6 ม.ค. 2020 เวลา 13:01 • การศึกษา
“หนังสือเตือนที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายได้!?”
ตามกฎหมายแรงงานนั้น การที่ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว...
"นายจ้างสามารถเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้"
และหากเป็นกรณีร้ายแรงนายจ้างสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่จำเป็นต้องตักเตือน
เช่น นายจ้างประกอบกิจการผลิตเครื่องนอนส่งออก และโรงงานก็เต็มไปด้วยวัตถุไวไฟ ซึ่งนายจ้างได้ออกระเบียบไว้ว่าห้ามสูบบุหรี่ในบริเวณโรงงานเด็ดขาดหากฝ่าฝืนต้องถูกเลิกจ้าง
เมื่อลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามจึงต้องถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบของนายจ้างในกรณีร้ายแรง นายจ้างสามารถเลิกจ้างโดยไม่จำเป็นต้องตักเตือนก่อน
กลับมาที่กรณีต้องตักเตือน...
หนังสือเตือนจะมีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ลูกจ้างกระทำผิด และ
หนังสือเตือนที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นจะต้องมีถ้อยคำเป็นการตักเตือน คือ ต้องประกอบด้วยข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอที่จะทำให้ลูกจ้างรู้ว่าได้ทำผิดระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อใด และ
"ข้อความห้ามลูกจ้างทำผิดซ้ำในเรื่องเดียวกันอีก" ---> (จำประโยคนี้กันให้ดี ๆ ครับ)
โดยข้อความในหนังสือเตือนกฎหมายถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหากหนังสือเตือนมีข้อความไม่ครบถ้วน อาจมีผลทำให้การเตือนครั้งนั้นไม่มีผลตามกฎหมายได้เลย
มีคดีตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยลูกจ้างได้ขาดงานติดต่อกันเป็นเวลาเกือบ 1 เดือนโดยอ้างว่าเจ็บป่วย แต่จริง ๆ แล้วนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยอาการลำไส้อักเสบและติดเชื้อเป็นเวลาเพียง 3 วันเท่านั้น
ส่วนอาการอื่น ๆ ก็ไม่ร้ายแรงถึงขนาดจะต้องหยุดงาน แม้แพทย์ผู้ทำการรักษาจะให้ความเห็นว่าให้รักษาตัวที่บ้าน แต่ก็มีอีกหลายวันที่ลูกจ้างได้หยุดงานโดยไม่มีใบรับรองแพทย์และไม่ได้ลาพักผ่อน
พฤติการณ์หยุดงานของลูกจ้างยังไม่มีเหตุผลอันสมควร มีลักษณะเป็นการละทิ้งหน้าที่ ละเลยหรือเลี่ยงการทำงาน ฝ่าฝืนข้อบังคับของนายจ้าง
ซึ่งก่อนหน้านี้นายจ้างเคยออกหนังสือตักเตือนลูกจ้างไปแล้วครั้งหนึ่ง และในครั้งนี้ลูกจ้างได้กระทำผิดซ้ำคำเตือน นายจ้างจึงใช้สิทธิเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย
1
แต่เนื่องจากหนังสือเตือนฉบับดังกล่าว มีแต่การระบุไว้เฉพาะข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำผิดของลูกจ้างว่าลาและหยุดงานจำนวนมาก ละทิ้งหน้าที่ เกียจคร้านไม่มาทำงาน...
“โดยไม่ปรากฏข้อความเตือนห้ามไม่ให้ลูกจ้างทำผิดซ้ำอีก”
จึงถือว่าหนังสือเตือนดังกล่าวเป็นเพียงหนังสือแจ้งการกระทำผิดให้ลูกจ้างทราบเท่านั้น ไม่มีลักษณะเป็นหนังสือเตือนตามกฎหมาย
เมื่อไม่มีผลเป็นหนังสือเตือน การที่นายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุผิดซ้ำคำเตือนจึงไม่
ถูกต้อง และมีผลทำให้นายจ้างจะต้อง
จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างครับ
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา