13 ม.ค. 2020 เวลา 02:00 • ธุรกิจ
ทำไปเพื่ออะไร?
“ไม่ได้คุณต้องไปหาหลักฐานเพิ่มมาอีก” นี่เป็นคำสั่งจากอดีตหัวหน้าที่เคยทำงานด้วยเมื่อหลายปีก่อนกับเหตุการณ์ที่ “ยุคใหม่การตลาดของไทย” ต้องไปหาหลักฐานเพื่อยืนยันว่าเราได้สั่งซื้อสินค้ามาจริงเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้ทำงานที่นี่เลย คนที่เกี่ยวข้องลาออกเกือบหมดแล้ว ยกเว้นคนสั่งงาน
ประเด็นไม่ใช่เรื่องสั่งไปหาหลักฐานเพิ่ม แต่อยู่ที่ไปหาเพิ่มเพื่ออะไร ในเมื่อทุกฝ่ายก็ยอมรับแล้วว่าได้ซื้อจริงและมีการลงลายมือชื่อรับรองทั้งหมด มีเอกสารแนบอย่างชัดเจน ผู้บริหารระดับผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีก็รับรองเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงให้หัวหน้าคนนี้นำไปยื่นต่อเพื่อทำการชำระเงิน เพราะ “ยุคใหม่การตลาดของไทย” ไม่ใช่เป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย
ในเวลานั้นบอกตรงๆว่าทั้งงงทั้งโกรธทั้งเกลียดการกระทำอย่างนี้ เพราะเราไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วยเลย ทำจนหาหลักฐานที่แทบจะพลิกบริษัทหามาจนได้ ยังต้องไปหาเพิ่มอีก โดยไม่รู้ต้องหาเพิ่มเพราะอะไร แต่ก็ตัดสินใจว่าไม่ทำแล้ว บอกไปว่าอยากจะหาก็ไปหาเอง (รู้ภายหลังว่าการพูดเช่นนี้ไม่มีผลดีเลย) แล้วก็นำไปดำเนินการต่อจนเสร็จ บอกเลยทั้งเหนื่อยกายเหนื่อยใจ งานเสร็จสมบูรณ์แต่ไม่ได้รับการยอมรับ แถมยังถูกต่อว่าด้วยว่าทำงานไม่เรียบร้อย
นี่เป็นเหตุการณ์ที่จำขึ้นใจมาจนทุกวันนี้ และก็ไม่เข้าก็ใจเขาด้วยว่าทำไปเพื่ออะไร ทำๆไม เพื่อประโยชน์อะไรจนมาถึงทุกวันนี้
จนเมื่อประมาณเดือนที่ผ่านมาก็พบว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก แต่เป็นต่างกรรมต่างวาระ ทำให้เกิดคำถามกลับไปว่าเขาทำเพื่ออะไร และด้วยสถานะที่เราก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของใครและยังมีประสบการณ์ได้เติบโตขึ้นในสายงานการบริหารมาด้วย คำถามครั้งนี้ทำให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น
วันนั้นเวลาเที่ยงกว่าเห็นจะได้ (มาแบบลิเกเลย) “ยุคใหม่การตลาดของไทย” ได้เข้าแถวเพื่อรอรับข้าวกล่องตามจำนวนบัตรที่ซื้อไว้ 1 ใบ/กล่อง และมีบัตรที่มีคนฝากมารับให้ด้วยพร้อมกับบัตรที่ซื้อเกิน เพื่อมารับข้าวกล่องตามสิทธิ์เพราะซื้อบัตรไว้แล้ว เหมือนๆในครั้งที่ผ่านมา
แต่ทว่าวันนี้น้องคนหนึ่งที่เป็นเจ้าหน้า จู่ๆก็บอกว่าไม่ให้รับแทนกันเพราะตรวจสอบไม่ได้ว่ามารับเกินหรือไม่ ซึ่งทุกคนก็งงกันเลยทีเดียว ต้องเอาบัตรมาคืนคนที่ฝากเพราะเขาจะได้ไปของที่นั่งก่อน ปรากฏว่าที่นั่งก็จองไม่ได้ต้องมาเข้าแถว ตอนนั้นก็เริ่มมีอาการเคืองกันถ้วนหน้าแล้ว แต่พวกเราก็ปฏิบัติตามเพื่อไม่ได้เกิดความยุ่งยากและอารมณ์เสียไปปล่าวๆ
พอรับรอบแรกแล้วยังมีบัตรที่เหลืออีกหลายใบ จึงได้เข้าแถวใหม่เพื่อรับข้าวกล่องตามสิทธิ์ ปรากฏว่าพนักงานคนเดิมออกกฎใหม่มาอีกว่า ต้องรออีกห้องออกมาให้หมดก่อนเดี๋ยวเขาจะไม่ได้ข้าวกล่อง จากเดิมที่มีเชื้อความไม่พอใจอยู่แล้วเลยถามกลับไปว่า ห้องนั้นมาเกี่ยวอะไรกับข้าวกล่องชุดนี้ เจ้าหน้าที่คนนั้นก็ตอบว่ามันจะไม่พอ แต่ความจริงแล้วเขาทำข้าวกล่องตามบัตรที่ขายออกไป โดยทำไว้เกินเล็กน้อยด้วย (จากการสอบถามกับผู้ที่รับผิดชอบ)
แต่ก็ยังไม่อยากทำให้เป็นเรื่องจึงได้เดินไปดูห้องที่เจ้าหน้าที่บอกว่าออกมายังไม่หมด ปรากฏว่าออกมาหมดแล้ว และเจ้าหน้าที่คนอื่นต่างก็ทำหน้าเอือมระอากับเจ้าหน้าที่คนนี้ จึงบอกว่า “ทุกคนได้รับข้าวกล่องหมดแล้ว เขาทำข้าวกล่องตามบัตรที่ขายออกไป”
ตอนนี้ความอดทนเริ่มหมดแล้ว จึงได้ถามไปว่า “ผมมารับข้าวกล่องตามสิทธิ์ของบัตรที่ซื้อไป คุณให้ผมต่อแถวรับทีละกล่องผมก็ทำแล้ว ข้าวกล่องก็ทำมาตามจำนวนบัตรที่ยื่น แล้วทำไมคุณมีเงื่อนไขเพิ่มขึ้นมา?” คราวนี้คำตอบเปลี่ยนไปเป็นว่า “ผมกลัวว่าแอบเอาบัตรเก่ามาวนรับอีก” แต่ความเป็นจริงแล้วไม่มีใครทำเช่นนั้นได้ เพราะเขาเป็นคนตัดบัตรส่วนที่เป็นคูปองออกไปแล้ว ใครที่วนมารับจะต้องใช้บัตรใหม่เสมอ
จนถึงคำถามสุดท้ายที่ความอดทนหมดแล้วว่า “ทำไปทำไมแล้วทำเพื่ออะไร?”
สักพักเมื่อ “ยุคใหม่การตลาดของไทย” เริ่มอารมณ์เย็นลง จึงได้นึกได้ว่าเราจะไปทะเลาะหาเรื่องกับคนพวกนี้ทำไม รับข้าวกล่องไม่ได้ก็แจ้งผู้บริหารก็เสร็จแล้ว (แต่ก็ไม่ได้แจ้ง)
ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้นึกย้อนกลับไปในอดีตที่เคยเจอการตั้งเงื่อนไขเพิ่มมา โดยไม่รู้ว่าเพิ่มทำไมหลายต่อหลายครั้ง กับหลายต่อหลายคน และคนเหล่านั้นก็ไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างชัดเจนว่าเพิ่มเพื่ออะไร เพราะถามไปกี่ครั้งคำตอบก็ไม่เหมือนเดิม
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ “ยุคใหม่การตลาดของไทย” ได้ดึงสติตัวเองกลับมาแล้วถามตัวเองว่า “ได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้บ้างและคนเหล่านั้นทำไมจึงทำเข่นนี้” ซึ่งก็ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันในกลุ่ม
แล้วก็ได้คำตอบตรงกันว่า เกิดจากวิธีคิดของเขาไม่ได้เกิดจากข้อกำหนดที่ทางผู้จัดงานกำหนด ซึ่งวิธีคิดนี้มาจากการกลัวที่ต้องรับผิดชอบเป็นที่ตั้ง ดังนั้นการกระทำจึงไม่สนใจผลกระทบอื่น ไม่ว่าความไม่พอใจของผู้ร่วมงานซึ่งอาจจะไม่เข้ามาใช้บริการในครั้งต่อไป แน่นอนว่าส่งผลกระทบให้เขาไม่มีงานทำไปด้วย ไม่สนใจถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่รับฟังเหตุผลใดๆ
และเมื่อนึกย้อนกลับไปกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น ก็พบว่าคนที่ทำเช่นนี้มีวิธีคิดไปในทางเดียวกันจริงๆ
แล้วประโยชน์อะไรที่ได้รับบ้าง? นี่เป็นคำถามอีกข้อที่เกิดขึ้นมา เป็นคำถามที่เป็นการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาได้ทั้งระดับจิตใจเราเองและพัฒนาการบริหารองค์กรการตลาด เพราะคำตอบที่ได้คือ “ต้องใช้คนให้ถูกงานหรือหากจะต้องใช้งานคนกลุ่มนี้ต้องให้ในส่วนที่เรากำหนดวิธีการที่ชัดเจนได้เพื่อไม่ให้งานเสียหาย”
แต่เมื่อเขาเป็นคนที่กลัวความรับผิดชอบแล้ว นั่นก็ต้องเป็นคนที่เป็นคนที่มีวิธีคิดแบบปิด (Fixed Mindset) คนเหล่านี้จะไม่ชอบทำอะไรใหม่ๆ แต่เป็นคนที่ใส่ใจรายละเอียด การให้เขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามความสามารถของเขาจึงต้องให้เป็นฝ่ายตรวจสอบขบวนการหรือฝ่ายที่ต้องคอยเตรียมงานก่อนใช้จริง ไม่ควรให้เขาต้องพบกับลูกค้าหรือบุคคลภายนอกโดยตรง นี่คือในมุมของผู้บริหาร
แต่ในมุมผู้ที่มีวิธีคิดเช่นนี้ ต้องบอกว่าเส้นทางการทำงานของเขาตีบตันมาก เป็นตัวเลือกแรกๆที่จะต้องหางานใหม่เมื่อองค์กรต้องลดจำนวนพนักงานลง แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการจ้างงานจะไม่สูง แต่แทบไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพ และเขาเหล่านั้นไม่รู้ตัวเองหรอกว่าคิดแบบนี้ เพราะถ้าเขารู้ตัวเขาคงไม่ทำ เพราะการกระทำเช่นนั้นทำให้เขามีงานเพิ่มโดยไม่จำเป็นเลย โอกาสผิดพลาดก็สูงขึ้นมาก เสียเวลาปล่าวๆด้วย
การที่ให้โอกาสคนกลุ่มนี้ในการพัฒนาคือการทำให้เขามีเป้าหมายที่ท้าทายขึ้น ทำให้เขาเห็นผลเสียที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเขาโดยให้เขาเป็นคนบอกเอง ฝึกอบรมเรื่องวิธีคิด นำไปอยู่ในกลุ่มที่มีวิธีคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) โดยจำกัดวงความรับผิดชอบไว้ด้วย นี่ก็เป็นอีกทางเลือกที่จะทำให้เขาได้มีโอกาสในการพัฒนาตนเอง
แต่หากเขาเป็นผู้มีอำนาจมากกว่าเราหรือเป็นหัวหน้า ก็อยู่ที่เราว่าจะทำงานกับเขาต่อหรือเลือกที่จะไป หากเลือกทางแรกก็ต้องเข้าใจว่าการที่คนเหล่านี้กลัวความรับผิดชอบกลัวถูกตำหนิ สิ่งที่จะทำให้เขามั่นใจในสิ่งที่เราทำคืออะไรบ้างนี่คือคำตอบที่เราต้องค้นหา อย่างน้อยเราก็รู้ต้นตอของปัญหาแล้ว ขั้นตอนต่อไปในการแก้ปัญหาก็ย่อมมีทางออกอยู่แล้ว
ข้อมูลมุมมองการตลาดที่ทันสมัยจากประสบการณ์จริง อ่านได้ใน Blockdit ยุคใหม่การตลาดของไทย
สามารถติดตามข้อมูลแนวคิดทางการตลาดยุคใหม่ได้ที่
YouTube Channel: Modernization marketing (ยุคใหม่การตลาดของไทย) ตอนล่าสุด
โฆษณา