4 ม.ค. 2020 เวลา 03:35 • ธุรกิจ
เปิดโผ “แชร์ลูกโซ่” แฝง “เงินดิจิตอล” มหกรรมโกง 22,000 ล้านบาท
หนึ่งในคำโฆษณาชวนเชื่อที่ขบวนการ แชร์ลูกโซ่ นำมาใช้บ่อยครั้งที่สุดคือการกล่าวอ้างถึงการลงทุนในสกุล เงินดิจิตอล หรือระดมทุนด้วยวิธีการแบบไอซีโอ โดยเฉพาะช่วงระหว่างปี 2016-2017 ที่กระแสลงทุนในไอซีโอเฟื่องฟูไปทั่วโลก ทำให้เกิดการฉ้อโกงหรือที่เรียกว่า Scam ขึ้นเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ล่าสุดได้เกิดขึ้นกับโปรเจคท์ Foin ซึ่งทำการโฆษณาว่าได้นำเงินไปลงทุนในบริษัทด้านเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกาและจะให้ผลตอบแทนทุกเดือนจำนวน 8% ทำให้มีผู้หลงเชื่อจำนวนมาก และได้มีการขยายขบวนการมายังประเทศไทย ล่าสุดกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI รับเข้าไปเป็นคดีพิเศษเรียบร้อยแล้ว
เวบไซท์ด้าน เงินดิจิตอล Cointelegraph ได้รวบรวม 5 โปรเจคท์ระดมทุนที่เข้าข่ายการเป็น แชร์ลูกโซ่ โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมกันกว่า 22,000 ล้านบาท และบางโปรเจคท์ก็เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย
1. วันคอยน์ (OneCoin) เป็นคดีที่มีการฟ้องร้องกันในหลายประเทศ โดยมีจุดเริ่มต้นในสหรัฐอเมริกา จากนั้นได้ระบาดไปยังประเทศจีน อินเดีย โครเอเชีย บัลแกเรีย ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เวียดนาม รวมถึงประเทศไทย โดยมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและเวียดนาม อยู่ที่ 500 ล้านบาท
ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังได้เคยออกประกาศเตือนแล้วว่า วันคอยน์ ไม่สามารถใช้ชำระหนี้และใช้แทนเงินได้ตามกฎหมาย
2. พินคอยน์และ iFan นับเป็นโปรเจคท์ ICO Scam ที่มีมูลค่าความเสียหายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์กว่า 660 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีผู้เสียหายกว่า 32,000 ล้านคน โปรเจคท์นี้มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเวียดนาม หลอกลวงว่าจะนำเงินไปสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ด้านการลงทุนผ่านบล็อกเชน โดยให้สัญญาว่าจะจ่ายผลตอบแทนต่อเดือน 40% ท้ายที่สุดทางการเวียดนามได้เข้ากวาดล้างโดยนิยามว่าเป็น แชร์ลูกโซ่ ผ่านระบบขายตรง
3. บิทคอนเนคท์ เกิดขึ้นในปี 2017 โดยสร้างเวบไซท์ซื้อขาย เงินดิจิตอล ออนไลน์ โดยชักจูงผู้ลงทุนให้นำเงินมาฝากไว้กับเวบไซท์ก็จะได้รับดอกเบี้ยคืนในอัตราที่สูง แต่ท้ายสุดกลับกลายเป็น แชร์ลูกโซ่ โดยมีมูลค่าความเสียหาย 700,000 เหรียญ
4. Plexcoin เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2017 โดยได้รับเงินระดมทุนกว่า 15 ล้านเหรียญ จากข้อความโฆษณาว่าจะจ่ายผลตอบแทนให้นักลงทุน 1,300% ต่อเดือน ในที่สุดสำนักงาน กลต.สหรัฐฯจึงได้เข้ามาควบคุมและดำเนินคดี
5. Centratech เป็นโปรเจคท์ที่โฆษณาว่าสามารถเปลี่ยน Fiat Currency ให้เป็นเงินดิจิตอลได้ผ่านแพลตฟอร์มชำระเงินอย่าง Visa Mastercard แถมยังมีนักมวยชื่อดังอย่าง ฟลอยด์ เมย์เวธเทอร์ คอยเชียร์อีกด้วย จนสร้างความเสียหายจำนวน 32 ล้านเหรียญ และแกนนำของขบวนการถูกจับกุมได้ในที่สุด
เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เทคโนโลยีอย่าง เงินดิจิตอล ถูกนำไปใช้หลอกลวงนักลงทุนในรูปแบบของ แชร์ลูกโซ่ ทำให้เกิดความหวาดกลัวในกลุ่มนักลงทุน อย่างไรก็ตามผู้ลงทุนสามารถเช็คได้ว่าโปรเจคท์หรือบริษัทที่โฆษณาชวนเชื่อให้ลงทุนอยู่ภายใต้กฎหมายไทยหรือไม่ได้ที่เวบไซท์ของสำนักงาน กลต. www.sec.or.th
โฆษณา