17 ม.ค. 2020 เวลา 04:47 • ประวัติศาสตร์
เมื่อโซเวียต เคยยิงเครื่องบินโดยสาร
KAL 902 เมื่อโซเวียตเคยยิงเครื่องบินโดยสาร
วันที่ 20 เมษายน 1978
ช่วงเวลาที่โลกยังปกคลุมไปด้วยความระอุของสงครามเย็น
สายการบิน โคเรียน แอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่ 902(KAL 902) ด้วยเครื่องแบบโบอิ้ง 707
ซึ่งเดินทางจากกรุงปารีส ฝรั่งเศส ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติกิมโป โซล ประเทศเกาหลีใต้
โดยจะแวะเติมน้ำมันที่ท่าอากาศยานนานาชาติเทด สตีเวนส์ เมืองแองคอเรจ รัฐอะแลสกา ประเทศสหรัฐอเมริกา
ผู้โดยสาร 97 คน พร้อมลูกเรืออีก 12 คน
ส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่นและเกาหลี มีชาวยุโรปอยู่ประปราย
กัปตัน คิมชางกิว และนักบินผู้ช่วย เอส.ดี.ชา
ผู้ไม่เคยบินเส้นทางที่ตัดผ่านขั้วโลกแบบนี้มาก่อน
แต่ต้นหนของเที่ยวบินนี้ ลีคุนชิก
ผู้เคยบินเส้นทางนี้มาแล้วกว่า 120 ครั้ง
เหตุผลที่นักบินไม่เคยบินเส้นทางนี้ ก็เพราะปกติแล้วเส้นทางที่ยาวนานกว่า 10 ชั่วโมงแบบนี้ จะใช้เครื่องบินรุ่นใหม่กว่า แบบ McDonnell Doug­las DC-10
แต่ครั้งนี้มีการเปลี่ยนมาใช้ Boeing 707
และเป็นหนึ่งในหลายปัจจัย
ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์อันเลวร้ายต่อมา
โบอิ้ง 707 ของ KAL
หลังจากวิ่งขึ้น ทะยานไปที่ความสูง 35,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล เครื่องบินก็ถูกตั้งเส้นทางไปยังทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านหมู่เกาะแฟรโรว์ ข้ามชายฝั่งประเทศกรีนแลนด์
เมื่อผ่านพ้นประเทศกรีนแลนด์
ไม่มีเรดาร์ใดๆจากพื้นที่จะคอยช่วยเหลือได้อีกแล้ว
นักบินต้องใช้ระบบนำทางแบบ directional gyro guidance system ที่ค่อนข้างล้าสมัยและผิดพลาดได้ง่าย ซึ่งต่างจากระบบนำทางของ DC-10 ที่ใช้ระบบนำทางแบบ INS (Inertial Navigation System)
หลังจากเครื่องบินไปได้ 5 ชั่วโมงเศษ
ต้นหนก็บอกตำแหน่งแก่กัปตัน ว่าอยู่บริเวณด้านเหนือของเกาะ Ellesmere ตอนเหนือของประเทศแคนาดา
หลังจากนั้น กัปตัน คิมชางกิว
ก็ต้องพบเจอปัญหาอันใหญ่หลวง
ระบบนำทางทุกอย่างล้มเหลว!
แม้แต่ระบบสำรอง ก็ใช้งานไม่ได้
เครื่องบินหันไปยังทิศใต้ เหนือทะเล Barents
มุ่งหน้าไปทางเมืองเมอร์มานส์ สหภาพโซเวียต
แทนที่จะเป็นเมืองแองคอเรจ
และกว่ากัปตันจะรู้สึกตัว
เครื่องก็ออกจากทิศที่ควรจะไปได้สักระยะหน่ึงแล้ว
มันเลี้ยวออกนอกทิศทาง
จน ลี รู้สึกได้ว่าเครื่องมันไม่ควรจะบินแบบนี้
ต้นหน ลี พยายามใช้เรดาร์ตรวจจับพื้นดิน
เพื่อที่จะหาว่าตอนนี้เครื่องบินอยู่ส่วนไหนของแผนที่
ท่ามกลางความสับสน ทั้งสามก็เห็นแสงไฟจากพื้นดิน
“มันคือเมืองอะไร” กัปตันสอบถามเผื่อว่าใครจะพอทราบได้บ้างว่าเราอยู่ตรงไหน
สีแดงคือเส้นที่เครื่องบินออกนอกเส้นทาง จะเห็นว่าคนละทิศคนละทางเลยทีเดียว
ไม่มีใครรู้...
นั่นหมายถึงว่าเราได้ออกนอกเส้นทางจนเกินกว่าจะหาทางคลำกลับได้แล้ว
ไม่กี่อึดใจ นักบินผู้ช่วย สังเกตเห็นไฟแดงๆ
พุ่งเข้ามาหาที่ระดับเดียวกัน
“เครื่องบินรบ!”
มันบินประกบใกล้จนสามารถมองเห็นสัญลักษณ์ดาวสีแดงบนหางที่สาดส่องโดยแสงไฟจากเครื่องบิน
มันคือเครื่องบินรบโซเวียต
เครื่องบินสกัดกั้นแบบ ซู-15 ถูกสั่งให้ขึ้นมาสกัดกั้น
ระบบเตือนภัยของโซเวียตเข้าใจว่าเครื่องบินลำนี้เป็นเครื่องบินสอดแนมของสหรัฐอเมริกาแบบ โบอิ้ง RC-135 ซึ่งมีขนาดและรูปร่างใกล้เคียงกับเครื่องบินแบบโบอิ้ง 707
ซู-15 ของโซเวียต
ทางโซเวียตระบุว่าหลังจากนักบินขับไล่ได้แจ้งทางศูนย์ว่าไม่ใช่เครื่องบินสอดแนม แต่เป็นเครื่องบินโดยสาร และได้พยายามติดต่อทั้งทางวิทยุ และสัญญาณมือให้ทำการบินตามมาลงสนามบินในโซเวียตกว่า 20 นาที แต่ไม่มีการตอบสนองของนักบินในโบอิ้ง 707 แม้แต่น้อย
แต่กัปตันคิม ก็กล่าวว่าเขาเองพยายามติดต่อกับเครื่องบินขับไล่นี้ทุกช่องทางการสื่อสาร ทั้งความถี่หลักและความถี่ฉุกเฉินสากล รวมทั้งรอดูว่าเครื่องบินขับไล่จะส่งสัญญาณมือมาเมื่อใด แต่ไม่มีการตอบรับใดๆ
อีกทั้ง ซู-15 บินมาประกบด้านขวาของเครื่องบิน แทนที่จะเป็นด้านซ้ายตามกฏองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
ท่ามกลางความสับสน
กัปตันคิมสังเกตว่าเครื่อง ซู-15 เริ่มบินลดระดับลง
เขาเข้าใจว่า จะต้องพาเขาไปลงที่สนามบินใดซักแห่งแน่นอน
เขาจึงทำการลดระดับตาม
แต่นักบินซู-15 ไม่ได้ตั้งใจคิดแบบนั้น
เขาแค่จะจัดตัวเองให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
นักบินรบผู้นั้นทำให้เข้าใจว่าการบินร่อนลงของโบอิ้ง 707 หมายถึงการต้องการคุกคามดินแดนโซเวียต!
นักบินรบรีบแจ้งไปยังโซเวียต
“ทำการยิงได้” คำสั่งจากภาคพื้นดินถูกส่งออกมา
“แต่นั่นมันเครื่องบินโดยสาร”
นักบินรบ ซู-15 แจ้งแก่ภาคพื้น เพื่อเน้นย้ำว่าต้องการให้เขายิงเครื่องบินโดยสารจริงๆ
“ทำการยิงได้” คำสั่งเด็ดขาดถูกส่งออกมาตามเดิม
หลังจากสิ้นเสียงค่ำสั่ง มิสไซล์ R-60 จำนวน 2 ลูก ก็ถูกยิงออกจากเครื่องบินซู-15
มันพุ่งเข้าไปที่ปีกด้านซ้ายของโบอิ้ง 707 จนเสียหาย
มิหนำซ้ำสะเก็ดยังพุ่งทะลุลำตัวเครื่อง คร่าชีวิตชาวเกาหลี 1 คน เสียชีวิตทันที และ ชาวญี่ปุ่น 1 คน บาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตตามมาจากการเสียเลือดมาก
กัปตันคิมรู้แล้วว่าเครื่องบินถูกโจมตี
เขารีบก้มดูว่ามีระบบอะไรเสียหายบ้าง
ความดันภายในเครื่องลดลงอย่างรวดเร็ว!
ต้องรีบนำเครื่องลดระดับ มิฉะนั้นทุกคนจะไม่มีอากาศหายใจ
กัปตันคิมจับคันบังคับกดลงทันที
เครื่องบินดิ่งลงอย่างรวดเร็ว
ภายในไม่ถึง 5 นาที
เครื่องบินลดระดับจาก 35,000 ฟุต สู่ 4,000 ฟุต
เครื่องบินเสียหายอย่างหนัก ระบบอื่นๆเริ่มเสียตามมา แต่เขายังควบคุมเครื่องบินได้
“ต้องรีบนำเครื่องลงให้เร็วที่สุด ก่อนที่จะควบคุมอะไรไม่ได้อีกแล้ว”
ทั้งสามคนรีบมองหาเครื่องบินรบ
หวังว่าจะให้เครื่องบินรบโซเวียตนำเขาไปลงจอดยังสนามบินแถวนี้
แต่ไม่มีวี่แววของเครื่องบินลำนั้น...
ทั้งสามคนหาไม่เจอจนต้องตัดสินใจทำอย่างอื่นแทน
(แต่โซเวียตกล่าวว่าเครื่องบินรบบินอยู่ข้างๆ ตลอด)
“ต้องหาที่ลงฉุกเฉินบริเวณนี้แล้วล่ะ”
กัปตันตัดสินใจ
ตอนนี้พื้นที่โดยรอบเต็มไปด้วยกองหิมะขาวโพลนไปทั่ว มันจะช่วยรองรับแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี
แต่มันจะต้องเป็นที่ยาว กว้าง และไม่ขรุขระ
ทะเลสาป!
ทั้งสามมองหาทะเลสาปที่แข็งตัวจนสามารถเป็นที่พึ่งสุดท้ายแก่ 107 ชีวิตที่ยังเหลืออยู่
เวลา 23:05 น
กัปตันคิมใช้ฝีมือทั้งหมดที่เขามี ลงจอด ณ ทะเลสาป Korpiyarvi เมือง Karelia สหภาพโซเวียต ได้อย่างปลอดภัย
1
ไถลไปตามแผ่นน้ำแข็ง
ตำรวจ กู้ภัย และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นแถวนั้นรุดเข้ามายังพื้นที่เพื่อช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว
เป็นเรื่องน่าดีใจที่ไม่มีใครเสียชีวิตจากการลงจอดครั้งนี้ มีเพียงแค่บาดเจ็บเล็กน้อย หลังจากนั้นทั้งหมดถูกคุมตัวโดยทหาร ไปพักยังโรงแรม และได้รับการดูแลเป็นอย่างดี
ร่องรอยความเสียหายที่ปีกซ้าย
กัปตัน นักบินผู้ช่วย และต้นหน
ถูกทหารโซเวียตนำตัวแยกไปสืบสวนกว่าสองวัน
ก็สรุปได้ว่าทุกอย่างเป็นเรื่องผิดพลาดและเข้าใจผิด
จึงได้รับการปล่อยตัว ทั้งหมดจึงออกจากโซเวียตโดยโดยสารเครื่องบินสายการบินแพนแอมจากเมืองเมอร์มานส์ สหภาพโซเวียต ไปยังเมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ และต่อเที่ยวบินไปยังโซล ประเทศเกาหลีใต้ในที่สุด
กัปตัน(กลาง)และต้นหน(ขวา) หลังถูกปล่อยตัวออกมา
นี่ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายที่สุด ที่เกิดกับสายการบินKAL
เพราะอีกไม่กี่ปีต่อมา KAL ก็พบกับความผิดพลาดเดิม
ที่จบท้ายด้วยการเสียชีวิตทั้งหมด
ติดตามต่อได้ในตอนหน้าครับ
โฆษณา