7 ม.ค. 2020 เวลา 12:00 • ความคิดเห็น
วิชาเรื่องสั้น 101 ฉบับมือสมัครเล่น : มุมมองของเรื่อง หรือ Point of view (1)
ก่อนอื่นต้องขอบคุณ fc บางคนที่ขอให้เขียนเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะเป็นการทบทวนเรื่องพื้นฐานการเขียนของตัวแอดเองไปด้วยในเวลาเดียวกัน ใครเป็นคนขอมา ถ้าอ่านแล้วยังงง ก็อย่าว่าผมเลย ผมไม่ได้เรียนด้านนี้มา
ก็ตามหัวข้อนั่นล่ะ นี่วิชาที่สอนโดยมือสมัครเล่น โปรดเข้าใจ 5555
ดังนั้นที่กำลังจะอธิบาย จะเป็นการถ่ายทอดจากประสบการณ์การเขียนของตัวเองมากกว่า ถือว่าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกัน โลกนี้ไม่มีความรู้อะไรที่เป็นสัจจะ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ยิ่งในยุคนี้ด้วย ทุกคนคงพอมองภาพออก
ไม่เสียเวลา ไปเริ่มวิชา Point of view ฉบับดำน้ำเล่มนี้กันเลย หุหุหุ
Point of view หรือ มุมมองของเรื่อง
การเขียนที่มีมุมมองของเรื่องไปด้วย เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งในการทำให้เรื่องเล่าของเราน่าสนใจ
การขาดมุมมองของเรื่อง อาจทำให้เรื่องที่เล่าเป็นเพียงคำบรรยายธรรมดา แถลงการณ์อะไรสักอย่าง หรือตำราเรียนไปเสียอย่างนั้น
ดังนั้นหากเราจะเลือกใช้ มุมมอง เราก็คงต้องทำความรู้จักมันให้ดีเสียก่อน เราจึงจะรู้ว่าเราจะเลือกใช้มุมมองแบบไหน ที่จะเหมาะกับเรื่องเล่าของเรา และทำให้คนที่อ่านดื่มด่ำไปกับเรื่องราวที่เราพยายามถ่ายทอดให้ได้อย่างเต็มที่นั่นเอง
1. มุมมองบุรุษที่ 1
ภาษาเป็นทางการแบบนี้นี่เองที่ทำให้คนเรียนเรื่อง point of view มักจะงง เหมือนสมัยเราเรียนภาษาอังกฤษตอนเรียนประถมอะไรทำนองนั้น Past Perfect Continuous Tense คืออะไร ทุกวันนี้ยังไม่เข้าใจ 555
เอ้า กลับไปที่มุมมองบุรุษที่ 1 กันต่อ
เอาที่เข้าใจง่าย ๆ คือ เรื่องเล่านั้นถูกเล่าผ่านตัวละคร 1 ตัว ที่เล่าเรื่องราวผ่านตัวเขาทั้งหมด เขาเห็นอะไร รู้อะไร เราคนอ่านก็จะเห็นและรู้เท่ากัน
มักใช้คำแทนตัวว่า ผม ฉัน แบบนี้เป็นต้น
การเขียนมุมมองนี้ มีข้อดีตรงที่สามารถอธิบายความรู้สึกของตัวละครที่กำลังเล่าได้เต็มที่ เพราะเขาเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับตัวเองได้ทุกอย่าง
มันจึงเป็นมุมมองที่ง่ายในการดึงอารมณ์ให้ดำดิ่งไปกับตัวละครที่เล่าเรื่องไปด้วย
แต่ข้อเสีย หรืออาจเป็นข้อดีก็ได้ อยู่ที่เราจะใช้ประโยชน์จากมุมมองแบบนี้คือ เราจะไม่สามารถรู้อะไรนอกเหนือไปจากที่ตัวละครรู้ หรือเห็น หรือเล่าให้เราฟัง เพราะตัวละครรู้แค่นั้นจริง ๆ
เช่น ไม่สามารถบอกได้ว่าคู่สนทนากำลังคิดอะไร รู้สึกอย่างไร (ยกเว้นตัวละครเรามีพลังพิเศษอะไรก็ได้ ก็อาจทะลุข้อจำกัดนี้ไป) ทำได้เพียงสังเกตุจากสิ่งที่เห็นเท่านั้น
ตัวอย่าง
ผมเห็นยายนั่งตัวสั่นเทาอยู่บนม้านั่งไม้เก่าที่ดูง่อนแง่น มือที่สั่นจนควบคุมไม่ได้กำลังพยายามหยิบดอกมะลิขึ้นเพื่อจะร้อยเข้ากับเข็มร้อยมาลัยที่เก่าดำและมีสนิมเกาะประปราย มือที่เหี่ยวย่นแทบจะบีบจนดอกมะลิกลีบบางนั่นช้ำไปเสียหมด แต่ยายก็ยังไม่ละความพยายามเลยแม้แต่น้อย
จากข้อความข้างบน ตัวละครเห็นหญิงชราตามที่เขาเห็น เขาคิดเอาเองว่ายายคงกำลังพยายามดิ้นรนร้อยมาลัยให้ได้ จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ท่าทางที่เห็นคงจะลำบากไม่ใช่น้อย
แต่เขาไม่สามารถบอกได้เลยว่ายายจะรู้สึกอย่างไร อาจกำลังเครียดมากที่ทำได้ลำบาก อาจกำลังหิวเพราะไม่ได้ทานข้าวมาสามมื้อแล้วจึงสั่นเทาเพราะความหิว หรือยายอาจปวดข้อทั่วตัวเพราะโรคข้อเสื่อมที่รุมเร้าเจ็บปวดแสนสาหัส หรือจริง ๆ ยายไม่ได้รู้สึกทุกข์ร้อนอะไร กำลังมีความสุขเสียด้วยซ้ำที่ได้ทำสิ่งที่รักเหมือนทุกวันที่ผ่านมากว่าสี่สิบปี
นี่คือข้อจำกัดของการเล่าด้วยมุมมองบุรุษที่ 1
ด้วยลักษณะการบรรยายผ่านมุมมองตัวละครตัวเดียว และเป็นผู้เล่าเรื่องที่เห็นทั้งหมดผ่านดวงตาของตัวละคร และอธิบายความรู้สึกลึก ๆ ข้างในให้คนอ่านทราบได้อย่างลึกซึ้ง
การใช้มุมมองบุรุษที่ 1 จึงเป็นที่นิยมมาก โดยเฉพาะงานเขียนเรื่องสั้น เพราะพื้นที่และความยาวที่จำกัด การดำเนินเรื่องที่ไม่ได้ยืดยาวนัก การใช้มุมมองนี้จะสะดวกและง่ายต่อการให้คนอ่านเชื่อ และรู้สึกไปกับตัวละครได้ง่าย และดำเนินเรื่องได้ง่ายอีกด้วย
และข้อดีของงานเขียนมุมมองบุรุษที่ 1 คือ ด้วยความที่เราไม่รู้สิ่งอื่นใดนอกจากที่ตัวละครรู้หรือเห็นเท่าที่ตัวละครเห็น เราจึงสามารถใช้สิ่งนี้ในการสร้างพล๊อตเรื่องได้ง่าย โดยเฉพาะงานแนวหักมุมจบ
เพราะมันคล้ายกับชีวิตจริงของเรานี่เอง ว่าสิ่งที่เรารู้เราเห็น ได้ยินได้ฟัง อาจไม่ใช่อย่างที่เราคิดเลยแม้แต่น้อย นี่จึงเป็นข้อดีของการเล่าด้วยมุมมองบุรุษที่ 1 ที่น่าสนุกและสร้างสรรค์ต่อยอดได้อีกมาก
ยิ่งถ้ามีประสบการณ์ในการเขียนมาก เรายิ่งใช้ประโยชน์จากทั้งข้อดี และข้อด้อยของมุมมอง ให้เกิดสีสันของงานเขียนได้มากมายไม่รู้จบเลยทีเดียว
ตัวอย่างของเรื่องสั้นล่าสุดที่เพิ่งจบไป สังเกตการบรรยายความรู้สึกของตัวละครที่เล่า เราจะบอกรายละเอียดมากเท่าใดก็ได้ ลึกลงไปในใจ รู้สึกอย่างไร เราก็ย่อมทำได้
แต่เราจะไม่ทราบเลยว่า ตัวละครอื่นที่เขาพบ คุยด้วย เจอหน้า พวกเขารู้สึกอย่างได้ ได้แต่เพียงคาดเดาเอาตามที่สังเกตเห็น ซึ่งจริงหรือไม่ก็ไม่อาจรู้ได้ ลองอ่านดูน่าจะพอเห็นภาพการเล่าแบบมุมมองบุรุษที่ 1 ได้ชัดเจนขึ้น
พอเขียนเรื่องนี้รู้สึกว่าจะยาวมากเกินไป คงต้องแบ่งมุมมองอื่น ออกไปตอนต่อ ๆ ไปเสียแล้ว เพื่อที่จะไม่เกิดความสับสนในการอธิบายพร้อม ๆ กัน ซึ่งคนอ่านอาจจะงงเพิ่มขึ้นอีก
ถ้ามีเรื่องจะแลกเปลี่ยนกันก็ขอเชิญที่ช่องคอมเม้นได้เลย ถ้าไม่ทราบก็จะไม่ตอบ เป็นอันตกลงตามนี้ 5555
ไว้ตอนหน้า เราคงได้คุยกันเรื่องมุมมองบุรุษที่ 2 กันต่อไป
สำหรับวันนี้ สวัสดี สวีดัด เจอกันครั้งหน้าตอนแอดว่าง ๆ เด้อ
โฆษณา