30 ธ.ค. 2019 เวลา 11:32 • กีฬา
เกมส่งท้ายปี 2019 ของลิเวอร์พูล จบลงด้วยชัยชนะเหนือวูล์ฟแฮมป์ตัน 1-0
เกมนี้มีประเด็น VAR 2 จังหวะซ้อน เรามาอธิบายกันด้วยกฎของเอฟเอกัน นี่คือบทสรุป 16 ข้อ จากเกมที่แอนฟิลด์
1) ในขณะที่ทีมอื่นโรเทชั่นกันโครมๆ เจอร์เก้น คล็อปป์ เปลี่ยนผู้เล่นลิเวอร์พูลแค่ 1 ตำแหน่งเท่านั้นจากเกมชนะเลสเตอร์ คือเอานาบี เกอิต้า ออก แล้วส่งอดัม ลัลลาน่าลงเล่นแทน
ส่วนฝั่งวูล์ฟ โรเทชั่นผู้เล่นครึ่งทีม แมตต์ โดเฮอร์ตี้, อดาม่า ตราโอเร่, ราอูล จิมิเนซ และโรแม็ง ซาอิส จากเป็นตัวจริงเกมเจอแมนฯซิตี้ เกมนี้กลายมาเป็นสำรอง
2) จุดที่น่าสนใจของวูล์ฟส์คือ พวกเขาใช้นักเตะโปรตุเกสเยอะมาก ใน 11 ตัวจริง มีโปรตุเกสถึง 6 คนด้วยกัน เกินกว่า 50% ของทีมเสียอีก ซึ่งเราไม่ค่อยเห็นนัก ที่จะมีสักสโมสรขนนักเตะต่างชาติ ชาติเดียวกันลงพร้อมกันแบบนี้ อย่างไรก็ตาม ข้อดีของมันคือ ผู้เล่นมีความเข้าใจ และมีทีมเวิร์กกันดีมากๆ
3) เราพูดถึงประเด็น VAR กันก่อน เริ่มจากลูกนำ 1-0 ของลิเวอร์พูล จังหวะนี้คำถามคือ หัวไหล่ มันเป็นส่วนของการแฮนด์บอลหรือไม่ อ้างอิงจาก Law of the game ของเอฟเอเลย คือคำว่าแฮนด์บอล หมายถึง Hand กับ Arm หรือปลายนิ้วมือไปจนถึงท่อนแขน
ถ้าท่อนแขนด้านบน (Upper Arm) ก็นำว่าเป็นแฮนด์บอลเหมือนกัน เพราะอยู่ในวิสัยของคำว่า Arm อยู่
แต่กับเคสของไหล่ (Shoulder) ล่ะ? มันไม่ได้มีการระบุเอาไว้ใน หนังสือกฎกติกาของทั้งฟีฟ่า และเอฟเอ ว่าเป็นการฟาวล์ ดังนั้นผมเชื่อว่า การใช้ไหล่กระแทกบอล ไม่อาจนับว่าเป็นการแฮนด์บอลได้
ในอดีตมีหลายๆช็อตที่ผู้เล่นใช้ไหล่เล่นบอล แต่ผู้ตัดสินก็ไม่ได้ว่าอะไร ตัวอย่างเช่น ในซีซั่นที่แมนฯซิตี้ได้แชมป์ ปี 2011-12 เกมที่ชนะนอริช 5-1 บาโลเตลลี่ ก็ใช้หัวไหล่กระแทกเข้าประตูไปเลย ซึ่งผู้ตัดสินฮาวเวิร์ด เว็บบ์ ก็ปล่อยให้เป็นประตูปกติ
ดังนั้นเคสของอดัม ลัลลาน่า ก็ต้องมาดูกันว่า ลูกบอลโดนไหล่ หรือโดนท่อนแขนด้านบนล่ะ ซึ่งจากรีเพลย์ บอลโดนไหล่เยื้องไปทางคอ มากกว่าไปทางแขน ดังนั้นก็ต้องผู้ตัดสินจึงมองว่า มันยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเป่าเป็นแฮนด์บอลได้ เลยปล่อยให้ลูกนี้เป็นประโยชน์กับลิเวอร์พูล
4) แต่อีกจุดนึงที่ต้องชม คือซาดิโอ มาเน่ เมื่อเห็นบอลเด้งมาเข้าทาง จะยังไงไม่รู้ ขอยิงเข้าไว้ก่อน นี่เป็นแบบเรียนที่ดีของกองหน้าในยุคนี้ คือ ยิงเข้าไว้เป็นอันดับแรก ส่วนจะได้ประตูหรือไม่นั้น ให้ VAR หาคำตอบให้
5) แล้วก็ การดู VAR ในลูกของลัลลาน่าช็อตนี้ นอกจากจะเช็กว่าโดนไหล่ หรือโดนท่อนแขน อีกอย่างที่ทีมงานเช็กด้วยคือ ผู้ตัดสินแอนโทนี่ เทย์เลอร์ เป่าแฮนด์บอล ตอนบอลข้ามเส้นประตูไปแล้วหรือยัง
ถ้าเป่า "ก่อน" บอลข้ามเส้น ลูกนี้จะโดนจับเป็นแฮนด์บอลทันที คือ VAR จะใช้การได้ คือใช้เพื่อเช็กว่าประตูที่เกิดขึ้น มันบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือเปล่า แต่ถ้าบอลยังไม่เข้าประตู VAR จะไม่สามารถมีบทบาทได้
แต่เมื่อดูรีเพลย์แล้ว กรรมการเทย์เลอร์เป่านกหวีดแฮนด์บอล ตอนบอลข้ามเส้นไปแล้ว ดังนั้น VAR จึงสามารถมีบทบาทในการเปลี่ยนคำตัดสินได้
6) ส่วน VAR อีกหนึ่งครั้ง เกิดขึ้นช่วงทดเจ็บของครึ่งแรก ที่วูล์ฟส์ ยิงประตูได้ จอนนี่ อ็อตโต้ จ่ายเข้ากลางให้ เปโดร เนโต้ ยิงเข้าไป ซึ่ง VAR ตรวจจังหวะที่จอนนี่ รับบอลก่อนแอสซิสต์ว่าล้ำจริงหรือไม่
คำตอบเราเห็นกันอยู่แล้วว่า เมื่อลากเส้นประ จอนนี่ยืนเหลื่อมแอนดรูว์ โรเบิร์ตสันไปประมาณหลักมิลลิเมตร สุดท้าย VAR ก็เลยทำการ Overrule หรือยกเลิกประตูของวูล์ฟส์ ดึงสกอร์กลับมาเป็น 1-0 ใหม่
ถามว่าโหดร้ายกับวูล์ฟส์หรือไม่ คำตอบคือใช่ มันโหด เพราะ 2 จังหวะที่เช็ก VAR ผลออกมาไม่เป็นใจกับวูล์ฟส์เลยสักหน แถมยังมาเกิดติดๆกันห่างแค่ 5 นาทีอีกต่างหาก
แต่ถามว่ามันผิดหรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะผู้ตัดสินก็ตัดสินไปตามกฎที่ถูกระบุไว้
7) ผมเข้าใจดี ที่คนส่วนใหญ่มองว่า การใช้ VAR มานั่งจับการล้ำหน้าเป็นหลักมิลลิเมตร หรือเซนติเมตร เป็นเรื่องบ้าบอมาก แต่สิ่งที่ทาง VAR ทำ คือแม้จะ 1 มิลลิเมตร ล้ำก็คือล้ำ เหมือนอย่างเวลาบอลข้ามเส้นประตูไปแล้ว แม้จะข้ามไปแค่ 1 มิลลิเมตร เราก็ยังตัดสินว่าบอลข้ามเส้นประตูไปแล้วอยู่ดี
ดังนั้นในกรณีล้ำหน้ามันจะต่างอะไรกันล่ะ ถ้าล้ำแม้แต่นิดเดียวก็คือล้ำ
ในซีซั่นนี้ เราด่า VAR กันตลอดตั้งแต่ต้นฤดูกาล จนถึงวันนี้ เรื่องการลากเส้นจับเซนติเมตร สาเหตุที่พรีเมียร์ลีกรู้ว่าโดนด่า แต่ยังไม่ยกเลิกการใช้ VAR ในลูกลักษณะนี้ เพราะมันคือมาตรฐานการตัดสินที่ประกาศว่าจะใช้ตลอดฤูดูกาล ดังนั้นเมื่อเริ่มแล้ว ก็ต้องใช้มันจนจบครบ 38 นัด
ถ้ามายกเลิกเอาตอนนี้ แล้ว 18-19 นัดที่ผ่านมา ทีมที่เสียประโยชน์ไปแล้วจะทำอย่างไร ดังนั้นบ่นได้ ด่าได้ แต่พรีเมียร์ลีกจะใช้ VAR แบบเดิมแน่ๆจนจบซีซั่นนี้
สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้คือ กฎ VAR จะใช้ไปเรื่อยๆจนจบซีซั่น แล้วจากนั้น ทุกทีมและเอฟเอ ก็จะมารีวิวกันเพื่อปรับกฎใหม่ในปีหน้า จะมีการนิยามเรื่องการล้ำหน้าใหม่ ว่าถ้าล้ำในระดับเซนติเมตร ถือว่าให้ปล่อยผ่านหรืออะไรก็ว่ากันไป
8 ) จริงๆแล้ว เข้าใจอารมณ์ของนูโน่ เอสปิริโต้ เพราะวูล์ฟส์คือทีมที่เสียประโยชน์จาก VAR มากที่สุดในพรีเมียร์ลีก คือตั้งแต่เริ่มฤดูกาลมา เมื่อไหร่ก็ตามที่มี VAR เมื่อนั้นวูล์ฟส์ เสียประโยชน์ทุกครั้ง
ครั้งที่ 1 (vs เลสเตอร์) - ยิงเข้าแต่ไม่ได้ โดนจับแฮนด์บอล
ครั้งที่ 2 (vs เซาธ์แฮมป์ตัน) - ยิงเข้าแต่ไม่ได้ โดนจับแฮนด์บอล
ครั้งที่ 3 (vs เซาธ์แฮมป์ตัน) - ยิงเข้าแต่ไม่ได้ โดนจับล้ำหน้า 1 ซม.
ครั้งที่ 4 (vs แมนฯซิตี้) - VAR ย้อนให้จุดโทษแมนฯซิตี้
ครั้งที่ 5 (vs แมนฯซิตี้) - สเตอร์ลิ่งยิงจุดโทษพลาด VAR ให้ยิงใหม่ บอกว่าคอเนอร์ โคดี้ เข้าไปในเขตโทษก่อน
ครั้งที่ 6 (vs ลิเวอร์พูล) - ยกเลิกแฮนด์บอลลัลลาน่า
ครั้งที่ 7 (vs ลิเวอร์พูล) - ยิงเข้าแต่ไม่ได้ โดนจับล้ำหน้า
7 ครั้ง เมื่อสัญญาณ VAR ขึ้นมา เมื่อนั้นวูล์ฟส์เสียประโยชน์ 100% เป็นทีมเดียวในลีกด้วย ที่ยังไม่เคยได้ประโยชน์จาก VAR เลยแม้แต่ครั้งเดียว
9) สำหรับแอดมินนั้น บอกเสมอว่าผู้ตัดสินเขาทำตามหน้าที่ คือเมื่อพรีเมียร์ลีกวางกฎเอามาไว้แบบนี้ เขาก็ต้องปฏิบัติตามแค่นั้นเอง ดังนั้นแฟนบอลก็ควรดูบอลอย่างเข้าใจ ไม่จำเป็นต้องด่ากรรมการตอนตัวเองเสียประโยชน์ แต่ควรมองในมุมผู้ตัดสิน ว่าทำไมเขาเป่าแบบนั้น คือถ้าเขาตัดสินผิดจากกฎใน Law of the game เมื่อไหร่ เมื่อนั้นค่อยตำหนิก็ยังไม่สาย
10) สำหรับจุดที่น่าสนใจอื่นๆในเกมที่แอนฟิลด์ มีประเด็นเรื่องของโม ซาลาห์ ที่ยังคงพยายามเต็มที่ ที่จะยิงให้ได้ เพราะนับดูดีๆ ซาลาห์ไม่ได้ยิงมา 4 นัดติดกันแล้ว บางจังหวะก็เห็นเลยว่าเขาดื้อเกินไปหน่อย มีช่องส่งได้ แต่เลือกยิงเอง
เกมนี้ ก็เป็นอีกนัดที่เขาเล่นไม่เข้าฟอร์ม ซาลาห์ได้สัมผัสบอลน้อยสุดในทีมลิเวอร์พูล และมีเปอร์เซ็นต์จ่ายบอลเข้าเป้าแค่ 75% เท่านั้น หลายๆลูกเราเห็นเลยว่า เขาตัดสินใจไม่ค่อยดี จับยาวเกิน หรือฝืนเลี้ยงทั้งๆที่โดนประกบ
แต่ก็เหมือนเดิม จะสังเกตว่าเพื่อนๆจะไม่มีใครว่าอะไร นอกจากนั้นคล็อปป์ก็ไม่ได้เปลี่ยนซาลาห์ออกด้วย และให้เล่นเต็ม 90 นาที ทุกคนมั่นใจในตัวซาลาห์ เพียงแต่ซาลาห์เกมนี้ยิงไม่ได้แค่นั้น
11) นัดนี้ ตอนที่คล็อปป์วางอดัม ลัลลาน่า ลงเป็นตัวจริง ก็คิดในใจว่าจะใช้เขาเล่นเป็นกองกลางตัวรับอีกหรือเปล่า แต่เกมนี้ ไม่ใช่ คล็อปป์ให้เฮนเดอร์สันยืนเป็นตัวรับ ส่วนลัลลาน่า ให้วิ่งพล่านเต็มที่ บู๊ ชน และมีส่วนกับเกมบุกด้วย ซึ่งเอาจริงๆเขาเล่นได้ดีกว่า ตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรับนะ
การไม่ต้องยืนในตำแหน่งที่ ต้อง Cover หน้าที่เยอะเกินไป ทำให้ลัลลาน่าเล่นได้ดีขึ้น เกมนี้เขาตัดบอลจากเท้าคู่แข่งได้ถึง 4 หน มากที่สุดในทีม และตัดลูกจ่ายคู่แข่งได้ 2 หน มากที่สุดในทีมเช่นกัน นี่ขนาดว่าได้เล่นแค่ 66 นาที ผลงานยังดีขนาดนี้
12) เกมนี้ลิเวอร์พูลเล่นโอเคหลายคน แต่ก็ต้องยอมรับว่า คู่แข่งวูล์ฟส์ พวกเขามาดีจริงๆ ในครึ่งแรกพวกเขาโดนลิเวอร์พูลพับสนาม แต่พอมาครึ่งหลัง กลายเป็นวูล์ฟส์ครองบอลได้มากกว่า และมีความวูบวาบมากกว่า
คือเรื่องความสดของนักเตะเห็นได้ชัดมาก พอพวกอดาม่า ตราโอเร่ และ ราอูล จิมิเนซลงสนาม จังหวะของวูล์ฟส์เร็วขึ้นอีก และลิเวอร์พูลก็เกือบจะเสียประตูหลายที
13) นักเตะอย่างเวอร์จิล ฟาน ไดค์ที่แข็งแกร่งมาตลอด นัดนี้เราเห็นเลยว่าเขาเองก็ล้ามากๆเหมือนกัน มีช็อตพลาดที่นานๆทีจะเกิดขึ้น ตอนโดนดีเอโก้ โชต้า เพรสซิ่งแย่งบอลจากเท้าไปได้ และเกือบยิงตีเสมอได้ ในนาทีที่ 67 แต่ยังโชคดีที่ความผิดพลาดของเขาครั้งนั้น ไม่ถึงกับทำให้ทีมเสียประตู
ในซีซั่นนี้ ฟาน ไดค์เป็นคนเดียวของลิเวอร์พูลที่ลงเล่นตัวจริงทั้ง พรีเมียร์ลีก และแชมเปี้ยนส์ลีก ทุกนัดทุกนาที คนอื่นยังมีโรเทชั่นบ้าง แต่ฟาน ไดค์ต้องลงเสมอ
เกมที่ฟาน ไดค์ได้พัก คือคาราบาวคัพ ที่ให้เด็กลง กับเกมเจอมอนเตอร์เรย์ในฟีฟ่าคลับเวิลด์ที่มีอาการป่วย แต่เกมอื่นเขาลงเล่นทุกนาที ซึ่งเป็นคนเหล็กมาจากไหนลงถี่ขนาดนี้ก็ล้าได้เหมือนกัน ตอนนี้เชื่อว่าคล็อปป์ก็ภาวนาให้กองหลังคนอื่นๆหายกลับมาให้เร็วที่สุด ฟาน ไดค์จะได้พักกับเขาบ้าง
14) เช่นเดียวกับเทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ช่วง 10 นาทีสุดท้าย คือหมดอย่างสิ้นเชิง โดนราอูล จิมิเนซ และอดาม่า ตราโอเร่ เผากันดื้อๆหลายที คือปกติอเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ก็มีความเร็วพอตัว แต่สภาพเขาท้ายเกม คืออ่อนล้ามาก จากการลงเป็นตัวจริงต่อเนื่องหลายนัดเกมแล้วเกมเล่า
อีกสักพักคล็อปป์ต้องคิดเรื่องการพักอเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์แบบเต็มๆ บ้างแล้ว เพื่อฟื้นสภาพร่างกาย ก่อนที่จะกรอบไปมากกว่านี้
15) อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเกมก็จบลงด้วยชัยชนะ 1-0 ของลิเวอร์พูล เป็นเกมที่เหนื่อยมากที่สุดนัดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม พวกเขาเก็บ 3 แต้มสำคัญเอาไว้ได้ ทำให้ 19 เกมแรกของฤดูกาลมี 55 แต้ม นำเลสเตอร์ ถึง 13 คะแนน ซึ่งเป็นช่องว่างที่เยอะมากๆ
ช่องว่าง 13 แต้ม แปลว่าคุณสามารถแพ้ได้อีก 4 นัดเต็มๆ ก็ยังเข้าป้ายได้แชมป์อยู่ดี
ถ้านับแค่ครึ่งซีซั่นหลัง (19 นัดสุดท้ายของฤดูกาล) ตั้งแต่คล็อปป์มาคุมทีม ลิเวอร์พูลมีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆ
2014-15 แพ้ 5 นัด (ร็อดเจอร์ส)
2015-16 แพ้ 5 นัด (คล็อปป์)
2016-17 แพ้ 4 นัด (คล็อปป์)
2017-18 แพ้ 3 นัด (คล็อปป์)
2018-19 แพ้ 1 นัด (คล็อปป์)
จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่คล็อปป์ย้ายมาเป็นผู้จัดการทีม ลิเวอร์พูลมีความละเอียดขึ้นเยอะมากในช่วงครึ่งฤดูกาลหลัง ค่อยๆแพ้น้อยลงทีละนิด ทีละนิด
คือคล็อปป์นั้นมีความเขี้ยวมาก ในช่วงปลายซีซั่นเขารู้วิธีว่าจะทำอย่างไร ทีมจะไม่หลุดแพ้คู่แข่งในสถานการณ์บีบคั้น
ดังนั้นในฤดูกาล 2019-20 ถ้าดูจากสถิติที่ดีขึ้นเรื่อยๆแล้ว จะบอกว่าลิเวอร์พูลจะแพ้ถึง 4 นัด ใน 19 เกมที่เหลือล่ะก็ มองไม่เห็นทางจริงๆ
16) แฟนลิเวอร์พูลยังคงหวั่นใจ และขอมองไปเกมต่อเกมดีกว่าจะมองข้ามช็อตว่าได้แชมป์แน่ๆเพราะกลัวจะเจ็บซ้ำอีก แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงยืนยันคำเดิม เมื่อดูจากสถิติทั้งหลาย บวกกับฟอร์มของทีมอื่นในพรีเมียร์ลีก
ว่าการลุ้นแชมป์ซีซั่นนี้ มันไม่มีเหลี่ยมให้พลิกแล้ว แม้จะผ่านไปแค่ครึ่งซีซั่นก็ตาม
#Liverpool
โฆษณา