15 ม.ค. 2020 เวลา 02:29 • ปรัชญา
การควบคุมความคิด!!!
คัดลอกจากบางส่วนของบทสนทนา
ระหว่างพศิน อินทรวงค์
และคอลัมนิสต์คนหนึ่งของนิตยสารซีเคร็ต
ว่า ด้วยการพัฒนาจิต และการควบคุมความคิด
****คุณพศินค่ะ คนทั่วไปควรได้เรียนรู้อะไรจากการพัฒนาจิตคะ****
มีคำกล่าวว่า “เพราะมีความคิด จึงมีฉัน” รากเหง้าของปัญหาทั้งหมดในชีวิตคนเราล้วนเกิดจากความคิด ดังนั้น ถ้าเราเท่าทันความคิดของตนเอง ชีวิตของเราก็จะพบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ฟังให้ดีนะครับ “เท่าทัน” ไม่ใช่ “ควบคุม” สองสิ่งนี้ต่างกัน ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการควบคุมความคิด ให้ความสำคัญกับการเลิกคิดลบ แล้วแทนที่ด้วยการคิดบวก ซึ่งนั่นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะความคิดเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ยิ่งถ้าเราผลักไสความคิดลบออกไปเท่าไหร่ ความคิดลบเหล่านั้นก็จะยิ่งถูกดึงดูดเข้ามามากขึ้นๆ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมพูดว่า “จงอย่าคิดถึงผลมะม่วง” แรกๆ คุณก็ไม่ได้คิดถึงมะม่วง แต่เมื่อคุณพยายามไม่คิดถึงมัน ภาพของผลมะม่วงก็จะพุ่งเข้ามาในหัวของคุณทันที ความคิดก็มีกระบวนการทำงานเช่นเดียวกัน สิ่งใดที่คุณผลักไส สิ่งนั้นจะยิ่งเข้ามาหาตัวคุณมากขึ้น และเร็วขึ้น นี่คือธรรมชาติของจิตที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ เป็นสิ่งที่คนทั้งโลกเป็นเหมือนกันไม่ว่าชาติใด ภาษาใด นั่นเป็นเพราะสัญญาหมายจำของเราล้วนเป็นความทรงจำครั้งเก่าที่ถูกสร้างด้วยกิเลส คิดลบคือจิตใต้สำนึก ส่วนคิดบวกเป็นแค่จิตสำนึก เป็นแค่สิ่งที่เราพยายามกำหนดมันขึ้นมาด้วยสมอง อันที่จริงการพยายามควบคุมความคิดนั้นมีมานานแล้ว สมาธิคือหนึ่งในกรรมวิธีที่มนุษยชาติใช้เพื่อกดข่มความคิด แต่เมื่ออกจากสมาธิ ความคิดก็เข้ามาทำร้ายเราได้อีกครั้ง เพราะแท้จริงแล้ว ความคิดไม่ใช่สิ่งที่เราควบคุมได้ ความคิดคือกระบวนการทำงานของจิต มนุษย์ทั่วไปนั้นขับเคลื่อนชีวิตด้วยตัณหา จึงไม่แปลกอะไรที่จะคิดลบ เพราะคิดลบกับตัณหาเป็นสิ่งที่มาคู่กันอยู่แล้ว อยากสำเร็จก็คือตัณหา อยากได้ความรักก็คือตัณหา ไม่ชอบความทุกข์ก็คือตัณหา อยากได้ความสุขก็คือตัณหา สิ่งเหล่านี้คือธรรมชาติของปุถุชน หากต้องการให้จิตของเราขับเคลื่อนด้วยธรรมะไม่ใช่ตัณหา ก็จำเป็นต้องมีกระบวนการฝึกฝนทางจิตด้วยวิธีที่ถูกต้อง วันไหนที่คุณสามารถยกระดับจิตของคุณจากปุถุชนไปสู่อริยะชนได้เมื่อไหร่ วันนั้นแหละจะเป็นวันที่คุณสามารถเอาชนะการคิดลบได้อย่างแท้จริง
****แล้ววิธีแก้ความคิดลบที่ดีที่สุด เบื้องต้นควรทำอย่างไรคะ****
วิธีที่เราจะจัดการกับความคิดลบได้มีอยู่เพียงวิธีเดียว นั่นคือการเห็นความคิด เช่น เวลาที่เราโกรธ ขณะที่ความโกรธกำลังพลุ่งพล่านอยู่ ทันทีที่เรารู้สึกตัวว่ากำลังโกรธ ความโกรธก็จะลดระดับลงทันที นั่นแหละคือการเห็นความคิด เป็นกระบวนการที่นำไปสู่การทำลายกระบวนการสร้างก้อนอารมณ์ในรูปแบบต่างๆ ขึ้นมา มีคำกล่าวว่า “อย่ามัวแต่ไล่จับหนู แต่จงให้ความสำคัญกับการเลี้ยงแมว” นี่คือความต่างระหว่าง “การควบคุมความคิด” กับ “การมองเห็นความคิด”
****มีคำแนะนำสำหรับคนที่อยู่ในสังคมวัตถุนิยมให้ละกิเลสบ้างไหม เพราะคงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายสักเท่าไหร่นัก****
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า ธรรมชาติของจิตนั้นต้องการความสุข จิตอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีความสุข ความสุขมีด้วยกันห้าระดับได้แก่ ความสุขทางกาย ความสุขทางใจ ความสุขจากสมาธิ ความสุขจากการกำหนดรู้ตามจริง และความสุขจากวิมุติหรือการหลุดพ้น สองระดับแรกเป็นความสุขในขั้นหยาบ เป็นความสุขที่ยังต้องอาศัยปัจจัยภายนอก ซึ่งอำนาจของวัตตุนั้นมีผลกับความสุขในสองระดับนี้แน่นอนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ส่วนความสุขในสามระดับหลัง เป็นความสุขในขั้นละเอียดที่อำนาจวัตถุเข้าไปไม่ถึง เพราะเป็นความสุขที่ปะทุจากภายใน เป็นความสุขที่ไม่ยึดโยงอยู่กับสิ่งภายนอกทั้งรูปและนาม เมื่อจิตไม่มีศักยภาพพอที่จะหาความสุขในชั้นละเอียด มันก็จำเป็นต้องมีความสุขในชั้นหยาบไปก่อน เหมือนคนที่ไม่มีเงินกินของแพง เขาก็ต้องกินของถูกไปก่อน ไม่อย่างนั้นเขาก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นวิธีที่เราจะทำให้คนในสังคมลดค่านิยมทางวัตถุลงไป จึงไม่ใช่การพยายามไปบอกว่า วัตถุเป็นสิ่งไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราต้องแทนที่ความสุขของเขาด้วยความสุขที่ละเอียดกว่านั้น เราต้องเปิดโอกาสให้เขาเข้ามาศึกษาความรู้ที่จะเพิ่มทักษะในการเสพรับความสุขของตนให้ละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไป ในส่วนนี้จึงต้องมีการพัฒนาจิตตามแบบฉบับของพระพุทธเจ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็คือหลักธรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือวิปัสสนา เป็นกรรมวิธีที่จะเข้าไปช่วยเปลี่ยนสภาพจิตใจอย่างตรงไปตรงมาที่สุด ถึงตอนนั้น จิตที่มีสติปัญญาก็จะสำรอกความสุขในชั้นหยาบออกมาเอง กิเลสในใจคนก็เหมือนสิงโต แต่เมื่อใดที่สิงโตถูกขังและไม่ให้อาหารมันเพิ่ม พลังของมันก็จะร่อยหลอลงไป การปฏิบัติเพื่อละกิเลสเบื้องต้นก็คือ การไม่ตามใจตัวเอง พระพุทธเจ้าใช้คำว่า ทวนกระแสกิเลส คือไม่ตามใจความอยากซึ่งรวมถึงอยากดีและไม่ดี เป็นการทรมานกิเลส เช่นอยากได้เสื้อผ้าสวยๆก็ไม่ซื้อ แรกๆอาจจะทรมานใจ แต่นานๆไปเราจะเกิดความสุขใจว่าเราละได้ เราต้องค่อยๆพยายามละจากสิ่งหยาบๆภายนอกก่อน หลวงปู่มั่นท่านเคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าเราต้องการความสุขในชั้นละเอียดกว่า เราต้องละชั้นหยาบให้ได้ก่อน” นั่นหมายความว่า เมื่อคุณเดินห่างออกจากฝั่งโลกียะมากเท่าไหร่ ก็เท่ากับคุณเข้าใกล้ฝั่งโลกุตระมากขึ้นเท่านั้น
***ถ้าจะให้สรุปเป็นความคิดรวบยอด ธรรมะสามารถเปลี่ยนชีวิตคนเราได้อย่างไรคะ***
เราต้องมีความเข้าใจว่า ธรรมะนั้นมีความยิ่งใหญ่มาก เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถไปคัดง้างได้ เพราะธรรมะนั้นเป็นสัจจะบัญญัติ สิ่งใดที่ความจริงบัญญัติขึ้น สิ่งนั้นต้องยิ่งใหญ่กว่าสังคมบัญญัติ หรืออัตตาบัญญัติ ดังนั้นเราจะคิดว่า ธรรมะสำคัญหรือไม่ ธรรมะก็สำคัญอยู่วันยังค่ำ เพียงแต่สติปัญญาของเราจะตระหนักเห็นคุณค่าธรรมะแค่ไหนเท่านั้น เหมือนท้องฟ้าโปรยปรายสายฝนมาให้ แต่เรารองรับน้ำได้นิดเดียว จะไปโทษว่า ฟ้าให้น้ำฝนมาน้อยย่อมไม่ได้ มันต้องโทษตนเองที่มีแก้วใบเล็กเกินไปจึงจะถูก ทุกวันนี้สังคมของเรามีความเชื่อที่สวนทางกับธรรมะและความจริงไปมาก ความจริงบอกให้เราปล่อย แต่เรากลับไขว่คว้า ความจริงบอกให้เราสำรวจตนเอง แต่เรากลับชอบสำรวจผู้อื่น ความจริงบอกให้เราอยู่กับปัจจุบันขณะ เราก็ชอบคิดถึงอดีต อนาคต ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกอะไรที่มนุษย์ส่วนใหญ่จะมีความทุกข์ พระพุทธเจ้าเองท่านก็ไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ ท่านเองก็อยู่ใต้กฎของธรรมชาติ วิธีที่ท่านทำ คือการกลับไปสู่ธรรมชาติ ไม่แบ่งแยกตนเองกับธรรมชาติ ท่านจึงมีความสุข ถ้าเราอยากมีความสุขเหมือนท่าน เราก็ต้องทำแบบท่าน นั่นคือการเรียนรู้ว่า ธรรมชาตินั้นเป็นอย่างไร แล้วเราก็ใช้ชีวิตของเราให้สอดคล้องกับหลักความจริงของธรรมชาติ ถ้าเราเริ่มต้นความคิดแบบนั้น ธรรมะก็จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราได้แน่นอน
****ข้อคิดหรือบทเรียนที่คุณพศินได้จากการปฏิบัติธรรมคืออะไรคะ****
ได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคนเราคือการสำรวจตนเอง ไม่มีอะไรมีค่าและสำคัญไปกว่านั้น การสำรวจตนเองนี้จะทำให้เราได้พบความจริงอันยิ่งใหญ่ นั่นคือความจริงที่ว่า เราคือบุคคลที่ชั่วร้ายที่สุดในโลกคนหนึ่ง ไม่มีใครอีกแล้วที่เห็นแก่ตัวไปกว่าเรา ขี้เกียจไปกว่าเรา ดื้อด้าน และงี่เง่าไปกว่าเรา อะไรที่เราคิดว่าไม่ดีไม่งามในคนอื่น ที่จริงมันก็มีอยู่ในตัวเราทั้งหมด ธรรมะที่แท้จริงนั้นไม่ใช่การถือศีล ทำสมาธิ ไม่ใช่การทำวิปัสสนา สิ่งเหล่านี้คือเหตุที่จะนำเราไปสู่ผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ นั่นคือการดัดสันดานตนเอง เป็นการขูดเกลาความชั่วร้ายภายในให้หมดสิ้น ผมเคยเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง มีชื่อว่า “ใจคือศิลปะ เราคือศิลปิน” แปลว่า มนุษย์ทุกคนมีใจเป็นศิลปะล้ำค่า และมนุษย์เราก็มีหน้าที่สร้างงานศิลปะชิ้นนี้ให้มีความสวยงามที่สุด ด้วยเวลาทั้งชีวิตที่มีอยู่
***แล้วเป้าหมายชีวิตของคุณพศินคืออะไรคะ***
ผมไม่ได้มีเป้าหมายอะไรที่ยิ่งใหญ่ ผมแค่ต้องการมีชีวิตที่เรียบง่าย เพื่อจะมีพลังในการเขียนหนังสือ ผมอาจจะเขียนธรรมะในรูปแบบนวนิยาย วรรณกรรม บทกวี หรือบทความ นอกจากสื่อสารความเข้าใจที่เกี่ยวกับธรรมะแล้ว ผมยังต้องการใส่ศิลปะทางภาษาเข้าไปในงานของผมด้วย แม้จะเป็นงานธรรมะ แต่ผมก็ให้ความสำคัญกับเรื่องวรรณศิลป์ด้วยเหมือนกัน ผมต้องการเขียนหนังสือธรรมะโดยตัดคำว่าศาสนาออกไป เคยมีผู้อ่านท่านหนึ่งนับถือศาสนาอิสลาม หยิบหนังสือ “ตีตั๋วดูตัวตน” ขึ้นมาแล้วถามว่า “นี่คือหนังสือที่เกี่ยวกับศาสนารึเปล่า” ผมตอบว่า “ไม่ใช่ มันคือหนังสือเกี่ยวกับพัฒนาตนเอง” ผู้อ่านท่านนั้นยิ้ม ไม่กี่วันต่อมา เธอส่งข้อความเข้ามาขอบคุณและบอกว่า เธอชอบหนังสือเล่มนี้มาก และยังซื้อเพิ่มอีกหลายเล่มเพื่อนำไปแจกเพื่อน
สำหรับผมแล้ว งานเขียนนั้นเป็นสิ่งที่ผมทำด้วยความรัก เพราะถึงไม่มีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยว ผมก็ยังเลือกที่จะทำมันอยู่ โลกนี้กว้างใหญ่ และมีคนมากมาย แต่จะมีกี่คนกันที่ได้ทำในสิ่งที่รัก และเลือกชีวิตของตนเองได้ ผมถือว่าผมเป็นหนึ่งในบุคคลที่โชคดีที่สุดในโลก หนึ่ง ผมได้รู้แล้วว่า ชีวิตคืออะไร และจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร สอง ผมได้ทำในสิ่งที่ตนเองรัก และมีคนเห็นคุณค่าของสิ่งที่ผมทำ สาม ผมมีความเป็นอยู่ที่สุขสบายตามสมควรแก่ฐานะ สี่ คนในครอบครัวทุกคนรักผม เป็นห่วงและดูแลผมเป็นอย่างดี ห้า ผมคบความเปลี่ยนแปลงเป็นเพื่อน เราสนิทกันมาก และเพื่อนคนนี้ก็ไม่มีวันทิ้งผมไปไหน นับข้อดีของชีวิตได้ตั้งห้าข้อ ถ้ายังไม่พอใจกับชีวิตอีก บางทีผมอาจเป็นคนที่โลภมากเกินไปก็ได้…
***ติดต่อ พศิน อินทรวงค์***
ตารางบรรยาย/วิทยากร
ผลงานหนังสือ/บทความ
โฆษณา