26 ธ.ค. 2019 เวลา 02:20 • ธุรกิจ
วิกฤตเศรษฐกิจ ไม่ตายแบบฉับพลัน แต่ตายแบบเงียบๆ
เศรษฐกิจไทยที่โตลดลงมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสำนักวิจัยเศรษฐกิจต่างๆได้คาดการณ์ตัวเลขจีดีพีที่ลดลงในปี 2563 ภาพการเลิกจ้างงานที่ปรากฎอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนส่วนหนึ่งมองว่า วิกฤตเศรษฐกิจ กำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยแล้วใช่ไหม??
ก่อนอื่นต้องบอกว่า ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า วิกฤตเศรษฐกิจ จะเกิดขึ้นหรือไม่ เมื่อไร และเกิดจากอะไร เพราะถ้ารู้ตัวล่วงหน้า สิ่งนั้นจะไม่ถูกเรียกว่า “วิกฤต” หากย้อนกลับไปดูวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ต่างเกิดขึ้นมาแบบไม่ทันตั้งตัวทั้งสิ้น
ไล่ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 แม้จะเริ่มเห็นสัญญาณของปัญหามาระยะหนึ่ง แต่จุดเริ่มต้นของวิกฤตได้เริ่มจากการลดค่าเงินบาทในเดือนกรกฎาคม ซึ่งแทบไม่มีใครรู้ตัวล่วงหน้ามาก่อนว่าจะเกิดขึ้น รวมถึงวิกฤตซับไพร์มในปี 2550 ที่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน ตลาดการเงินทั่วโลกถูกเทขายในเวลารวดเร็ว ไม่มีใครรู้มาก่อนว่าหนี้สินในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯจะมีมูลค่ามหาศาลเกินกว่าจะคิด
ดังนั้น อย่าไปคาดเดาว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกกิจหรือไม่ ขอแค่ดำเนินชีวิตอย่างมีสติไม่ประมาท คอยติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดก็เพียงพอ
แต่หากจะเกิดวิกฤตในรอบต่อไป มุมมองส่วนตัวคิดว่าวิกฤตจะไม่เกิดขึ้นแบบฉับพลันอีกต่อไป แต่จะเกิดในรูปแบบ “ต้มกบ” คือไม่รู้ตัวว่าปัญหาได้เกิดขึ้นแล้วหรือเริ่มรู้ตัวแต่ยังไม่ถึงจุดที่รู้สึกร้อนจนอยู่ไม่ได้ ผ่านไปเรื่อยๆกลับตายไปแบบไม่รู้ตัวหรือเรียกว่าตายแบบผ่อนส่งไปเรื่อยๆ
เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในตอนนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สึกกร่อนมาเรื่อยๆ มีทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว เหมือนกับปลวกกินที่เนื้อไม้ไปเรื่อยๆ เราอาจจะเจอจุดที่ปลวกเข้าไปกินเพียงแค่บางจุด แต่อาจจะไม่รู้ว่าอีกจุดหนึ่งปลวกก็อาจกัดกินเนื้อไม้ไปเรื่อยๆแล้ว
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ระดับ 1,800 จุด นับตั้งแต่นั้นเป็นเวลาเกือบสองปี SET Index ไม่เคยกลับไปอยู่ในระดับดังกล่าวได้อีกเลย และเกิดการทำนิวโลว์ลงอย่างต่อเนื่อง จากกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่มีกำลังที่จะไปยันตลาดให้กลับขึ้นไปได้
ค่า P/E ของตลาดหุ้นไทย ณ เวลานี้อยู่ที่ประมาณ 18 เท่า ซึ่งถือว่าไม่ได้ถูก แม้ SET Index เหมือนว่าจะลดลงมากว่าร้อยจุด แต่หุ้นก็ไม่ได้ถูกแต่อย่างไรและยังมีราคาแพงด้วยซ้ำ สะท้อนว่าภาคเอกชนกำลังมีปัญหาอย่างมาก
ปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยที่เกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้พอจะเห็นแจกแจงออกมาได้ดังนี้
1. บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นและภาคเอกชน แทบไม่มีการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงในยุค Digital Disruption และโครงสร้างเศรษฐกิจโลก อุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นแล้วคือสื่อ และจะยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ รอจ่อคิว
2. หนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงต่อเนื่องแต่แนวโน้มรายได้ของคนไทยแทบไม่เพิ่มขึ้น
3. New S Curve สำหรับประเทศไทยไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะเทคโนโลยี กฎเกณฑ์และคุณภาพของประชากรเรายังไม่ถึงจุดที่สร้าง S Curve ได้
4. แพลตฟอร์มออนไลน์ของต่างชาติเข้ามายึดตลาดในประเทศไทยจนสิ้น ธุรกิจคนไทยไม่มีโอกาสได้แจ้งเกิด
5. จุดยืนในภูมิภาคอาเซียนด้วยกันของไทยอยู่ตรงกลางชนิดที่ไม่มีจุดเด่นใดๆ หากจะแข่งระดับโลกก็สู้สิงคโปร์ มาเลเซีย ไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถสู้ในเชิงแรงงานราคาถูกและตลาดในประเทศจำนวนมหาศาลแบบเวียดนามและอินโดนีเซียได้
วิกฤตการเงินหรือเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันยังมีทางแก้ไขได้ในเวลารวดเร็วจากการอัดฉีดยาแรง เช่นการทำคิวอีของธนาคารกลางสหรัฐฯในช่วงหลังซับไพร์มไครซิส แต่โรคร้ายที่กัดกร่อนจากภายในทีละน้อยเหมือนกับมะเร็ง การใช้ยาแรงอาจไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง เพราะโครงสร้างร่างกายปรับตัวไม่ทันต่อสภาวะรอบนอกที่เปลี่ยนแปลงไป
สรุปคือ วิกฤตเศรษฐกิจ ที่(อาจจะ)เกิดขึ้นในอนาคต เราจะไม่เห็นภาพการ Panic เหมือนในอดีต ตลาดหุ้นจะไม่ลงแบบถล่มทลายในวันเดียว ค่าเงินจะไม่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว บริษัทเอกชนจะไม่มีการแห่ปลดพนักงานกันอย่างพร้อมเพรียงแบบที่เราเคยคุ้นชินกับคำว่าวิกฤตแบบในอดีต
แต่วิกฤตจะเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป ตลาดหุ้นอาจจะลงไปทีละนิดๆ มองไปอีกทีอาจจะหลุดระดับ 1,000 จุดไปแล้ว บางอุตสาหกรรม บางกิจการ จะทยอยปิดตัวไปอย่างเงียบๆ แทน
บางทีขณะที่เรากำลังอ่านบทความนี้ วิกฤตอาจจะเกิดขึ้นไปแล้วก็เป็นได้โดยที่ปลวกกำลังกัดกินจุดที่เรากำลังยืนอยู่อย่างที่เราไม่รู้ตัวก็เป็นได้....
โฆษณา