17 ม.ค. 2020 เวลา 10:02 • ธุรกิจ
รถไฟฟ้าไทย ทำไมราคาแรง ?
หลังขึ้นเบอร์ 1 ค่าตั๋วแพงที่สุดในโลก
ขึ้นชื่อว่ารถไฟฟ้าไทย คิดว่าคงจะมีเพื่อนๆหลายคนรู้สึกว่าราคามันแพงกันใช่ไหม
แต่ถ้าจะต้องเดินทางในกรุงเทพฯตอนที่คุณมีเวลาค่อนข้างจำกัด รถไฟฟ้า ก็คงจะเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆที่มาก่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แล้วราคารถไฟฟ้าไทยมันแพงจริงไหม ?หรือพวกเราคิดไปเอง ? เดี๋ยวเราจะพาไปดูกันในวันนี้ว่า
รถไฟฟ้าไทย แพงจริงๆ รึเปล่า ??
หลังจากมีข่าวมาเป็นระยะๆ กับความถูกแพงของราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทย แต่สุดท้ายข่าวก็เงียบไปทุกที เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ออกมาบอกอยู่เสมอว่าราคามันเหมาะสมแล้ว
แต่ก็ยังมีหลายคนคาใจว่ามันเหมาะสมแล้วจริงๆเหรอ เพราะกว่าจะนั่งวินมอเตอร์ไซค์หรือรถโดยสารอื่นๆไปขึ้นรถไฟฟ้าก็หมดเงินไปเยอะแล้ว แถมยังต้องมาจ่ายค่ารถไฟฟ้าต่ออีก เรียกได้ว่าเปลืองมากในแต่ละวัน
และล่าสุด สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ก็ได้ออกมาบอกว่า “ค่าโดยสารต่อ 1 กิโลเมตร” ของรถไฟฟ้าไทยนั้น พุ่งขึ้นไปเป็นอันดับ 1 แซงหน้าสิงคโปร์, ฮ่องกง รวมไปถึงอังกฤษไปเป็นที่เรียบร้อย
หรือเรียกง่ายๆว่าทุกวันนี้ คนไทยกำลังจ่ายค่ารถไฟฟ้าแพงที่สุดในโลก !
โดยจากการสำรวจพบว่ารถไฟฟ้าไทยมีค่าโดยสารเฉลี่ยต่อ 1 กิโลเมตรอยู่ถึง
14.5 บาท ในขณะที่ค่าโดยสารรถไฟฟ้าใน
- กรุงลอนดอน = 12.2 บาท
- ฮ่องกง = 4.7 บาท
- สิงคโปร์ = 2.3 บาท
นอกจากนี้ ค่าโดยสารต่อเที่ยวยังถือว่าสูงกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียนที่ 67.4 บาท ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ 25.2 บาท และฮ่องกงอยู่ที่ 45.6 บาท แถมประเทศไทยเรา ยังเป็นประเทศที่มีราคาของ “ส่วนต่าง” ระหว่างค่ารถเมล์กับรถไฟฟ้าสูงที่สุดอีกด้วย
แพงไม่รอใครจริงๆกับรถไฟฟ้าไทย ซึ่งถ้าหากมาลองดูรายได้เฉลี่ยต่อคนของประเทศไทยแล้วจะเห็นว่าอยู่ที่ 18,587 บาทต่อเดือนเท่านั้น
ต่างกับคนในกรุงลอนดอนที่มีรายได้ 111,032 ต่อเดือน ฮ่องกงอยู่ที่ 120,640 บาทต่อเดือนและสิงคโปร์อยู่ที่ 164,194 ต่อเดือน ถือว่ารายได้ของคนไทยน้อยกว่าคนสิงคโปร์อยู่เกือบๆ 10 เท่า แต่ค่ารถไฟฟ้ากลับแพงกว่า
ถึงยังไง ถ้าตัดเรื่องค่ารถไฟฟ้าออกไปแล้ว ค่าครองชีพในไทยก็ยังถือว่าน้อยกว่ากับอันดับที่ 216 ต่อมาเป็นสิงคโปร์ที่อันดับ 105 ฮ่องกงอันดับที่ 40 และสูงที่สุดจากในกลุ่มคือกรุงลอนดอนที่อันดับ 26
เปรียบเทียบกับนานาชาติไปแล้ว ลองมาเปรียบเทียบกับคู่แข่งในประเทศตัวเองบ้าง และหลังจากดูราคาก็พบว่ารถไฟฟ้าที่แพงที่สุดก็คือ BTS นั่นเอง รองลงมาเป็น MRT และ Airport link ตามลำดับ
ถ้าเรานั่ง BTS จากสถานีศาลาแดงไปลงที่สถานีอโศก เราจะต้องจ่าย 37 บาทซึ่งจะมีระยะทางพอๆกับการนั่ง MRT จากสถานีสีลมไปลงสถานีสุขุมวิทและเราจะได้จ่ายเพียง 23 บาทเท่านั้นสำหรับ MRT
นอกจากนี้ BTS ยังมีการเก็บเพิ่มในส่วนที่เป็นการต่อขยายไปในย่านชานเมืองซึ่งอาจจะทำให้เราต้องจ่ายมากถึง 59 บาทและอาจจะเกิน 100 บาทในเคสที่เรานั่งจากสถานีบางใหญ่มาลงที่สถานีบางนาหรือสถานีเอกมัย ส่วนราคาเหมาจ่ายต่อเที่ยวยังถือว่าไม่ห่างกันเท่าไหร่นักสำหรับ BTS และ MRT
แต่หลังจากที่ออกมาบอกข้อมูลแล้ว สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ก็ไม่ได้นิ่งเฉยต่อเรื่องนี้ โดยกำลังศึกษาหาแนวทางปรับปรุงสัญญาสัมปทานค่ารถไฟฟ้าจากทั้งรายเดิมและสัญญาใหม่ที่กำลังจะเปิด เพื่อนำมาหาวิธีแก้ไขปัญหาและช่วยในเรื่องของราคาให้เหมาะสมขึ้นเพื่อเสนอกับภาครัฐต่อไป
เอาจริงๆแล้วรถไฟฟ้าไทยนั้น จะให้ควบคุมราคาเหมือนต่างประเทศก็เป็นไปได้ยาก ทั้งเรื่องสัมปทานที่เป็นของเอกชนหลายเจ้า เรื่องเอกชนถือสัมปทานหลายสัญญา ทำให้การจะทำอะไรแต่ละทีนั้นดูยุ่งยากซับซ้อนไปหมด
รวมไปถึงเรื่องการ “Subsidize” หรือการที่ภาครัฐจะช่วยสนับสนุนเม็ดเงินไปให้แก่เอกชนที่เป็นเจ้าของรถไฟฟ้า เพื่อช่วยให้ค่าโดยสารถูกลงนั้น ในประเทศไทยไม่มี
และ “ค่าโดยสาร” ที่ได้ไป ทาง BTS ก็อาจจะไม่ได้รับไปเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะธุรกิจของพวกเขาก็ไม่ได้มีแค่การเดินรถอย่างเดียว ยังมีธุรกิจที่เรียกว่า “รับจ้างเดินรถ” ที่ BTS ได้รับจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายและรถด่วนพิเศษ BRT ให้กับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) อยู่นั่นเอง
และในวันนี้ก็เป็นการชำแหละราคาค่ารถไฟฟ้าของไทยและประเทศที่น่าสนใจมาให้อ่านกันไปเรียบร้อยแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าเรื่องความแพงของค่าโดยสารของรถไฟฟ้านั้นประเทศไทยยังถือเป็นอันดับ 1
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขอให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องหาทางออกให้ได้เร็วๆเพื่อช่วยให้ประชาชนไม่ต้องรับภาระอันหนักอึ้งเช่นนี้
รวมไปถึงภาคเอกชนที่เราก็ต้องเข้าใจพวกเขาเช่นกันว่า คงไม่มีใครอยากมาทำธุรกิจ หากต้องลงทุนแย่งชิงสัมปทานมาแล้วขาดทุน เข้าเนื้อ
วันนี้ก็ได้รู้แล้วว่าค่ารถไฟฟ้าไทยเป็นยังไง เปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้วอยู่ในระดับไหน ?
แล้วคุณล่ะ คิดว่าราคา “รถไฟฟ้าไทย”
ราคาควรจะอยู่ประมาณไหนดี ???
อีกหนึ่งช่องทางของเราใน App blockdit
กดมาเลย
ฝากติดตามพวกเราด้วยนะครับ 🙏🙏
โฆษณา