29 ธ.ค. 2019 เวลา 15:42 • ธุรกิจ
การใช้ Letter of Credit และข้อควรระวัง
อ. ประพฤติ ฉัตรประภาชัย
น.บ. (ธรรมศาสตร์) , เนติบัณฑิตไทย, LL.M. (Cornell)
อาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
อนุกรรมการฯ ด้านกฎหมายและสัญญาสัมปทาน กสทช.
Praphrut & Partners Law Firm
การชำระเงินด้วยวิธี Letter of Credit นั้น จะต้องยึดถือ Uniform Custom and Practice for Documentary Credit เลขที่ 600 ของ International Chamber of Commerce ซึ่งได้เริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2550 (ถัดจากฉบับก่อนคือฉบับที่ 500) ซึ่งแม้ตัว Uniform Custom (เรียกโดยย่อว่า UCP) นี้จะไม่ถือเป็นกฎหมายภายในหรือกฎหมายระหว่างประเทศที่มีสภาพบังคับเป็นการทั่วไป แต่ก็ถือเป็นคำภีร์ประเพณีปฏิบัติที่ธนาคารพาณิชย์ และผู้ที่ทำการค้าขายระหว่างประเทศใน 180 ประเทศทั่วโลก นำไปเป็นแนวทางในการชำระเงินระหว่างประเทศ
ระเบียบฉบับดังกล่าวได้อธิบายถึง Documentary Letter of Credit หรือ แอล.ซี ไว้ในมาตรา 2 ว่า หมายถึง การดำเนินการใด ๆ ไม่ว่าจะใช้ชื่อเรียก หรือถ้อยคำอื่นใดก็ตาม ที่ไม่สามารถเพิกถอนได้ ที่ธนาคารผู้ออก Letter of Credit (Issuing Bank) จะจ่ายเงินเป็นจำนวนแน่นอนเมื่อมีการยื่นเอกสารให้ธนาคารอย่างถูกต้อง
คู่สัญญาใน Letter of Credit
คู่สัญญาที่เกี่ยวข้องใน Letter of Credit มีอยู่ 4 ฝ่ายด้วยกันคือ
1. ผู้ขอเปิดเครดิต (Applicant) หมายถึง ผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าสินค้า ซึ่งตกลงกับผู้ขายว่าจะใช้วิธีการชำระเงินให้กับผู้ขายโดยวิธี Letter of Credit
2. ธนาคารผู้เปิดเครดิต (Issuing Bank ) คือธนาคารที่เปิด (issue) Letter of Credit ให้กับผู้ซื้อ โดยสัญญากับผู้ขายว่าธนาคารจะจ่ายเงินให้ผู้ขาย เมื่อผู้ขายปฏิบัติตามเงื่อนไขของ Letter of Credit ครบถ้วน ซึ่งโดยหลักแล้วจะเป็นธนาคารที่ตั้งอยู่ในประเทศเดียวกับผู้ซื้อ
3. ธนาคารผู้แจ้งเครดิต (Advising Bank or Confirming Bank) คือธนาคารในประเทศผู้ขายที่ได้รับการร้องขอจากธนาคารผู้เปิดเครดิต ให้เป็นผู้แจ้งเครดิตให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับประโยชน์ ซึ่งโดยปรกติแล้ว ธนาคารผู้แจ้งเครดิตจะแจ้งให้ผู้รับประโยชน์ทราบ โดยไม่มีภาระผูกพันแต่ประการใด แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่ธนาคารผู้เปิดเครดิต ร้องขอให้มีการยืนยันการชำระเงิน (Confirm) ของ Letter of Credit ฉบับนั้น ซึ่งทำให้ธนาคารผู้แจ้งนั้นต้องผูกพันตามเงื่อนไขของ แอล.ซี.ฉบับนั้น ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้วธนาคารผู้แจ้งเครดิตและธนาคารผู้เปิดเครดิตมมักจะเป็นธนาคารเดียวกันแต่คนละสาขา หรือเป็นธนาคารที่มีคอนเนคชันกันอยู่
4. ผู้รับประโยชน์ (Beneficiary) หมายถึง ผู้ที่มีสิทธิ์จะได้รับชำระเงินตามสัญญา Letter of Credit ซึ่งก็คือผู้ขายสินค้า หรือผู้ส่งออก
ข้อดีของ Letter of Credit
1. สร้างความมั่นใจให้ผู้ขายว่าจะได้รับชำระเงินค่าสินค้า ถ้าหากทำตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน แอล.ซี. ครบถ้วน ซึ่งส่วนมากเป็นการแสดงเอกสาร (present) ให้ถูกต้องตามที่ Letter of Credit กำหนด
2. ผู้ขายสามารถนำเอกสารที่ผู้ขนส่งออกให้ไปเบิกเงินจากธนาคารทันทีที่ส่งมองสินค้าแก่ผู้ขนส่ง (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขใน Letter of Credit)
3. ผู้ขายสามารถกู้เงินจากธนาคารได้ง่ายขึ้นโดยใช้ Letter of Credit เป็นหลักประกัน เช่น การขอทำ Packing Credit
4. ลดความเสี่ยงในกรณีผู้ซื้อถูกควบคุมการโอนเงินออกนอกประเทศ เนื่องจากธนาคารมีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินให้กับผู้ขาย เมื่อเงื่อนไขใน Letter of Credit ได้รับการปฏิบัติตามครบถ้วน
5. ทำให้ผู้ซื้อมั่นใจว่าผู้ขายสามารถเบิกเงินได้ต่อเมื่อส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ขนส่งแล้วเท่านั้น
6. ผู้ซื้อยังไม่ต้องจ่ายเงินในช่วงที่เอกสารอยู่ในระหว่างกระบวนการตรวจสอบ ทำให้ผู้ซื้อมีสภาพคล่องมากขึ้น
Letter of Credit กับการป้องกันการทุจริต
ผู้ประกอบการพึงต้องตระหนักว่า แม้ว่า Letter of Credit จะขึ้นชื่อว่าเป็นวิธีการชำระเงินในสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศที่ปลอดภัยมกาวิธีหนึ่ง แต่ Letter of Credit ก็ไม่สามารถคุ้มครองผู้ซื้อในกรณีที่ผู้ขายมีเจตนาทุจริตต่อผู้ซื้อ เพราะตาม Uniform
Customs and Practice for Documentary Credits ฉบับ 600 ได้ระบุไว้ในมาตรา ที่กล่าวถึงก่อนหน้านั้น ตามมาตราที่ 4 ได้ระบุไว้ว่า
“ Letter of Credit กับสัญญาซื้อขายหรือสัญญาอื่นที่เป็นฐานของ Letter of Credit นั้นแยกออกจากกัน ธนาคารไม่จำต้องคำนึงถึงสัญญาดังกล่าว แม้ว่าจะมีการกล่าวอ้างถึงสัญญาดังกล่าวนั้นไว้ใน Letter of Credit ก็ตาม ดังนั้น การปฏิบัติตามข้อกำหนดใน Letter of Credit ของธนาคารจึงไม่อาจถูกร้องหรือถูกโต้แย้งโดยผู้ขอเปิดเครดิตที่อาศัยเหตุแห่งการฟ้องร้องจากความสัมพันธ์ของตนที่มีอยู่กับธนาคารผู้ขอเปิดเครดิตหรือผู้รับประโยชน์”
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ แม้ว่าผู้ขายจะผิดสัญญาซื้อขาย โดยส่งมอบสินค้าที่ไม่ถูกต้อง ไม่ครบ หรือชำรุดบกพร่อง ไม่เป็นไปตามสัญญาซื้อขาย และผู้ซื้อได้แจ้งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินแล้วก็ตาม ถ้าหากตราบใดที่เอกสารที่ผู้ขายนำมาแสดงต่อธนาคารนั้นถูกต้องตรงตามข้อกำหนดใน Letter of Credit แล้ว ธนาคารก็ย่อมมีหน้าที่ต้องชำระเงินให้กับผู้ขาย ธนาคารจะอ้างเหตุของการผิดสัญญาซื้อขายมาปฏิเสธไม่ชำระราคาไม่ได้ เช่น ถ้า L.C. เปิดมาระบุว่าสั่งซื้อข้าวหอมมะลิ แต่ผู้ขายส่งแกลบไปให้ แต่เอกสารทุกฉบับระบุว่าเป็นข้าวหอมมะลิ และถูกต้องตาม เงื่อนไขอื่น ๆ ของ แอล.ซี. ธนาคารก็มีหน้าที่ต้องจ่ายเงิน นอกจากนี้ในมาตรา 5 ก็ยังกำหนดอีกว่า ธนาคารจะเกี่ยวข้องกับเอกสารเท่านั้น ไม่รวมถึงสินค้า บริการและการปฏิบัติอื่นใด ซึ่งหมายความว่า ธนาคารไม่มีภาระหน้าที่จะต้องตรวจสอบว่าสินค้าที่ส่งมานั้น ถูกต้องตรงกับเอกสารหรือไม่ เป็นหน้าที่ของผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องไปฟ้องร้องเอาผิดกันเอง ธนาคารไม่ต้องรับผิดชอบ
ดังนั้น การใช้วิธีการชำระเงินโดย Letter of Credit จึงไม่สามารถรับประกันได้ว่าผู้ซื้อจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ มีปริมาณที่ถูกต้อง และไม่สามารถรับประกันว่าเอกสารที่ผู้ขายส่งมานั้นจะเป็นของจริงหรือไม่ นอกเสียจากว่า ผู้ซื้อจะกำหนดเงื่อนไขให้เพิ่มเอกสารรับรองที่ออกโดยผู้ตรวจสอบอิสระ (inspector) หรือจาก ตัวแทนของผู้ซื้อได้ แต่ก็สามารถป้องกันได้พียงบางส่วนเท่านั้น
ส่วนในมุมมองของผู้ซื้อที่อยากจะไม่จ่ายเงินผู้ขาย ก็อาจหาข้อบกพร่องเล็กน้อย (de minimis) ของเอกสารที่ผู้ขายนำมาขึ้นเงินกับธนาคาร เช่น สะกดคำผิด ชื่อไม่ตรง หรือฟอร์แมตของเอกสารผิดไปจากที่ตกลงกัน แม้การผิดนั้นจะไม่กระทบถึงสาระสำคัญของสัญญาซื้อขายเลยก็ตาม แล้วถือเป็นข้ออ้างปฏิเสธไม่ยอมรับเอกสาร และไม่ชำระเงินตาม แอล.ซี. โดยอ้างหลักการปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด (Strict Compliance) ของ UCP 600 มาตรา 14
ถึงแม้ว่าการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย Letter of Credit จะเป็นวิธีการชำระเงินที่ได้รับความนิยม มากกว่าวิธีอื่น เนื่องจากมีธนาคารซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีความน่าเชื่อถือเข้ามาเป็นตัวกลางในการตรวจสอบเอกสาร แต่บทบาทหน้าที่ของธนาคารก็มีอยู่อย่างจำกัดเนื่องจากกรอบวิธีปฏิบัติที่ UCP 600 ได้วางแนวปฏิบัติไว้ เพื่อให้การซื้อขายระหว่างประเทศดำเนินไปได้โดยสะดวก
ดังนั้น การใช้ผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ ใน Letter of Credit รวมทั้งทำการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบริษัทคู่ค้า สัญญาซื้อขาย รวมทั้งธนาคารที่บริษัทคู่ค้าติดต่อ จึงเป็นสิ่งสำคัญก่อนที่ผู้ขายหรือผู้ซื้อจะตัดสินใจลงมือผลิต จัดหาสินค้าหรือจัดหาเงินทุนเพื่อทำธุรกิจให้บรรลุเป้าหมาย
credit: บทความจาก Counsel One
โฆษณา