7 ก.พ. 2020 เวลา 04:01 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผล กระทบอย่างไร?
ผมเชื่อว่าสำหรับทุกคนที่ติดตามการลงทุนมาซักพักจะเริ่มได้ยินเกี่ยวกับการปรับเพิ่ม/ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่บ่อยครั้ง
โดยการเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อธันวาคมปี พ.ศ.2561 จาก 1.50% เป็น 1.75% และการลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ 2 วันก่อน(5 ก.พ. 2563) จาก 1.25% เหลือ 1.00%
ก่อนอื่นผมขออธิบายเกี่ยวกับดอกเบี้ยนโยบายก่อนว่าคืออะไร และจากนั้นจะเป็นผลกระทบของการลดดอกเบี้ย
ดอกเบี้ยนโยบาย คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศกำหนดขึ้นมาเพื่อใช้เป็นมาตรการหรือเครื่องมือในการควบคุมเสถียรภาพของเศรษฐกิจเพื่อให้สมดุลกับอัตราการเจริญเติบโตที่แท้จริงของเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ
ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์นั้น ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้าน รถ หรือ บัตรเครดิต จะสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายเพราะธนาคารพาณิชย์เองมีค่าใช้จ่ายอื่นๆมากมายทั้งค่าพนักงาน ค่าวางระบบ ค่าเช่าที่ ค่าติดตั้งตู้ ATM ค่าพัฒนาซอฟแวร์ ฯลฯ
การลดดอกเบี้ยนโยบายจะถูกนำมาใช้เมื่อเศรษฐกิจซบเซา แบงก์ชาติจะต้องลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นกลับมาอีกครั้ง
และเมื่อลดดอกเบี้ยนโยบายแล้วจะส่งผลดังต่อไปนี้
1.สินเชื่อต่างๆมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง
เมื่อดอกเบี้ยของเงินกู้ต่ำลง ก็มีแนวโน้มที่ผู้คนจะหันมาใช้เครดิตในการซื้อทรัพย์ชิ้นใหญ่ๆที่ปกติซื้อไม่ได้มากขึ้น เช่น บ้าน รถ โทรศัพท์ เฟอร์นิเจอร์ พอผู้คนเริ่มจับจ่ายใช้สอยด้วยเครดิตจะทำให้เกิดสภาพคล่องในเศรษฐกิจที่มากขึ้นตาม แต่สิ่งนี้เป็นดาบ 2 คมเช่นกัน เนื่องจากอีกชื่อหนึ่งของเครดิตคือ "หนี้" และหนี้ที่เกิดขึ้นจะไปฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวเพราะในอนาคตผู้คนจะต้องเริ่มนำเงินมาใช้หนี้แทนการจับจ่ายใช้สอย แต่ถ้าเกิดหนี้บวมจนไม่สามารถที่จะชำระคืนได้แล้วจะทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า ฟองสบู่แตกนั่นเอง
2.สินทรัพย์ต่างๆราคาสูงขึ้น
เนื่องจากดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารลดลงจะทำให้ทิศทางการไหลของเงินเริ่มเข้าสู่สินทรัพย์การลงทุนต่างๆที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ กองทุน อสังหาริมทรัพย์ และ หุ้น
3.เงินเฟ้อต่ำหรือถึงขั้นเงินฝืด
การที่ช่วงหลังมานี้มีการลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องแต่เศรษฐกิจไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตามทำให้เงินเฟ้อของประเทศไทยไปไม่ถึงระดับ 3% เสียที การที่เงินเฟ้อต่ำลงยังบอกเป็นนัยอีกว่าข้าวของต่างๆมีแนวโน้มที่จะไม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก(เงินเดือนก็เช่นกัน)
4.ผู้ประกอบการมีแนวโน้มลงทุนมากขึ้น
เนื่องจากแหล่งเงินทุนสำคัญที่ผู้ประกอบการจะมองหาเป็นที่แรกคงหนีไม่พ้นธนาคาร และเมื่อดอกเบี้ยถูกปรับลดลงแปลว่าต้นทุนในกิจการนั้นๆลดลง ผู้ประกอบการที่สามารถเจรจาอัตราดอกเบี้ย Fixed Rate ในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำได้จะสร้างความได้เปรียบอย่างมหาศาลเมื่อดอกเบี้ยกลับไปเป็นขาขึ้นอีกครั้ง
การปรับดอกเบี้ยในครั้งนี้ของแบงก์ชาติถือเป็นการชิงปรับก่อนที่เศรษฐกิจจะซบเซาเนื่องจากนักท่องเที่ยวหลักอย่างจีนจะลดลงเป็นจำนวนมากจากไวรัสโคโรนาที่มีแนวโน้มจะฉุดการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศไทย
2
สุดท้ายผมอยากจะฝากไว้ว่าการเลือกลงทุนเพราะคิดว่าราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นจากการลดดอกเบี้ยนโยบายถือเป็นการเก็งกำไร ไม่ใช่การลงทุน และถ้าหุ้นนั้นไม่ได้ราคาต่ำกว่ามูลค่าจะถือว่าเป็นการรับความเสี่ยงที่มากเทียบกับผลตอบแทนเพียงเล็กน้อย
The Owner ลงทุนหุ้นอย่างเจ้าของกิจการ
สนับสนุนให้ทุกท่านลงทุนอย่าง รู้จริง ปลอดภัย และ ยั่งยืน
โฆษณา