4 ม.ค. 2020 เวลา 12:44 • การเมือง
สู้ไหวไหม (1)
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
นั่งรถ+นั่งเรือทั้งหมด 16 ชั่วโมง ผมและครอบครัวคุณการ์แลนด์ เวลส์ เดินทางจากเกาะนิวฟันด์แลนด์มายังดาร์ทเมาธ์ ตำบลชานเมืองแฮลิแฟกซ์ รัฐโนวาสโกเทียของแคนาดา ด้วยบรรยากาศสงคราม
เปล่า มิได้หมายความว่ามีการรบพุ่งกันระหว่างทาง
ทว่า ระหว่างทางมีแต่ข่าวสารและการสนทนาถึงการที่สหรัฐถล่มฐานที่มั่นในอิรักของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ การประท้วงหน้าสถานทูตสหรัฐในกรีนโซนของกรุงแบกแดด
ระหว่างนั้น เพื่อนอิรัก ก็ WhatsApp ทั้งเรื่องทั้งคลิปจากเหตุการณ์จริงมาให้ผมดูอยู่ตลอด
ขณะขนของเข้าบ้านพักที่ดาร์ทเมาธ์ พวกที่เชิญผมไปบรรยายที่วิทยาลัยรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัล มุสตานสิริยา กรุงแบกแดด เมื่อ พ.ศ.2559 โทรศัพท์มาเล่าว่า สหรัฐฆ่าพลตรีกัสเซ็ม โซไลมานี ผู้นำของกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่านแล้ว
1
จากนั้น ภาพจากบรรยากาศจริงจากทั้งจากอิรักและอิหร่าน โดยเฉพาะภาพแห่งบรรยากาศความรักอาลัยในพลตรีโซโลมานีก็ถูกส่งมามากมาย ทำให้เราได้เห็นความเศร้าอาลัยของคนอิหร่านและอิรักที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ที่มีต่อพลตรีโซไลมานี
ความที่เคยรับราชการทหารเรือมาก่อน การมาพักที่ดาร์ทเมาธ์จึงเป็นโอกาสที่เพื่อนฝูงที่ยังรับราชการในกองทัพเรือแคนาดามาเยือนคุณเวลลส์
จากการนั่งฟังผู้คนคุยกัน ผมสรุปบรรยากาศสงครามจากทางฝั่งอเมริกาเหนือเอาเองว่า ขณะนี้มีคำสั่งให้เตรียมพร้อมทั้งเรือดำนำ้และเรือทุกประเภทของแคนาดา
บางท่านเดาถึงขนาดว่า น่าจะมีสงครามระหว่างสหรัฐ+พันธมิตร v.s. อิหร่าน+พันธมิตร โดยรัสเซีย จีน และอิรัก หนุนอิหร่าน
พอมีคำว่ารัสเซียและจีนเข้ามาถึงสมอง ผมก็คิดว่าสหรัฐและพวกแย่แน่แล้ว แต่เมื่อได้รับทราบสมรรถนะของอาวุธยุทโธปกรณ์ของฝั่งสหรัฐจากคนที่ทำงานจริง
ผมก็เอาข้อมูลจากทั้งสองฝั่งมาชั่งดูแล้ว ก็คิดว่าฝั่งอิหร่าน รัสเซีย และจีน ยังเสียเปรียบอยู่อีกมาก
เมื่อรู้ว่าตนยังเป็นฝ่ายเสียเปรียบ พวกที่ด้อยกว่าก็คงไม่กล้ากระโจนออกไปเย้วๆ กลางสนามเพื่อทำ ‘สงครามในแบบ’ เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของตนดอกครับ
เมื่อการดื่มเหล้ายาสนทนากันอย่างสนุกสนานผ่านไปแล้ว แขกฝรั่งทั้งหลายก็กลับบ้าน สมาชิกครอบครัวคุณเวลส์ก็ยกมือบ๊ายบายนิทราราตรีสวัสดิ์และเข้าห้องนอนกันแล้วทุกคน
อา ณ เวลานี้ ถ้าถามว่าสถานการณ์จะบานปลายยังไงเมื่อใดเท่าไหนปริมาณมากไหมต่อไป
ก่อนจะอ้าปากวิเคราะห์ จะต้องย้อนกลับไปเอาสถานการณ์ พ.ศ.2534 และ พ.ศ.2544 มาประกอบ
สงครามอ่าวครั้งที่ 1 (2 สิงหาคม 2533 - 28 กุมภาพันธ์ 2534) ทำให้โลกทั้งใบอ้าปากค้างเมื่อได้เห็นเทคโนโยลีทางการทหารของสหรัฐที่ใช้ในสงครามอ่าว
อย่างขีปนาวุธนำวิถีเอจีเอ็ม 130 ระบบแว๊กส์ที่ใช้แจ้งเตือนและควบคุมทางอากาศ ระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่ทำให้การปฏิบัติการของเครื่องบินกรัมแมน อี-2 ฮอว์คอายและโบอิง อี-3 เซนทรีและอาวุธอีกมากมายหลายอย่างทำงานได้ตามความปรารถนาของสหรัฐทุกประการ
อากาศยานการสงครามอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีทางการทหารอีกมากมายหลายอย่างในสมัยนั้นทำให้โลกตะลึงพรึงเพริด
ผู้นำสหภาพโซเวียตอย่างนายกอร์บาชอฟถึงขนาดเอามามือคลำหัวล้านด้วยอาการ ‘ปวดหมอง’ อยู่หลายเดือน จนต้องยอมสลายสหภาพโซเวียตเมื่อ 24 ธันวาคม 2534 เพราะรู้ว่าสหภาพโซเวียตไม่มีทางสู้สหรัฐได้
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พวกประเทศเล็กชาติน้อย พวกกองกำลังกระจิ๊ดริดกระจ้อยร้อยก็ไร้ที่พึ่งพา
โลกอิสลามที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐเริ่มโดนสหรัฐและตะวันตกกระทำย่ำยีอย่างไม่ทีทางสู้เพราะอาวุธยุทโธปกรณ์และทุนต่างๆ ห่างกันราวฟ้ากับเหว
จึงหันเข้าหา ‘การก่อการร้าย’
ยังไม่ทันเขียนถึง พ.ศ.2544 ก็หมดหน้ากระดาษซะก่อน ต้องมารับใช้กันต่อในวันพรุ่งนี้
คืนนี้ ขอกล่าวคำว่านิทราราตรีสวัสดิ์ครับ
ลาไปก่อนครับ.
โฆษณา