12 ม.ค. 2020 เวลา 05:47 • ธุรกิจ
Learning Visual Diary #43 10ข้อคิดจาก Hard Thing about Hard Things (1/2)
สวัสดีครับทุกท่าน หลังจากที่พึ่งอ่านหนังสือเล่มแรกของปี 2020 จบไป รู้สึกประทับใจจนอยากมาเล่าให้ฟังครับ หนังสือเล่มที่เราจะคุยกัน คือ 'Hard Thing about Hard Things' หนังสือที่ถ้าคุณคือผู้ประกอบการคุณต้องไม่พลาด ถ้าคุณเป็นพนักงานคุณก็ควรอ่านแล้วจะเข้าใจเจ้านายมากขึ้นหรือควรซื้อให้เจ้านายอ่าน ถ้าคุณเป็นเจ้านาย ก็โปรดอ่านแล้วคุณจะเข้าใจตัวเองมากขึ้น สรุปว่าดีครับ คุ้มกับเวลาของคุณแน่ๆละ แต่ไม่ว่าจะอ่านหรือยังไม่อ่าน มาฟังผมเล่าเล่นๆก่อนก็ได้ครับ ตามมาครับ
คือมันอย่างนี้ครับ...
อย่างแรกที่ผมรู้สึก คือ เป็นหนังสือ How to ที่มีความจริงใจสูงมาก ต่างจากหนังสือ how to เล่มอื่นๆ ที่พยายามเขียนในเชิงทฤษฎี (ไม่ใช่ว่าเล่มอื่นไม่จริงใจนะครับ) แต่ Hard Thing about Hard Things พูดความจริงที่คนไม่ค่อยอยากพูดถึง มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนความสำเร็จจะเกิด มันคือภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ใต้ปลายยอดที่พ้นน้ำ นิยามหนึ่งที่สรุปได้ดีสำหรับคือ มันคือคัมภีร์การบริหารยามศึก ไม่ใช่ยามสงบ ผมคงไม่ได้สรุปเรื่องทั้งหมดให้ฟังแต่อยากเล่าถึง 10 ข้อสรุปที่ผมได้จากหนังสือเล่มนี้ครับ
1. นิยามคำว่า Hard Things
ขอยกเอาคำของคุณ Ben Horowitz มาเลยดีกว่า
"Hard things are hard because there are no easy answers or recipes. There are hard because your emotions are at odds with your logic. They are hard because you don't know the answer and you cannot ask for help without showing weakness"
ช่างเป็นประโยคที่กระแทกใจกว่าจะพิมพ์จบจริงๆครับ ผมสรุปว่าความยากในการบริหารช่วง hard time มันยากเพราะเราไม่รู้คำตอบและถ้าคุณเป็นผู้นำก็ถามไม่ได้ เพราะทุกคนก็คิดว่าคุณรู้ดีที่สุด คุณก็ต้องแสดงว่ามั่นใจทั้งที่จริงๆก็ไม่รู้ สิ่งเหล่านี้มันทำให้อารมณ์คุณแปรปรวนและกระทบกับกระบวนการด้านเหตุผลของคุณในที่สุด ซึ่งผมว่าคุณ Ben บรรยายเรื่องความลำบากใจและย้อนแย้งด้านการบริหารในเล่มนี้ได้ดีเลยครับ
2. ผู้นำไม่ควรเก็บเรื่องร้ายๆไว้คนเดียว
การจัดการข้าวร้ายที่ดีต้องอาศัยการสื่อสารที่ดี เพราะการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาไม่ปิดบัง ช่วยสร้างความเชื่อใจและเกิดเป็นสายสัมพันธ์หลายครั้งผู้นำองค์กรอาจคิดว่าพนักงานรับได้แต่ข่าวดี แต่บางครั้งพนักงานอาจช่วยจัดการข่าวร้ายได้ดีกว่าที่คิด อย่างน้อยอาจจะดีกว่าที่เขาไม่รู้อะไรเลย
3. ข่าวร้ายกระจายเร็ว ข่าวดีกระจายช้า
ข้อนี้จริงของจริงครับ และเป็นเหตุผลที่เราควรสื่อสารอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา ถ้ามีกลิ่นของข่าวร้าย ยังไงข่าวก็ต้องกระจายออกไปในทางที่หนักขึ้น จินตนาการของคนก็จะทำหน้าที่ปรุงแต่ง ดังนั้น บอกความจริงจะทำให้จินตนาการไม่ถูกใช้ในทางที่ผิด
ข้อแนะนำนึงที่ผมชอบมากคือ ทางที่ดีบริษัทหรือองค์กรนั่นแหละที่ควรส่งเสริมให้ข่าวร้ายแพร่สะพัดได้จนเป็นปกติ เพราะมันสร้าง culture ที่ช่วยให้คนในองค์กรสามารถปรับตัวต่อข่าวร้ายได้ดีกว่า และยังเป็นการเปิดความคิดทำให้คนคุ้นกับการการเจอปัญหาและต้องช่วยกันหาทางแก้ไข
4. บางครั้ง Hard action ก็จำเป็น แต่ต้องรู้จริงๆว่ามันจำเป็น
เหตุการณ์ที่บริษัททำไม่ได้ตามเป้าหมายจนต้องเกิดการทำ Hard Action ขึ้นมา (ก็เช่น ไล่พนักงานออกนั่นแหละครับ) อาจจะเป็นเรื่องที่เราไม่อยากทำแต่มันก็ไม่ได้ให้เราเลือก ต้องรู้จริงๆว่ามันจำเป็นต้องทำเพราะอะไร คือถ้าต้องทำเพราะตัวบุคคล คงไม่อยากมาก แต่ถ้าคนคนนั้นก็ทุ่มเทมากพอละ ดังนั้น ผู้กระทบต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนว่ามันเป็นที่ผลงานส่วนบุคคล หรือเหตุการณ์นี้เกิดเพราะองค์กรต้องอยู่รอดต่อไป ถ้าเป็นอย่างหลัง ต้องให้เขารู้ว่าเรารับรู้ถึงความทุ่มเทและผลงานที่ฝากไว้ อย่าหลบหน้า จงเป็นมืออาชีพให้มากที่สุด
5. ถ้าต้องทำ Hard Action ก็ต้องเร็ว และภาษาที่ใช้ต้องตรงมาก decisive
การต้องทำอะไรแบบนี้ คงไม่มีใครชอบ และมีแนวโน้มที่เราจะลังเล และเมื่อมีข่าวรั่ว ปัญหาอย่างอื่นก็ตามมา พนักงานก็จะถามผู้จัดการ ซึ่งถ้าผู้จัดการไม่รู้ ข่าวก็ลือออกไปอยู่ดีเพราะไม่รู้ไม่ได้แปลว่าไม่มี แต่ถ้าผู้จัดการบอกว่าไม่มี ก็ยังไม่มีใครเชื่ออยู่ดีและยิ่งถ้ามีทีหลังก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ ทางที่ดีคือ ถ้าจะทำก็ทำเลย ชัดเจนแล้วทำไปเลย การสื่อสารโดยตรงก็สำคัญ อย่าใช้คำพูดว่า ผมคิดว่า... แต่ต้องเป็นผมตัดสินใจว่า...
ข้อคิดเรื่องนี้ ผมว่าใช้ได้กับหลายเรื่องไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเอาคนออก บางครั้งเราเกรงใจไม่อยากทำให้พนักงานรู้สึกว่าเราบังคับ อยากให้เขาเห็นด้วยเลยใช้ประโยคถามความเห็นก็เช่น ผมคิดว่า... นั่นแหละครับ แทบทุกครั้งถ้าเป็นเรื่องยาก เราจะไม่ได้ความเห็นอย่างที่เราต้องการหรอกครับ ดังนั้นสำคัญคือ เหตุในใจถ้ามันชัดและจริงๆมันไม่มีทางเลือกอื่น ก็ต้องตัดสินใจไปเลย แล้วมาช่วยกันคิดเรื่องอื่นดีกว่า ว่าจะแก้ปัญหาที่ยังไงก็ต้องเจอยังไงต่อดี
เพื่อไม่ให้ยาวไป ผมจะขอหยุดตรงนี้ก่อนส่วนอีก 5 ข้อต่อไป ซึ่งเป็นมุมมองที่น่าสนใจมากๆ ในการบริหารคน ผมจะมาเล่าต่อในตอนหน้า โปรดติดตามครับ
Happy Learning
ขอบคุณครับ
ชัชฤทธิ์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา