5 ม.ค. 2020 เวลา 07:18 • การศึกษา
World Hindi Day || วันภาษาฮินดีโลก
วันที่ 10 มกราคม ของทุกปี
“Namaste” = Hello = สวัสดี (ภาพจาก Free Pick)
พักเรื่องเครื่องสงคราม และไฟไหม้อันหดหู่ ไว้สักครู่ และขอพาคุณผู้อ่านมาท่องในโลกของภาษาและการศึกษาดูบ้าง เผื่อจะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านที่กำลังสนใจจะเรียนภาษาที่ 3 นะคะ
HINDI || The land of the Indus river.
คำว่า ฮินดี มีรากศัพท์มาจากภาษาเปอร์เซีย แปลว่า ดินแดนแห่งแม่น้ำสินธุ
ภาพจาก youthinmac
ขอบอกก่อนว่า...เหตุผลนึงที่อยากเล่าเรื่องนี้ คือ ...ผู้เขียนกำลังเรียนภาษาฮินดีอยู่ เรียนที่เมืองไทยนี่ล่ะค่ะ หลังจากไปท่องอินเดีย ไปๆมาๆ อยู่ 9 ปี แต่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้เลยค่ะ ชีวิตแลดูมีปมนะ 555 คิดว่าตัวเองขี้เกียจเกินไปละ เดินทางแบบไร้จุดหมายมาก ประกอบกับย้ายมาทำงานที่ใหม่แล้วต้องประสานงานกับคนที่เนปาล และบังคลาเทศด้วย เอ้า...ก็เลยลองไปเรียนดูสักตั้งค่ะ เริ่มจากเบสิค ก-ฮ แบบนั้นเลยค่ะคุณ
จากการไปเรียนภาษานี่เอง ทำให้เรารู้ว่า วันที่ 10 มกราคม ของทุกปี เป็นวันภาษาฮินดีโลก (World Hindi Day) มีการจัดงานเนื่องในวันสำคัญนี้ทั่วโลก รวมทั้งเมืองไทยของเราด้วยนะคะ ปีนี้ จัดที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค่ะ ในงานจะมีการประกวดอ่านบทกลอน ร้องเพลง และคลาสให้ความรู้ต่างๆ และจะมีตัวแทนนักศึกษาวิชาภาษาฮินดี จากนานามหาวิทยาลัย เช่น ธรรมศาสตร์ ศิลปากร ฯลฯ มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้กันมากมายค่ะ รวมทั้งศูนย์วัฒนธรรมอินเดียที่ที่เรากำลังเรียนอยู่นี่ด้วย (ไว้วันหลังมีโอกาสจะมาเขียนเล่าอีกทีค่ะ)
ภาพจาก optilingo.com
❣️ความเป็นมาของ World Hindi Day
“The focus of the World Hindi Day is to promote the language at the global stage.”
วันสำคัญนี้ มีที่มาจากการจัดการประชุมว่าด้วยเรื่องภาษาฮินดีระดับโลก เป็นครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย เมื่อปี ค.ศ. 1975 ค่ะ อำนวยการจัดงานโดย นางอินทิรา คานที ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของอินเดียในขณะนั้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแผ่ภาษาฮินดีออกสู่สากลโลกก็ว่าได้นะคะ หลังจากนั้น ก็มีการจัดการประชุมลักษณะดังกล่าวในอีกหลายประเทศ อาทิ เมอริเชียส อังกฤษ ทรินิแดดฯ และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ภาพจาก ictl.pitt.edu
🧡 About the HINDI language || เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับภาษาฮินดี
1. ฮินดี เป็นภาษาหลัก (ภาษาแม่) ของผู้คนจำนวนประมาณ 500 ล้านคน ทั่วโลก
2. ผู้คนที่อาศัยยังประเทศอื่นๆ เช่น เนปาล กายาน่า ตรินิแดดฯ สุริเนม (Suriname) หมู่เกาะฟิจิ และเมอริเชียส ใช้ภาษา ฮินดี และเนปาลี ในการสื่อสาร
3. มีคำศัพท์ในภาษาอังกฤษหลายคำ ที่มีรากศัพท์มาจากภาษาฮินดี เช่น chutney, loot, bungalow, guru, jungle, karma, yoga, thug และ avatar เป็นต้น
4. ฮินดี เป็น 1 ใน 7 ภาษา ที่สามารถนำไปใช้เป็น URLs ของเว็บไซต์ได้
5. มีความเชื่อที่ว่า หนังสือเล่มแรกของโลกถูกจัดทำโดยใช้ภาษาฮินดี มีชื่อว่า “Prem Sagar by Lalloo Lal” ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการถือกำเนิดของศรีกฤษณะ
“Sri Krishna” ภาพจาก Wikipedia
สำหรับคุณผู้อ่านที่อยู่ในวัยทำงาน และมีความสนใจที่จะเรียนภาษาฮินดี แต่ไม่สะดวกที่จะไปเรียนตามมหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถติดต่อ สอบถามไปที่:
💛ศูนย์ภาษาวัฒนธรรม สวามี วิเวกนันดา (The Swami Vivekananda Cultural Centre)
* โทร 02-684698
ที่มา: Wikipedia, sundayobserver.lk, currentaffairs.gktoday, Indiatoday.in
โฆษณา