้ามใช้ศอก, เข่า รวมถึงการห้ามเข้าคลุกวงใน แล้วเรียกกีฬาชนิดนี้ว่า ‘คิกบ็อกซิ่ง’
1
การชกคิกบ็อกซิ่งในญี่ปุ่นเริ่มต้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1959 และได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ก่อนจะขยายตัวไปยังประเทศต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก ซึ่งก็ทำให้ นักมวยไทย ได้สร้างชื่อให้ชาวโลกได้รู้จักเพิ่มขึ้นด้วย จากการบินไปต่อยคิกบ็อกซิง ในรายการอย่าง เค-วัน
Photo : Facebook : Kick boxing History
แม้นักมวยไทยจะเสียเปรียบในเรื่องกติกา แต่ด้วยการที่กีฬาคิกบ็อกซิ่ง มีความคล้ายคลึงกับมวยไทยไม่น้อย กำปั้นจากแดนสยาม จึงสามารถคว้าชัยชนะได้อยู่เสมอ และเป็นที่ชื่นชอบของชาวญี่ปุ่นอีกด้วย
ช้างเผือก เกียรติทรงฤทธิ์ นักมวยไทยคนแรกดีกรีแชมป์เวทีราชดำเนิน คือผู้ที่ไปบุกเบิกการชก คิกบ็อกซิ่งที่ญี่ปุ่น นักชกจากจังหวัดบุรีรัมย์ เอาชนะนักกีฬาคิกบ็อกซิงชื่อดังมากมาย ในศึก เค-วัน โดยเฉพาะการเตะเจาะยาง ที่เป็นอาวุธหลักของช้างเผือก
ความสามารถของ ช้างเผือก ทำให้ ฮาโมริ ทะกะชิ นักวาดการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง ถึงจะเห่ยแต่ก็สู้นะเฟ้ย หยิบเอาคาแรกเตอร์ของเจ้าตัว ไปเป็นต้นแบบของ ฉ่ำอุรา นักมวยไทยที่เป็นเพื่อนสนิทกับ ซาวามูระ โนริทากะ ตัวเอกของเรื่อง
นอกจากนี้ การ์ตูน เรื่องบากิ ดารานักแสดงสายบู๊ชาวไทยอย่าง ธชกร (พนม) ยีรัมย์ ที่โด่งดังจาการแสดงหนังก็เคยถูกถอดคาแรกเตอร์ไปเป็น ตัวละครนักมวยไทย อย่าง สัมวัน ไคโอ หรือในรายนักชกมวยไทยระดับตำนานอย่าง “ขุนเข่าเสาโทรเลข” ดีเซลน้อย ช.ธนะสุกาญจน์ ก็ถูกถอดไปต้นแบบให้กับตัวละครที่ชื่อ เสนสลัก ดีน้อย
ยิ่งไปกว่านั้น ประวัติของนักมวยไทยที่มาชกในการ์ตูนญี่ปุ่น ยังสะท้อนถึงความคิดของคนต่างชาติต่อคนไทย ที่มักจะฉายให้เห็นภาพ ความเป็นคนต่างจังหวัด มาจากครอบครัวยากจน และต้องใช้กำปั้น วิชาหมัดมวย เพื่อให้ตัวเองมีรายได้ มีสถานะทางสังคมที่สูงขึ้น ไม่ก็มีวิชาเชิงมวยไทย มาทำงานเป็นมาเฟีย ผู้มีอิทธิพล เป็นต้น
ในความเป็นจริง
“ครั้งหนึ่งในชีวิต คุณต้องเก็บขยะเพื่อหาเงินส่งไปให้ครอบครัว ถึงขนาดที่คุณต้องกินอาหารที่คุ้ยได้จากกองขยะ แต่คืนนี้ ที่เมดิสันสแควร์การ์เดน คุณคว้าแชมป์โลกด้วยการเอาชนะนักชกที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่ง ช่วยอธิบายหน่อยว่าคุณรู้สึกยังไง”
2
คำถามที่โฆษกบนเวทีมีต่อศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น หลังเอาชนะโรมัน กอนซาเลซ คว้าได้แชมป์โลก WBC เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา น่าจะเป็นหนึ่งในคำถามที่สะท้อนให้เห็นชีวิตของนักมวยชาวไทยได้ดีทีสุดคำถามหนึ่ง ในความคิดของชาวต่างชาติ
1
ศรีสะเกษ เริ่มจากการตระเวนชกตามเวทีมวยไทยภูธร ตั้งแต่เด็ก จนเมื่อเข้าวัยหนุ่ม เข้าหอบเสื้อผ้ามาแสวงโชคในเมืองกรุงด้วยเงินหลักร้อยบาทติดกระเป๋า เขาไม่มีวุฒิการศึกษา และต้องทำงานเป็น พนักงานรักษาความปลอดภัย ใช้ชีวิตอดยาก เคยเก็บหัวปลาแซลมอนจากกองขยะของร้านอาหารในห้างมากินประทังชีวิต
2
การชกมวย จึงเป็นโอกาสเดียวที่จะพลิกชีวิตของ ศรีสะเกษ เขาค่อยๆไต่เต้าเส้นทางการชกมวยด้วยความทุลักทุเล 2 ไฟต์แรกแพ้รวด ไฟต์ที่สามเสมอ กว่าจะมาชนะก็ไฟต์ที่ 4 โดยเริ่มจากชกมวยไทย ก่อนเบนเข็มสู่ มวยสากลอาชีพ ซึ่งกลายเป็นประตูที่เปิดให้เขาก้าวมาถึงแชมป์โลกในปัจจุบัน
และถ้าหากได้ศึกษาประวัตินักมวยไทย ที่เป็นเรื่องจริงไม่ใช่จากในการ์ตูน ก็จะพบว่า ทั้งหมดแทบจะมีพล็อตเรื่องเดียว ที่ต้องเป็นนักมวยที่เคยลำบากมาก่อน และใช้เพลงมวย ในการสร้างชื่อเสียง รายได้ สร้างอาชีพ เลี้ยงดูครอบครัว
2
เหมือนคำพูดของ ขาวผ่อง สิทธิชูชัย (ทวี อัมพรมหา) อดีตนักมวยชื่อดังชาวไทย ที่เคยบอกว่า “ถ้าผมไม่ชกมวย ผมก็คงไม่มีทางมีชีวิตที่ดีเหมือนอย่างทุกวันนี้”
Photo : Facebook : Tawee Umpornmaha
ทำไมนักมวยไทยต้องปากกัดตีน? ต้องมีปูมหลังที่สู้ชีวิต? โดยเฉพาะกำปั้นสายเลือดอีสาน ที่ถูกนำเสนอด้านนี้อยู่เสมอ ในสายตานักวาดการ์ตูนญี่ปุ่น
มีงานวิจัยเกี่ยวกับนักมวยไทยชิ้นหนึ่ง ที่ที่ชื่อว่า “'Lives of Hunting Dogs': "Muai Thai" and the Politics of Thai Masculinities (แปลเป็นไทยคงประมาณว่า “ชีวิตหมาล่าเนื้อ : มวยไทยและการเมืองเรื่องความเป็นชายไทย”) ของ อ.พัฒนา กิติอาษา นักมานุษยวิทยา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเกี่ยวกับภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องนี้ได้สนใจ
อ.พัฒนา ตระเวนดูมวยไทยทั้งใน กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงลงไปคลุกคลีกับค่ายมวยต่างๆ ในช่วงปี 2000-2001 เพื่อสัมภาษณ์เก็บข้อมูลจาก นักมวย, เจ้าของค่าย, โปรโมเตอร์ ไปจนถึงเซียนมวย จนกล่าวได้ว่า ชีวิตของนักมวยไทย สะท้อนความเป็นชาย ในสังคมได้ชัดเจนสุด
ในมุมมองของนักมานุษยวิทยานั้น อ.อาจินต์ ทองอยู่คง อาจารย์ประจา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เคยเขียนบทความอธิบายในแง่มุมนี้ว่า
“ความเป็นชาย” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่ด้านเพศสภาพ แต่ยังเกี่ยวกับบทบาทที่สังคมคาดหวังอีกด้วย
ในสังคมไทย ผู้หญิงจะถูกคาดหวังให้ รักนวลสงวนตัว เป็นแม่ศรึเรือน ขณะที่ลูกผู้ชายอกสามศอก จะมีสองทางเลือก ไม่เอาดีทางธรรมบวชเรียน ก็ต้องเป็นเสาหลัก ทำงานหาเลี้ยงครอบครัวให้ได้
ด้วยเหตุนี้ ชีวิตของนักมวยไทย จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นชาย ออกมาได้ดีที่สุด โดยเฉพาะเงื่อนไขของชายไทย ฐานะยากจนจากชนบท พวกเขาไม่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจ ที่จะไปค้าขาย ไม่มีต้นทุนทางความรู้ที่จะไปรับราชการ-ทำงานบริษัท
ทางเลือกเดียวที่พอจะเป็นไปได้คือต้องใช้ต้นทุนจากร่างกายไปแลกมันมา และความใฝ่ฝันของชายไทยจำนวนมากที่ไม่มุ่งเอาดีทางธรรม ก็มาบรรจบตรงที่ การชกมวย (แม้จะเคยมีนักมวยที่เคยได้ดีทางธรรมด้วย อย่าง สมาน ส. จาตุรงค์ ที่นอกจากเคยเป็นแชมป์โลกแล้ว ยังเคยบวชเรียนจนถึงขั้นมหา มาแล้ว)
1
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลก หากชีวิตของนักมวยไทยส่วนมาก ที่เราเคยได้ยินกัน จะมีพล็อตเดียวกันเกือบทั้งหมด เช่น มาจากพื้นเพครอบครัวยากจน เคยอดมื้อกินมื้อ แต่ลืมตาอ้าปากได้ด้วยมวยไทย ใครเชิงหมัดมวยดีหน่อย ก็จะได้ไปลุยต่อที่มวยสากล ก่อนจบลงที่ความยากลำบากในยามแก่เฒ่า
เนื่องจากนักมวยที่มาจากพื้นเพยากจน (ในอดีต) มักไม่รู้วิธีจัดการกับเงินที่ได้มานัก จับจ่ายใช้สอย จนไม่ค่อยเหลือเก็บ รู้ตัวอีกทีหมดอายุการชก และหมดเงิน อย่างที่เรามักจะเห็นกันในหลายกรณีที่ แม้แต่อดีตแชมป์โลก มีเงินทองมากมาย ก็ยังตกอับได้
อีกส่วนหนึ่งในงานวิจัยนี้ที่น่าสนใจ (และเป็นที่มาของชื่อต้น ‘Lives of Hunting Dogs’) คือความสัมพันธ์ระหว่างนักมวยกับค่ายมวย นักมวยไทย จะต้องมีค่ายสังกัด แบบเดียวกับที่ "หมาล่าเนื้อ" จะต้องมีเจ้านาย ซึ่งพวกเขาจะต้องตอบแทนคนเลี้ยงดูด้วย “บุญคุณ” และความกตัญญู
นักมวยจำนวนมาก (ตามงานวิจัย) ไม่รู้ว่าตัวเองได้ส่วนแบ่งจากค่าชกเท่าไหร่ บางคนไม่รู้กระทั่งว่าสัญญาชก แต่ละครั้งหน้าตาเป็นยังไง ลูกพี่จะให้เท่าไหร่ก็ต้องรับไปเท่านั้น ปริปากบ่นไม่ได้ เพราะเมื่อไหร่ที่ทำอย่างนั้นเท่ากับว่าเป็นคนอกตัญญู ชีวิตของหมาล่าเนื้อ ที่มีเจ้านาย จึงตกอยู่ในบ่วงของบุญคุณที่ไม่มีทางออก
ถึงกระนั้นในงานวิจัยชิ้นดังกล่าวของ อ.พัฒนา เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ก็ได้ระบุว่า สังคมนักมวยไทย กำลังจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เพราะคนในชนบท ไม่ได้ข้นแค้น-โง่-จน-เจ็บ เหมือนอย่างอดีต พวกเขาเริ่มมีต้นทุนสถานะทางสังคมที่ดีขึ้น มีการศึกษาสูงขึ้น
ซึ่งหากมองดูในปัจจุบัน นักมวยไทย ก็ไม่ได้ความยากลำบาก เลือดเข้าตา เป็นหมาที่หิวกระหายล่าเนื้อ เฉกเช่นอดีตที่เคยเป็นมา หรือที่เคยถูกนำเสนอผ่านสื่อบันเทิงในสายตาชาวโลก อย่างการ์ตูนมังงะ
เพียงแต่ บทบาทความคาดหวังด้านสังคมของ ชายไทย ก็ยังคงไม่ได้ต่างจากอดีตไปเสียทีเดียว ที่ยังคงต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว และเป็นเสาหลักของบ้าน แม้บางคนจะมีรสนิยมทางเพศ พฤติกรรมที่ไม่ตรงตามเพศสภาพ พวกเขาก็ยังต้องเจอความคาดหวังจากสังคมในบทบาทนี้อยู่
1
Photo : Facebook : นครหลวง โปรโมชั่น - Nakornloung Promotion
นั่นทำให้ ชายไทย ไม่ว่าจะในยุคสมัย พ.ศ.ใด ประกอบอาชีพไหน ก็ยังคงต้องลุกขึ้นสู้ ในสังเวียนชีวิตจริง จนกว่าเสียงระฆังยกสุดท้าย (การเกษียณ) จะดังขึ้น หรือในวาระสุดท้ายของชีวิต
บทความโดย อลงกต เดือนคล้อย
โฆษณา