4 ม.ค. 2020 เวลา 16:23 • ไลฟ์สไตล์
ไดโนสคูล : ญี่ปุ่นเตรียมดัน คนเป็น ๆ ให้เป็นมรดกชาติ
ได้เวลาของ "คนก้นครัว"..จงมาเป็น สมบัติของประเทศ
อาหารญี่ปุ่น แสดงถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างจากชาติอื่น ๆ ทั้งในเอเชียและยุโรป
โดยเฉพาะกระบวนการผลิตและรสชาติที่มีความเป็นธรรมชาติที่กลมกล่อม
ปี 2556 UNESCO จึงอนุมัติขึ้นทะเบียนอาหารญี่ปุ่น หรือ “วาโชกุ” (washoku : wa หมายถึง ญี่ปุ่น shoku หมายถึง อาหาร) เป็นมรดกโลกด้านภูมิปัญญาแห่งวัฒนธรรม ทั้งตัวอาหารเองและกรรมวิธีการปรุง
ชาติใด ที่ได้รับการประกาศยกย่องให้เป็นมรดกโลกด้านใด ก็ย่อมมีผลต่อความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษ
รวมถึงอยากต่อยอด เพื่อทวีชื่อเสียงและสานต่อประโยชน์ทั้งในช่วงเวลาปัจจุบันและอนาคตให้มากที่สุด
การไม่หยุดอยู่เพียง “ความเป็นมรดกโลกที่จับต้องไม่ได้” (Intangible Cultural Heritage) จึงเป็นหนึ่งในภารกิจของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่่มุ่งหวังจะทำให้สำเร็จในปี 2563
“กระจองงอง ..กระจองงอง เจ้าข้าเอ้ย
ใครมีฝีมือการทำครัว เมนูคาวหวานวาโชกุ
ขออย่าได้ถ่อมตน เช่นนิสัยลูกพระอาทิตย์
บัดนี้ ชาติกำลังต้องการผู้มีวิชา
แม้ท่านจะอยู่ประจำก้นครัวในตรอกซอกซอย ก็ได้โปรดแสดงตัว
ถึงเวลาของท่านแล้ว
กระจองงอง ..กระจองงอง เจ้าข้าเอ้ยฯ”
สิ่งสำคัญที่ทางการตั้งเป้าไว้ ไม่ได้ให้คนที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “สมบัติชาติ” เหล่านั้น “อยู่บนหิ้ง”
แต่มุ่งหวังให้เกิดการศึกษาลงลึก ต่อยอด และถ่ายทอดภูมิปัญญา ในฐานะของ “คนเป็น ๆ ” ที่พร้อมจะเป็น “สมบัติของชาติ" ในสาขาศาสตร์ด้านคหกรรมอันปราณีต
ถือว่าเป็นอีกก้าวหนึ่ง ของการรักษาคุณค่าขององค์ความรู้ในศิลปะแขนงนี้ หลังจากได้รับการถ่ายทอดแบบรุ่นสู่รุ่นมายาวนานหลายร้อยปี
มาถึงตรงนี้ หลายคน อาจยังไม่ “อิน” ว่า เหตุใดจึงต้องให้คุณค่ากับเรื่อง “อาหาร” และ “คนทำอาหาร” ถึงเพียงนั้น
การที่องค์การยูเนสโกบันทึกไว้ให้อาหารญี่ปุ่นเป็นมรดกโลกฯ ไม่ได้ใช้หลักเกณฑ์ด้านรสชาติเพียงอย่างเดียว
แต่ประกอบไปด้วย 4 ส่วน คือ
1.เสน่ห์ของวัตถุดิบ ที่เป็น “ของขวัญ” ตามฤดูกาลจากธรรมชาติ ขึ้นกับสภาพฟ้าดินลมน้ำ
2.สรรพคุณของสารอาหาร ที่ให้คุณค่าเมื่อบริโภค
3.สิ่งตกแต่ง ใช้วัสดุจากธรรมชาติที่สอดคล้องกันลงตัว
4.ความประณีตบรรจง ละเอียดอ่อนใส่ใจ มีเหตุมีผล ในทุกกระบวนการ
จากที่กล่าวมา คงเพิ่มน้ำหนักได้ว่า นี่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ “อาหาร” และ “คนทำอาหาร”
แต่คือการให้คุณค่าที่เทียบเคียงได้กับความดื่มด่ำผลงานขั้นสูง
หรืออาจเรียว่าเป็นผลจากการเสพย์ศิลป์และศาสตร์ ในแต่ละรสสัมผัสของ 'วาโชกุ'
เพื่อให้คงความดั้งเดิมของต้นแบบ และกรรมวิธีที่ครบสมบูรณ์เอาไว้ให้มากที่สุด
จึงต้องเชิดชู ส่งเสริม ที่ “คนเป็น ๆ ” เหล่านี้
และจุดนี้เอง ก็ถูกคาดหวังว่า จะช่วยให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นดีขึ้นได้
จากการกระตุ้นความสนใจของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ให้หลงใหลและอยากสัมผัสกับความลึกซึ้งในศาสตร์อาหารญี่ปุ่นดั้งเดิม
และอาจช่วยขับเคลื่อนตัวเลขสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ ด้านส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารและวัตถุดิบต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ ชาวญี่ปุ่นที่มีความสามารถในศาสตร์เฉพาะทาง เช่น การทอผ้าแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม การสืบสานวัฒนธรรมนาฏกรรมการแสดง เช่น คาบูกิ (kabuki) และ โน (Noh) ต่างก็ได้รับการชื่นชมทั้งจากชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติอยู่แล้ว
โดยเฉพาะการแสดง 'คาบูกิ' ที่ ยูเนสโก ประกาศให้เป็น “มรดกโลกที่จับต้องไม่ได้ อันมีคุณค่าต่อมนุษยชาติ” หรือ Intangible Cultural Heritage of Humanity
เพื่อเป็นการยืนยันว่า มนุษย์โลก ควรมีส่วนในการช่วยส่งเสริม สานต่อ ศิลปะการแสดงนี้ ให้คงไว้นานเท่านาน
คาบูกิ เป็นการแสดงแบบญี่ปุ่นคลาสสิค บนเวทีในฮอลล์ขนาดใหญ่ ใช้พื้นที่ครบทุกนิ้วเช่นเดียวกับการแสดงโอเปร่าหรือละครเวทีชั้นครู
ผู้แสดงทุกคนต้องสวมใส่เครื่องแต่งการ “ครบองค์” เช่นเดียวกับสมัยซามุไร มีกิโมโน เป็นต้น
แล้วผัดหน้าด้วยแป้งพิเศษ ให้ขาวเด่น แต้มปากให้เป็นสีแดงชาด เติมคิ้วแต่งตาให้เด่นล้ำ
เพื่อให้ “การเล่นหน้าเล่นตา” ชัดเจน และเสริมอารมณ์จากผู้แสดงถึงผู้ชมได้ ตั้งแต่แถวหน้ายันหลังสุดของฮอลล์!
หากคุณเคยดูหนังเรื่อง "เกอิชา” (GEISA) ก็จะมีการแต่งกายคล้ายกัน
ซึ่ง เกอิชา เองก็เป็นศาสตร์ชั้นสูง สำหรับสตรีที่ต้องฝึกฝนตั้งแต่เป็นเด็กหญิง เพื่อการเป็นกุลสตรีที่มารยาท แต่มีชั้นเชิงในการนำเสนอความสุนทรีย์ ด้านดนตรีและนาฏศิลป์
นกได้เอาคลิปการแต่งหน้าและการแสดงคาบูกิ มาฝากกันไว้ตรงนี้ เพื่อให้ “เห็นภาพ” ชัดเจนขึ้น
หากมองอีกด้านหนึ่ง การแสดงคาบูกินั้น อาจเทียบได้กับนาฏศิลป์ไทย ที่ต้องฝึกฝน ตัวพระตัวนาง ยักษ์ ลิง วงเครื่องสาย-เป่า-ตี ตั้งแต่ยัง “ตัวกระเปี๊ยก” ถึงจะได้ “เพชร” เม็ดงามประดับวงการศิลป์ไทย
ส่วนการแสดงดั้งเดิมอีกแขนงหนึ่งของญี่ปุ่น คือ Noh (อ่านว่า โน) ซึ่งมีความหมายว่า พรสวรรค์
“โน” มีอัตลักษณ์ชัดเจน ตรงที่การสวมใส่หน้ากากเลียนแบบหน้าคนหรือเทพ ขนาดเล็กกว่าใบหน้าเล็กน้อย
เพื่อปิดบังใบหน้าผู้แสดงไว้ ตั้งแต่ระดับตีนผมลงมาถึงคาง (ไม่ได้ครอบทั้งศีรษะแบบโขน)
ผู้ชมจึงไม่มีโอกาส แม้แต่จะเห็นแววตาแท้จริงของศิลปิน
ผู้ที่จะแสดง "โน" ออกมาได้อย่างถึงแก่น มักไม่อิงบทหรือสคริปต์นัก
แต่เป็นการดึงพลังในตัวเอง ณ เวลานั้น
แสดงอารมณ์และความรู้สึก
ผ่านกิริยาทุกท่วงท่า
องศาการขยับศีรษะ ไหล่ มือ แขน
การสะบัดพัด การก้ม ย่อ เหยียด
หรือแม้แต่จังหวะการก้าวย่าง
ต่างสื่อความหมายที่มีนัยซ่อนอยู่!
การตรึงอารมณ์คนดูให้อยู่กับ "Noh" จึงไม่ใช่เรื่องที่ใครก็ฝึกฝนได้
สมแล้ว กับความหมายว่า “พรสวรรค์”
ผู้แสดง “โน” ที่ผูกพันทางจิตวิญญาณกับศาสตร์นี้อย่างลึกซึ้ง ยึดมั่นว่าต้องทำหน้ากากด้วยตัวเองเท่านั้น!
เชิญชมคลิปยูทูปการแสดง “โน” ที่นกเลือกมาได้เลยค่ะ
ญี่ปุ่น ถือว่าเป็นชาติหนึ่งที่ผู้คนมี “ความเป็นตัวตน” ชัดเจนยิ่ง ที่ความทุ่มเท จริงจัง มีวินัย และเสียสละเพื่อส่วนรวม
โดยเฉพาะผู้ที่ผ่านช่วงเวลาแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวปี พ.ศ. 2475
การที่ญี่ปุ่นสามารถฟื้นประเทศมาจนถึงทุกวันนี้ได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อเทียบกับระดับความสูญเสียจากภาวะสงคราม เป็นเครื่องยืนยันได้ชัดเจน
และการที่ชาวญี่ปุ่นมีความเคารพในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษสูง
เราน่าจะคาดหวังได้ว่า
เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นได้หยิบยกประเด็นว่าด้วย “การเชิดชูผู้มีความสามารถด้านอาหาร ให้เป็นสมบัติชาติ”
โดยที่ยังเป็น "คนเป็น ๆ" มีลมหายใจอยู่ น่าจะมีผลลัพธ์ในเชิงรูปธรรมในที่สุด
และน่าจับตามองอย่างมาก ว่าวิธีนี้จะช่วย "ค้ำชู" วัฒนธรรมด้านอาหารวาโชกุดั้งเดิมของญี่ปุ่น ให้ถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูกหลานได้อย่างดีสมบูรณ์แบบเพียงใด
ท่ามกลางกระแสการหลอมรวมวัฒนธรรมแบบไร้พรมแดน บนโลกที่ “หมุน” เร็วขึ้นกว่าเดิมแบบ 5G เช่นนี้
สำหรับคนที่ชื่นชอบนาฏศิลป์ไทยอย่างโขน
นกได้เขียนซีรีส์ชุด “ไดโนสักวา : ลิงสู้ยักษ์” หลังจากชมโขน ตอน “สืบมรรคา” ไปเมื่อ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา ดังลิงค์ที่แนบนี้ค่ะ
อยากเชิญชวนทุกท่านทัศนา และติชมบทความ เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วยนะคะ
สำหรับ ไดโนสคูล ตอน “ญี่ปุ่นเตรียมดัน คนเป็น ๆ ให้เป็นมรดกชาติ” ขอยุติเพียงเท่านี้ สมควรแก่เวลาแล้วค่ะ (ณ ตอนนี้ 4 ทุ่มกว่าแล้ว)
นกไดโนสคูล🐦
โฆษณา