17 ธ.ค. 2019 เวลา 11:55 • กีฬา
#พี่ชายที่แสนดี
หลังจากทีมฟุตบอลหญิง “ชบาแก้ว” ต้องพบกับความผิดหวังในรอบชิงชนะเลิศกีฬาซีเกมส์ และได้แค่เหรียญเงินกลับมา ก็เริ่มมีเสียงเรียกร้องออกมาในเชิงคำถามว่า “ประเทศไทยจะเริ่มมีฟุตบอลลีกหญิงได้หรือยัง???”
ถึงแม้ว่า “ชบาแก้ว” จะได้ผ่านไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายใน 2 ครั้งล่าสุด แต่เราก็รู้กันดีว่า ฝีเท้าเรายังห่างจากทีมแถวหน้าของเอเชียอย่าง จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเกาหลีเหนืออยู่พอสมควร
หากเราต้องการมีนักฟุตบอลหญิงที่ขึ้นมาทดแทนรุ่นพี่ที่อายุมากขึ้น มีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ มีเกมให้เล่นทุกสัปดาห์ มีการพัฒนาไปสู่ระดับมืออาชีพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีลีกในประเทศเป็นพื้นฐาน
เหมือนอย่างที่ “น้องไหม” ธนีกาญจน์ แดงดา ได้ให้สัมภาษณ์ไว้หลังจากแพ้เวียดนามว่า ประเทศไทยเราควรมีฟุตบอลลีกหรืออย่างน้อยก็ทัวร์นาเม้นต์ให้นักฟุตบอลได้เล่น ได้ลงสนามจริง ได้เจอสถานการณ์จริง ความกดดันจากการแข่งขันจริง การเก็บตัว 2-3 เดือน แล้วลงทีม มันไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว
แต่จริงๆแล้ว ประเทศเราก็มีฟุตบอลหญิงนะ (แอดมินเองก็เพิ่งรู้จากการ search หานี่เอง) ชื่อว่า FA Thailand Women’s League ฤดูกาลล่าสุดมีทีมเข้าร่วมถึง 11 ทีมเลยทีเดียว แต่มีทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี และไม่เกิน 19 ปีเข้าร่วมด้วย (แปลกๆนะ) แต่รูปแบบการจัดจะเหมือนฟุตบอลชายสมัยก่อน คือเตะที่กรุงเทพที่เดียวโดยแข่งที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ถึงแม้ว่าจะเป็นสโมสรชื่อต่างจังหวัดก็ตามก็ต้องเดินทางมาแข่งที่กรุงเทพฯ ไม่มีแข่งแบบเหย้าเยือนในรูปแบบฟุตบอลชาย ดูแล้วจะเป็นเหมือนการแข่งกันเอง ดูกันเอง นักกีฬา สต๊าฟทั้งสองทีม รวมกับกรรมการ น่าจะมากกว่าคนดูเสียอีก (เหมือนฟุตบอลชายในสมัยก่อนเปี๊ยบเลย)
แชมป์ฤดูกาลล่าสุดตกเป็นของ สโมสรชลบุรี และสโมสรบีจี บัณฑิตเอเชีย เป็นแชมป์ร่วมกันเนื่องจากทั้ง 4 ทีม (รวมสโมสรกรุงเทพมหานครและสโมสรทหารอากาศที่จะต้องแข่งชิงอันดับ 3) เห็นพ้องต้องกันในการ “เสียสละเพื่อชาติ” ว่าควรงดเตะนัดชิงชนะเลิศ และนัดชิงที่ 3 ซึ่งเป็นนัดสุดท้าย และรับแชมป์ร่วมกัน เพื่อป้องกันนักเตะทีมชาติบาดเจ็บก่อนที่จะไปแข่งฟุตบอลโลก ซึ่งก่อนหน้านี้บาดเจ็บและถอนตัวไปแล้ว 2 คน (cr. FA Thailand)
แต่จะบอกว่าเป็นฟุตบอลอาชีพก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะนักฟุตบอลหญิงไม่ได้แข่งฟุตบอลเลี้ยงชีพตนเองเหมือนนักฟุตบอลชาย ทั้งยังต้องทำงานประจำที่อื่นด้วย บางคนก็ต้องลางานมามีปัญหากับหัวหน้างานบ้าง เจ้าของบริษัทบ้าง บางคนก็เป็นนักเรียนนักศึกษาลาครูมาจากต่างจังหวัดก็มี
สรุปแล้ว ถ้าจะให้ประเทศไทยมีฟุตบอลหญิงและจัดแบบฟุตบอลอาชีพอย่างที่น้องไหม ธนีกาญจน์ รวมทั้งนักฟุตบอลหญิงคนอื่นๆ ต้องการ ท่าทางจะเป็นเรื่องยากซะแล้ว เหตุผลที่แอดมินพอจะนึกออกก็เนื่องมาจาก
1. ทางผู้จัดคือสมาคมฟุตบอลขาดสปอนเซอร์หลัก แค่ดูจากเงินรางวัล อันดับ 1-2-3 รวมกันได้แค่เพียง 5 แสนบาท เมื่อเทียบกับฟุตบอลชายที่แชมป์อย่างสิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ได้ไปถึง 10 ล้านบาท นี่ยังไม่นับรวมค่าสนับสนุนทีมอีก
2. คนดูน้อยมาก เผลอๆ จะน้อยกว่านักกีฬา สต๊าฟโค้ช กรรมการรวมกันเสียอีก เรียกได้ว่าแข่งกันเอง ดูกันเองเสียมากกว่า
3. ความนิยมของฟุตบอลหญิงน้อยกว่าฟุตบอลชายมาก ทำให้แต่ละทีมหาสปอนเซอร์มาสนับสนุนค่อนข้างยาก สนับสนุนไปก็ไม่มีใครเห็น ถ่ายทอดสดทางทีวีก็ไม่มี
4. เจ้าของสโมสรมีโอกาสที่จะเข้าเนื้อมากกว่าได้กำไร ซึ่งในระยะยาวก็คงอยู่ไม่ได้ เรื่องแบบนี้อาศัยที่ใจรักอย่างเดียวคงไม่ได้
5. นักฟุตบอลหญิงเองก็ไม่แน่ใจว่าจะเล่นฟุตบอลเป็นอาชีพได้หรือไม่ จึงหันไปหาอาชีพหลักอย่างอื่นทำที่มั่นคงกว่า โดยเล่นฟุตบอลเป็นอาชีพเสริมเท่านั้น บางคนถ้าต้องเลือกอาจไม่เลือกเล่นฟุตบอลก็ได้
6. สโมสรฟุตบอลหญิงกระจุกตัวอยู่แต่ในเฉพาะกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ ทำให้นักฟุตบอลหญิงในจังหวัดอื่นๆ ขาดโอกาส เมื่อดูจากรายชื่อสโมสรในลีก สโมสรต่างจังหวัดมีเพียง ชลบุรี นครศรีเลดี้เอสเอส (นครศรีธรรมราช) ศรีสะเกษ ลำปาง ซึ่งก็เป็นโรงเรียนกีฬาแทบทั้งนั้น ไม่ได้อยู่ในรูปบริษัทเหมือนฟุตบอลชาย
ทำให้การจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกหญิงดูเลือนรางเต็มที
แต่ ......... #บ่นบ้าภาษาบอล มีไอเดียอยากจะนำเสนอ อาจจะดูบ้าๆ แต่ในเมื่อเขียนถึงอุปสรรคไปเยอะแล้ว ก็ขอนำเสนอทางแก้สักหน่อย
***********************************************
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2538 มีบริษัทสุราแห่งหนึ่ง ผลิตสุราและมีส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) สูงสุดในประเทศได้ส่งเบียร์ยี่ห้อใหม่ลงสู่ตลาด (ก็ยี่ห้อที่เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยเรานั่นแหละ ขออนุญาตไม่เอ่ยถึงชื่อแบรนด์นะครับ) เพื่อมาแย่งชิงกับเจ้าของตลาดเดิม (สปอนเซอร์ของเชียงราย ยูไนเต็ด) ตอนนั้น ท่านเจ้าสัวได้ใช้กลยุทธ์ “ซื้อเหล้าพ่วงเบียร์” เป็นกลยุทธ์หัวหอกนำเบียร์ออกสู่ตลาด คือร้านค้าใดจะนำเหล้าของบริษัทนี้ไปขาย ต้องซื้อเบียร์ไปจำหน่ายด้วย ร้านค้าก็จำเป็นแหละครับ เพราะหากขาดเหล้าจากบริษัทนี้ ร้านค้าอยู่ไม่ได้แน่นอน แถมยังลดราคาเบียร์ลงมาต่ำกว่าทุนเหลือ 4 ขวด 100 เรียกได้ว่า 100 บาทก็เมาได้สมัยนั้น ยอมขาดทุนกับเบียร์นิดหน่อยโดยเอากำไรจากเหล้ามาชดเชย ระยะยาวหากเบียร์ติดตลาดแล้ว มันก็จะยืนได้ด้วยตัวของมันเอง
***********************************************
ถูกต้องแล้วล่ะครับ แอดมินกำลังจะบอกว่าให้สมาคมฯ “ขายบอลชายพ่วงบอลหญิง” เอ๊ะยังงัย อ่านต่อให้จบนะครับ แอดมินขอแยกเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้ครับ
1. ทางด้านผู้จัดก็คือ บริษัท ไทยลีก จำกัด ซึ่งมีสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยถือหุ้นใหญ่อยู่แล้ว คงไม่ใช่เรื่องยากอะไรหากจะให้สิทธิในการจัดฟุตบอลลีกหญิงอาชีพเข้าไปรวมอยู่ด้วย เหมือนกับบริษัทนี้มีสินค้า 2 ชนิด จะได้ไม่ต้องไปตั้งบริษัทกันใหม่ ทีมงานก็ใช้ชุดเดิม เรียกได้ว่ามีประสบการณ์กันอยู่แล้ว ขึ้นอยู่ว่าสมาคมฯ จะ “ทำ” หรือ “ไม่ทำ” เท่านั้นเอง
เฟสแรกเอาสัก 5 ปีก่อน แอดมินรับรองเลยว่า ถ้ามองที่ฟุตบอลหญิงอย่างเดียวน่าจะขาดทุนทุกปี แต่ให้คิดในภาพรวมโดยเอากำไรของฟุตบอลชายมาชดเชย (เหมือนเอากำไรจากเหล้ามาชดเชยการขาดทุนจากเบียร์) ปีแรกทีมที่มาแข่งขอเป็นทีมคุณภาพสัก 6 ทีมก็พอ มีเยอะแล้วยิงกันที 10-0 ไม่เอา แข่งแบบเหย้า-เยือน พบกันทีมละ 4 ครั้งไปเลย ฤดูกาลหนึ่งก็แข่ง 20 แมตช์ ประเมิน ปรับปรุงข้อบกพร่องและปัญหาทุกๆ ปี ค่อยๆเพิ่มทีมไปเรื่อยๆ ตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับผลการประเมินรายปี
2. ลิขสิทธิ์การถ่ายทอด เดิมทีฟุตบอลชายเป็นของทรูซึ่งจะหมดปี 2563 ตั้งแต่ฤดูกาล 2564 ต้องประมูลกันใหม่ สมาคมก็พ่วงฟุตบอลหญิงไปด้วยเลย สถานีไหนอยากถ่ายทอดฟุตบอล T1 ก็ต้องเอาฟุตบอลหญิงไปถ่ายทอดด้วย ส่วนมูลค่าเท่าไรก็ว่ากันไปตามระบบของมัน รวมทั้งสปอนเซอร์ต่างๆ ก็เช่นกัน ไม่สามารถแยกได้ว่าจะขอเป็นสปอนเซอร์เฉพาะการแข่งขันฟุตบอลชายเพียงอย่างเดียว ต้องพ่วงฟุตบอลหญิงไปด้วย จะว่ามัดมือชกก็ได้ ถือว่าทำเพื่อชาติก็แล้วกัน
3. สโมสรที่ส่งทีมเข้าแข่งขันก็ต้องเป็นไปตามกฎของฟุตบอลอาชีพ คือต้องจดทะเบียนในรูปของบริษัท ก็ให้สโมสรฟุตบอลชายที่มีอยู่ในลีกในขณะนี้ สร้างทีมฟุตบอลหญิงขึ้นมาอีกทีมเหมือนในต่างประเทศหรือจะควบรวมสโมสรเดิมที่มีอยู่แล้วก็ได้ ใช้สนามซ้อม สนามแข่ง ทรัพยากรร่วมกันกับฟุตบอลชาย จะได้ไม่ต้องไปหาสนามทีมเหย้ากันใหม่
ตัวอย่างเช่น ทรูแบงค็อก ยูไนเต็ด กับสโมสรฟุตบอลหญิงกรุงเทพมหานคร , ชลบุรี เอฟซี กับสโมสรฟุตบอลหญิงชลบุรี , บีจี ปทุม ยูไนเต็ด กับสโมสรฟุตบอลหญิงบีจี บัณฑิตเอเชีย เป็นต้น
วันแข่งหากเป็นทีมเหย้าก็ให้สมาคมฯ จัดวันให้ตรงกัน ฟุตบอลหญิงแข่ง 17.30 น. ฟุตบอลชายแข่ง 20.00 น. (ยึดเจ้าบ้านเป็นหลัก) ตั๋ววันนั้นก็ขายพ่วงไปเลย ซื้อครั้งเดียวดูได้ 2 คู่ ราคาอาจเพิ่มขึ้นสัก 30% เฉพาะวันที่มีแข่ง 2 คู่ ก็ว่ากันไป
4. ตัวนักกีฬา เชื่อว่าต่างจังหวัดคงหานักกีฬาได้ไม่ยาก จังหวัดไหนมีโรงเรียนกีฬา (ซึ่งก็มีเกือบทุกจังหวัดแล้ว) ก็จะหาตัวนักฟุตบอลหญิงได้ไม่ยาก หากมีสถาบันการพลศึกษาด้วยก็ยิ่งดี แอดมินเคยเห็นฟุตบอลระดับนักเรียนโดยเฉพาะสายอาชีวศึกษา จะมีแข่งฟุตบอลหญิงกันเป็นประจำ ต่างจากการศึกษาระดับสามัญที่ไม่ค่อยมีให้เห็นสักเท่าไรนัก หากจังหวัดใดมีทีมฟุตบอลหญิง ก็น่าจะเป็นทางเลือกให้กับเยาวชนหญิงเหล่านี้ ได้มีทางเลือกให้กับตัวเองมากขึ้น
5. แฟนบอลก็มาจากฐานแฟนฟุตบอลชาย ในเมื่อเชียร์ชลบุรี เอฟซี แล้วจะไม่เชียร์ชลบุรี เลดี้ เอฟซี เลยเหรอ (แอบตั้งชื่อให้เรียบร้อย) ใจดำไปหน่อยมั้ง ไหนๆ ก็ต้องเสียเงินค่าตั๋วเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ส่วนแฟนบอลทีมเยือนให้ไปซื้อตั๋วกับสโมสรของตนโดยทีมเจ้าบ้านให้โควต้าไปเลยกี่ใบก็ว่ากันไป จะได้ราคาปกติที่ไม่พ่วง แต่หากเป็นแฟนทีมเยือนแต่มาซื้อตั๋วหน้าสนาม ก็ต้องซื้อในราคาพ่วงบอลหญิง ทำแบบนี้รับรองว่า ฟุตบอลหญิงมีคนดูแน่นอน
6. ผู้บริหารทีมคงคิดว่า ทำทีมชายได้กำไรอยู่แล้ว จะมาทำทีมหญิงให้กำไรลดลงไปทำไม หรือบางสโมสรก็ยังขาดทุนหากำไรไม่ได้เลย ตรงนี้เอาตามความพร้อมของสโมสรเลยครับ แต่ต้องให้รัฐบาลสนับสนุนด้วย ตัวอย่างเช่น ให้สมาคมฟุตบอลชงเรื่องไปให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอในที่ประชุมสภาผู้แทนฯให้ออกกฎหมายงดเว้นภาษีให้กับสโมสรฟุตบอลใดๆ ที่มีทีมฟุตบอลหญิงด้วยสัก 5 ปี ปีที่ 6-10 เสียแค่ครึ่งหนึ่งของอัตราปกติ หรือจะอย่างไรก็ว่าไป เอาตามความเหมาะสม เพื่อเป็นการสนับสนุนการลงทุนของสโมสรฟุตบอล
แอดมินไม่เคยบริหารจัดการทีมฟุตบอล อย่างมากก็เล่นเกม Football manager เลยไม่รู้ว่าไอเดียนี้มีโอกาสเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน คนคิดลบมองอุปสรรคคือปัญหา แต่คนคิดบวกมองอุปสรรคเป็นความท้าทาย หากข้อจำกัดมันมาก ติดโน่นติดนี่ ก็แค่คิดนอกกรอบซะ อย่าไปติดกับกรอบอะไรมากนัก
เชื่อว่าคุณผู้อ่านบทความนี้ต้องรู้จัก “กัปตันซึบาสะ” อย่างน้อยก็น่าจะเกิน 80% รู้หรือไม่ครับว่าคนเขียนการ์ตูนเรื่องนี้ไม่เคยเล่นฟุตบอล
เขาถึงเขียนให้เฮียวกะ โคจิโร่ เลี้ยงบอลชนกองหลังซะกระเด็นเซ็นซ่านขนาดนั้น หากเคยเล่นบอลจะรู้ว่าทำแบบนั้นมันฟาล์วไปแล้ว
เขาถึงเขียนให้ฝาแฝดทาจิบานะ คนหนึ่งนอนเพื่อถีบอีกคนหนึ่งให้ลอยไปในอากาศแล้วโอเวอร์เฮดคิกได้สูงกว่าคนอื่น หากเคยเล่นบอลจะรู้ว่ามันทำไม่ได้ เพราะเป็นการเล่นอันตราย
เขาถึงเขียนให้นโปเลียน ศูนย์หน้าเยาวชนฝรั่งเศส เวลายิงลูกยิงปืนใหญ่ ต้องขึ้นไปเหยียบลูกบอล แล้วเวลาบอลปลิ้นขึ้นมาค่อยยิง จะทำให้บอลส่ายไปมา ผู้รักษาประตูไม่ได้ทันกระดิกตัว หากเคยเล่นบอลจะรู้ว่าถ้าเหยียบลูกบอลขนาดนั้นก็คงหกล้มหัวทิ่มไปแล้ว
การที่ผู้เขียน “กัปตันซึบาสะ” ไม่เคยเล่นฟุตบอล ทำให้เขาแต่งเรื่องนี้ออกมาได้แปลก แหวกแนว ถือว่าเป็นการเขียนการ์ตูนฟุตบอลนอกกรอบก็ว่าได้ และก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม “ซึบาสะ” ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักฟุตบอลญี่ปุ่นหลายคน
ถ้าสมาคมฯจัดการแข่งขันฟุตบอลหญิงแบบในกรอบไม่ได้ ก็ลองคิดนอกกรอบบ้างจะเป็นไรไปครับ
สุดท้ายขอฝากประโยคหนึ่งไว้ว่า “ฟุตบอลชายหากเดินไปคนเดียวอาจไปได้เร็วกว่า แต่ถ้าพาฟุตบอลหญิงไปด้วย ประเทศไทยเราจะไปได้ไกลกว่าอย่างแน่นอน” เหมือนอย่างเพลง “พี่ชายที่แสนดี” ของรวิวรรณ จินดา (เพลงนี่บ่งบอกอายุแอดมินเลยนะ 555) ที่ว่า “สองพี่น้องเดินไป น้องตามพี่ชาย จับมือจูงน้องไป มองฟ้าอันกว้างใหญ่ ....”
#ฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย #ชบาแก้ว
Cr ภาพ: sanook.com
………………………………………………………………………………………………..
นอกจากแอพพลิเคชั่น Blockdit แล้วยังสามารถติดตามได้จาก Facebook Fanpage ได้อีกหนึ่งช่องทาง https://www.facebook.com/bonbapasaball/
และหากท่านใดเห็นว่าบทความยาวเกินไป ไม่มีเวลาอ่านสามารถติดตามฟังได้ที่ “บ่น บ้า ภาษาบอล podcast” ทางแอพพลิเคชั่น Anchor , Spotify , Apple Podcasts , Google Podcasts , Breaker , Pocket Casts และ RadioPublic ขอบคุณครับ
โฆษณา