18 ม.ค. 2020 เวลา 07:07
ถูกสำหรับเขาอาจผิดสำหรับเราก็ได้
เพราะชีวิตไม่ใช่ข้อสอบปรนัย คำตอบที่ถูกต้องจึงไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว
วิธีการที่เคยเวิร์คในสถานการณ์หนึ่ง พอเปลี่ยนคน เปลี่ยนกาล เปลี่ยนสถานที่ก็อาจไม่เวิร์คแล้วก็ได้
พี่เก้ง จิระ มะลิกุลแห่งค่าย GDH เคยเล่าให้ฟังว่า การทำหนังไม่มีสูตรสำเร็จ สิ่งที่ลองกับหนังเรื่องหนึ่งแล้วปังมาก พอเอามาใช้กับหนังอีกเรื่องกลับแป้ก
หรือนักเขียนอย่าง Simon Sinek ที่เขียนหนังสือ bestsellers อย่าง Start with Why, Leaders Eat Last, และ The Infinite Game ก็บอกว่าเขาต้องเปลี่ยนยุทธวิธีในการเขียนหนังสือไปเรื่อยๆ
เล่ม Start with Why เขาต้องใช้วิธีจองตั๋วเครื่องบินไป-กลับ เพื่อจะได้มีเวลาเขียนหนังสือเงียบๆ บนเครื่องบินได้หลายชั่วโมง แต่พอจะเขียนหนังสือ Leaders Eat Last พอเขาลองใช้วิธีนี้แล้วกลับเขียนไม่ออก
ตอนที่ผมเริ่มเขียนบล็อก ก็มีคนบอกว่าบล็อกควรจะโฟกัสแค่เรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะ เพื่อเป็นการสร้างชื่อให้ตัวเองว่าเรามีความเชี่ยวชาญด้านนั้น-ด้านนี้ และชื่อของบล็อกก็ควรสะท้อนความเชี่ยวชาญนั้น
เผอิญผมไม่มีความเชี่ยวชาญด้านใดสักเรื่อง ก็เลยตั้งชื่อว่า Anontawong’s Musings คำว่า musings ก็คือความคิดฟุ้งไปเรื่อยๆ คิดอะไรได้ก็เขียน
ข้อเสียคือคนไม่รู้ว่าเป็นบล็อกเกี่ยวกับอะไร ข้อดีคือผมมีอิสรภาพที่จะเขียนเรื่องอะไรก็ได้ในบล็อกนี้
แน่นอน เราควรเรียนรู้จากคนที่มาก่อน คนที่ประสบความสำเร็จกว่าเรา แต่สุดท้ายแล้วเราต้องกรุยทางของเราเอง
ถูกสำหรับเขาอาจผิดสำหรับเราก็ได้
ผิดสำหรับเขาอาจถูกสำหรับเราก็ได้
ขอให้พบสิ่งที่ถูกที่ใช่ด้วยตัวเราเองนะครับ
—–
“Elephant in the Room ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมที่ว่าด้วยการค้นหาสิ่งที่สำคัญกับเราอย่างแท้จริง มีขายที่นายอินทร์ ซีเอ็ด B2S และ Kinokuniya แล้วนะครับ
โฆษณา