13 ม.ค. 2020 เวลา 14:00
โลก 2 ใบของ ‘ลุง’
กิจกรรมทางการเมืองเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา มี 2 จุดพีก หนึ่งคือ ‘วิ่งไล่ลุง’ ที่ถูกตีขนาบมาด้วยการ ‘เดินเชียร์ลุง’
ทั้ง 2 กิจกรรม มีจุดร่วมเดียวกันคือ แสดงพลังให้ ‘ลุง’ เห็น คือเห็นว่า ไม่เอาลุง กับ เห็นว่า ควรให้ลุงได้ไปต่อ
 
งานนี้มีพื้นที่ส่วนกลางอยู่ที่ ‘สวน’ ใจกลางกรุงเทพมหานคร สวนรถไฟ และสวนลุมพินี เหมือนคู่ชกที่ถูกจัดให้อยู่กันคนละมุม (วิ่งไล่ลุงมีในต่างจังหวัดด้วย)
โลกของวิ่งไล่ลุงมีลักษณะเฉพาะที่ชัดเจนคือ คนรุ่นใหม่ วัยทีน มนุษย์เงินเดือน หนุ่มสาวออฟฟิศ คนชั้นกลางมีอันจะกิน ไปจนถึงรากหญ้าที่ต่อสู้มาทุกสนาม ฯลฯ
โลกของเดินเชียร์ลุงคละคลุ้งไปด้วยฝุ่นความทรงจำแต่เก่าก่อน ตั้งแต่เพลงปลุกใจ วาทกรรม และผู้คนที่อยู่ในวัยเฒ่าชรา ลุง ป้า อาม่า อากง มีหนุ่มสาวอยู่บ้างประปราย แต่คนสูงวัยกลุ่มนี้ยังคงเป็นกลุ่มคนสูงวัยที่อู้ฟู่
จุดตัดของ ‘เจเนอเรชัน’ ทำให้การมองโลกของคนสองวัยเป็นไปแบบขนานในแง่ของอุดมการณ์และความคิด แต่ปลายทางยังพอบรรจบคือ ‘ชาติ’ ที่รักและดูแลด้วยเหตุผลที่คิดว่าดีงามแตกต่างกัน
โลกของคนเชียร์ลุงจึงเป็นโลกที่ปฏิเสธคนชังชาติ ธนาธร อนาคตใหม่ ทักษิณ และวิธีคิดแบบตะวันตกที่ลุงป้าคิดว่าสุดโต่ง แต่เลือกที่จะรักษาลุง กลุ่มทหาร อำนาจเก่าเอาไว้ เพราะคนเหล่านี้ล้วนทำภารกิจเพื่อชาติมากกว่านักการเมืองโกงกินที่เห็นมา
 
ส่วนโลกของคนไล่ลุงคือ โลกที่ปฏิเสธลุง บริวาร สมุน ความไม่เท่าเทียม คนไม่เท่ากัน อำนาจเก่าที่แทรกแซงหลายกลไก ความผุพังของรัฐธรรมนูญจากรัฐประหาร แต่เลือกที่จะรักษาประชาธิปไตย คนที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญจากประชาชน ยกเลิกเกณฑ์ทหารไปรับใช้นายพล ฯลฯ
นักการเมืองในกลุ่มวิ่งไล่ลุงมามากกว่าเดินเชียร์ลุง แต่นัยนี้สะท้อนเสมอว่า นักการเมืองได้เบนเข้าหากิจกรรมมวลชนมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อไทย อนาคตใหม่ เซเลบทางการเมือง นักวิชาการ ฯลฯ สวมเสื้อวิ่งไล่ลุง ขณะที่หมอเหรียญทอง, ผู้กองปูเค็ม, อุ๊ หฤทัย, จุฑาฑัตต จาก รปช. มาเดินเชียร์ลุง
ความไม่ถอยไม่ทนผ่านกิจกรรมไล่ลุง ถูกสร้างสรรค์ผ่านเวที ศิลปะ และ กระบวนการจัดการ ตั้งแต่เสื้อ มาสคอต ท่าวอร์มอัพในเชิงสัญญะ รูปแบบกิจกรรม เป็นระบบ เป็นขั้น
 
ส่วนความไม่ถอยแต่ทนผ่านกิจกรรมเชียร์ลุง ก็ถูกสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมร้องเพลงปลุกใจ ใช้ธงชาติเป็นสัญญะ การทุบทำลายแตงโม ส้ม สตรอว์เบอร์รีเทียม
โลก 2 ใบที่มี ‘ลุง’ เป็นจุดร่วม ดูเหมือนจะเลือกเดินกันคนละทาง และไม่ทนกันคนละแบบ โดยหาทางประสานไม่ได้เลย เพราะ ‘ลุง’ คือสิ่งที่ฝ่ายหนึ่งเก็บ อีกฝ่ายเลือกทิ้ง
การแสดงออกทางการเมืองเหล่านี้ได้เริ่มต้นแบ่งทางแยกของผู้คนในสังคมใหม่อีกหน ระหว่าง ‘อนุรักษ์นิยม’ และ ‘เสรีนิยมสมัยใหม่’ ที่ไม่ใช่เรื่องสีเสื้อ แต่ร้าวลึกลงไปถึงรากอย่างแท้จริง
เรื่อง: ธนกร วงษ์ปัญญา
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
โฆษณา