19 ม.ค. 2020 เวลา 09:42 • กีฬา
สำหรับคนดูฟุตบอล กฎของฟีฟ่าอัพเดททุกๆวัน ผมรวมกฎ 33 ข้อที่ควรรู้เพื่อจะได้ดูบอลอย่างเข้าใจมากขึ้น เรียนเชิญอ่านครับผม
จากเหตุที่ไทยเสียจุดโทษเมื่อวาน ทำให้ผมค้นพบกฎของฟีฟ่า เรื่องการดึง และเหนี่ยวรั้งนอกเขตโทษ ถ้าดึงยาวมาถึงในเขตโทษสามารถเป็นจุดโทษได้
นี่เป็นอะไรที่เหลือเชื่อมาก เป็นกฎข้อเล็กๆที่ซ่อนอยู่ ซึ่งผมมั่นใจว่า คนดูบอลหลายคนก็ไม่ทราบในจุดนี้
ตั้งแต่เมื่อวานนี้ผมนั่งไล่อ่าน Law book ของ Fifa เช็กดูว่ามีกฎอะไรอีกบ้างที่เราควรรู้ ก็พบว่ามีหลายข้อที่น่าสนใจครับ
หนังสือที่ผมกำลังพูดถึงคือ IFAB Laws of the game ในฤดูกาล 2019-20 เป็นหนังสือกฎที่ใช้อ้างอิงการตัดสินทั้งหมดของฟีฟ่าในฤดูกาลนี้ มีหลายๆข้อที่น่าสนใจดีครับ ผมรวบรวม 33 ข้อ ตามประเด็นต่างๆเอามาให้แล้วนะครับ (จริงๆมีมากกว่านี้) ก็คิดว่าเมื่ออ่านจบน่าจะได้ประโยชน์กับการดูบอลเพิ่มขึ้นนะครับผม
[ การยิงจุดโทษ ]
1) ในการดวลจุดโทษ ผู้รักษาประตูต้องยืนที่เส้นประตู ห้ามยืนล้ำหน้า หรือ ยืนด้านหลังเส้น และเท้าสองข้างต้องสัมผัสเส้นตลอดเวลา (ขาข้างหนึ่งยืนเหยียบเส้น อีกข้างยืนนอกเส้นไม่ได้) แต่ในจังหวะก่อนที่คู่แข่งจะยิง เสี้ยววินาทีก่อนสัมผัสบอล สามารถขยับออกมานอกเส้นได้ 1 ก้าว โดยฟีฟ่ามองว่าเป็นปฏิกริยาปกติของมนุษย์ในการเตรียมพร้อมจะป้องกันบอล
ไม่ยืนสองข้างบนเส้นแบบนี้ไม่ได้
2) ผู้รักษาประตูจะยืนซ้ายสุด หรือขวาสุด ตอนเซฟจุดโทษก็ได้ ตราบใดก็ตามที่ยังเหยียบเส้น ยืนตรงไหนก็ได้แต่ห้ามเอาร่างกายไปสัมผัสเสาด้านในด้านหนึ่ง
3) คนยิงจุดโทษ จะยิงยึกยักกี่ครั้งก็ได้ จะหลอก จะหยุด จะเดินช้า เดินเร็ว วิ่งใกล้ วิ่งไกล จะวิ่งมาแล้วหยุดค้างก่อนยิงก็ได้ จะกระโดดแล้วค่อยยิงก็ทำได้ แต่สิ่งที่ห้ามทำคือ "หลอกยิง" ตวัดเท้าหลอกให้ผู้รักษาประตูล้มไปอีกด้าน แล้วค่อยยิงไปอีกด้าน แบบนี้ฟาวล์
4) คนยิงจุดโทษ ห้ามเตะไปด้านหลัง ต้องเตะไปข้างหน้าอย่างเดียว จะตอกส้นก็ได้ หรือวิธีไหนก็ได้ แต่ต้องเตะไปข้างหน้าเท่านั้น
5) คนยิงจุดโทษ สามารถใช้วิธีส่งบอลให้เพื่อนวิ่งเข้ามายิงได้ ตราบเท่าที่เป็นการเขี่ยบอลไปด้านหน้า
6) คนยิงจุดโทษ ห้ามโดนบอลด้วยตัวเองคนเดียวสอง 2 จังหวะ ตัวอย่างเช่น เตะบอลด้วยขาขวา แล้วเด้งมาโดนขาซ้ายตัวเองเข้าประตู แบบนี้เป็นการฟาวล์ และเป็นฟรีคิกของฝั่งทีมรับ หรือเตะบอลโดนเสา แล้วเด้งมาเข้าทางคนยิงซ้ำเข้าประตู แบบนี้ก็ไม่ได้ประตูเช่นกัน เพราะยังไม่โดนใครเลยเป็นการโดนตัวเอง 2 จังหวะติดต่อกัน
1
[ การตั้งกำแพง ]
7) ในการตั้งกำแพงป้องกันฟรีคิก นักเตะฝ่ายรุกทั้งหมดห้ามเข้าไปใกล้กำแพงเกิน 1 หลา ถ้าหากมีตัวป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้กำแพงเกิน 1 หลา ในจังหวะที่ฝ่ายรุกยิงไปแล้ว กรรมการสามารถเป่าฟาวล์ แล้วให้ฟรีคิกกับฝ่ายตั้งรับได้ทันที
[ การแจกใบเหลือง ]
8) ในจังหวะฟาวล์รุนแรงที่แจกใบเหลืองได้ ทีมที่โดนฟาวล์สามารถเล่นฟรีคิกเร็วได้ โดยไม่ต้องรอให้กรรมการแจกเหลืองเสร็จก่อน ซึ่งเมื่อจบเพลย์เมื่อไหร่ บอลตายครั้งต่อไป กรรมการค่อยย้อนมาแจกใบเหลืองให้ตัวที่ทำฟาวล์ได้
1
9) นักเตะคนไหนเข้ามายังพื้นที่ดูมอนิเตอร์ VAR ของผู้ตัดสิน จะโดนแจกใบเหลือง
10) นักเตะคนไหน ทำท่าเป็น "ทีวี" เพื่อชี้นำให้ผู้ตัดสินใช้ VAR จะโดนใบเหลือง
11) เมื่อยิงประตูได้ การวิ่งดีใจออกไปนอกสนาม ไม่ผิด และไม่มีการแจกใบเหลือง แต่นักเตะต้องรีบกลับมาสู่สนามให้เร็วที่สุด
12) เมื่อยิงประตูได้ ท่าดีใจที่จะโดนใบเหลืองมี 4 ประเภท คือ
- ปีนบนรั้ว หรือเข้าไปหากลุ่มแฟนบอล เนื่องจากจะส่งผลต่อการรักษาความลปลอดภัยของสนาม
- ท่าดีใจเชิงยั่วยุ ที่จะก่อให้เกิดชนวนความขัดแย้งบานปลาย
- เอาวัตถุมาครอบหัว หรือปิดบังใบหน้า เช่นหน้ากากลวดลายต่างๆ หรือวัตถุในลักษณะคล้ายๆกัน
- ถอดเสื้อ หรือเอาเสื้อดึงขึ้นมาคลุมหัว
[ การแจกใบแดง ]
13) หยุดยั้งการทำประตูของคู่แข่งด้วยมือ โดนใบแดงไล่ออกทุกกรณี ไม่ว่าจะนอกเขตโทษหรือในเขตโทษ
14) หยุดยั้งจังหวะหลุดเดี่ยวของคู่ต่อสู้ นอกเขตโทษ (ถ้าเป็นในเขตโทษ จะเป็นใบเหลือง +จุดโทษ แต่ถ้าเป็นนอกเขตจะเป็น ใบแดง + ฟรีคิก)
15) นักเตะหรือสตาฟฟ์คนใดบุกเข้าห้อง VAR Control room โดนใบแดงทันที
16) ไล่ออกทุกกรณีถ้าใช้กำลังกับผู้อื่นที่ไม่อยู่ในสนาม (รวมถึงกัด และถุยน้ำลายด้วย) เช่น ตัวสำรองที่ม้านั่ง สตาฟฟ์โค้ชทีมตัวเอง และทีมคู่แข่ง ผู้ตัดสิน แฟนบอล เด็กเก็บบอล พนักงานรักษาความปลอดภัย
17) แอบเอาเครื่องมือสื่อสารมาใช้งาน โดนไล่ออกทุกกรณี ตัวอย่างเช่นแอบเอาหูฟังไร้สายใส่ แล้วเอาผมมาปิดไม่ให้กรรมการเห็น ถ้าถูกค้นพบว่าแอบซ่อนการสื่อสารใดๆเอาไว้ โดนไล่ออกทันที
18) นักเตะ หรือสตาฟฟ์คนไหนในซุ้มม้านั่งสำรอง พูดจาหยาบคาย และมีพฤติกรรมก้าวร้าวใส่ผู้ตัดสิน จะโดนใบเหลือง หรือใบแดง ถ้าหากไม่สามารถระบุตัวได้ว่าเป็นใคร ผู้จัดการทีม จะโดนแทน ซึ่งถ้ารุนแรงถึงขนาดเป็นใบแดง ห้ามนั่งต่อที่ซุ้มม้านั่งสำรอง ต้องเข้าห้องแต่งตัวไปทันที ยกเว้นกรณีเดียวคือ ถ้าคนที่โดนใบแดงเป็นทีมแพทย์ของสโมสร กรณีนี้ทีมแพทย์จะอยู่ในสนามต่อได้ แต่โทษแบนจะส่งผลในเกมถัดไป
[ VAR ]
19) เมื่อมีการใช้ VAR เกิดขึ้นผู้ตัดสินจะทำมือเป็นรูปทีวี และนำมาสู่การตัดสินใจ 2 อย่าง
ตัดสินใจทันทีโดยไม่ต้องดูมอนิเตอร์ แค่ขอความเห็นจากกรรมการห้อง VAR ช่วยในการตัดสินใจเท่านั้น และ ไปที่จอมอนิเตอร์ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า OFR (on-field review) ก่อนทำการตัดสินใจครั้งสุดท้าย โดยผู้ตัดสินสามารถเดินมาดู OFR ได้ทุกกรณีหากไม่แน่ใจในผลการตัดสิน
20) ไลน์แมน และผู้ตัดสินที่ 4 จะไม่มีสิทธิ์มาดูมอนิเตอร์ ตราบใดที่ผู้ตัดสินหลัก ไม่อนุญาตให้เข้ามาดูด้วย
21) ผู้ตัดสินต้องตัดสิน VAR ให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่ความถูกต้องสำคัญกว่าความเร็ว ดังนั้นไม่มีกำหนดเวลาเรื่อง VAR ว่ามีจำนวนสูงสุดกี่นาที ผู้ตัดสินใช้เวลาไปเรื่อยๆได้ จนกว่าจะได้คำตอบ ใช้เวลาเท่าไหร่ ก็ไปทดเวลาเพิ่มเอาช่วงท้ายเกม
22) VAR จะใช้แค่ 4 กรณีเท่านั้นคือ
- ได้ประตู / ไม่ได้ประตู
- ให้จุดโทษ / ปฏิเสธจุดโทษ
- ใบแดงโดยตรง
- เช็กว่าให้ใบเหลืองหรือใบแดงผิดคนหรือไม่
23) ผู้ตัดสินจะไม่สามารถใช้ VAR เพื่อแจกใบเหลืองที่ 2 ได้ การเช็ก VAR ต้องเป็นฟาวล์รุนแรงที่เป็นใบแดงโดยตรงเท่านั้น เช่นเดียวกับการแจกเหลืองที่ 2 แล้วไล่นักเตะออก ทีมที่โดนไล่ก็ไม่สามารถเรียกร้องขอใช้ VAR เพราะทำไม่ได้ VAR จะเช็กได้ก็ต่อเมื่อเป็นใบแดงโดยตรงเท่านั้น
24) ช่วงที่ใช้ VAR ห้ามนักเตะรุมล้อมผู้ตัดสินทุกกรณี และห้ามชี้นำใดๆทั้งสิ้น ส่วนผู้ตัดสินเพื่อความโปร่งใส ต้องอยู่ในพื้นที่ที่ ผู้คนสามารถเห็นการกระทำได้ตลอด เพื่อป้องกันไม่ให้แอบไปคุยกับทีมไหน
[ รายละเอียดผู้รักษาประตู ]
25) จังหวะเตะจากประตู (Goal Kick) คู่แข่งต้องออกไปจากกรอบเขตโทษให้เรียบร้อยก่อน ถึงจะเตะได้ แต่ถ้าในกรณีที่ผู้รักษาประตูเล่นเร็ว แล้วมีนักเตะคู่แข่งออกจากเขตโทษไม่ทัน ถ้าบอลไม่โดนใคร ก็ปล่อยให้เล่นต่อได้ แต่สมมติว่าลูกเตะ Goal kick ไปโดนคู่แข่ง (ที่อยู่ในกรอบ) ไม่ว่าจะกรณีใด กรรมการต้องให้เตะ Goal Kick ใหม่อีกครั้ง
26) ถ้าผู้รักษาประตูขว้างบอลจากเขตโทษแดนตัวเอง แล้วบอลพุ่งเข้าประตูของอีกฝั่งหนึ่งไปเลย ลูกนี้ไม่ได้ประตู และจะกลายเป็น Goal Kick ของฝั่งที่โดนขว้างเข้าประตู
27) ถ้าผู้รักษาประตูเผลอเอามือรับบอล ที่เพื่อนส่งด้วยเท้ามาให้ จะเป็นฟรีคิก 2 จังหวะ ณ จุดเกิดเหตุ แต่จะไม่มีการแจกใบเหลืองในเพลย์ลักษณะนี้
[ ผู้ตัดสิน ]
28) ผู้ตัดสินจะเป่านกหวีดได้ ใน 3 กรณีคือ
- เริ่มเพลย์ เช่นเริ่มเกม เริ่มเขี่ย
- หยุดเพลย์ เช่น เป่าจุดโทษ เป่าฟรีคิก เป่าจบครึ่ง
- รีสตาร์ทเพลย์ เช่น เป่าให้ยิงจุดโทษได้ เป่าให้ยิงฟรีคิกได้ หลังจากมีคนโดนไล่ออกเป่าว่าเริ่มเล่นใหม่ได้แล้ว
ฟีฟ่าแนะนำผู้ตัดสินว่าควรเป่านกหวีดให้น้อยที่สุด อย่าเป่าพร่ำเพรื่อ เพราะการเป่าโดยไม่จำเป็นจะทำให้นกหวีดมีพลังน้อยลงในยามที่ต้องการใช้มันจริงๆ
[ อื่นๆ ]
29) การทุ่ม การเตะมุม การเตะ Goal Kick กรรมการจะไม่ทดเวลาเพิ่มให้ กรรมการจะทดเวลาเพิ่มให้ เฉพาะจังหวะดีเลย์เกม เช่นนักเตะบาดเจ็บ มีการใช้ VAR มีการยิงประตูได้ หรือมีการเปลี่ยนตัวเท่านั้น
30) ในการทุ่ม คู่ต่อสู้ห้ามเข้าใกล้คนทุ่มในระยะ 2 หลา
31) การเปลี่ยนตัว คนที่โดนเปลี่ยนต้องเดินออกจากสนามไปเลย ในจุดที่ใกล้ที่สุด เพื่อป้องกันการเดินช้าๆเพื่อถ่วงเวลา จากนั้นนักเตะใหม่ลงสนามได้ทันที
32) นักกีฬาอนุญาตให้ใส่เสื้อด้านในเสื้อแข่งได้ แต่ต้องมีสีเดียวกันกับสีหลักของเสื้อแข่งขันเท่านั้น
33) ในการดึง ถ้าเกิดเหตุจากนอกเขตโทษ แล้วผู้เล่นทีมรับดึงยาวต่อมาถึงเขตโทษ ผู้ตัดสินให้จุดโทษได้ พิจารณาจากจุดเกิดเหตุสุดท้ายว่าเกิดตรงไหน
นี่คือ 33 ข้อที่น่าสนใจตามกฎของฟีฟ่าครับ หลายข้อผมเองก็เพิ่งทราบเหมือนกัน
และผมคิดว่า มันก็น่าจะเป็นการดีในอนาคต ถ้าทีมฟุตบอลของไทย จะจัดอบรมให้นักเตะได้เข้าใจถึงกฎต่างๆอย่างละเอียดมากขึ้น เพราะจะเป็นประโยชน์แน่ๆต่อตัวนักเตะเอง
รวมถึงสมาคมผู้ตัดสิน ที่ต้องรู้กฎทุกอย่างดีอยู่แล้ว น่าจะจัดอบรมให้นักเตะทีมชาติ และสตาฟฟ์องสโมสรต่างๆ ได้อัพเดทถึงกฎที่เปลี่ยนไปในแต่ละปี
ในภาษากฎหมาย มีคำกล่าวว่า ความไม่รู้กฎหมาย เป็นข้อแก้ตัว ทำผิดจะบอกว่า ไม่รู้กฎหมายไม่ได้
เช่นกันในโลกฟุตบอล เมื่อกฎมันมีอยู่ ถ้าทำผิดจะบอกว่าไม่รูุ้กฎไม่ได้
การแข่งขันฟุตบอลแต่ละแมตช์ไม่ได้สู้กันเฉพาะเรื่องของความสามารถ แต่ต้องสู้กับกฎเกณฑ์ข้อห้ามต่างๆด้วย คนที่รู้กฎมากเท่าไหร่ ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ชนะมากกว่าเท่านั้น
#LAW #Referee
โฆษณา