21 ธ.ค. 2019 เวลา 05:27 • ข่าว
เรื่องโรแมนติกปนเศร้า สุดคลาสสิคที่เกี่ยวข้องกับระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน เกิดขึ้นที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
cr : ft.com
เมื่อของสิ่งสุดท้าย ของสามีผู้ล่วงลับไปแล้วเกิดสูญหายไป ทำให้ภรรยาต้องทำทุกอย่างเพื่อนำสิ่งนั้นกลับคืนมา!!!!
Workpoint News จะสรุปเหตุการณ์สุดประทับใจ ที่เกิดขึ้นเมื่อ 7 ปีที่แล้วให้ฟัง
1) ในกรุงเทพ ระบบขนส่งรถไฟฟ้า มีรถไฟ 2 บริษัทคือ BTS และ MRT ส่วนที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระบบรถไฟจะมีชื่อว่า London Underground (ลอนดอน อันเดอร์กราวน์) หรือ เรียกกันง่ายๆว่า Tube (ทู้บ)
โดย Tube แปลเป็นภาษาไทยคือ ท่อ ก็เป็นชื่อเล่นที่เรียกตามลักษณะของระบบรถใต้ดิน ที่มีทรงกลมๆ ยาวๆ เหมือนท่อนั่นเอง
2) Tube ที่อังกฤษ ในหลายสถานี เวลาจอดเทียบท่า ตัวรถไฟจะไม่ได้แนบสนิทกับชานชาลาแบบ 100% แต่จะมีช่องว่างเล็กน้อยประมาณ 1 ฝ่ามือ ดังนั้นตอนรถไฟจอด หากผู้โดยสารขึ้นลงไม่ระวัง อาจร่วงตกลงไปในช่องว่างนั้นได้
ดังนั้น ถ้าหากเป็นสถานีที่มีช่องว่างที่อาจเกิดอันตรายได้ ทางลอนดอน อันเดอร์กราวน์ จะต้องมีการประกาศเตือนให้ผู้โดยสารระวังจังหวะขึ้นลงเอาไว้เสมอ โดยการประกาศจะใช้คำว่า Mind the gap (โปรดระวังช่องว่าง)
cr : independent.co.uk
3) ด้วยความที่ลอนดอน อันเดอร์กราวน์ มีสถานีมากถึง 270 สถานี ดังนั้น แต่ละสถานีจึงมีเสียง Mind the gap ที่ไม่เหมือนกัน บางสถานีได้ไปจ้าง นักลงเสียงอิสระ มาพูดประโยคเหล่านี้อัดเทปเอาไว้ใช้งาน
4) ในปี 2012 มีผู้หญิงสูงวัยคนหนึ่ง มาร้องไห้ที่รถใต้ดินสถานี Embankment ที่อยู่ใจกลางกรุงลอนดอน พนักงานรีบเข้ามาดูอาการว่าเธอเป็นอะไร สิ่งที่ถามคือ "เสียงล่ะ เสียงหายไปไหนแล้ว"
ผู้หญิงคนดังกล่าว ถามพนักงานว่า เสียงของผู้ชายคนเดิม ที่พูดว่า "Mind the gap" เป็นประจำในสถานีนี้ หายไปอยู่ไหนแล้ว ทำไมกลายเป็นเสียงคนอื่น
5) เจ้าหน้าที่สถานีอธิบายว่า เสียง Mind the gap ยังมีเหมือนเดิม แต่เสียงเดิมใช้มานานหลายสิบปีแล้ว ดังนั้นถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนระบบใหม่ โดยจะมีเสียงใหม่ และมีคำพูดที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม
แต่ผู้หญิงสูงวัยคนดังกล่าว อธิบายว่า "เสียงนั้น คือเสียงสามีของฉัน"
6) ผู้หญิงที่ร้องไห้ เมื่อสักครู่ เธอชื่อ ดร.มาร์กาเร็ต แม็คคอลลั่ม ส่วนสามีของเธอชื่อ ออสวาลด์ ลอเรนซ์ โดยออสวาลด์เป็นนักแสดงอาชีพ แต่ไม่เคยสร้างชื่อได้ในวงการ อย่างไรก็ตาม ออสวาลด์ก็ได้รับงานเล็กๆมาเรื่อยๆ และหนึ่งในนั้นคือ อัดเสียง "Mind the gap" ให้รถไฟฟ้าสาย Northern Line ในยุค 70
ซึ่งตั้งแต่นั้นมา ทุกสถานีในสาย Northern Line ก็ได้ใช้เสียงของสามีเธอ ในการประกาศว่า Mind the gap
7) ในปี 2007 ออสวาลด์ สามีของมาร์กาเร็ตได้เสียชีวิต โดยมาร์กาเร็ตได้บอกว่าเธอเสียใจ และรู้สึกมีบางอย่างขาดหายไปในชีวิต อย่างไรก็ตาม สิ่งเดียวที่ทำให้เธอรู้สึกมีแรงใจในการต่อสู้กับชีวิตประจำวันคือ การขึ้นรถไฟฟ้าสาย Northern Line และได้ยินเสียงสามีของเธอที่ล่วงลับไปแล้ว พูดคำว่า Mind the gap
"เวลาที่รู้สึกเศร้ามากๆ ฉันจะนั่งนิ่งๆอยู่ที่ชานชาลาของสถานี Embankment เพื่อจะได้ยินเสียงของเขานานขึ้นอีกหน่อยก็ยังดี"
8) ในเวลาต่อมา สถานีอื่นๆ ก็ค่อยๆเปลี่ยนเสียงคนประกาศ อย่างไรก็ตาม เหลือสถานีสุดท้ายที่ยังใช้เสียงเดิมของออสวาลด์มาตลอด นั่นคือสถานี Embankment
9) นั่นทำให้ในช่วง 5 ปี หลังจากสามีเสียชีวิต กิจวัตรของเธอคือต้องเดินทางผ่านสถานี Embankment เสมอ เพราะอย่างน้อยเธอก็ยังได้รู้สึกอยู่ใกล้กับสามีในช่วงเวลาหนึ่ง แต่มาจนถึงปี 2012 ในที่สุด Embankment ซึ่งเป็นสถานีสุดท้ายที่ใช้เสียงดั้งเดิม ก็ตัดสินใจเปลี่ยนระบบเสียงใหม่ทั้งหมด นั่นแปลว่า เสียงของออสวาลด์ก็หายไปด้วย
10) เจ้าหน้าที่สถานี Embankment กล่าวขอโทษกับเธอ แต่ระบบเสียงได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว และไม่แน่ใจว่าจะมีใครเก็บบันทึกเสียงดั้งเดิมเอาไว้หรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่าจะพยายามหา และถ้าหาได้ ก็จะก็อปปี้ไฟล์เสียงให้เธอเก็บไว้
"ฉันรู้สึกเศร้าใจ เป็นความรู้สึกใจสลาย ที่จะไม่ได้ยินเสียงเขาอีกแล้ว ฉันรู้ว่าคนอื่นฟังแล้วอาจเป็นเรื่องประหลาด แต่ฉันรู้สึกแบบนั้นจริงๆ"
11) การค้นหาเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีคนให้ความสำคัญกับ "เสียง" ที่เปิดบนรถไฟใต้ดิน แต่เจ้าหน้าที่ของลอนดอน อันเดอร์กราวน์ ก็พยายามเต็มที่
"เรารู้สึกซึ้งใจกับเรื่องราวของมาร์กาเร็ต ดังนั้นเราจึงไปสืบค้นว่า เราเคยเก็บบันทึกเสียงเอาไว้หรือไม่" ไนเจล โฮลเนสส์ ผู้อำนวยการลอนดอน อันเดอร์กราวน์ในขณะนั้นเล่า
12) หลังจากผ่านไปหลายเดือน วันที่ 1 มกราคม 2013 ระหว่างที่ ดร.มาร์กาเร็ต กลับจากที่ทำงาน และผ่านสถานี Embankment เธอก็ได้ยินเสียง Mind the gap ที่มีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใคร
และมันคือเสียงที่เธอรอคอย ในที่สุดเจ้าหน้าที่สถานีก็ค้นพบบันทึกเสียงเดิม และกลับมาใช้เสียงของออสวาลด์อีกครั้ง
13) "ในที่สุดเราก็หาเสียงของออสวาลด์เจอ และเราได้ทำการไรท์ซีดี เสียงของเขาเพื่อให้เธอได้ฟังในยามที่เธอคิดถึง" ผอ.ลอนดอน อันเดอร์กราวน์เผย
และนับจาก 1 มกราคม 2013 เป็นต้นมา เสียงของรถไฟใต้ดินของสถานี Embankment จึงเปลี่ยนมาใช้เสียงดั้งเดิมของออสวาลด์มาตลอด และแม้สถานีอื่นจะเปลี่ยนเสียงไปหมดแล้ว แต่ที่ Embankment ยังคงใช้เสียงนี้ มาจนถึงปัจจุบัน
14) ในโลกนี้ คุณค่าของสิ่งของหนึ่งชิ้น ไม่ได้อยู่แค่ว่าตัวมันเอาไว้ใช้ทำอะไรเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ มัน "เก็บความทรงจำ" อะไรไว้บ้าง
แม้ในสายตาคนอื่นอาจจะไม่เข้าใจ แต่สิ่งของบางอย่าง เราจะยอมทำทุกทางเพื่อเก็บมันไว้ เพราะมันคือวัตถุแทนใจ ที่ทำให้นึกถึงอีกคนยามที่ไม่ได้อยู่ใกล้กันและเวลาที่ฉันคิดถึงเธอ ฉันจะหยิบมันขึ้นมาดูเสมอ ให้เหมือนว่าเธอไม่เคยอยู่ห่างไปไหนเลยสักวินาที
ขอขอบคุณ workpoint news
โชคดีที่ได้แบ่งปันครับ
KATO
DEC 21 , 2019
โฆษณา