20 ธ.ค. 2019 เวลา 02:21 • ความคิดเห็น
จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าให้นักโทษได้อ่านหนังสือ...
สมมติว่าพ่อแม่ของคุณเลี้ยงคุณแบบทิ้งๆขว้างๆ ไม่สนใจคุณแม้แต่น้อย ขนาดที่ว่าคุณในวัยสี่ขวบขาหัก คลานเข้าบ้าน แต่พวกเขาก็ไม่สังเกต คุณคิดว่าชีวิตของคุณจะเป็นยังไง คุณจะโตมาโดยการมองโลกแบบไหน
โรอัลด์ ดาห์ลเริ่มต้นเรื่องราวของมาทิลดาด้วยชีวิตที่ไร้ความสนใจจากพ่อแม่
แต่เขาไม่ได้เขียนนิยายดราม่า เขาเขียนวรรณกรรมเยาวชนต่างหาก สิ่งที่เขาต้องการให้เด็กๆได้รับก็คือนิสัยรักการอ่านและมอบความหวังให้กับพวกเขา ซึ่งในเรื่องมาทิลดา “หนังสือ” เป็นตัวแทนของความหวัง
มาทิลดาเป็นเด็กไม่ธรรมดา เฉลียวฉลาด เรียนรู้ไว เมื่ออายุขวบครึ่งก็สามารถพูดได้ชัดและรู้จักคำพอๆกับผู้ใหญ่ พออายุสามขวบก็สอนให้ตัวเองอ่านออกด้วยหนังสือพิมพ์ พออายุสี่ขวบก็อ่านเก่งและเร็วจนอยากได้หนังสือ
แต่พ่อแม่ไม่คิดว่ามันเป็นสิ่งพิเศษ การที่มาทิลดาพูดได้เร็วกลับถูกมองว่าเธอพูดมากน่ารำคาญพวกเขามองมาทิลดาเหมือนสะเก็ดแผล สะเก็ดแผลคือสิ่งที่คุณต้องทนมีไว้จนกว่าจะถึงเวลาแกะมันออกและสลัดมันทิ้ง
มาทิลดาไม่มีโอกาสได้เที่ยวเล่นเหมือนเด็กคนอื่น เธอต้องอยู่แต่ในบ้านในขณะที่พ่อออกไปทำงานและแม่ออกไปเล่นบิงโก
แต่วันหนึ่งหลังจากที่แม่ออกจากบ้าน เธอก็แอบไปห้องสมุดและบอกบรรณารักษ์ว่าอยากอ่านหนังสือเด็ก จากนั้นภายในสองชั่วโมงเธออ่านหนังสือเด็กหมดทุกเล่ม
คราวนี้เธอขอให้บรรณารักษ์แนะนำหนังสือที่มีชื่อเสียงที่ผู้ใหญ่อ่านกัน บรรณารักษ์ทึ่งกับความสามารถของมาทิลดา เธอใช้ความคิดเล็กน้อยและแนะนำให้อ่าน “เกรท เอ็กซ์เป็กเทชั่นส์” ของชาร์ลส์ ดิกเก้นส์
เนื้อเรื่องมี 411 หน้าแต่เธออ่านจบภายในหนึ่งอาทิตย์ เธอชอบมากและถามบรรณารักษ์ว่าชาร์ลส์ ดิกเก้นส์เขียนเรื่องอื่นอีกมั้ย และหลังจากนั้นมาทิลดาก็เริ่มไล่อ่านวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงแทบทุกเล่มเท่าที่เราจะคิดออก
เธอเล่าให้บรรณารักษ์ฟังว่าเธอชอบเล่มไหนบ้าง แต่บางเรื่องเธอก็ไม่เข้าใจอย่างเช่นงานของเออร์เนส เฮมิงเวย์ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงและผู้ชาย แต่เธอก็ชอบและบอกว่าวิธีการเล่าของเฮมิงเวย์ทำให้รู้สึกเหมือนไปยืนดูสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตรงนั้นด้วย
หนังสือได้พาเธอไปเที่ยวในโลกใหม่ๆ พาเธอไปรู้จักผู้คนที่น่าอัศจรรย์ เหมือนได้นั่งเรือใบสมัยก่อนกับโจเซฟ คอนราด ไปแอฟริกากับเฮมิงเวย์ ไปอินเดียกับรัดยาร์ด คิปลิง
เธอได้ท่องเที่ยวทั่วโลก ขณะที่อยู่ในห้องเล็กๆของเธอ
ชีวิตของมาทิลดาคล้ายกับนักโทษตรงที่ถูกจำกัดอิสรภาพ ได้รับอนุญาตให้ทำเพียงบางสิ่งบางอย่าง
การอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่มาทิลดาสามารถทำได้ และนักโทษก็ได้รับอนุญาตเช่นกัน
ในบราซิลประสบปัญหามีปัญหาเหมือนกับไทยตรงที่นักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวได้ออกไปกระทำความผิดซ้ำจนต้องกลับเข้าคุกใหม่
ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยคนประเภทเดียวกัน การจะเปลี่ยนพฤติกรรมย่อมเป็นเรื่องยาก นักโทษย่อมพูดคุยกับนักโทษด้วยกัน ถ้าจะแก้ปัญหานี้ก็ต้องสร้างแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนแปลง
เรือนจำบราซิลมีโปรแกรมให้นักโทษอ่านหนังสือเพื่อลดจำนวนวันต้องโทษ โดยการอ่านหนังสือ 1 เล่มสามารถลดโทษได้ 4 วัน
แต่ไม่ใช่ว่าจะอ่านได้แบบไร้ขอบเขต หนังสือที่มีให้อ่านจะเป็นนิยาย วรรณกรรมคลาสสิค ปรัชญา วิทยาศาสตร์ และไม่สามารถอ่านอย่างหนักหน่วงได้แบบคนทั่วไป โดย 1 ปีสามารถอ่านได้เต็มที่ 12 เล่ม
เป็นธรรมดาสำหรับคนที่ทำผิดที่จะต้องมีข้อจำกัดบางอย่าง
แล้วไม่มีคนโกงงั้นหรือ เรื่องนั้นคงยากเพราะนอกจากจะต้องอ่านแล้ว ยังต้องเขียนความเรียงเกี่ยวกับหนังสือที่อ่านด้วยว่าเข้าใจอะไรบ้าง พวกเขาอาจจะเขียนเกี่ยวกับแนวคิดที่เห็นจากเรื่องนั้น ตัวละคร ภาษาที่ใช้ ธีมของเรื่อง
แต่จุดมุ่งหมายจริงๆไม่ใช่เพื่อลดจำนวนนักโทษในคุก แต่เพื่อปรับความคิดของนักโทษเหล่านั้น
พวกเขาจะได้เรียนรู้มุมมองใหม่ แนวคิดใหม่ที่ได้จากการอ่านและการเขียน พวกเขาจะมองโลกได้กว้างขึ้นเหมือนอย่างที่มาทิลดาเป็น
แต่วิธีนี้จะได้ผลจริงหรือ
เออร์วิน เจมส์ คอลัมนิสต์จากเดอะ การ์เดี้ยน คิดว่ามันได้ผล
เจมส์เคยต้องโทษฐานฆาตกรรมมาก่อน ระหว่างที่อยู่ในคุกเขามีโอกาสได้อ่านหนังสือ ซึ่งส่วนใญ่เป็นวรรณกรรมที่เกี่ยวกับชีวตในคุก เล่มที่เขาอ่านก็อย่างเช่น อาชญากรรมและการลงทัณฑ์ของฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี
หนังสือที่เขาอ่านมอบชีวิตใหม่ให้กับเขา มันทำให้เขาเห็นแสงสว่างในชีวิต เมื่อได้รับการปล่อยตัว เขาได้เข้าสู่โลกของวรรณกรรมและเขียนหนังสือที่ขายดีอย่างเช่น A Life Inside : A Prisoner’s Notebook , Redeemable : A Memoir of Darkness และมีงานการกุศลที่ทำไปพร้อมๆกับการเขียนคอลัมน์ในเดอะ การ์เดี้ยน
ทั้งหมดคือผลที่ได้จากการอ่านหนังสือ
การเอาคนทำผิดมาขังไว้ในที่ๆหนึ่งเฉยๆไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพในการฟื้นฟูความคิดและพฤติกรรมของคนกระทำผิด เรือนจำต้องเป็นสถานที่ที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี
การจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้ก็ต้องเริ่มจัดการตั้งแต่แนวคิด และหนังสือสามารถทำงานในส่วนนั้นได้
แต่ว่ามีแค่นักโทษเท่านั้นหรือที่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง
บราซิลมีจำนวนนักโทษในเรือนจำสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก สามารถใช้การอ่านหนังสือลดจำนวนนักโทษได้
ส่วนไทยที่มีนักโทษสูงเป็นอันดับ 6 ของโลกก็น่าจะใช้ได้เช่นกัน แต่บางทีปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่ที่ตัวนักโทษเพียงอย่างเดียว
เรายังเห็นปัญหานักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวกลับมากระทำความผิดซ้ำและตอนนี้ไทยก็มีปัญหาเรื่องนักโทษล้นคุกอีกด้วย คุกทั่วไทยรับนักโทษได้ประมาณ 200,000 คน แต่กลับมีผู้ต้องขังมากถึง 368,472 คน โดย 79% เป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติด
Cr. Workpoint news
Cr. Workpoint news
สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิธีคิดระบบการลงโทษ
“ยาเสพติดเยอะก็ออกกฎหมายให้เข้มงวดเข้าไว้ ถ้าเจอยาเสพติดในรถ คน 5 คนในรถก็ติดคุกหมด โอกาสที่จะหลุดบอกเลยว่าน้อยมาก คนที่เข้าไปก็รู้สึกว่าเขาไม่ผิด มันเกี่ยวกับระบบคิดที่มองว่าไม่สามารถจะทำอะไรได้ ก็เอาเข้าคุกไว้ก่อน” คุณนภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิจัยอิสระกล่าว
มันคงยากที่จะให้นักโทษสำนึกผิดกับสิ่งที่เขาไม่ได้กระทำ
เมื่อใครคนหนึ่งต้องเข้าไปในเรือนจำ คนๆนั้นจะถูกสังคมมองว่าเป็นคนมีปัญหา น่ากลัว ไม่ควรได้รับโอกาสใดๆ
และนอกจากนี้ยังถูกผู้คุมกดขี่
คุณจินตนา แก้วขาว เล่าประสบการณ์ที่เธอต้องโทษจำคุก 2 เดือนในเรือนจำประจวบฯ ว่า ในคุกมีคนที่ไม่ควรติดคุกเยอะมาก บ้างก็ติดคุกเพราะคำตัดสินผิด บ้างก็เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม
คุณจินตนา แก้วขาว cr. Voice TV
ผู้คุมมีการกดขี่นักโทษอย่างชัดเจน นักโทษต้องนักคุกเข่าคุยกับผู้คุม ต้องใช้คำว่า “นาย” ใช้คำว่า “แม่” เมื่อผู้คุมกินข้าวเสร็จก็วางทิ้งไว้ให้นักโทษล้าง
การเข้าถึงการรักษาพยาบาลในเรือนจำเป็นเรื่องลำบาก ผู้ป่วยต้องเป็นฝ่ายเดินไปรับยาด้วยตนเอง ในแดนหญิงไม่มีแพทย์ มีเพียงเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
ในเรือนจำมีงบประมาณในการจัดการเรื่องชุดชั้นใน ผ้าอนามัย แต่ 2 เดือนจะมาแจกผ้าอนามัยครั้งเดียว เป็นแบบห่อเล็ก 4-5 ชิ้นที่เป็นชิ้นบางๆ และแน่นอนว่ามันไม่พอ จึงเกิดเหตุขโมยชุดชั้นในกันเพราะเมื่อรอบเดือนมา ผ้าอนามัยก็ไม่พอ ทำให้ไม่มีชั้นในใส่ อีกทั้งไม่มีญาติมาเยี่ยมที่จะนำของมาให้
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นอีกคนหนึ่งที่มีประสบการณ์ในเรือนจำ โดยเขาต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 10 เดือน เขากล่าวว่าปีๆหนึ่ง กรมราชทัณฑ์ต้องใช้งบประมาณปีละ 10,000 ล้านบาทถือว่ามากกว่าหลายๆกระทรวง แต่ดูเหมือนจะใช้งบอย่างไร้ประสิทธิภาพ
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี cr. Voice TV
“ตอนนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆมากมาย แต่กรมราชทัณฑ์น่าจะอยู่ในยุคที่ล้าสมัยมาก หลายสิ่งน่าจะปรับปรุง อย่างกำไลอิเล็กทรอนิคส์ก็ยังไม่มีการนำมาใช้อย่างจริงจัง” นพ.สุรพงษ์กล่าว
ในเรือนจำมีการฝึกอาชีพแต่ก็ไม่จริงจัง ห้องสมุดมีแต่หนังสือเก่าและนักโทษไม่ได้รับอนุญาตให้อ่านหนังสือพิมพ์
ชื่ออังกฤษของกรมราชทัณฑ์คือ Department of Corrections แต่ นพ.สุรพงษ์บอกว่าไม่เห็นสิ่งที่เรียกว่ากระบวนการ Corrections เลย มีผู้บัญชาการเรือนจำจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่าการฝึกวินัยอย่างเข้มข้นเป็นวิธีการ Corrections เพราะฉะนั้นจึงมีการลงโทษอย่างโหดร้าย
เช่นถ้าเป็นนักโทษชายต้องโดนลงโทษโดยการให้อยู่กลางแดดตลอดเวลา ส่วนนักโทษหญิงห้ามเฆี่ยน แต่กลับใช้กระบอง
เรียกได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์อย่างชัดเจน วิธีแบบนี้คงไม่ทำให้นักโทษมีทัศนคติที่ดีขึ้นแน่ พวกเขาอาจแสดงพฤติกรรมว่าเชื่อฟัง แต่ความคิดเดิมคงไม่เปลี่ยน
การพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีจะมีโอกาสสำเร็จมากขึ้นถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี
ถ้าคุณต้องการลดน้ำหนัก คุณก็ควรจัดการเอาของหวานที่คุณชอบออกไปจากบ้านของคุณ คุณคงทนไม่ไหวหรอกถ้ามีของหวานที่คุณชอบรออยู่ในตู้เย็นทุกวัน
การเปลี่ยนพฤติกรรมนักโทษก็ใช้หลักการเดียวกัน ถ้าสภาพแวดล้อมในเรือนจำสนับสนุนพวกเขา ก็ต้องมีคนที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง
การอ่านหนังสือดีๆจะทำให้ได้แนวคิดดีๆเสมอ นักโทษที่อ่านอย่างเข้าใจจะมีความคิดที่ดีขึ้นเมื่อได้รับการปล่อยตัว
แต่เมื่อมองมาที่ปัญหาคุกไทยและอาชญากรรมแล้ว เราก็น่าจะเห็นแล้วว่านักโทษไม่ใช่ทุกอย่างของปัญหา
เพราะงั้นไม่ใช่แค่นักโทษหรอกที่ควรอ่านหนังสือ
แต่คนที่เกี่ยวข้องทั้งหลายนั่นแหละที่ควรอ่านหนังสือและเขียนความเรียงด้วยว่าเข้าใจสิ่งที่หนังสือต้องการจะบอกขนาดไหน
ข้อมูลอ้างอิง :
โฆษณา