9 ม.ค. 2020 เวลา 09:54 • ศิลปะ & ออกแบบ
“แบบร่างของบรรยากาศ”
"ทุกคนมีความงาม นายต้องหาให้พบ"         
'ศิลป์ พีระศรี'
แต่ถ้าใครมองหา หนุ่มผมยาว สาวผมซอย ที่เคยเตร็ดเตร่อยู่แถวถนนหน้าพระลานในช่วง ๔-๕ ปีหลังนี้ อาจจะผิดหวัง
ไม่ใช่เพราะ เทรนด์ของหนุ่มสาวชาวติสท์จะเปลี่ยนไป แต่เป็นเพราะ 'ศิลปากร' กำลังเปลี่ยนแปลง
มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ หยุดปรับปรุงไปนานหลายปี นักศึกษาแต่ละคณะต่างต้องแยกย้ายไปเรียนตามวิทยาเขตอื่นๆ เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับการปรับปรุง ต่อเติมและรื้อถอน
แยกย้ายกันไปโดยคิดว่า
ความทรงจำ จะเหมือนเดิม
. . . . . . . .
หลายวันก่อน คณะสถาปัตย์แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร มีงานเปิดคณะ เพื่อสื่อว่า 'ดินแดนสีเทา' แห่งนี้ จะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
มันทำให้ผมมีโอกาสกลับมาที่นี่หลังจากห่างเหินกันไปนาน
และมันพาให้นึกย้อนไปถึงเรื่องราวที่เคยผ่านมาในความทรงจำ ...
๑.
ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนเป็นนักศึกษาปี ๑ จนเรียนจบและมาเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะสถาปัตย์แห่งนี้  ผมต้องเดินเข้าเดินออกผ่านรั้วศิลปากรเฉลี่ย สัปดาห์ละครั้ง
ได้มีโอกาส”เห็น” และ “สัมผัส” ดินแดนสีเทาแห่งนี้ตามที่นักศึกษาเรียกขาน
มาตั้งแต่เป็นอาคารเรียนมีกันสาดยาวและกว้างพอให้พวกเราปีนออกมาปูเสื่อนอนเล่น  มีสนามเปตองขรุขระอยู่หน้าคณะ จนถึงครั้งที่มีการปรับปรุงรอบแรก ที่ขยายพื้นที่รองรับนักศึกษาที่มากขึ้น กันสาดยาวหายไป โถงด้านหน้ามีความโล่งน้อยลง สนามเปตองถูกย้ายไปอยู่ซอกตึกข้างคณะจิตรกรรม แต่สนามยังเหงาและขรุขระเหมือนเดิม
ความทรงจำนั้นเหมือนม้วนกระดาษที่กองสุมเก็บไว้ เมื่อลองคุ้ยและคลี่ออก ก็พบภาพบรรยากาศของมหาวิทยาลัยศิลปากร  ทั้งร่มไม้  รูปปั้น ซอกมุม และ ผู้คน
ผมเห็นเป็นภาพประสบการณ์แบบรวมๆ ลองนึกคิดอยู่อีกหลายรอบ ก็เห็นเป็นภาพแบบนี้ทุกครั้ง   เหมือนที่มีคนบอกว่า “ประสบการณ์นั้นสร้างการจดจำ มันทำให้ความจำเราฝังลึกกว่าความรู้หรือความคิด“
มิน่าล่ะ ! ถ้าใครพูดถึงผลการเรียน ผมกลับจำอะไรไม่ได้ นึกอะไรไม่ออก 😁
รู้แต่ว่า ที่ได้ “ดี” อยู่ตอนนี้ ก็เพราะมีผลการเรียน ”D” ที่ได้รับจาก “ศิลปากร”
แต่ถ้าจะถามว่า เรียนจบมาได้ยังไง
ก็อยากจะชวนให้ลองหลับตา ...
แล้วผมจะพาย้อนกลับไปไกลกว่าเดิม. . .
๒.
ยามเย็นวันหนึ่ง ปลายเดือนพฤษภาคม เมื่อ ๓๐ ปีก่อน  ผมได้เข้ามาสูดดมบรรยากาศที่ 'ศิลปากร' เป็นครั้งแรก
ก่อนหน้านี้ ผมไม่เคยมาติว ไม่เคยมาดูงานศิลปะ  และเมื่อรู้ตัวว่าสอบเอ็นทรานซ์ติดที่นี่  จึงคิดว่า งั้นต้องลองมาสำรวจดูเป็นการหยั่งเชิง
เย็นวันนั้น ฟ้าครึ้ม บรรยากาศสลัวทึม ลมแรงพัดมาพร้อมกับการตั้งเค้าของเมฆฝน
ผมเดินเข้ามาทางประตูวังท่าพระ จากถนนหน้าพระลาน  มานิ่งอึ้งจังงัง !  อยู่หน้าท้องพระโรงเก่า  ไปไหนไม่ถูก
ก่อนจะพบช่องทางเล็กๆด้านขวาที่พาเดินเลาะสวนร่มรื่นที่มีรูปปั้นแทรกอยู่ตามเงาไม้ ผ่านศาลาเก่าแก่ที่มีลายฉลุงดงามไปโผล่ที่ลานปูนโล่ง ที่รายล้อมไปด้วยตึกเรียบๆ สีขาว
ชั่วขณะนั้น อัตตาของผู้สอบเอ็นท์ติด ก็พองขึ้นเต็มอก
“อ๊ะ ! ศิลปากร มันก็แค่นี้ !! “
มองไปทางซ้าย ต้นไม้ใหญ่ยืนทมึนในซอกตึกโยกกิ่งทักทายกับลมดังกราวใหญ่
เห็นดังนั้น ไม่ต้องคิดมาก
ผมตัดสินใจเดินเลี้ยวไปทางขวา
อากาศรอบตัวครึ้มลงอีกจากเงาไม้และเมฆฝน มองเห็นตึกสีขาวมีบ่อน้ำเศร้าๆอยู่ด้านหน้า ป้ายทองเหลืองมัวๆเขียนว่า “คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร”
ขณะที่กำลังลังเลว่าจะเดินเข้าไปดูภายใน จากการเชื้อเชิญของซุ้มทางเข้าซึ่งยื่นออกมาต้อนรับเหนือบ่อน้ำ ชายตาพลันเหลือบเห็นชายผมยาวรุงรังเดินแวบผ่านไปด้านหลัง
เมื่อมีตัวช่วยคิดเช่นนี้
วินาทีนั้นก็ตัดสินใจได้ทันทีว่า  “กลับ”
จากนั้นก็เผ่นพรวดเดียวมายืนหอบอยู่ด้านหน้าริมถนนหน้าพระลาน
๓.
ใครจะไปนึกว่า การเผ่นหนีพรวดเดียวในครั้งนั้นเป็นการ”หนี”ครั้งเดียวในชีวิตของผม  จากนั้นมา ผมก็ได้สิงสถิตติดหนึบอยู่ที่นี่มากว่า ๓๐ ปี
ทางเดินลดเลี้ยวผ่านซอกเล็ก SPACE ใหญ่ แล้วก็มุดเข้าช่องทางแคบๆ เพื่อมาโผล่ ที่ลานโล่งกับรูปปั้นอาจารย์ศิลป์ พีรศรี เป็นเส้นทางเดินที่ผมเดินย่ำเท้าผ่านไปไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเที่ยว
ตั้งแต่เดินแบกกระดานสเก็ตช์ จนมาเป็นกระดาษแบบร่าง ลูกชิ้นปิ้งและคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ในปัจจุบัน
เป็นความคุ้นเคยที่เนียนสนิท จนบางครั้งอาจจะเนียนจนลืม  คงเหมือนหลายสิ่งและหลายคนในชีวิตเรา ที่ความเคยชินทำให้เราลืมที่จะใส่ใจ บางครั้งบางคราวเกิดอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ไม่สบายใจ เหลียวมองหาที่มา จึงรู้ว่า
สิ่งที่เราคุ้นเคยได้จากเราไปเสียแล้ว
๔.
ตั้งแต่สมัยเรียน จนมาทำงานสถาปัตยกรรม มีใครหลายคนและหลายคราว ตั้งคำถามเชิงผู้ใฝ่รู้ในทางสถาปัตยกรรมกับอาคารในมหาวิทยาลัยศิลปากรว่า
แนวแผงกันแดด ที่เห็นเรียงรายอยู่หน้าตึกสถาปัตย์นั้น มีที่มาจากความนิยมในรูปทรงหรือถูกเสริมส่งจากประโยชน์ใช้สอย ?
ทำไมทางเข้าอาคารหอสมุดต้องทำเป็นลานบันไดใหญ่ตรงด้านหน้า มันจะเบียดข่มอาคารท้องพระโรงที่มีอยู่เดิมไหม ?
บันไดโค้งทรงเสน่ห์ที่ทอดตัวเหนือบ่อน้ำ(เดิม)กลางคณะสถาปัตย์  ได้รับแรงบันดาลใจจากที่ใด ?
บางคนพ่วงเอาคำถามปนปรัชญาการเมืองว่า
การสร้างอาคารสไตล์โมเดิร์น ท่ามกลางกลุ่มอาคารพระตำหนักเดิมของ”สมเด็จครู - สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์” นั้นช่างกล้าหาญนักและมีเสียงประท้วงบ้างไหมเมื่อเริ่มก่อสร้าง ?
สีของบันไดคณะสถาปัตย์ ทำไมถึงใช้ “สีแดง” ทำไมไม่เป็น “สีเหลือง ?”  หรือใช้ หลากสีได้ไหม ? *_*
สาวๆ บางคนมีข้อกังวลหลังแววประกายในตา ว่า
ลูกเล่นเล็กๆน้อยๆ ที่แอบซ่อนอยู่ในงานออกแบบที่ดูเรียบง่ายนี้  คือภาพสะท้อนจาก บุคลิกข้างในของ ”หนุ่มสถาปัตย์” ใช่ไหม ?
และคำถามที่ตามมาของหนุ่มผมยาว กับข้อสงสัยเชิงสุทรียภาพปนท่วงทำนองโรแมนติค ว่า
คิ้วบัวกรอบหน้าต่างของคณะโบราณคดี มีที่มาจาก รูปทรงค้ำยันของเรือนไทยเดิม หรือไม่ ? และมีสาวนักศึกษาโบราณคดีคนไหนจะใจดี อธิบายความเป็นมาได้บ้าง ?
บางครั้งกับหลายข้อสงสัย ที่กล่อมเราให้รู้สึกตื่นเต้นไปกับความลุ่มลึกของคำถาม และทำให้เรารู้สึกตัวโตขึ้น
เหมือนเราจับประเด็นทางสถาปัตยกรรม มากรองแยกออก และตีแผ่แบหราอยู่ตรงหน้า
แต่เมื่อเวลาผ่านไป  หลายคำถามก็ไม่เคยได้หาคำตอบ
และเมื่อกลับมานอนคิดย้อนดู ด้วยตัวตนที่ลีบเล็กลงและริ้วรอยอายุที่เพิ่มมากขึ้น  ผมเริ่มรู้สึกสงสัยว่า
กับเพื่อนเก่าที่แสนสนิทของเรานั้น เราจะอยากรู้ไหมว่า
“เมื่อเช้า มึงกินข้าวกับอะไรว่ะ ?”
๕.
สมัยเรียน ผมมีที่นั่งประจำอยู่แห่งหนึ่ง มันเป็นแท่งคอนกรีตเตี้ยๆ ผิวเป็นกรวดล้าง ขนาดประมาณ ๖๐ ซม.คูณ ๖๐ ซม. ตั้งอยู่ริมสนามบาสใกล้ช่องทางรถวิ่งที่จะผ่านไปหน้าคณะสถาปัตย์
ณ.จุดนั้นยามเย็น จะได้ร่มเงาจากต้นมะม่วงที่อยู่ใกล้ๆ  และเมื่อมองออกไป
จะเห็นกิจกรรมทั้งหมดของสนามบาส ที่เหมือนอยู่ในแอ่งคอนกรีต มีที่นั่งเป็นขอบซิกแซก เล่นระดับสลับเพลินตา
ตึกยูเนี่ยนอยู่ฝั่งตรงข้าม ได้พบเจอผู้คนผ่านไปมา มองเห็นเพื่อนๆเตะตะกร้ออยู่ใกล้ๆ
และ อืม .. เห็นสาวๆคณะโบราณฯ ตีลูกวอลเลย์บอลอยู่ไม่ไกล
บางวันแดดร่มลมตก เจ้าแท่นนี้ก็กลายมาเป็นที่เอนหลัง มองฟ้าดูยอดไม้ นอนเล่นคิดแบบร่าง เพลินไปอีกแบบ
เมื่อเรียนจบและกลับมาเป็นอาจารย์ ผมก็ไม่เคยกลับไปนั่งที่แท่นนี้อีกเลย ตอนนั้นไม่เคยสงสัยว่า เจ้าแท่นนี้ใช้ทำประโยชน์อันใด วันหนึ่งเกิดอาการคิดถึง อยากกลับไปนั่งเล่น เจ้าแท่นนี้ก็ถูกทุบทิ้งไปแล้ว โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว
๖.
จากวันนั้นถึงเวลานี้  อาคารคณะมัณฑศิลป์ปรับปรุงใหม่ ดูมีลูกเล่นมากกว่าเดิม
ตึกสถาปัตย์ดูทันสมัยขึ้น คณะโบราณและจิตรกรรมยังคงอยู่ในช่วงปรับปรุง
แต่บรรยากาศโดยรวมของมหาวิทยาลัยยังคงเหมือนเดิม
ต้นกร่างต้นเดิมยังยืนต้นทมึน ชวนให้แหงนคอมองหายอด ถึงแม้จะดูไม่กร่างเท่าเดิม อาจด้วยอายุ หรือ กิ่งก้านที่ถูกริดรอนออกไปบ้าง แต่ก็คงไม่มีต้นไม้ต้นไหน กร่างได้เท่านี้อีก
ยังมี”ต้นจัน”ที่เอียงตัวลงมา ให้มองหาเรื่องราวในอดีต และ”ลั่นทม” ที่มีลีลาคดโค้งอยู่ในซอกตึกที่เคยเป็นร้านลูกชิ้น
ต้นไม้แต่ละต้น มองทีไรเหมือนได้พบเจอญาติผู้ใหญ่ บางครั้งอยากกราบ อยากไหว้ แต่ก็ไม่ได้ทำสักที ?
เหลียวมองตามซอกหลืบ ในเวิ้งห้องชานตึก ผมยังคงเห็น นักศึกษานั่งเก็ตช์ภาพอยู่อย่างมีสมาธิและสุนทรียภาพ
บางกลุ่มอาจถึงขั้น ล้อมวงถกปรัชญาชีวิต คลุกเคล้าลีลาศิลปะและเมื่อกรึ่มได้ที่
ก็กลับมาลงเอยที่คำถามพื้นฐานที่ว่า “เราเกิดมาทำไม ? และ มึงคิดว่า เค้าชอบกูไหมว่ะ ?”
บันไดหน้าตึก ทั้งของคณะสถาปัตย์และอาคารหอสมุด ยังคงถูกใช้เป็นที่นั่งเล่น ชุมนุมพลของนักศึกษารุ่นแล้วรุ่นเล่าที่เปลี่ยนหน้ากันเข้ามา
ผืนผนังของอาคารยูเนี่ยน ยังคงมีรูปวาด “อาจารย์ศิลป์” ที่เปลี่ยนถ่ายอิริยาบถ มาให้เป็นจุดหยุดสายตาเสมอ
และกลิ่นหอมของดอกแก้วที่ขึ้นแซมอยู่ เคียงข้างประติมากรรมใหญ่น้อย ก็ยังคงหอมหวลเย็นยะเยือก ยามเมื่อเดินผ่านเพลาดึก
๗.
เมื่ออาคารคณะสถาปัตย์กลับมาใช้งานอีกครั้ง หลังผ่านการปรับรูปโฉม
คำถามมากมายที่เคยสงสัยผุดพรายกลับขึ้นมาในความคิด หลังจากที่ถูกกลบฝังอยู่นานปี
เมื่อได้มองย้อน หวนกลับไปสังเกตรายละเอียดต่างๆที่คุ้นจนเคย เลยจนเนียน และเนียนจนลืม
ผมได้กลับมาสัมผัสและรู้สึกว่า . . .
บางคำถามอาจจะไม่มีคำตอบที่ถูกต้องให้เราค้นหา เพราะมันล่องลอยอยู่ใน เงาไม้ ชายคาตึกและผู้คน
หรือเพราะบางที มันเป็นเส้นขีดร่างบางๆของบรรยากาศ ที่ซุกซ่อน หลงลืมในกองกระดาษแบบร่างของความทรงจำ
ที่ป่วยการจะไปรีดเค้น แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่า มันคือต้นเหตุที่มาของวันนี้
และถึงแม้ไม่อาจหาคำตอบ แต่กระนั้น ก็ยังต้องขอบคุณต่อคำถาม
ที่ช่วยแซะเรื่องเนียนๆให้นูนขึ้น จนน่าจับต้องและเรียนรู้
ช่วยให้หวนคำนึงย้อนคิด
ในวันเวลาที่ผ่านไป กับการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดทางสถาปัตยกรรม ของอาคารหลายๆ หลังในรั้วศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระแห่งนี้
ผมยังหลงใหลบรรยากาศของที่นี่ การเดินเข้าเดินออกเป็นพันๆ รอบไม่ใช่การเดินที่ต้องการจะค้นหาความจริง แต่เป็นความปรารถนาที่จะเติมเต็มภาพร่างของความหมาย
จากวัยละอ่อนที่กระวนกระวายใต้เงาคลึ้มของหมู่ตึก มาเป็นสถาปนิกผู้ใฝ่หาเวลาเอนหลังใต้ร่มเงาของแมกไม้และเหม่อมองไป ที่เส้นสายซึ่งก่อร่างสร้างขึ้นเป็นรายละเอียดของรูปทรงอาคาร
จากรอยเส้นจางๆ ไม่มั่นใจบนกระดาษแบบร่างสมัยวัยเรียน มาเป็นเส้นมั่นหนักแน่นของวัยนี้
ทุกเส้นสายล้วนดำเนินไปบนเส้นทางของความทรงจำ และแจ่มชัดขึ้นทุกครั้งเมื่อได้กลับไปเห็นลำแสงอ่อนๆยามเย็นที่อาบไล้อยู่บนแผงกันแดดหน้าอาคารคณะสถาปัตย์
มันเตือนให้เราคิดถึง “วันวานที่หวานอยู่” และ สะกิดเตือนต่อมาว่า
“พรุ่งนี้ . . .  ก็สายเสียแล้ว”
**หมายเหตุ
แก้ไขปรับปรุงจากการเขียนครั้งแรกเนื่องในวาระเกษียณอายุราชการของ ผศ.สุริยา รัตนพฤกษ์ ผู้ออกแบบอาคารหลายหลังในรั้ววังท่าพระแห่งนี้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา