6 ม.ค. 2020 เวลา 13:49 • การเมือง
วัฒนธรรมคือเป้าหมาย (3)
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
โอกาสครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 66 ของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็น เมื่อ 28 เมษายน พ.ศ.2544 รัฐบาลอิรักเชิญผม ไปร่วมฉลองทั้งที่กรุงแบกแดดและเมืองทิกริต บ้านเกิดของซัดดัม
พอผมถึงบ้านเกิดในวันเกิดของซัดดัม คนอิรักที่เดินตามถนนหนทางต่างตะโกนก้องร้องว่า “อุกบาล มาตะอะ อาม บิอิซ นิลลา” แปลเป็นไทยก็น่าจะได้คล้ายกับ “ขอให้ท่านอายุยืนเป็นร้อยปี ด้วยอนุมัติแห่งอัลลอฮฺ”
เมื่อได้ยินเสียงประชาชนคนของตนอำนวยอวยพร ซัดดัมก็จะกล่าวตอบเป็นระยะด้วยประโยคว่า “อินชาอัลลอฮฺ” ซึ่งหมายถึง “ถ้าอัลลอฮฺทรงประสงค์”
งานวันเกิดผ่านไปแล้ว แต่รัฐบาลซัดดัมก็ขอให้ผมอยู่ต่อและให้เจ้าหน้าที่พาตระเวนไปตามเมืองน้อยใหญ่ในประเทศ มีหลายสิ่งที่ปรากฏต่อหน้าต่อตาผม
ซึ่งเมื่อเอามาเขียนในเปิดฟ้าส่องโลกเมื่อ พ.ศ.2544 ก็ยากที่ผู้อ่านท่านจะเชื่อได้ง่าย (ต้องยืนยันกันด้วยภาพในรายการเปิดเลนส์ส่องโลกทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 สมัยนั้น)
นอกจากเรื่องเครื่องบินไม่ปรากฏสัญชาติบินไปโปรยสารพิษทางตอนใต้ของอิรักแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งคาดไม่ถึงก็คือ มีเครื่องบินไม่ปรากฏสัญชาติบินเข้ามาถล่มพิพิธภัณฑ์และโบราณสถานในกรุงแบกแดดและในเมืองอื่นหลายครั้ง
เมื่อมีการนำมาเขียนมาพูดในสังคมไทยสมัยนั้น มีคนจำนวนมากไม่เชื่อ นักวิชาการด้านการระหว่างประเทศบางท่านถึงกับเขียนแย้งผมว่า “เป้าหมายที่ศัตรูจะต้องทำลายก็คือฐานที่มั่นทางทหาร ไม่มีใครไปทิ้งระเบิดพิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน หรือสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นแน่”
แต่วันนี้ มีคนออกมายืนยันตามที่ผมเคยพูดเคยเขียนแล้วครับ ท่านผู้นั้นคือ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐ
ทรัมป์ประกาศผ่านทวิตเตอร์ว่า “สหรัฐกำหนดเป้าหมายโจมตีอิหร่านไว้แล้ว 52 จุด เป็นเป้าหมายระดับสูงที่มีความสำคัญต่ออิหร่านและวัฒนธรรมของอิหร่าน”
กว่าที่ทรัมป์จะมาช่วยยืนยัน เปิดฟ้าส่องโลกต้องรอนานถึง 19 ปี (2544-2563) น่าเสียดายที่ราชการและสถาบันการศึกษาของเราไม่ทุ่มทุนสนับสนุนนักวิชาการให้ออกไปตระเวนโลกเพื่อไปตักตวงความรู้และประสบการณ์ของจริงมาใช้สอนนิสิตนักศึกษา
ตำราที่อาจารย์หลายท่านผลิตจึงเป็นเพียงงานแปลจากตำราตะวันตก ซึ่งอาจารย์ตะวันตกพวกนั้นก็อาจจะมีข้อมูลไม่ครบด้านเพราะไม่เคยได้ไปสัมผัสสถานการณ์จริงและสถานที่จริงเหมือนกัน
เพื่อจะให้ได้ครองโลกอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สหรัฐและตะวันตกต้องทำลายอดีตอันรุ่งเรืองของ 3 ชาติอิสลาม คือ ซีเรีย อิรักและอิหร่านให้ได้ สองชาติแรกเป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ส่วนอิหร่านเป็นบ่อเกิดของอารยธรรมเปอร์เซียอันยิ่งใหญ่
ผมขอนำสองย่อหน้าแรกของเปิดฟ้าส่องโลก ฉบับวันพุธที่ 12 มีนาคม 2546 เรื่องอาลัยแบกแดด (2) มารับใช้หน่อยครับ คอลัมน์ฉบับวันนั้นเริ่มต้นด้วยข้อความว่า....
“เขียนอาลัยกรุงแบกแดดของสาธารณรัฐอิรักไปแล้ว อีกไม่นานนิติภูมิก็คงจะต้องเขียนอาลัยกรุงเตหะราน เมืองหลวงของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านค่อนข้างแน่”
“วันนี้ พลเอก โคลิน เพาเวลล์ รมว.ต่างประเทศของสหรัฐหางโผล่ เรื่องที่ในอนาคตอาจจะต้องเข้าไปจัดระเบียบประเทศมุสลิมอิหร่าน ด้วยการประกาศว่าอิหร่านมีการสะสมและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธชีวภาพ”
ผู้อ่านท่านหนึ่งไลน์มาถามผม ซึ่งขณะนี้ผมอยู่ที่เมืองคอร์เนอร์บรูกและแฮลิแฟกซ์ของแคนาดาว่า “มีโอกาสไหมที่จะมีการถล่มกัน” คำถามประเภทนี้เคยมีมาก่อนตอนที่จะมีการทำลายวัฒนธรรมและแหล่งโบราณคดีของอิรักและซีเรีย
ตอนนั้น หลายคนวิเคราะห์ว่า อ้า เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้ามีสงคราม เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกจะย่อยยับอับปางนางนอน
หากอยากทราบคำตอบ
ผมต้องขอให้ผู้อ่านท่านที่ถามลองหลับตาจินตนาการย้อนนึกถึงพัฒนาการของการทำลายล้างอย่างที่อิรักและซีเรียมีประสบการณ์มาก่อน
นี่คือ “The Long Term Perspective Plan” ของสหรัฐ.
โฆษณา