15 ม.ค. 2020 เวลา 01:07 • บันเทิง
เรียนรู้วิกฤตซับไพรม์แบบเข้าใจง่าย ไปกับหนังเรื่อง The Big Short(2015) : เกมฉวยโอกาสรวย
เรื่องของ ไมเคิล เบอร์รี่ : ชายผู้ทำกำไรจากการมองเห็นอนาคต (ตอนที่ 1)
ไทม์แมชชีน...น่าจะเป็นอุปกรณ์ไฮเทคที่หลายๆคนใฝ่ฝัน เพราะทุกคนล้วนมีอดีตที่อยากเปลี่ยน มีอนาคตที่อยากเห็น
.
.
จะเป็นอย่างไร...หากเราสามารถรู้อนาคตได้
รู้ราคาทอง รู้อัตราดอกเบี้ย รู้ว่าตลาดหุ้นขึ้นหรือลง ?
เราคงทำเงินได้มหาศาล
.
.
น่าเสียดายที่ตอนนี้ยังไม่มีใครประดิษฐ์ไทม์แมชชีนได้
เราจึงทำได้เพียงแค่ฝัน...
1
The Big Short(2016):เกมฉวยโอกาสรวย เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริงของไมเคิล เบอร์รี่ (Michael Burry)ชายผู้มองเห็นอนาคต
เขาคือคนที่ทำนายหายนะทางเศรษฐกิจของอเมริกาล่วงหน้าก่อนที่มันจะเกิดขึ้นจริงถึง 2 ปี
1
หนังเรื่องนี้มีศัพท์ทางการเงินเยอะมาก การดำเนินเรื่องก็ฉับไว ซึ่งหากคุณไม่มีความรู้เรื่องศัพท์เทคนิคต่างๆเหล่านี้ ก็อาจจะ งง กับเนื้อเรื่องได้ เพราะไม่รู้ว่าเขาซื้อขายอะไรกันยังไง ?
แต่ถึงแม้คุณจะไม่รู้ศัพท์อะไรเลย คุณก็ยังดูหนังเรื่องนี้ได้สนุก
2
ต้องยกความดีตรงนี้ให้กับอดัม แม็คเคย์ ที่สามารถกำกับหนังที่มีรายละเอียดและความซับซ้อนทางการเงินให้ออกมาในรูปแบบที่เข้าใจง่าย
วิธีการที่ผู้กำกับใช้ คือ ให้ตัวละครคุยกับคนดูเลย คือขณะทำการแสดง จะมีศัพท์เทคนิคอะไรต่างๆโผล่มามากมาย ก่อนที่ตัวละครจะหันมาที่กล้องแล้วพูดกับคนดูว่า "ไม่เข้าใจใช่ไหมล่ะ ? เดี๋ยวคุณ...(ชื่อคน).....จะอธิบายให้ฟัง "
แล้วภาพก็ตัดไปที่ผู้อธิบายที่มีทั้งดารา เชฟทำอาหาร รวมไปถึงนักพนัน
ทุกคนจะอธิบายเปรียบเทียบคำศัพท์โดยยกตัวอย่างจากสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน ทำให้เราเห็นภาพว่าศัพท์เทคนิคคำนี้มีความหมายว่าอะไร ?
(เราอาจจะพอจะเข้าใจบ้าง...แม้จะไม่ทั้งหมด)
โดยรวมแล้วถือเป็นภาพยนตร์ที่ดูสนุกเรื่องหนึ่ง...
เราจะลุ้นไปกับตัวละครว่าตกลงพวกเขาคาดการณ์ถูกไหม?
แม้จะรู้แล้วว่ามีวิกฤตเกิดขึ้นจริง...แต่ด้วยชั้นเชิงการนำเสนอของหนัง ทำให้เราได้เห็นการชิงไหวชิงพริบของตัวละคร และการสืบหาต้นตอว่า สมมติฐานที่ตั้งไว้มีเบาะแสน่าเชื่อถือหรือไม่ผ่านตัวละครสามกลุ่มคือ
1
กลุ่มแรก ไมเคิล เบอร์รี่ (Michael Burry)กับลูกน้อง
กลุ่มที่สอง จาเร็ด เวนเน็ตต์ (Jared Vennett)และมาร์ค บาม (Mark Baum)
กลุ่มที่สาม คือ คู่หู ชาร์ลี เกลเลอร์ (Charlie Geller),เจมี่ ชิปลีย์ (Jamie Shipley)และเบน ริกเคิร์ต (Ben Rickert)
1
ยังไม่ต้องรู้ว่าพวกเขาเป็นใคร มีบทบาทอะไร เดี๋ยวจะ งง ...
ผมขออธิบายไปตามลำดับก่อน
หมายเหตุ : บทความต่อจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ แต่สามารถอ่านได้อย่างสบายใจครับ เพราะสิ่งที่อธิบายไม่มีผลกับความสนุก ถึงรู้ก็ยังดูสนุก บางทีอาจจะสนุกมากขึ้นด้วย เพราะได้เข้าใจความเป็นมาของเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดโดยเฉพาะส่วนที่หนังไม่ได้กล่าวไว้
ก่อนจะเข้าใจเนื้อหาของภาพยนตร์ขอกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนช่วงเวลาในภาพยนตร์ เป็นจุดเริ่มต้นของ“วิกฤตซับไพร์ม”
1
ช่วงเริ่มต้นของหนังจะอยู่ราว ๆ ปี 2005
แต่จุดเริ่มต้นของวิกฤตซับไพร์มเกิดขึ้นในปี 2002 เมื่อธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED)ต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ จึงทำการลดอัตราดอกเบี้ย
ถึงตรงนี้ท่านที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการเงินก็อาจจะไม่เข้าใจว่า ลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ? (ขออภัยกูรูทางการเงินทุกท่านด้วยครับ บทความนี้ต้องการอธิบายให้คนที่ไม่มีความรู้เรื่องตลาดเงินอ่านเข้าใจด้วย จึงขออธิบายอย่างละเอียด)
1
มาต่อกันที่เรื่องของการลดดอกเบี้ยว่ากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ?
ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว คนจะไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ภาคเอกชนก็ไม่กล้าลงทุน (คุ้นๆนะครับ)
2
การชะลอตัวในที่นี้ แม้ GDPเติบโตแต่โตในอัตราที่ลดลงก็ถือว่าเศรษฐกิจชะลอตัว การจะกระตุ้นให้คนออกมาใช้จ่าย และ ภาคเอกชนลงทุน ก็คือ การลดลดอกเบี้ย : หากได้ยินคำว่า " ลดดอกเบี้ย " เมื่อไหร่ ให้ทราบว่าเป็นการลดทั้งดอกเบี้ย " เงินฝาก " และ ดอกเบี้ย " เงินกู้ "
7
เมื่อลดดอกเบี้ยเงินฝาก ประชาชนจะรู้สึกว่าการฝากเงินไว้ที่ธนาคารนั้นไม่คุ้ม ก็จะนำเงินนั้นมาบริโภค หรือ นำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า
.
ส่วนภาคเอกชน เมื่อสถาบันการเงินลดดอกเบี้ยเงินกู้ ก็เป็นโอกาสที่จะกู้เงินมาลงทุน ( เพราะจ่ายดอกเบี้ยน้อยลงเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่จะได้รับ)
1
ธนาคารกลางสหรัฐฯใช้วิธีนี้กระตุ้นเศรษฐกิจ
ผลที่ตามมาคือ ประชาชนเห็นว่าดอกเบี้ยลด เป็นโอกาสดีที่จะซื้อบ้าน จึงพากันกู้เงินมาซื้อบ้าน ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์คึกคักเป็นอย่างมาก พอตลาดอสังหาฯคึกคัก ธนาคารต่างๆก็ปล่อยสินเชื่อบ้านมากขึ้น
ในมุมของธนาคารเองก็มองว่าเป็นช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น
การปล่อยสินเชื่อบ้านเพื่อดอกเบี้ยระยะยาว มีความมั่นคงพอสมควร คงไม่มีใครกู้ซื้อบ้านแล้วอยากให้บ้านถูกยึด
1
การปล่อยสินเชื่อบ้านไม่ใช่เรื่องผิด...แต่ที่ผิดคือ สถาบันการเงินเหล่านี้ปล่อยสินเชื่อบ้านโดยขาดการเข้มงวดเรื่องเครดิตของลูกหนี้
1
ลูกหนี้ที่มาขอกู้ บางคนไม่มีรายได้ประจำ เป็นฟรีแลนซ์ก็กู้ผ่าน , บางคนรายได้ไม่มากพอจะผ่อนบ้านได้ก็ให้ผ่าน
เมื่อนายหน้าที่อยากขายบ้านมาเจอกับนายธนาคารที่อยากปล่อยสินเชื่อ กระบวนการช่วยเหลือผู้กู้แม้มีเครดิตต่ำก็เกิดขึ้น เรื่องนี้คล้ายกับยุคฟองสบู่ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย
เมื่อความต้องการซื้อบ้านสูงขึ้น (Demand)ราคาอสังหาฯก็พุ่งสูงขึ้น
มีคนมองเห็นโอกาสตรงนี้ จึงทำการกู้ซื้อบ้าน ซื้อคอนโดทีละหลายหลังเพื่อเก็งกำไร
ทำแบบนี้แล้วสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ไม่มีความเสี่ยงหรือ ?
จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมด สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับผู้มีเครดิตต่ำมีความเสี่ยงครับ แต่สถาบันการเงินแก้ปัญหานี้ด้วยการ " รวมสัญญาเงินกู้จากลูกหนี้หลายฉบับเข้าไว้ด้วยกัน "แล้วนำมาเสนอขายเป็นสินทรัพย์ให้กับบริษัทวานิชธนกิจ
1
บริษัทวานิชธนกิจ ก็คือสถาบันการเงินที่คอยระดมทุน , ซื้อขายหลักทรัพย์ หรือมีบริการทางการเงินแบบต่างๆ ซึ่งในสหรัฐสถาบันเหล่านี้ ครอบคลุมกว้างขวางกว่าสถาบันปล่อยสินเชื่อบ้าน เพราะในอเมริกาสินเชื่อบ้านจะถูกปล่อยโดยสถาบันการเงินในท้องถิ่นเป็นหลัก
1
พูดง่ายๆคือสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อบ้านนำสัญญาเงินกู้มาขอกู้ต่อที่บริษัทวานิชธนกิจอีกที โดยจ่ายดอกเบี้ยให้วานิชธนกิจเหล่านี้แล้วตนเองก็กินส่วนต่างดอกเบี้ยเป็นกำไร
จากนั้นก็นำเงินที่ได้นี้วนกลับไปปล่อยกู้เป็นสินเชื่อบ้านอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งตรงนี้ สถาบันการเงินท้องถิ่นก็ลดความเสี่ยงของตนเองไปได้ระดับหนึ่งด้วยการผลักความเสี่ยงบางส่วนไปให้วานิชธนกิจ
1
การที่สถาบันการเงินท้องถิ่น ที่ปล่อยสินเชื่อบ้านให้กับลูกหนี้โดยนำสัญญาเงินกู้หลายฉบับมารวมกันขายให้กับบริษัทวานิชธนกิจเหล่านี้
เราเรียกว่า "CDO"(Collateralized Debt Obligations) : คุณจะได้ยินศัพท์คำนี้ในหนังบ่อยมาก
ทรัพย์สินที่ขายให้กับวานิชธนกิจนี้ คือ การรวมสัญญาเงินกู้หลายฉบับเข้าไว้ด้วยกัน แล้วแปลงเป็นสินทรัพย์เพื่อออกขายในรูปแบบของตราสารหนี้
แล้ว....ตราสารหนี้คือ อะไร ?
1
อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ตราสารหนี้ คือ การขอกู้ยืมเงินของภาคธุรกิจนั่นเอง เป็นการออกเอกสารทางการเงินที่เรียกว่าตราสารเพื่อขอกู้
โดยผู้กู้ตกลงที่จะจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวดๆ โดยชำระดอกเบี้ยตามรอบเวลาที่กำหนด และเมื่อครบระยะเวลาตามที่ระบุบนตราสารแล้วผู้ให้กู้(ผู้ซื้อตราสาร)
จะได้รับเงินต้นคืนเต็มจำนวนจากผู้กู้
1
ตัวอย่างเช่น บริษัท A ออกตราสารหนี้ขอกู้กับบริษัท B เป็นจำนวน 1,000 บาท มีระยะเวลาการกู้ 5 ปี โดยผลตอบแทนของตราสารหนี้นี้ ตกลงดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 10 ต่อปี
หมายความว่าบริษัท A ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้บริษัท B ทุกปี ปีละ 100 บาท และเมื่อครบ 5 ปี บริษัท A จะต้องคืนเงินต้นเต็มจำนวนให้กับบริษัท B
1
มันซับซ้อนไปกว่านั้นอีกนิดนึงตรงที่ CDO ที่สถาบันการเงินท้องถิ่นออกไว้กับวานิชธนกิจเหล่านี้ มีการจัดอันดับสินทรัพย์เป็นกลุ่มเพื่อขายตามระดับเครดิตของลูกหนี้ด้วย มีระดับเครดิตตั้งแต่ B,BB,BBB ไปจนถึงระดับ AAA
ระดับ B คือ ลูกหนี้เครดิตต่ำ มีโอกาสเบี้ยวหนี้สูง ผลตอบแทนก็สูง ( เสี่ยงสูง ตอบแทนสูง)
ระดับ AAA คือ ลูกหนี้เครดิตดีมาก มีโอกาสเบี้ยวหนี้น้อย ผลตอบแทนก็น้อย ( เสี่ยงต่ำ ตอบแทนต่ำ)
ซึ่งจะมีบริษัทจัดอันดับเรตติ้งคอยทำหน้าที่ประเมินเครดิตเพื่อจัดลำดับระดับความเสี่ยงของทรัพย์สินที่แปลงเป็นตราสารหนี้เหล่านี้อีกทีหนึ่ง
ในทางทฤษฎี มันก็สวยหรูดีครับ...แต่ในทางปฏิบัติสินเชื่อที่ได้มานั้นถูกจับรวมเปลี่ยนแปลงเอาสินเชื่อเครดิตต่ำมาปะปนกับสินเชื่อเครดิตสูง ซี่งการจับรวมอาจมีกลุ่ม BB ปนมาอยู่ในระดับ AAA ซึ่งมีอยู่ไม่ใช่น้อยๆเลยด้วย
สถาบันการเงินก็นำสินเชื่อเหล่านี้มามัดรวมกันแล้วจ่ายเงินให้กับบริษัทจัดเรตติ้งเพื่อปั่นระดับให้สูงกว่าความเป็นจริง
เราอาจคิดว่า...แบบนี้ก็ทำนายได้เลยว่าหนี้บ้านส่วนใหญ่ มีแนวโน้มที่จะเป็นหนี้เสีย
1
ใช่ครับมีการคาดการณ์ไว้ ถ้าหนี้เสียไม่เกิน 5 เปอร์เซนต์ ก็ไม่เลวร้ายอะไร ?
เป็นความเสี่ยงที่ยังรับได้...
ด้วยความที่ตลาดอสังหาฯกำลังเฟื่องฟูมาก...
ทุกคนจึงมั่นใจว่าตนเองเป็นเสือนอนกิน
ไม่มีลูกหนี้คนไหนอยากจะโดนยึดบ้าน ดังนั้นทุกคนจึงพยายามหาเงินมาจ่ายค่าบ้าน ช่วงนั้นเศรษฐกิจก็ดีมากด้วย ทุกคนจึงมีเงิน
อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น
ถ้ามีไทม์แมชชีนคงจะดี...
ทุกคนจะได้ข้ามมาดูหายนะที่เกิดขึ้นในปี 2007 ได้
แต่...เมื่อไม่มี เรื่องนี้จึงเกิดขึ้นโดยไม่มีใครระแคะระคายสงสัย
นอกจากผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ คนหนึ่งที่ชื่อว่า " ไมเคิล เบอร์รี่ "
เขารู้ได้อย่างไร ? และทำไมถึงคาดการณ์ล่วงหน้าได้ถึง 2 ปี
ติดตามต่อตอนที่ 2 ครับ
โฆษณา