31 ธ.ค. 2019 เวลา 13:37
กูจะสู้สุดแรงหล้า กูจะสู้เพื่อบ้านเมือง
จันทบุรี   เป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งในประเทศไทย     แต่เริ่มสร้างเมื่อใดไม่สามารถจะหาหลักฐานแน่นอนได้  ปรากฏหลักฐานในหนังสือฝรั่งเศสชื่อ แคมโบช ซึ่งชาวฝรั่งเศสชื่อ ม.อิตีเมอร์ เขียนไว้เมื่อ พ.ศ.2444 ว่าได้มีบาทหลวงองค์หนึ่ง พบศิลาจารึกภาษาสันสกฤต ที่ตำบลเขาสระบาป  ในศิลาจารึกนั้นมีข้อความว่า เมื่อ 1,000 ปี ล่วงมาแล้ว  มีเมืองหนึ่งชื่อว่า  ควนคราบุรี เป็นเมืองที่มีอาณาเขตกว้างขวาง มาก  ตั้งอยู่เชิงเขาสระบาป
ชื่อ ควนคราบุรี นี้ จะเป็นชื่อเมืองตรงกับเมืองจันทบุรีในปัจจุบันหรือไม่ ยังเป็นข้อสงสัยอยู่   แต่ที่อ้างสถานที่ว่าตั้งอยู่ ที่เชิงเขาสระบาปนั้นน่าจะเป็นเมืองเดียวกัน เพราะเมืองเก่าแก่ที่สุดของจันทบุรีนั้นตั้งอยู่ที่เชิงเขาสระบาป ยังมีซากปรากฏ อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ ชาวพื้นเมืองเดิมของจันทบุรี เป็นเชื้อชาติ “ชอง”
เมื่อประมาณพ.ศ.1400 พวกขอมมีอำนาจ ได้แผ่เข้าครอบครองเมืองจันทบุรี มีหลักฐานเป็นซากเมืองเก่าเหลือปรากฏอยู่ คือ กำแพงก่อด้วยศิลาแลงกับเชิงเทินดินเป็นคันขึ้นไป และมีถนนโบราณอีก 2 สาย ซึ่งยังคงสั่ง เกตุเห็นเป็นแนวได้
นอกจากนี้ยังมีศิลาแกะสลัก เศียรเทวรูปที่วัดทองทั่ว  ทับหลังศิลปขอม (ปัจจุบันอยู่วัดโบสถ์)    สิงห์ศิลา(ปัจจุบันอยู่ ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศจังหวัดจันทบุรี) และศิลาจารึกภาษาขอมที่ได้จากบ้านเพนียด หน้าเขาสระบาป   ใกล้วัดทองทั่ว ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมืองจังหวัดจันทบุรี
<< ซากเมืองเก่า เมืองเพนียด
พวกชอง ในปัจจุบัน  ตั้งภูมิลำเนาทำมาหากินอยู่ในป่าซึ่งอยู่ติดกับเขตแดนเมืองพระตะบองและบางท้องที่ในเขต กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ  เช่นที่  ตะเคียนทอง  คลองพลู   จันทเขลม ฯลฯ    พวกนี้มีภาษาพูดอย่างหนึ่งต่างจากภาษาเขมร และภาษาไทย ทางมานุษยวิทยาได้จัดให้อยู่ในจำพวกตระกูลมอญ-เขมร เช่นเดียวกับขอมโบราณเหมือนกัน   พวกชอง ชอบลูกปัดสีต่างๆ และใช้ทองเหลืองเป็นเครื่องประดับ  เข้าใจว่าเดิมทีเดียวพวกชองนี้คงจะตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ตาม ท้องที่ต่างๆ  ในเมืองจันทบุรี          และเพิ่งจะถอยร่นเข้าป่าเข้าดงไปในเมื่อไทยมีอำนาจเข้าครอบครองเมืองจัน
1. ประวัติความเป็นมาโดยสรุปของจังหวัดจันทบุรี
1.1 สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
จังหวัดจันทบุรี เป็นเมืองเก่าแก่ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เชื่อว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี เป็นเมืองที่ชนชาติขอมสร้างขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกับ เมืองพิมาย เพชรบูรณ์ และลพบุรี ตามศิลาจารึก เรียกเมืองจันทบุรีในสมัยนั้น ว่า “ ควนคราบุรี ” ชาวบ้านเรียกว่า “ เมืองกาไว ” ตามชื่อผู้ครองเมือง ตัวเมืองตั้งอยู่บริเวณหน้าเขาสระบาป ชาวพื้นเมืองดั้งเดิมเป็นชนชาติชอง มีภาษาพูด ของตนเองแตกต่างจากภาษาไทย และภาษาเขมร
1.2 สมัยกรุงศรีอยุธยา
พวกขอมคงจะครองเมืองจันทบุรีอยู่ประมาณ 400 ปี   จนกระทั่งเสื่อมอำนาจลงในปลายพุทธศตวรรษที่ 17   พวกไทยทางอาณาจักรฝ่ายใต้ซึ่งมีราชธานีอยู่ที่เมือง สุพรรณภูมิ(เมืองอู่ทอง)ได้เข้ายึดเมืองจันทบุรีไว้ได้ จันทบุรีจึงรวมอยู่ในอาณาจักรไทยทางฝ่ายใต้เรี่อยมา มีหลักฐานที่ควรจะเชื่อได้ว่า  เมืองนี้เคยเป็นเมืองขึ้นของ ไทยมาแล้วตั้งแต่ในสมัยพระเจ้าอู่ทอง คือเมื่อพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้น ในพ.ศ.1893 ทรงประกาศว่า กรุงศรีอยุธยามีประเทศราชอยู่ 16 หัวเมือง มีชื่อเมืองจันทบุรีอยู่ด้วยหัวเมืองหนึ่ง
ในสมัยพระเจ้าอู่ทอง เมื่อได้เมืองจันทบุรีเป็นเมืองขึ้นแล้ว ต่อมามีการย้ายตัวเมืองเดิมที่เชิงเขาสระบาป ตำบลคลองนารายณ์ มาสร้างเมืองใหม่ที่บ้านหัววัง ตำบลพุงทลายเดิม(ปัจจุบันเป็นตำบลจันทนิมิต) ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจันทบุรี เหตุผลที่ต้องย้ายเมืองมาตั้งใหม่ เพราะเมืองเดิมอยู่ติดกับภูเขาสระบาป ยากที่จะขยายเมืองออกไปให้ใหญ่โตกว่าเดิมได้ และเมืองใหม่ที่บ้านหัววังนี้อยู่ใกล้กับแม่น้ำ สะดวกต่อการคมนาคมและหาน้ำใช้   หลักฐานการสร้างเมืองที่นี่คือ บริเวณนี้เดิมยังมีเค้าซากเมืองเก่าเหลืออยู่ และเคยมีผู้ขุดพบพระพุทธรูป หรือส่วนของพระพุทธรูปในบริเวณบ้านหัววัง เมื่อประมาณ พ.ศ.2511-2512  ก็มีผู้ขุดพบส่วนของพระพุทธรูปอีก ทางทิศเหนือของที่ดินที่ก่อสร้างเป็นศูนย์การค้าในเขตตำบลจันทนิมิต
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์พอเชื่อได้ว่า เมื่อพ.ศ.1927 พระราเมศวร เสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ได้ และกวาดต้อนชาวเมืองมาไว้ที่เมืองจันทบุรีในตำบล ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า”บ้านลาว”ตั้งอยู่ริมแม่น้ำจันทบุรี เหนือ”บ้านขอม”และเหนือบ้านหัววังขึ้นไป   ต่อมาชาวไทยที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในครั้งนั้นคงจะได้สมพงษ์กับชาว พื้นเมืองเดิม    เช่น พวกขอม  และพวกชอง เป็นต้น  จึงทำให้สำเนียงและคำพูดบางคำ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีผิดแผกแตกต่างไปจากทางภาคกลางและภาค  พายัพบ้าง   แต่แม้จะผิดแผกแตกต่างกันไปประการใดก็ตาม   ชาวจันทบุรีก็ยังคงใช้ภาษาไทยเป็นภาษาท้องถิ่นพูดกันอยู่โดยทั่วไปตลอดทั้งจังหวัด ยกเว้นแต่คนหมู่น้อย      เช่น ชาวจีนและญวน ซึ่งอพยพเข้ามาอยู่ใหม่ในระยะหลังเท่านั้นที่ยังคงพูดภาษาของตนเอง ที่ตั้งเมืองครั้งที่ 2 คงอยู่ประมาณระหว่าง พ.ศ.1900 ถึงพ.ศ.2200
ต่อมาประมาณ พ.ศ.2200 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการย้ายเมืองจากบ้านหัววัง ตำบลพุงทลาย(เดิม) มาสร้างเมืองใหม่ที่บ้านลุ่ม ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี เพราะเมืองเดิมที่บ้านหัววัง ตำบลพุงทลาย แม้ว่าจะอยู่ริมแม่น้ำจันทบุรี สะดวกต่อการคมนาคมติดต่อค้าขายก็ตาม แต่มีข้อเสียประการสำคัญคือ มีน้ำท่วมทุกปี การสร้างเมืองใหม่ที่บ้านลุ่มนี้ คงทำให้เป็นเมืองป้อมเหมือนอย่างเมืองโบราณทั้งหลายคือ มีคูและเชิงเทินรอบเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้างยาวประมาณด้านละ 600 เมตร แนวกำแพงนี้แต่ก่อนมีที่หลังศาล และหลังศาลากลางหลังเก่าปัจจุบันถูกรื้อไปหมดแล้ว ยังมีแนวกำแพงเหลืออยู่ให้เห็นบ้างทางหลังกองพันทหารนาวิกโยธิน ประมาณ 100 เมตร ที่ตั้งเมืองจันทบุรีครั้งที่ 3 อยู่ที่ตำบลนี้ตลอดมาจนสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา
1.3 สมัยกรุงธนบุรี
ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งยังเป็น พระยาวชิรปราการ ได้นำกำลังพลประมาณ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมของทหารพม่า ออกไปทางทิศตะวันออก ผ่านจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และ ระยอง เข้ายึดเมืองจันทบุรีไว้ เพื่อเป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหาร และรวบรวมกำลังพลเป็นเวลา 5 เดือน ได้ทหารประมาณ 5,000 คน ต่อเรือรบได้ประมาณ 100 ลำ เพื่อไปกอบกู้กรุงศรีอยุธยาต่อไป
1.4 สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ประมาณ พ.ศ. 2377 สมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3  ไทยเกิดกรณีพิพาทกับญวน   เรื่องเจ้าอนุวงศ์ จึงโปรดเกล้าให้สร้างป้อมค่าย และเมืองใหม่ที่บ้านเนินวง ตำบลบางกะจะ ซึ่งอยู่ในที่สูง ลักษณะของชัยภูมิ เหมาะแก่การ สร้างที่มั่นต่อสู้กับข้าศึก จนเมื่อสงครามระหว่างไทยกับญวนสงบลงแล้ว ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ย้ายเมืองจันทบุรีจากบ้านเนินวงกลับมาอยู่ที่เมืองเก่าที่บ้านลุ่มตามเดิม และได้อยู่มาจนทุกวันนี้
<< ค่ายเนินวง ตำบลบางกะจะ อ.เมือง จ.จันทบุรี
โฆษณา