29 ธ.ค. 2019 เวลา 12:37 • กีฬา
นริศ จำปาลี : 19 ปีในญี่ปุ่นกับชีวิตมีมากกว่าแค่เป็นล่ามธีราทร
“ชีวิตมันไม่ได้ง่าย” ชายไทยวัย 34 ปี ที่ใช้เวลาเกินครึ่งชีวิตอยู่บนแผ่นดินญี่ปุ่น พูดประโยคนี้กับเรา
ช่วงเย็นวันหนึ่งในช่วงปลายเดือนธันวาคม เราเดินทางจากประเทศไทย มาเพื่อนัดพบกับ “มิว - นริศ จำปาลี” ล่ามแปลภาษาประจำสโมสรโยโกฮาม่า เอฟ.มารินอส ตรงบริเวณลานหน้า สถานีรถไฟใต้ดิน ซากุระงิ-โจ (Sakuragi-Cho)
ไม่บ่อยครั้งนักที่ Main Stand จะออกต่างแดนเพื่อมาพูดคุย และสนทนากับคนไทยที่อยู่ห่างไกลออกไปเกือบ 5,000 กิโลเมตร เพื่อทำความรู้จักและรับฟังเรื่องราวอีกแง่มุมที่ไม่สามารถหาได้จากการพูดคุยกับ คนไทยที่ใช้ชีวิตในไทย
นริศ พาเราเดินออกอีกสักประมาณ 1 กิโลฯ นิดๆ ไปยังจุดชมวิวริมอ่าวโยโกฮาม่า ซึ่งถือเป็นจุดแลนด์มาร์กสำคัญของเมือง เขาถามว่าเราจะนั่งคุยกันตรงพื้นหญ้านี้ไหม เราไม่ตอบปฏิเสธ เพราะจุดๆ นี้เราได้เห็นสายน้ำที่ไหลผ่าน ท่ามกลางบรรยากาศลมหนาวเย็นๆ ที่กระทบร่างชายไทย 2 คน แว่บหนึ่งคงทำให้เขาคิดถึงเมืองไทยได้เช่นกัน
และเรื่องราวหลายอย่างก็ทุกพรั่งพรูออกมาจากจุดนั้น ... จนแหงนหน้ามองท้องฟ้าอีกที ก็ไม่เห็นแสงจากดวงอาทิตย์อีกแล้ว เมื่อสิ้นสุดการสนทนา
MOTHERLAND
“พ่อแม่ผมแยกทางตั้งแต่เกิด ก็ใช้ชีวิตอยู่กับแม่มาตลอด เคยเจอหน้าพ่ออยู่บ้างนะ เขาพาไปเที่ยวบ้าง แต่ไม่เคยใช้ชีวิตอยู่กับพ่อนานเกินเดือนเลย แล้วก็จำได้ว่าตัวเองเป็นคนที่ย้ายบ้านบ่อยมาก เพราะแม่เป็นช่างเสริมสวย ต้องเปลี่ยนร้านไปทำงานหลายที่”
“บ้านของเรายากจนมาก ไม่ค่อยมีไฟฟ้าใช้ เวลาจะใช้ไฟก็ต้องต่อกับแบตเตอรี่ ตกกลางคืนก็จุดเทียน ที่บ้านมีฝ้าแค่ครึ่งเดียว เวลาฝนตกลงมา หลังคาก็รั่ว ชีวิตตอนเด็กถ้ามองย้อนกลับไปก็ถือว่า รันทดมาก แต่ตอนนั้นผมไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองลำบากหรือขาดอะไร เพราะแม่ให้ความรัก เติมเต็มทุกอย่าง ทำให้ผมรู้สึกอบอุ่น ไม่ได้เป็นเด็กที่รู้สึกว่าตัวเองมีปัญหา แต่ก็สงสารแม่ที่ต้องทำงานหนักมาโดยตลอด”
“มีเรื่องหนึ่งที่จำได้ติดตาเลย วันนั้นแม่ทำงานเลิกมืด ประมาณ 1-2 ทุ่มแล้ว เราออกไปส่องดูว่าทำไมแม่ยังไม่เข้านอน ก็เห็นแม่นั่งกินข้าวกับน้ำปลา มีไข่ต้มลูกหนึ่ง แต่พี่กับพี่สาวได้กินลาบเนื้อ เห็นแค่นั้นก็ร้องไห้วิ่งเข้าไปกอดแม่ สงสารแม่มาก แม่ไม่เคยยอมให้เราลำบากเลย ต้องได้กินของดีๆ แต่ตัวเองยอมกินข้าวกับน้ำปลาได้”
ถึงจะไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองไทย มาเป็นระยะเวลากว่า 19 ปี แต่ นริศ ไม่เคยลืมความทรงจำในวัยเด็กของตัวเอง ที่เกิดและเติบโตที่อำเภอพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ (ในปัจจุบัน - อดีตอำเภอนี้เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดหนองคาย) เขาจำได้ดีว่าตัวเองเคยผ่านอะไรมาบ้าง? และเคยมีความฝันอยากเป็นอะไรในวัยเยาว์?
“พอโตขึ้นมาหน่อยแม่ก็ไปทำงานที่กรุงเทพฯ ส่วนผมกับพี่สาวอยู่บ้านป้า ที่หมู่บ้านนาป่านกับเขาเเละยาย เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ทำนา ชีวิตถือว่าสบายในระดับหนึ่ง แต่แค่เสียดายที่ไม่ได้มีของเล่นเหมือนเด็กคนอื่นๆ แล้วก็เป็นเด็กที่ขี้แยมาก แอบไปร้องไห้ตลอด”
“ตอนเด็กผมมีความฝันอยากเป็นนักแสดง อยากเข้าไปอยู่ในทีวี มันคงจะสวยงาม ได้เงินเยอะ เวลามีงานประกวดแสดงที่โรงเรียน ก็เสนอตัวขึ้นไปร้องเพลง ทำกิจกรรมตลอด เพื่อนยุให้ร้องเพลง ก็บ้าจี้ร้องให้เพื่อนฟังตลอด เป็นคนชอบแสดงออก แต่ในความจริงมันคงเป็นไปได้ยากที่เราจะได้เป็น นักแสดง เพราะเราอยู่บ้านนอกเกินไป ใครเขาจะมาเห็นความสามารถของเรา”
“มีแค่แม่เท่านั้นที่เชื่อมั่นในตัวเรา ไม่ว่าเราจะทำอะไร แม่จะเชียร์เราตลอด คอยบอกเสมอว่า ‘ถ้ามีโอกาสต้องทำให้ได้’ ไม่ต้องไปสนใจว่าคนรอบข้างจะดูถูกอย่างไร จะล้อว่าเราเป็นลูกไม่มีพ่อ ก็ไม่ต้องไปคิดอะไร ขอแค่ให้เราตั้งใจทำจริงๆ คำพูดของแม่ทำให้ผมรู้สึกมั่นใจ อย่างน้อยก็มีแม่คนหนึ่งที่เชียร์เราเสมอมา”
ความเป็นคนอารมณ์ดี ขี้เล่น และกล้าแสดงออกทำให้ นริศ มีเพื่อนฝูงมากมายในช่วงมัธยมฯ หลังจบชั้น ม.3 เขามีความคิดที่จะเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่เดิม และหวังจะเข้ามาเรียนมหา’ลัยในเมืองกรุงฯ
แต่สถานการณ์ทุกอย่างพลิกผันให้ เด็กหนุ่มจากบึงกาฬ ต้องออกเดินทางใช้ชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่อายุ 15 ปี
“ตอนที่แม่ทำงานอยู่ที่กรุงเทพ มีเพื่อนเขาคนหนึ่งแต่งงานกับคนญี่ปุ่น ก็แนะนำให้รู้จักกับผู้ชายคนหนึ่งที่ยังไม่มีครอบครัว แต่แม่มีข้อแม้ว่า คุณรับได้ไหมว่า เขามีลูกติดสองคน คือไม่ว่ายังไง แม่ก็ไม่ยอมทิ้งลูก ถ้ารับได้ก็จะลองคบหาดู ซึ่งต่อมาแม่ก็แต่งงานกับคนๆ นั้น ซึ่งก็คือพ่อเลี้ยงคนญี่ปุ่นของผม” นริศ เริ่มย้อนความหลัง
“แต่ตอนนั้น แม่พาพวกเราไปอยู่ด้วยไม่ได้ เพราะแม่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ของพ่อเลี้ยง เขาไม่ยอมรับสะใภ้คนไทย หาว่าแม่หลอกลูกเขา ก็โดนดูถูก โดนใช้สารพัด จนย่า (เลี้ยง) เสียชีวิต แม่ก็ชวนให้ผมกับพี่สาวขึ้นมาเที่ยวที่ญี่ปุ่น ตอนผมอายุ 14 ปี แล้วก็กลับไทย ส่วนพี่สาวจบ ม.6 ย้ายมาอยู่ที่นี่เลย”
“พอผมจบ ม.3 ช่วงปิดเทอมก็ได้มาที่ญี่ปุ่นอีกครั้ง คราวนี้แม่บอกว่า ไม่ต้องกลับไปแล้ว เรียนที่นี่แหละ ชีวิตวัยรุ่นของผมมีถึงแค่อายุ 15 ปี เพราะต้องย้ายมาอยู่ที่ญี่ปุ่น โดยที่เราก็พูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ เพื่อนก็ไม่มี ก็หวั่นใจว่าตัวเองจะอยู่ได้ไหม”
โรงงานชีวิต
นริศ ย้ายจากจังหวัดบึงกาฬ มาอยู่กับแม่และพ่อเลี้ยงชาวญี่ปุ่น ที่เมืองไซตามะ ที่ขึ้นชื่อเรื่องของการทำเกษตรกรรม และที่นี่ก็ทำให้เขาได้เริ่มฝึกหัดปลูกข้าวทำนา บนที่ดินของครอบครัว
สำหรับเด็กหนุ่มไทยวัยเพียง 15 ย่าง 16 ปี การต้องมาอยู่ในสังคม วัฒนธรรมใหม่ๆ ที่ดินแดนอาทิตย์อุทัย ย่อมเป็นเรื่องที่ปรับตัวได้ยาก เพราะที่นี่ใช้ภาษาญี่ปุ่นสนทนากันเป็นหลัก ผู้คนทั่วไปไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติ ด้วยความเป็นชาตินิยม ดังนั้นเขาจึงต้องออกไปหางานทำ เพื่อเก็บเงินมาเรียนภาษาญี่ปุ่นอย่างจริงจัง
“ตอนแรกที่มาอยู่ญี่ปุ่น มีความคิดอยากกลับเมืองไทยทุกวัน เพราะเป็นคนติดเพื่อน เหงา อยู่นี่ก็ไม่มีอะไรทำ แม้ว่าบ้านเมืองเขาจะเจริญกว่าเราก็จริง แต่เรารู้สึกว่านี่ไม่ใช่ที่ของเราเลย แม่ก็บอกว่าให้ลองออกไปหางานพาร์ทไทม์ทำ เก็บเงินไปเรียนภาษา ก็เลยไปสมัครงานในโรงงานที่ทำเกี่ยวกับอะไหล่เครื่องบิน ทำหน้าที่ลับเหลี่ยมไม่ให้คม ได้ชั่วโมงละ 690 เยน ซึ่งถือเป็นค่าแรงขั้นต่ำสุดของญี่ปุ่น ก็ลองทำดู”
“ทำไปได้สามเดือน บริษัทก็ไม่มีงานเข้า จึงเลิกจ้างเรา ซวยแล้วกู! ไม่มีงาน ก็ไม่มีเงินใช้ จากนั้นผมไปสมัครทำงานในโรงงานอะไหล่รถมอเตอร์ไซค์ หน้าที่คือเจาะรูอย่างเดียว ทำไปได้อีกสามเดือน ก็ถามตัวเองว่า ‘กูทำไปทำไมวะ’ โคตรเบื่อเลย ใจเรายังอยากเที่ยวเล่น อยากสนุกกับเพื่อนๆ อยู่ แต่ก็ต้องอดทนทำ”
“เพราะเราไม่ได้ทำงานแค่โรงงานอะไหล่รถมอเตอร์ไซค์อย่างเดียว ตกกลางคืนและช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ผมไปทำงานเสริม ซ่อมรางรถไฟด้วย ได้วันละ 2,000 เยน ทำงานทุกวันผ่านไปครึ่งปีเก็บเงินได้ประมาณ 600,000 เยน ถือว่าเยอะเหมือนกันนะสำหรับเด็กอายุ 16 ก็เลยเอาเงินตรงนั้นไปเรียนภาษาอีกครึ่งปี”
เวลาผ่านไป 1 ปี นริศ จำปาลี สามารถฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาญี่ปุ่นในระดับที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยนอกเหนือจากการเรียนที่โรงเรียนสอนภาษาแล้ว เขายังใช้วิธีศึกษาด้วยตัวเอง ผ่านการเปิดทีวี ดูทุกๆ รายการ เพื่อจดจำว่าคำนี้ออกเสียงแบบไหน มีความหมายอย่างไร
เมื่อเขาสามารถใช้ภาษาญี่ปุ่นได้แล้ว ในวัย 17 ปี นริศ จึงตัดสินใจไปสมัครสอบ เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับไฮสกูลที่ โรงเรียนยามามูระ อินเตอร์เนชั่นแนล ไฮสกูล (Yamamura International School) ซึ่งในอดีตเคยเป็นโรงเรียนหญิงล้วนเก่าแก่ แต่เพิ่งมาเปิดรับผู้ชายเมื่อ 4-5 ปีก่อนหน้าที่เขาจะเข้าเรียน
โดย นริศ ใช้ชื่อในการเรียนว่า มิตะ โคนัน (Mita Kounan) ซึ่งเป็นชื่อของพ่อเลี้ยง และเป็นนามที่เขาใช้ทางการที่ญี่ปุ่น แม้ตัวเองจะยังถือพาสสปอร์ตไทย จนถึงปัจจุบันก็ตาม
“ตอนที่เข้าไฮสกูล อยากไปโรงเรียนมาก มากถึงมากที่สุด (เน้นเสียง) เพราะเราไม่มีเพื่อนเลยในช่วงหนึ่งปีที่ทำงานมา ตอนแรกที่เข้าไฮสกูล มีความคิดอยากตั้งชมรมฟุตบอล แต่แทบไม่มีคนสมัคร ก็เลยชวนเพื่อนอีกคนก่อตั้งชมรมบาสเกตบอล ทั้งชมรมมีสมาชิกแค่ 7 คน ไปแข่งกับโรงเรียนอื่นก็แพ้ตลอด”
“แต่เรายังไม่ทิ้งความฝันที่อยากเป็นนักแสดงนะ ก็สมัครชมรมการแสดงควบคู่ไปด้วย ตอนแรกๆที่มาเรียน ก็โดนดูถูกเหมือนกัน เพราะเราเป็นคนไทย แต่เราก็ไม่ยอมใครเหมือนกันตอนนั้น เคยไปกระชากคอเสื้อเพื่อนด้วย แต่ไม่ได้ลงมือ กลัวโดนไล่ออก”
“ช่วงที่เรียนไฮสกูล ได้ทำกิจกรรมให้โรงเรียนตลอด พอเข้าเทอมสอง ตอนปีหนึ่ง (ม.4) อาจารย์ก็ชวนให้มาเป็นคณะกรรมการนักเรียนฯ อยู่ฝ่ายนโยบาย จนมีโอกาสได้ลงสมัคร ประธานนักเรียนตอนช่วงปลายปี 2 ก็ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานนักเรียน ถือเป็นผู้ชายคนแรกด้วยที่ได้เป็นประธานนักเรียนของโรงเรียนนี้”
หลังจบไฮสกูล นริศ มีความคิดอยากเรียนสายนิเทศศาสตร์ เพื่อไล่ล่าความฝันในการเป็นนักแสดง แต่การที่จะโลดแล่นในวงการบันเทิงญี่ปุ่นนั้นไม่ง่ายเลย และไม่มีหลักอะไรค้ำประกันได้เลยว่า ความฝันของเขาจะเป็นจริงหรือไม่
สุดท้าย นริศ จึงตัดสินใจเลือกสายงานช่าง เข้าเรียนที่โรงเรียนฮอนด้า หลักสูตร 2 ปี เพื่อโอกาสในการทำงานประจำที่มั่นคง และเรื่องยานยนต์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เจ้าตัวสนใจ
หลังจากเรียนไปแค่เพียงหนึ่งปี นริศ ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ และต้องใช้เงินจำนวนมาก เพื่อผ่อนและซ่อมรถยนต์ของตัวเอง ทำให้เขาเลือกที่ลาออกจากการเรียน และยื่นใบสมัครงานที่ ฮอนด้า ก่อนได้รับการพิจารณาให้เข้าทำงาน เนื่องจากเคยผ่านหลักสูตรของฮอนด้ามา แม้เรียนไม่จบก็ตาม
“นี่คือช่วงชีวิตที่รันทดสุดของจริง มันยิ่งกว่าทุกอย่างที่เราเคยผ่าน ผมได้เรียนรู้ชีวิต สังคมการทำงานจากการเข้าไปทำงานที่ฮอนด้า มันทำให้ผมโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นจริงๆ” นริศ กล่าวเริ่ม
“ตอนที่ผมไปทำงานที่ฮอนด้า ผมอายุประมาณ 20 ปี ส่วนพวกรุ่นพี่ที่สอนงาน เขาอายุประมาณ 40 ต้นๆ เขาไม่ยอมรับแม้กระทั่งคำว่า โอฮาโย โกไซมัส (สวัสดีตอนเช้า) ของผมอยู่เป็นปี ถ้าเป็นเมืองไทยก็คงมีเรื่องกันไปแล้ว แต่นี่อยู่บ้านเขาก็ต้องอดทน แม่เราลำบากกว่านี้ยังอดทนได้ เราก็ต้องอดทนให้ได้”
“อย่างเวลาเราทำอะไรผิดนิดหน่อย เขาก็จะทำให้เหมือนเราทำผิดมาก ผมโดนด่าหยาบคายสารพัด ไล่ให้กลับบ้าน ไม่ต้องมาทำงาน ตอนก่อนเข้าไปทำงานห้าวมาก ไม่เคยกลัวใคร แต่พอมาทำงานที่นี่ ความห้าวค่อยๆ ลดลง ต้องพูดคำว่าขอโทษเขาทุกวัน ยิ่งเราเป็นต่างชาติหัวดำ เขาไม่ยอมรับเราอยู่แล้ว ก็ต้องใช้เวลาอยู่นานเพื่อพิสูจน์ว่าเรามีน้ำอดน้ำทน มีความตั้งใจจริง”
ในสังคมการทำงานที่ญี่ปุ่นนั้น นอกเหนือจากความจริงจัง ซีเรียสที่ทุกคนต้องทำงานหนักแล้ว ที่นี่ยังให้ความสำคัญอย่างมากกับการลำดับอาวุโส ฉะนั้นเมื่อเป็นรุ่นน้องที่เข้ามาใหม่ นริศ จึงต้องเจอบททดสอบมากมาย หลายคนที่เข้ามาทำงานรุ่นราวคราวเดียวกัน ลาออกกันไปตั้งแต่สัปดาห์แรกๆ
ส่วน นริศ ใช้ความอดทน อดกลั้น และพยายามตั้งใจทำงาน จนเมื่อผ่านไปสัก 1 ปี เขาก็สามารถชนะใจเพื่อนร่วมงานซีเนียร์ทั้งหลายได้ และกลายเป็นพวกกันในที่สุด
“ทำงานที่ฮอนด้าเราได้เงินเยอะก็จริง ผมเคยได้มากสุดปีละ 7.2 ล้านเยน ตอนอายุ 23-24 ปี มีเงินซื้อรถยนต์ 2 คัน ซื้อเจตสกีอีก 1 คัน แต่เราแทบไม่มีเวลาได้ใช้ชีวิตเลย เราต้องทำงานทุกวัน ออกไปเข้างานตอน 8-9 โมงเช้า เลิกงานอีกทีตี 2-3 หลังเลิกงานก็เอาเงินไปเล่นการพนัน สลอต คาสิโน กินเหล้าเที่ยวกลางคืน เพราะเราอยากให้พวกรุ่นพี่ยอมรับ”
“สิ่งที่ตามมา ก็คือสภาพร่างกายเราไม่ไหว นอนวันละ 2 ชั่วโมงก็ต้องออกไปทำงาน ไปทำงานด้วยความอ่อนเพลียมาก ผมเคยนอนหลับในรถตอนลอดเข้าไปติดสตาร์ทเตอร์ใต้พวงมาลัย หลับอยู่ตรงนั้นเป็นชั่วโมง รู้ตัวอีกที เท้านี่แข็งไปหมดแล้ว เป็นช่วงหน้าหนาว”
“ตอนนั้นก็รู้สึกว่าเราอยู่ในวงโคจรแบบนี้ไม่ไหวว่ะ พอทำไปได้สัก 7 ปีก็ไปขอหัวหน้าเปลี่ยนจากเป็น พนักงานประจำมาเป็นพนักงานเซ็นสัญญาแบบปีต่อปี เพราะเราอยากรับงานแสดงบ้าง รับงานล่ามธุรกิจบ้าง เจ้านายก็ใจดีมากยอมให้เราได้ออกไปทำอะไรแบบนี้ควบคู่ไปได้ แต่ก็ต้องแลกกับเงินที่ได้น้อยลง”
นริศ เริ่มหาโอกาสในการแสดงละคร โดยยื่นโปรไฟล์ผ่านเอเจนซี่ดารา ในตอนแรกเขาขายภาพลักษณ์ความเป็นคนญี่ปุ่นที่พูดไทยได้ เคยมีโอกาสแสดงในการ์ตูนเรื่อง เซเลอร์มูน, คาเมนไรเดอร์ เป็นตัวประกอบ แต่ก็ไม่ได้มีงานมากนัก
ภายหลังเขาจึงเปลี่ยนคาแรกเตอร์มาขายความเป็น คนไทยที่พูดญี่ปุ่นได้ และนั่นทำให้เขาเริ่มมีงานแสดงออกมามากขึ้น ในฐานะนักแสดงตัวประกอบ โดยใช้ชื่อในวงการว่า “Narit” (ナリット) จนครั้งหนึ่งเคยได้ออกเกมโชว์รายการที่มีเรตติ้งยอดนิยมในญี่ปุ่นด้วย
ทุกอย่างดูไปได้สวยทั้งงานประจำที่ค่อนข้างมั่นคง และจ็อบเสริมในการเป็น นักแสดง และพนักงานเสิร์ฟในร้านคาราโอเกะ ตอนกลางคืน แต่ทว่าวันหนึ่งเขาก็ตัดสินใจลาออกจากงานหลักที่ ฮอนด้า เพื่อไปตามล่าความฝันในอีกเส้นทางหนึ่งที่แทบจะเป็นอีกโลกหนึ่งเลยก็ว่าได้
บนลิฟท์ชั้นที่ 10
“มึงบ้าไปแล้วเหรอวะ? จะไปสมัครเป็นล่ามฟุตบอลในเจลีกนี่นะ มันไม่มีทางเป็นไปได้หรอก มึงอยากลาออกให้พวกกูเหนื่อยเฉยๆ ใช่ไหม มึงอย่าเลย ทำงานหาเงินใช้ แล้วไปกินเหล้าด้วยกันเลย มึงอย่าบ้าเลย”
ท่ามกลางเสียงหัวเราะและคำเตือนจากรุ่นพี่ในที่ทำงาน หลังจากที่เขาบอกว่า มีความสนใจอยากทำงานเป็นล่ามนักฟุตบอล แม้ในตอนนั้นจะยังไม่มีนักฟุตบอลไทยคนใด ย้ายมาเล่นในเจลีก ญี่ปุ่น เลยสักคนเดียว
แต่การได้เข้าชมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก ที่ทีมชาติไทยบุกมาเยือนญี่ปุ่น ที่ไซตามะ สเตเดียม เมื่อปี 2017 ก็จุดประกายให้เขามีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะทำงานเป็น ล่ามนักฟุตบอลไทยในญี่ปุ่น หากมีโอกาส
“ก่อนหน้านี้ที่อยู่ญี่ปุ่น ไม่เคยเข้ามาชมเกมฟุตบอลแมตช์ใหญ่ในสนามแบบนี้มาก่อน พอได้มาเห็นบรรยากาศมันตื่นเต้นสุดๆ ทุกอย่างมันว้าวไปหมด เลือดในร่างกายสูบฉีด หัวใจเต้นแรงมาก มันเกินคำว่าสุดยอด แล้วมันก็มีความคิดเข้ามาในหัวว่า อยากเป็นล่ามนักฟุตบอลไทยในเจลีก”
“พอมีข่าวว่า ชนาธิป (สรงกระสินธ์) จะมาคอนซาโดเล ซัปโปโร เราก็ไปสมัครที่สโมสร แต่เขาไม่รับ ก็เลยพลาดไปในปีแรก รออีกปีหนึ่ง จนมาถึง มุ้ย (ธีรศิลป์ แดงดา) ก็โทรไปสโมสร ซานเฟรซเซ ฮิโรชิมา เขาก็ไม่รับล่ามอีก ตายแล้วกู! จะทำยังไงดี ช่วงต้นเดือนมกราฯ ลองโทรไปหาทีม วิสเซล โกเบ เพราะมีข่าวที่ไทยว่า ธีราทร (บุญมาทัน) จะมา แต่สโมสรเขาก็ไม่รับ เพราะยังไม่มีการประกาศอย่างทางการ เราก็บอกว่าไม่รับไม่เป็นไร แต่ขออนุญาตส่งใบสมัคร และเบอร์ติดต่อกลับได้ไหม”
“เราเขียนเป็นหน้ากระดาษเลย บอกว่าเรามีประสบการณ์อะไรบ้าง มีความต้องการอยากช่วยเหลือนักบอลไทยให้ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงในญี่ปุ่น จะคอยซัพพอร์ททุกอย่างทั้งในและนอกสนาม เพราะอยู่ญี่ปุ่นมา 17 ปีในตอนนั้น ก็รออยู่ 2-3 สัปดาห์ ตอนนั้นก็เผื่อใจไว้ว่าคงไม่ได้อีกตามเคย แต่ในใจลึกๆ ก็เชื่อว่าเราต้องได้สิ เพราะหลายอย่างที่เราไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ ยังเคยทำได้แล้ว ก็ไปบนศาลเจ้าญี่ปุ่นด้วยว่าขอให้ได้งานนี้”
“จนวันที่ 25 มกราฯ เขาโทรมาอยากขอสัมภาษณ์ เขาก็สนใจแต่อยากให้เริ่มงาน 1 กุมภาฯ โดยให้เวลาทดลองงาน 1 เดือน เราก็ตั้งตัวไม่ทันเหมือนกัน เพราะมีเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ ในการบอกลาที่ทำงานเก่า”
นริศ ตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่ ฮอนด้า หลังทำงานมากว่า 12 ปี เพื่อมาเริ่มต้นงานใหม่ที่รายได้น้อยกว่าเดิมมากกับสโมสรวิสเซล โกเบ ในฐานะล่ามแปลภาษาไทย ให้กับธีราทร บุญมาทัน ดาวเตะซูเปอร์สตาร์ทีมชาติไทย ที่ย้ายมาร่วมทีมด้วยสัญญายืมตัว 1 ฤดูกาล
จากประสบการณ์ที่ใช้ชีวิต เรียนหนังสือ และทำงานในอยู่ญี่ปุ่นมานานกว่า 17 ปี ทำให้ นริศ เชื่อว่างานล่ามฟุตบอลคงไม่ยากเกินความสามารถของตัวเอง แถมยังได้ทำงานกับคนไทยอีกด้วย แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เขาเจอ มันตรงกันข้ามกับทุกอย่างที่เขาคิด
“มันไม่ง่ายอย่างที่คิดเลย เพราะนักฟุตบอลที่เราเจอมันไม่ธรรมดา รู้อยู่ใช่ไหม? ว่าอุ้มเป็นนักบอลที่เข้าถึงยาก” นริศ ย้อนถามผู้เขียน ก่อนเล่าถึงช่วงเวลาที่ยากลำบากของตนเอง
“ครั้งแรกที่เจอกันที่สนาม ก็สวัสดีทักทายกันปกติ เราคิดว่าน่าทำงานด้วยกันง่าย แต่พอมาเจอกันที่ โอกินาวา เขาเหมือนเป็นอีกคนเลย เขามีความเครียดและกังวลกับหลายๆ อย่าง ตอนนั้นเขามาคนเดียวด้วย และเราก็ไม่ใช่ล่ามที่เขาเลือกมา สโมสรเป็นคนจ้าง เวลาที่เขาต้องการคำปรึกษาเขาจะโทรหา แชมป์ (ล่ามคนไทยของทีมฮิโรชิม่า) เราก็ช็อกสิ ตอนนั้นก็ไม่รู้วิธีว่าจะเข้าหาเขายังไง มันเหมือนยังมีกำแพงกั้นอยู่ ที่ทำให้เราเข้าไม่ถึงเขา”
ปัญหาหลักของ นริศ คือ การที่เขาไม่ได้ใช้ชีวิตที่ไทยมาเป็นเวลานาน ทำให้เขามีตัวเลือกคำไทยที่จะใช้ค่อนข้างน้อย รวมถึงศัพท์เทคนิคด้านฟุตบอลที่เป็นคำเรียกแบบไทย เขาก็ไม่สามารถสื่อสารออกได้ดีนัก จนทำให้เขากับธีราทร ดูเหมือนจะไปด้วยกันไม่ค่อยได้ เพราะเขาเองไม่เคยมีประสบการณ์ด้านฟุตบอลมาก่อน
จนกระทั่งงานแถลงข่าวเปิดตัว ธีราทร บุญมาทัน กับ วิสเซล โกเบ เริ่มต้นขึ้น ซึ่งถือเป็นงานแรกอย่างเป็นทางการของล่ามชาวไทย นริศ ถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่ทั้งล่ามแปลภาษาไทยเป็นญี่ปุ่น และแปลจากภาษาญี่ปุ่นเป็นไทย เขายอมรับว่าในวันนั้นเขาทำหน้าที่ได้ไม่ดี และหลังจบงานแถลง เขาได้บอกทุกอย่างที่อยู่ในใจกับ ธีราทร
“มันเหมือนกับในหัวเรามืดไปหมด ค้าง ช็อต พูดไม่ออก เข้าไปเช็คในโชเซียลก็โดนด่าเยอะมากว่า ล่ามคนนี้ไม่ได้เรื่อง ท้อมากจริงๆ”
“พอกลับมาถึงโรงแรมขึ้นลิฟท์จะไปชั้น 10 ตอนนั้นอยู่กับอุ้มสองคน ผมก็บอกอุ้มตรงๆ ว่า ‘ถ้ามีใครที่ดีกว่าพี่ อุ้มเลือกเขามาเลยนะ อย่าเอาชีวิตมาทิ้งกับพี่ นี่มันชีวิตและอนาคตของอุ้ม พี่ยอมหลีกทางให้ พี่ว่าพี่ทำงานนี้ไม่ได้’ อุ้มก็ตอบมาว่า ‘ช่างมัน ลืมๆ ไปเถอะพี่ มาอยู่ด้วยกัน ก็สู้ไปด้วยกันนี่แหละ มันก็แค่วันหนึ่งเท่านั้น’ ตอนนั้นเหมือนเขาเริ่มเปิดใจให้เรา”
“แต่กลับมาถึงห้องพัก น้ำตาไหลพรากเลย ในชีวิตนี้เพิ่งเคยเจอความล้มเหลวจริงๆ ที่ผ่านมาไม่ว่าจะหนักแค่ไหน เราคิดในใจว่า กูไม่ยอมแพ้หรอก ไม่ท้อ แต่ครั้งนี้เราท้อมาก มันเหมือนกับว่าเราไม่เหมาะกับงานนี้จริงๆ”
คืนวันนั้น นริศ โทรไประบายทุกอย่างที่อัดอั้นอยู่ในใจให้แม่ของเขาฟัง เขารู้สึกว่าภาระที่แบกรับอยู่ตอนนี้ มันหนักหนาเกินไป และมีความกดดันสูงมาก เพราะต้องมาทำหน้าที่แปลภาษาและช่วยเหลือ นักฟุตบอลที่เป็นความหวังของคนไทย
ขณะที่ค่าตอบแทนของเขา กลับได้เงินเพียงน้อยนิด หากเทียบกับการทำงานหลายๆ อาชีพที่เขาเคยผ่านมา แต่สุดท้ายเขาเลือกที่จะสู้ต่อกับการทำหน้าที่ล่ามต่อไป เพราะไม่อยากปล่อยโอกาสที่จะได้ทำงานในวงการลูกหนังหลุดมือ
“ตั้งแต่วันนั้น อุ้ม เขาก็เริ่มช่วยเราหลายอย่าง แนะนำให้เราดูบอลจริงจังมากขึ้น ดูว่าเขาใช้คำแบบไหน งานในสนามก็ค่อยๆ ปรับได้ดีขึ้น จากเดิมที่ใช้คำไม่ค่อยเก่ง ก็เริ่มเลือกใช้คำได้ดีขึ้น ไปไหนมาด้วยกันบ่อยขึ้น คุยกันตลอด ก็เริ่มสนิทใจ ดูเหมือนว่าเขาเริ่มไว้วางใจเราบ้างแล้ว”
“แต่การทำงานที่โกเบ มันก็มีเรื่องอื่นที่ทำให้เราเหนื่อยใจเหมือนกัน เพราะด้วยความที่เราเป็นคนไทย เขาไม่ยอมรับอยู่แล้วในตอนแรก ใช้ให้เราไปทำงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ ไล่ให้เราไปกรอกน้ำ ไปเติมลมลูกฟุตบอล ซักเสื้อผ้า พับผ้า ขัดรองเท้า กวาดห้องล็อกเกอร์ ดูดฝุ่น ล้างห้องน้ำ ขัดพื้น ตัดคอเสื้อ ตอนนั้นก็คิดในใจว่า ‘ให้กูทำทำไมวะ’ ล่ามโกเบมีตั้ง 7 คน แต่ทำไมเราเป็นคนเดียวที่ต้องมาโดนใช้ทำอะไรแบบนี้ เงินเดือนก็โคตรน้อย มันอึดอัดมาก คิดในใจว่าถ้าเลกสอง ยังโดนใช้ทำอะไรแบบนี้ ที่ไม่ใช่หน้าที่เรา คงลาออก”
“พอเลกสอง Kit Manager (คนดูแลเสื้อผ้า) มาใช้เราอีก เราก็ไม่ทำ เขาก็ไม่ว่าอะไร เราเลยได้โฟกัสกับการทำหน้าที่ล่ามอย่างเต็มตัว และอุ้มเองเริ่มมีโอกาสลงสนามมากขึ้น จากตอนแรกที่มองเห็นสายตาเพื่อนร่วมทีมบางคน โค้ช ดูเหมือนจะยังไม่ค่อยเชื่อใจอุ้ม”
“เราก็แชร์ประสบการณ์ทำงานของตัวเองให้เขาฟังว่า เขากำลังเจอในสิ่งที่เราเคยเจอมาก่อน ถ้าเขาพิสูจน์ตัวเองได้ เพื่อนร่วมทีมก็จะยอมรับ สุดท้ายอุ้มก็ทำได้ ทุกคนในสโมสรก็ให้การยอมรับในตัวเขา”
พลุไฟแห่งความฝัน
การทำงานที่ วิสเซล โกเบ ของนริศ อาจพบเจอกับอุปสรรคต่างๆ มากมาย ในแบบที่เขาไม่เคยพบเจอ แต่อย่างน้อยประสบการณ์ในครั้งนั้นก็ทำให้เขาได้มีโอกาสใกล้ชิด และอยู่ในห้องแต่งตัวเดียวกับนักฟุตบอลระดับโลกอย่าง อันเดรส อิเนียสต้า ที่ย้ายมาช่วงเลกสอง
อย่างไรก็ดี หลังจบฤดูกาล 2018 วิสเซล โกเบ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับทาง เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ในการรั้งตัว ธีราทร ต่อได้ ทำให้ดาวเตะชาวไทย มีแผนที่จะกลับไปในเล่นที่บ้านเกิด ขณะที่ นริศ ก็เริ่มมองหาลู่ทางในการศึกษาภาษาอังกฤษเพิ่มเติม รวมถึงการเรียนดำน้ำ ที่ประเทศออสเตรเลีย
จนกระทั่ง เมืองทองฯ บรรลุข้อตกลงกับทาง โยโกฮาม่า เอฟ.มารินอส ที่ประทับใจฟอร์มของ ธีราทร ทำให้แบ็กซ้ายทีมชาติไทย ได้มีโอกาสมาโลดแล่นใน เจ.ลีก อีกหนึ่งฤดูกาลด้วยสัญญายืมตัว และนริศ ก็ได้รับการทาบทามให้มาทำหน้าที่เป็นล่ามคู่กาย ธีราทร บุญมาทัน เป็นปีที่สอง
“ตอนจบฤดูกาล อุ้มเขาก็ตั้งใจจะกลับไปเล่นที่ไทยแล้วล่ะ แต่ผมบอกน้องว่า เชื่อสิ ยังไงปีหน้าอุ้มก็ต้องได้เล่นที่ญี่ปุ่นต่อ เพราะผลงานของอุ้ม ทุกทีมในลีกย่อมเห็นอยู่แล้ว สุดท้ายเขาก็ได้กลับมาอีกครั้ง ก็ดีใจที่ได้เขาไว้วางใจให้เรามาทำหน้าที่นี้ เพราะเราเข้าใจหัวอกคนไทยที่มาทำงานอยู่ที่นี่ มันยากลำยากแค่ไหน”
“การได้เป็นล่ามนักฟุตบอลทำให้เราได้เห็นเบื้องหลังในการทำฟุตบอล ไม่ใช่แค่โลกภายนอก ที่มองดูอยู่ข้างนอก ซึ่งมันดูสวยงามไปหมด แต่ความจริงทุกคนต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย”
การได้ทำงานกับ ธีราทร บุญมาทัน ในปีที่สอง ยิ่งทำให้เขาได้เห็นและทำความรู้จักกับ ผู้เล่นหมายเลข 5 ของสโมสรโยโกฮามา เอฟ.มารินอส ในมุมที่คนทั่วไปอาจไม่ได้มองเห็น
“คนทั่วไปอาจจะคิดว่า อุ้ม เป็นคนที่เข้าถึงยาก แต่จริงๆ แล้ว เขาก็เป็นคนที่อ่อนน้อมมาก รู้จักพี่ รู้จักน้อง ขี้เล่นด้วย ลึกๆ เขาก็ต้องการที่พึ่งทางใจ แต่คนที่เข้าไม่ถึงเขา คงเป็นเพราะนั่นเป็นจุดที่เขา รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องแสดงออกมา เขาไม่ชอบออกสื่อ เขามีความอยากเป็นตัวของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องยิ้มตลอดเวลาก็ได้ เขาแค่อยากทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีในสนาม”
“เวลาอยู่นอกสนามฟุตบอล เขาก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งนี่แหละ เป็นพ่อที่รักลูก เขารักครอบครัวมาก ไม่ว่ายังไง ครอบครัวต้องมาก่อน ตัวเขาไว้ทีหลัง เขาจะลำบากยังไงก็ได้ แต่ครอบครัวเขาต้องสุขสบาย”
นริศ บอกกับเราว่าสิ่งที่ยากสุดของการทำหน้าที่ล่าม ไม่ใช่การเรียนรู้คำศัพท์ หรือการเรียนรู้ชุดคำเยอะๆ แต่คือทำความเข้าใจและเข้าให้ถึงตัวตนของนักฟุตบอล ซึ่งมันไม่ได้มาจากการบอกเล่าของนักเตะถึงล่าม แต่สิ่งนั้นจะมาจากการได้ใช้เวลาร่วมกัน จนเรียนรู้คนๆ หนึ่งอย่างลึกซึ้ง
“เวลาทำหน้าที่ล่าม เราจะแปลตรงเป๊ะทั้งหมดคงไม่ได้ ต้องถนอมน้ำใจทั้งสองฝ่าย เพราะชาวต่างชาติบางทีเขาไม่รู้คำแบบไหนมันเซนซิทีฟกับคนไทย เราก็อาจเลือกใช้คำที่ซอฟท์ลงมาหน่อย แต่เนื้อหาหลักสิ่งที่เขาต้องการสื่อสารออกมา เราต้องแปลให้ครบถ้วน”
“ถ้าโค้ชโกรธอยู่ เราก็ต้องสื่อสารให้นักบอลรู้ว่า โค้ชไม่พอใจนะ สิ่งที่ยากของการทำหน้าที่คือ การเลือกใช้คำนี่แหละ ภาษาปากใครก็พูดได้ แต่ภาษาใจมันพูดยากกว่านั้น ต้องเกิดการเรียนรู้ และใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน”
“เราต้องรู้ให้ได้ว่า นักบอลคนนี้เป็นคนอย่างไร รับได้คำไหน เซนซิทีฟกับเรื่องไหน เขาไม่บอกเราหรอกว่า เขาไม่ชอบอะไร แต่เราต้องรู้ได้จากการใช้ชีวิตอยู่กับเขา คนที่ไม่ได้ยืนอยู่จุดนั้นไม่รู้หรอกว่า การเป็นล่ามมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เราถือว่าทุกคำที่เราแปลออกไป มันคือหน้าตาของนักฟุตบอล”
สิ่งที่ นริศ ทำจึงเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านภาษาแก่ ธีราทร อย่างมากที่สุดเท่าที่เขาคิดว่าตัวเองจะสามารถทำได้ นอกเหนือจากคำแปลจากโค้ชแล้ว เขายังเสริมด้วยการแปลให้ฟังด้วยว่า เพื่อนร่วมทีมแต่ละคน สื่อสารอะไร กำลังอยู่ในอารมณ์แบบไหน เพื่อให้นักเตะไทยที่เป็นความหวังของคนทั้งประเทศ ทำงานได้ราบรื่นที่สุด
เราคนไทยอาจได้ติดตามดู ธีราทร ผ่านการถ่ายทอดสดในทุกๆ นัด ในแต่ละสัปดาห์ และได้มองเห็นพัฒนาการของ ธีราทร ที่ก้าวขึ้นไปอีกระดับเหนือนักเตะไทยทั่วไป
แต่ นริศ คือคนที่ได้เห็น ธีราทร ในทุกๆ วัน ผ่านการทำงานร่วมกัน คงไม่ต้องบรรยายเลยว่า ทุกนัดที่ ธีราทร ลงเล่นและทำผลงานได้ดี เขาจะมีความรู้สึกดีมากแค่ไหน เมื่อได้เห็นคนที่เขาแท็กมือด้วยก่อนเกมทุกนัด ประสบความสำเร็จในแผ่นดินญี่ปุ่น
โดยเฉพาะในนัดสุดท้ายของฤดูกาลที่ โยโกฮาม่า เอฟ.มารินอส เปิดรัง นิสสัน สเตเดียม เอาชนะ เอฟซี โตเกียว ไปได้ 3-0 คว้าแชมป์ เจลีก ฤดูกาล 2019 ไปครองด้วย พร้อมกับส่งให้ชื่อของ ธีราทร บุญมาทัน ผู้ทำประตูแรกของเกมกลายเป็นผู้เล่นไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้เป็นแชมป์ เจลีก
มันคงเป็นช่วงเวลาที่ยากจะลบเลือนไปจากความทรงจำ ของชายหนุ่มวัย 34 ปีที่ชื่อ “นริศ จำปาลี”
“ตอนที่รู้ว่าทีมเป็นแชมป์ รู้สึกดีใจนะ แต่ก็ไม่ได้อะไรมากมาย จนกระทั่งช็อตที่นักบอลชูถ้วยแชมป์ ที่สนาม เขาจุดพลุฉลองแชมป์ เรามองขึ้นไปบนฟ้า เห็นพลุไฟพวกนั้น อยู่ๆดีน้ำตาไหล เราอยู่ยืนกลางสนามที่มีผู้ชม 63,000 กว่าคนได้ยังไงวะ”
“หลายคนยกมือถือขึ้นมาถ่ายรูปจังหวะนั้น แต่ผมไม่ถ่าย ขอมองและเก็บมันไว้ในความทรงจำ มันจะอยู่ในหัวเราตลอดไป มันไม่มีทางลบไปได้เลย ดีใจที่ตัวเองสู้มาถึงตรงนี้ แต่ชีวิตมันยังไม่จบแค่นี้ ไม่ว่าจะหนทางข้างไหนจะเจออะไร ก็จะบอกและเตือนตัวเองเสมอว่า ให้มุ่งมั่นและสู้ต่อไป อย่ายอมแพ้”
บทความโดย อลงกต เดือนคล้อย
โฆษณา