12 ม.ค. 2020 เวลา 03:09 • การศึกษา
มารู้จักอาชีพนักกิจกรรมสร้างทีมกันเถอะ
เชื่อว่าหลายท่านที่เป็นพนักงานในหน่วยงานองค์กรต่างๆคงมีประสบการณ์ในการไปสัมมนากับบริษัทในรูปแบบกิจกรรม Team Building กันมาบ้าง
ในความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ที่เคยร่วมกิจกรรมแบบนี้มักจะคิดว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นเพียงสันทนาการเพื่อความบันเทิงเท่านั้น ซึ่งก็มีความเป็นจริงอยู่บ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมด
เพราะการทำกิจกรรมสร้างทีมนั้นบางครั้งผู้จัดกิจกรรมเป็นเพียงนักกิจกรรมน้นทนาการ ไม่ใช่นักกิจกรรมสร้างทีม เมื่อเจอกับกิจกรรมสันทนาการบ่อยครั้งเข้าจึงพากันเข้าใจว่ากิจกรรม Team Building เป็นสันทนาการไปด้วย
จริง ๆ แล้วสันทนาการเป็นแค่ส่วนหนึ่งในงานของนักกิจกรรมสร้างทีมเท่านั้น ยังมีบทบาทหน้าที่อีกมากมายสำหรับผู้ที่ทำหน้าที่จัดกิจกรรมเพื่อการสร้างทีม ในบทความนี้เราขอแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับอาชีพนี้ จากประสบการณ์โดยตรงของผู้เขียนซึ่งอยู่ในสายงานนี้มากว่า 15 ปี
" นักกิจกรรมสร้างทีม " คืออะไร ?
นักกิจกรรมสร้างทีม คือ ผู้ออกแบบและสร้างกิจกรรมเพื่อสนองต่อวัตถุประสงค์ขององค์กร ทำให้การดำเนินงานของคนในองค์กรเป็นไปด้วยความราบรื่นและสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ด้วยความสุขผ่านกิจกรรมต่างๆซึ่งได้ออกแบบไว้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรขององค์กร
ข้อแตกต่างสำคัญที่แยกระหว่างคนทำกิจกรรมสันทนาการกับคนทำกิจกรรมสร้างทีม คือ การทำให้กิจกรรมเป็นมากกว่าความบันเทิง กิจกรรมสร้างทีมนั้นต้องกระตุ้นให้เกิดมุมคิด มีสาระ และประโยชน์ สำหรับการทำงานร่วมกันของกลุ่มคนที่หลากหลาย
รูปแบบและขั้นตอนการทำงานของนักกิจกรรมสร้างทีมเป็นอย่างไร ?
โดยทั่วไปรูปแบบงานของนักกิจกรรมสร้างทีมประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ คือ
1. รับฟังปัญหาองค์กรเพื่อออกแบบกิจกรรม งานในส่วนนี้จะต้องเข้าไปรับข้อมูลจากลูกค้าเพื่อทราบเป้าหมายที่องค์กรต้องการจากกิจกรรม
ซึ่งมีหลากหลาย เช่น เสริมสร้างค่านิยมองค์กร ให้ความรู้เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ เรียนรู้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เสริมสร้างการทำงานเป็นทีม จะเห็นว่าในส่วนนี้มีวัตถุประสงค์มากมายที่นอกเหนือการสร้างทีม นั่นเป็นเพราะทีมเป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบจากวัตุประสงค์ที่องค์กรต้องการ เราต้องรับเอาความต้องการนั้นมาออกแบบเป้นกิจกรรมให้ตรงกับความต้องการนั้นให้ได้
2. การวางแผนและจัดกิจกรรม เมื่อได้วัตถุประสงค์ที่ต้องการจากกิจกรรมและออกแบบกิจกรรมเรียบร้อยแล้ว นักกิจกรรมสร้างทีมต้องวางแผนการจัดกิจกรรมนั้นให้เหมาะสมด้วย ต้องแบ่งจำนวนคนออกเป็นกี่กลุ่ม มีการเรียนรู้ฐานย่อยไหม ? อุปกรณ์และจำนวนทีมงานที่ต้องใช้มีจำนวนเท่าไหร่ ? จะแบ่งแยกหน้าที่ทีมงานอย่างไร ?
ส่วนของการจัดการนี้มีความสำคัญมากต่อกิจกรรม หากวางแผนดีการทำกิจกรรมก็จะมีความลื่นไหลไม่ติดขัด ส่วนที่สองนี้จึงคาบเกี่ยวระหว่างการวางแผนและการจัดกิจกรรมเข้าด้วยกัน
3. การสรุปและประเมินผล ผู้จัดกิจกรรมสร้างทีมต้องทำหน้าที่สรุปสาระที่ได้รับจากกิจกรรม และในบางครั้งยังต้องทำหน้าที่ประเมินผลการเรียนรู้ด้วย เช่น ให้ผู้ร่วมกิจกรรมสรุปสิ่งที่ได้จากกิจกรรม หรือทำแบบประเมินหลังจากที่ได้ร่วมกิจกรรม องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนี้ คือ บทบาทหน้าที่หลักของผู้นำกิจกรรมสร้างทีม
เป็นนักกิจกรรมสร้างทีมมีรายได้เท่าไหร่ ?
ในส่วนของรายได้จะแตกต่างกันไปตามประสบการณ์และสายงาน ถ้าเป็นนักกิจกรรมสร้างทีมฟรีแลนซ์ (ไม่ประจำ) ค่าแรงในระดับของผู้ช่วยกิจกรรมจะอยู่ที่วันละ 500 - 1,000 บาท ต่อวัน ขึ้นอยู่กับหน้าที่ว่าทำอะไรบ้าง
หากจัดของ เตรียมอุปกรณ์และเป็นตัวอย่างในกิจกรรมจะได้ค่าแรงราว 500 - 700 บาท ต่อวัน หากมีทักษะในการนำกิจกรรมฐานเรียนรู้ได้จะได้ค่าแรงประมาณ 800 - 1,000 บาท
กรณีที่ไม่ใช่ผู้ช่วยแต่เป็นผู้นำกิจกรรมหลักค้่าแรงสำหรับนักกิจกรรมฟรีแลนซ์จะอยู่ที่วันละ 2,000 - 5,000 บาทต่อวัน ราคานี้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมและประสบการณืของผู้นำกิจกรรมนั้นๆ
จะเห็นว่าค่าแรงต่อวันค่อนข้างสูง แต่กิจกรรมไม่ได้มีทุกวัน ดังนั้นรายได้จะขึ้นอยู่กับปริมาณงานที่นักกิจกรรมคนนั้นรับในแต่ละเดือน
กรณีที่เป็นนักกิจกรรมสร้างทีมในบริษัทที่ทำประจำ เงินเดือนจะวัดได้ยากมาก มีตั้งแต่ระดับ 15,000 บาท ไปจนถึง 50,000 บาท (ขึ้นอยู่กับประสบการณ์) แต่ส่วนใหญ่ผุ้มีประสบการณ์สูงมักแยกออกไปเปิดบริษัทรับงานของตัวเอง รายได้จึงมากกว่าฐานเงินเดือนมาก
อาชีพนี้รายได้จะขึ้นกับประสบการณ์เป็นหลัก ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้มีประสบการ์สูงย่อมเป็นที่ไว้วางใจว่าจะสามารถดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ได้อย่างที่องค์กรต้องการนั่นเอง แม้ผลตอบแทนสูงบริษัทก็ยินดีจ่ายเพื่อผลลัพธ์ที่คุ้มค่า
คุณสมบัติของนักสร้างทีม คุณสมบัติที่ต้องมีสำหรับคนที่ฝันอยากจะเป็นนักกิจกรรมสร้างทีม คือ
1. ต้องเป็นคนมีนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ข้อนี้เป็นองค์ประกอบแรกของการทำงานเป็นทีมด้วย คุณจะเป็นนักสร้างทีมได้อย่างไร ? หากไม่มีคุณสมบัติข้อแรกของการทำงานเป็นทีม ที่สำคัญงานนี้ต้องพบปะผู้คนมากมายหลากหลายอาชีพ หากไม่มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีคงทำงานนี้ได้ยาก
2. เป็นคนพูดจาฉะฉาน , กล้าแสดงออก , กล้าพูดกับคนหมู่มาก ข้อนี้สำคัญมากเพราะงานนี้ต้องใช้การพูดในที่สาธารณะค่อนข้างเยอะ หากสามารถพูดเรื่องน่าเบื่อให้น่าาฟัง หรือพูดเรื่องเข้าใจยากให้ง่ายได้ ก็เหมาะที่จะทำอาชีพนี้
3. เป็นคนรักการเรียนรู้ มีไหวพริบ หลายครั้งเราจะได้รับโจทย์ใหม่ๆจากลูกค้าหรือต้องถ่ายทอดข้อมูลใหม่ๆที่องค์กรต้องการสื่อสารให้พนักงานทราบ เราซึ่งเป็นผู้ส่งสารจึงต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจหัวข้อนั้น ๆ เสียก่อน บางครั้งเราอาจไม่รู้ทั้งหมดแต่ต้องนำเข้าเพื่อให้ผู้รู้ในทักษะนั้น ๆเข้ามาสรุปต่อจากกิจกรรมที่เราออกแบบมาให้ได้
4. มีความคิดสร้างสรรค์ เราจำเป้นต้องออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการขององคืกรที่จ้างงาน ดังนั้นจำเป้นต้องมีความคิดสร้างสรรค์เพื่อออกแบบกิจกรรมใหม่ ๆ ออกมา
หวังว่าบทความนี้จะทำให้ได้รู้จักและเข้าใจอาชีพนักกิจกรรมสร้างทีมมากขึ้นนะครับ อาจจะเป็นอาชีพที่หลายคนไม่ค่อยคุ้นเคยแต่ถือว่าปัจจุบันมีกลุ่มคนเข้ามาทำงานในสายงานนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
หากสนใจที่จะทำอาชีพนี้ควรเริ่มจากการทำงานเป็นผู้ช่วยกิจกรรมให้กับนักกิจกรรมสร้างทีมและลองเรียนรู้งานดูครับ สามารถหาบริษัทที่รบงานแบบนี้ได้ไม่ยาก แต่ช่วงแรกที่ไม่มีประสบการณ์อาจจะยากสักหน่อย แต่ถ้าตั้งใจจริงทำได้แน่นอนครับ
โฆษณา