25 ธ.ค. 2019 เวลา 10:00 • ไลฟ์สไตล์
“…คุณพบว่ามันเป็นการยากที่จะเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของคุณออกไปให้คนอื่นๆได้เห็น ทำให้คุณต้องเก็บซ่อนอะไรบางอย่างไว้ ความปรารถนาบางอย่างในชีวิตของคุณเป็นสิ่งที่ดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้…” ประโยคนี้คาดว่าจะตรงกับอุปนิสัยของใครหลาย ๆ คน นั่นเป็นเพราะหลักจิตวิทยาที่แฝงเอาไว้ยังไงล่ะ
เคยสังเกตุไหมว่าทำไมหมอดู (บางคน) สามารถบอกลักษณะนิสัยหรือเหตุการณ์ในอดีตของเราที่่ผ่านมาได้อย่างถูกต้อง? การดูดวง ทำนายอนาคตเป็นสิ่งที่เราพิสูจน์ไม่ได้จนกว่าจะเกิดขึ้นจริง ส่วนการที่หมอดูทายอุปลักษณ์นิสัยในอดีต มักจะเป็นการใช้วิชาจิตวิทยามาเป็นตัวช่วยในการทำนายทายทัก
หมอดู คู่กับหมอเดา เป็นวลีฮิตติดปากคนไทยที่อยู่คู่กับการดูดวงมาอย่างยาวนาน หากเป็นเรื่องที่ดีก็ต้องบอกว่าแม่น หากเป็นเรื่องไม่มีก็ต้องระมัดระวังตัวเองไว้บ้าง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นตัวเรา เราจะต้องอยู่กับปัจจุบันที่เรากำหนดมันขึ้นเอง
บทความในวันนี้ ปรภ ขออธิบายปรากฎการณ์การดูดวงตามหลักของจิตวิทยา ทั้งนี้ การดูดวงเป็นความเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่ได้มีเจตนาลบหลู่ครูบาอาจารย์ท่านใด เป็นเพียงการอธิบายปรากฎการณ์ด้วยหลักจิตวิทยาดังนี้ครับ
การบรรยายนิสัยอย่างมีศิลป์และถูกต้องไปกว่าครึ่ง : Barnum Effect
จากการศึกษามากมายหลายครั้ง ทำให้พบหลักเกณฑ์ที่จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าคำทำนายของหมอดูถูกต้อง โดยมีลักษณะดังนี้
1. ผู้ฟังต้องเชื่อว่าการทำนายนั้น เป็นคำทำนายที่ทำมาเฉพาะเจาะจงเพื่อตัวเราเท่านั้น
2. ผู้ฟังต้องเชื่อมั่นในตัวผู้ทำนาย ยิ่งผู้ฟังเชื่อมั่นศรัทธาในผู้ทำนายมากเท่าไหร่ จะยิ่งรู้สึกยอมรับในคำทำนายมากขึ้นเท่านั้น
3. ทำนายในสิ่งที่เป็นความต้องการพื้นฐานของจิตใจของคน (basic psychological need) ไม่ฟันธงนิสัยใจคอลงไปตรง ๆ แบบชัดๆ แต่จะเป็นประโยคที่พูดกว้างๆ ไม่ลงลึกในรายละเอียด
4. ทำนายในด้านบวก หรืออย่างน้อยก็ไม่เป็นด้านลบมากจนฟังแล้วเหมือนโดนด่า
Barnum Effect (หรือเรียกได้อีกอย่างว่า Forer effect) เป็นปรากฏการณ์ที่ตั้งตามชื่อของ Phineas Taylor Barnum ซึ่งเป็นนักแสดงและเจ้าของละครสัตว์ โดย Barnum เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่าจะมีประโยคบางประโยคหรือคำพูดบางอย่างที่สามารถเข้าได้กับทุกคน หรือพูดแบบภาษาทั่วไปคือมัน “คลิก” กับทุกคน ทำให้คนฟังรู้สึกว่า มันช่างตรงกับเราเหลือเกิน ทั้งนี้ Barnum Effect จะถูกนำมาอธิบายในกรณีที่หมอดูทำนายอะไรที่เหมือนจะเป็นนิสัย หรือความรู้สึกนึกคิดของเราได้ถูกต้องทั้ง ๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
ในปีค.ศ. 1948 Bertram R. Forer นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ทำการทดลองกับนักศึกษา 39 คน (ทำให้บางคนก็เรียกว่า Forer effect แทน Barnum effect) โดยพานักศึกษาเข้ามานั่งในห้อง และหลังจากนั้นก็บอกกับนักศึกษาว่าจะใช้ความรู้ความสามารถของเขาในการวิเคราะห์ลักษณะอุปนิสัยของแต่ละคนออกมา โดยจะเขียนใส่กระดาษแล้วยื่นให้แต่ละคนอ่าน และเมื่อนักศึกษาอ่านคำวิเคราะห์ (ทำนาย) นิสัยของตัวเองแล้ว จะต้องให้คะแนนความแม่นยำของการทำนาย โดยสามารถให้คะแนนได้ระหว่าง 0-5 ซึ่ง 0 คะแนนหมายถึง แย่มาก มั่วสนิท ไม่ตรงเลย ส่วน 5 คะแนนคือ แม่นมาก
ผลการทดลองออกมาพบว่า Forer ได้คะแนนรวมเฉลี่ยสูงถึง 4.26 คะแนน โดยนักศึกษาจำนวนกว่า 40% ให้คะแนนเต็ม 5 คะแนน แต่เมื่อทุกคนแลกใบวิเคราะห์กันอ่านก็ต้องอึ้งกันเป็นแถบเพราะทุกใบมันเขียนเหมือนกันหมด!
ตัวอย่างคำทำนายของ Forer
“…คุณอยากให้คนอื่นชื่นชมคุณ แต่หลายครั้งคุณก็มักจะโทษตัวเองในบางสิ่งบางอย่างที่ได้ทำไป คุณเป็นผู้ที่มีศักยภาพที่ดีเพียงแต่ยังไม่ได้ถูกนำออกมาใช้อย่างเต็มที่ ภายนอกคุณอาจจะดูเข้มแข็งและควบคุมตัวเองได้ แต่คุณก็ยังมีความกังวลและไม่มั่นใจอยู่ภายในใจ มีหลายครั้งที่คุณรู้สึกสับสนว่าสิ่งที่คุณได้ทำไปแล้วมันถูกต้องหรือไม่…”
“…คุณพบว่ามันเป็นการยากที่จะเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของคุณออกไปให้คนอื่นๆได้เห็น ทำให้คุณต้องเก็บซ่อนอะไรบางอย่างไว้ ความปรารถนาบางอย่างในชีวิตของคุณเป็นสิ่งที่ดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้…”
“…เป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตของคุณคือความรู้สึกมั่นคงในชีวิต…”
ประโยคลักษณะแบบนี้ มักจะทำนายในสิ่งที่เรียกว่าเป็น ความต้องการพื้นฐานของจิตใจคน หรือที่เรียกว่า basic psychological need ซึ่งในทฤษฏีจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม (humanistic psychology) เชื่อว่าคนทุกเรามีความปรารถนา บางอย่างที่เป็นพื้นฐาน เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากได้ และเป็นสากลคือเหมือนกันในทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกวัฒนธรรม
สรุป
ความปรารถนาเหล่านี้ได้แก่ ความอยากเป็นที่รัก (อยากให้คนอื่นรัก) ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ความสงบสุข ความเป็นอิสระ และความรู้สึกว่าตัวเองมีค่า เป็นต้น ทำให้เมื่อทำนายในสิ่งเหล่านี้ คนส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกว่ามันตรงนั่นเอง
โฆษณา