18 ม.ค. 2020 เวลา 03:23 • ปรัชญา
เคยสงสัยไหมครับว่า ทำไมอะไรบางอย่างเหลือช่องทางซวยแค่นิดเดียว เราก็ยังจะซวยไปเจอมันจนได้ ที่ฝรั่งมีการตั้งชื่อเหตุการณ์แบบนี้ว่า กฎแห่งเมอร์ฟี่ครับ เราจะไปอธิบายกันว่าจุดเริ่มต้นมาอย่างไรกันนะครับ
กฎประหลาดอย่างหนึ่งของโลกใบนี้มีชื่อว่า กฎแห่งเมอร์ฟี่ โดยภาษาอังกฤษใช้คำว่า Murphy's Law
กฎนี้มีความหมายคือ "สิ่งใดที่มีช่องให้พังได้ ไม่ต้องห่วงเลย มันจะพังแน่ๆ" (Anything that can go wrong will go wrong)
หรือแปลได้อีกอย่างว่า อะไรก็ตามถ้าเราเปิดช่องให้อีกฝ่ายเล่นงานเราแล้วล่ะก็ รับรองได้เราจะโดนเล่นตรงนั้นแน่ๆ
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติก่อนการสอบ เราอ่านหนังสือมาแล้ว 9 หัวข้อจากทั้งหมด 10 หัวข้อ เดาใจอาจารย์ว่าคงไม่ออกอีกหัวข้อที่เราไม่ได้อ่านหรอก แล้วพอวันสอบ อาจารย์ก็จะออกสอบไอ้หัวข้อนั้นล่ะที่เราไม่ได้อ่านมา
หรือรถยนต์เราหมดประกันวันนี้ แล้วก็คิดว่าเดือนหน้ามีเวลาค่อยไปต่อละกัน ยังไงขับรถมาทั้งปีก็ไม่เคยชนเลยนี่ ซึ่งภายใน 1 เดือนนั้นแหละที่ไม่ได้ต่อประกัน รถก็ชนซะ แจ็คพ็อตแตกพอดี
ถ้าเราปล่อยให้มีเหลี่ยมที่จะผิดพลาดเกิดขึ้น เหมือนสวรรค์จะลงโทษเรา และเล่นงานเราด้วยจุดเล็กๆจุดนั้น ทั้งๆที่เราคิดว่า เฮ้ย ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เลย
จุดเริ่มต้นของกฎของเมอร์ฟี่มาจากไหน มีคนอ้างอิงหลายแหล่ง แต่ที่น่าเชื่อถือที่สุด เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาในปี 1948 โดยกองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ทำการทดลองในโปรเจ็กต์ชื่อ MX981 โดยมีจุดประสงค์คือ สิ่งมีชีวิตจะมีสภาพร่างกาย รับแรงกระแทก G-Forces ได้มากแค่ไหน
วิศวกรชื่อเอ็ดเวิร์ด เมอร์ฟี่ ออกแบบ Rocket Sled หรือเครื่องพุ่งจรวดแบบไถไปตามรางรถไฟ โดยเครื่องนี้ จะพุ่งไปในความเร็วจัด แล้วหยุดกะทันหันทันที เพื่อดูว่าสิ่งมีชีวิตเมื่อเจอสภาวะที่ความเร็วลดลงกะทันหัน จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายหรือไม่
ซึ่งตอนแรกจะมีการทดลองกับลิงชิมแปนซีก่อน และถ้าลิงชิมแปนซีปลอดภัยดี ก็จะมาทดลองกับมนุษย์ต่อไป
ในช่วงการทดลองกับลิงชิมแปนซี ปรากฏว่าผู้ช่วยของเอ็ดเวิร์ด เมอร์ฟี่ได้ทำอะไรผิดพลาดเล็กๆน้อยๆ ในการทดสอบครั้งแรก คือหน้าจออ่านค่ากลับไม่ขึ้นตัวเลข สาเหตุก็เพราะว่าเสียบสายไฟผิดเส้น จากนั้นผู้ช่วยก็ขอโทษ แล้วสลับสายไฟใหม่ ก่อนเริ่มการทดสอบครั้งที่ 2 ปรากฏว่าคราวนี้เซ็นเซอร์ไม่อ่านอีก ซึ่งก็ต้องมาเสียเวลาซ่อมเซ็นเซอร์ก่อนจะได้ทดสอบครั้งที่ 3
ซึ่งนั่นทำให้เอ็ดเวิร์ด เมอร์ฟี่โมโหผู้ช่วยมาก แล้วด่าไปว่า "ถ้าหมอนี่มีช่องทางจะทำมันพัง เขาจะทำมันแน่นอน"
หลังจากทดลองกับลิงชิมแปนซีเสร็จแล้ว จึงมาทดสอบกับมนุษย์ โดยคนที่อาสาเป็นตัวทดลองคือกัปตันจอห์น สแตรปป์ ตำแหน่งเป็นผู้พันของกองทัพอากาศ และเป็นคุณหมอผ่าตัดของกองทัพด้วย ปรากฏว่าการทดสอบคราวนี้ผ่านไปได้ด้วยดี โดยผู้ช่วยไม่ก่อข้อผิดพลาดอะไรเลย
หลังการทดสอบเสร็จสิ้น กัปตันสแตรปป์มาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ซึ่งนักข่าวถามว่าทำไมการทดสอบด้วย Rocket Sled ที่น่าจะดูอันตราย แต่กลับเทสต์ผ่านได้สบายๆ ตามจำนวนครั้งที่กำหนด โดยไม่มีข้อผิดพลาดอะไรเลยและไม่มีใครบาดเจ็บด้วย
ซึ่งกัปตันสแตรปป์จึงเล่าว่านั่นเพราะทีมงานทุกคน "ยึดมั่นกฎของเมอร์ฟี่เอาไว้ก่อนจะทำการทดสอบจริง"
กัปตันสแตรปป์กล่าวว่า ตอนทดลองกับลิงชิมแปนซีเมื่อเห็นข้อผิดพลาดเยอะ ดังนั้นก่อนการทดสอบจริง จึงมีการทำเช็กลิสต์ทุกอย่างโดยละเอียด เพื่อปิดโอกาสทั้งหมดที่จะเกิดข้อผิดพลาดได้ และจำลองสถานการณ์ว่าถ้าหากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น จะต้องแก้ปัญหากันแบบไหน
เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว มั่นใจว่าไม่มีช่องว่างให้ความผิดพลาด จึงเริ่มการทดสอบ และสุดท้ายก็ลงเอยด้วยการผลการทดสอบที่ลุล่วงไปได้ด้วยดี
หลังจากนั้นเป็นต้นมา คำว่ากฎแห่งเมอร์ฟี่ก็เลยแพร่หลายขึ้น ในตอนแรกคนก็ใช้กันในแง่เป็นการเตือนให้ผู้คนรอบคอบ จะทำอะไรต้องเช็กลิสต์เสมอ และปิดข้อผิดพลาดไว้ทุกอย่าง เพื่อป้องกันการผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้
แต่ในภายหลังกฎแห่งเมอร์ฟี่ ก็ทำให้เห็นว่าถ้าคนเรามันจะซวยมันก็ซวยได้ ต่อให้พยายามปิดช่องทางผิดพลาดมากแค่ไหน แต่กฎแห่งเมอร์ฟี่ก็จะเล่นงานเราได้อยู่ดี
ตัวอย่างเช่น เรานั่งอยู่บ้านเพื่อรอพัสดุทั้งวันยังไม่ได้กินอะไรเลย แล้วไปรษณีย์ไม่มาซะที ก็เลยตัดสินใจขอแว้บไปซื้อของที่เซเว่นแป้บนึง ปรากฎว่าไอ้ช่วง 10 นาทีที่เราแว้บไปนั่นแหละ พัสดุมาส่งพอดีแล้วดันไม่เจอเรา
หรือว่า เราตามล็อตเตอรี่เบอร์นึงมาตลอดปี แต่มีงวดนึงไม่ซื้อ เพราะคิดว่าตามมาทั้งปีแล้วไม่เห็นถูกเลย ซึ่งก็แน่นอนว่าไอ้งวดที่เราไม่ได้ซื้อ ดันออกซะอย่างนั้น
ปกติจะพบกระเป๋าตังค์ติดตัวไว้ตลอด แต่มีวันนึงรีบออกจากบ้าน ลืมเอากระเป๋าตังค์มา พอขับรถออกมาจากบ้านแล้ว สักระยะก็เลยคิดว่าเออช่างเถอะ เดี๋ยวใช้จ่ายผ่านแอพละกัน ปรากฎวันนั้นระบบล่มพอดี ร้อยวันพันปีไม่เคยเกิดขึ้น แต่มาล่มในวันนี้ไม่ได้พกเงินมาซะอย่างนั้น
เราจะเห็นได้ว่ากฎแห่งเมอร์ฟี่ มันคือความซวยสามารถเล่นงานเราได้เสมอ
ดังนั้นทางที่ดีที่สุด คือถ้าเราจะทำอะไรสักอย่าง ต้องพยายามปิดช่องทางที่จะเกิดข้อผิดพลาดเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ถ้าปิดช่องทางผิดพลาดได้หมด ก็จะเป็นการป้องกัน กฎแห่งเมอร์ฟี่ไม่ให้เกิดขึ้น
เราจึงเห็นว่าวงการธุรกิจ จึงมีการพัฒนาแนวคิดหนึ่งขึ้นมา ที่ชือ Worst case scenario หรือ "ลองจินตนาการดูว่าสถานการณ์แย่สุดที่เราจะเจอคือแบบไหน" คือให้คิดว่าเรื่องแย่ที่สุดถ้าเกิดขึ้นจริงๆเราจะรับมือมันอย่างไร คือหาวิธีป้องกันไม่ให้มันเกิด แต่ถ้าสุดท้ายมันก็ยังเกิดอยู่ก็จะได้รู้ว่าต้องทำอะไร เดินเกมแบบไหนต่อ ไม่ใช่มึนงงจนทำอะไรไม่ถูก
แต่ก็นั่นล่ะ แม้จะวางแผนทุกอย่างรอบคอบแค่ไหน แต่มันก็ยังเป็นไปได้อยู่ดีที่คนเราอาจจะต้องซวยเพราะช่องว่างเล็กน้อยที่ผิดพลาดที่เรายังมองไม่เห็นอีก
ซึ่งถ้ามันซวยไปแล้วก็ถือว่าเป็นบทเรียนไป คราวหน้าเจอสถานการณ์คล้ายๆกัน ก็จะได้ระวังไว้ ปิดจุดอ่อนไปเรื่อยๆ
สักวันเมื่อไร้จุดอ่อนแล้ว คราวนี้ล่ะ กฎแห่งเมอร์ฟี่ก็มาเล่นงานเราไม่ได้อีก!
โฆษณา