19 ม.ค. 2020 เวลา 12:09 • ธุรกิจ
ภาพนี้แอดมินได้มาจากเพื่อนใน Line
หากถามว่า คุณเห็นอะไรในภาพนี้?
1.เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค
1
- บางตำราบอกว่า "Lazy Economy" คือ ผู้บริโภค มีความขี้เกียจมากขึ้น บางคนเห็นว่าเวลาเป็นของมีค่า จ่ายแพงกว่านิดหนึ่งไม่เป็นไร แต่บางคนก็ความขี้เกียจล้วนๆ 😆
- ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ PM2.5 ก็เป็นปัจจัยเร่ง เช่นกัน ผู้คนไม่อยากที่จะออกไปนอกบ้าน เพื่อซื้ออาหาร การสั่งอาหารผ่านแอปฯ ในมือถือ จึงสะดวกกว่า
Cr. The Straight Times
- สภาพความเป็นสังคมเมือง กับปัญหารถติด ก็เป็นปัจจัยเร่ง กลับไปที่เรื่องของเวลา
2. ธุรกิจร้านอาหาร ไม่จำเป็นต้องขึ้น "ห้าง" ก็เพิ่มยอดขายได้
- เดิมทีใครจะทำ ร้านอาหาร ต้องหาทำเลดีๆ พอคนเปลี่ยนไปใช้ชีวิตในห้างสรรพสินค้า พวกร้านเล็กๆ ก็อยู่ยาก เกิดเป็นเชนร้านอาหารชื่อดัง ตามห้าง
- ปัจจุบัน ทำเล ก็ยังมีความสำคัญ เพียงแต่ทำเล มาอยู่ใน "มือถือ" แทน เพราะวันๆ คนก็นั่งกดแต่มือถือ ทำให้ร้านอาหารเล็กๆ ก็มี "โอกาส" ขายอาหารได้บ้าง ผ่านช่องทางออนไลน์
Kinza Gyoza Cr.Pantip
- พอมีแอปฯ ที่บริการส่งอาหาร ซึ่งช่วงเริ่มต้น แอปฯ เหล่านั้นก็ไปขอให้ร้านดังๆ ที่อยู่นอกห้าง เข้าระบบกันหน่อย ก็ทำให้ร้านนอกห้างเพิ่มยอดขายได้ ไม่ต้องง้อห้าง
- แต่พอมีร้านอาหารอยู่ในแอปฯ สั่งอาหาร เริ่มเยอะ ทีนี้ก็ถึงเวลา คิดค่าใช้บริการแอป โดยเก็บ GP หรือ Gross Profit 20-30% แล้วแต่ความดังของแต่ละร้านอาหาร
- เพื่อนแอดที่ทำร้านอาหาร เล่าให้ฟังว่า ก็มีทางเลือก 2 ทางคือ จะยืนราคาอาหารเท่าเดิม หรือจะขึ้นราคาขาย ซึ่งหากขึ้นราคาขาย ลูกค้าประจำก็อาจโทรมาโวยได้ ส่วนเรื่อง GP จริงๆ แล้วก็ไม่ยอมจ่ายก็ได้นะ แต่ร้านอาจหลุดไปอยู่หน้าสุดท้าย เวลาลูกค้าเสิร์ชหาร้าน
3. รูปแบบการทำงานแบบ Gig Economy
- คนที่มีมอเตอร์ไซต์ ก็สามารถหารายได้เสริมกันได้ สมมติค่าส่งเที่ยวละ 60 บาทหากทำงาน 7 ชั่วโมง ก็อาจได้รายได้อยู่ที่ 500-600 บาท
- นอกจากนี้ยังมีมาตรการกระตุ้นจากเจ้าของแพลตฟอร์มส่งอาหาร ยิ่งรับงานมาก ก็ยิ่งได้ผลตอบแทนมากขึ้น สะสมรอบ สะสมเพชรรายวัน และโบนัสต่างๆ
น้องใหม่อย่าง GET Cr.LINE Today
- แต่คนขับเอง ก็ต้องระมัดระวัง อุบัติเหตุต่างๆ บนท้องถนน และฝุ่นควันด้วย ต้องดูแลตัวเองให้ดี
4. ผู้ให้บริการส่งอาหารรายใหญ่ล้วนมาจากต่างประเทศ
- Foodpanda หรือที่เรียกกันในชื่อว่า "แพนด้า" เริ่มให้บริการส่งอาหารมาก่อนเพื่อน ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2555
เพื่อนๆ อาจยังไม่รู้ว่า Foodpanda มีต้นกำเนิดมาจากประเทศเยอรมณี โดยบริษัทแม่คือ Delivery Hero จากประเทศเดียวกัน (ธุรกิจเค้าใหญ่พอควร ไว้มารีวิวให้ฟังในโอกาสต่อๆไป)
แพนด้า โด่งดังมากๆ ใน ตจว. คงใช้กลยุทธ์ ป่าล้อมเมือง ตัวอย่างเช่น ในหาดใหญ่ ถามคนแถวนั้นว่าบริการส่งอาหารอะไรที่ดัง พี่เค้าบอก "แพนด้า" นี่หล่ะ
- Grab (Food) คงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณมากนัก คือ Grab ทำผลงานได้ดีมากๆ คือ เปิดให้บริการช่วงปลายปี 2560 ผ่านไปแค่ 2 ปี เชื่อว่า Grab Food ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ของชีวิตของหลายๆ คน
Grab เปิดเผยตัวเลขที่น่าสนใจ (มาก) เช่น ปีที่แล้ว คนไทยกินชาไข่มุกจาก Grab Food ไปแล้วทั้งปีกว่า 150 ล้านเม็ด หรือข้าวที่ Grab Food เสิร์ฟทั้งปี ต้องใช้พื้นที่ปลูกเท่ากับสนามราชมังฯ 13 สนาม!
Cr. Grab
Grab มาจากสิงคโปร์ ตั้งเป้าที่จะเป็น Super App คือแอปฯ เดียวครอบจักรวาล และล่าสุดยังทำ Cloud Kitchen คือเปิดครัวกลางของ Grab เองด้วย
ก็ไม่อยากคิดภาพว่าอนาคต เค้าอาจมี Contract Farming ทำสัญญากับเกษตรกร ส่งข้าวให้ Grab โดยเฉพาะก็เป็นได้!
- GET น้องใหม่จากประเทศอินโดนีเซีย บริษัทแม่คือ โกเจ็ก Go-Jek สตาร์ตอัพยูนิคอร์นชื่อดังจากอินโดนีเซีย
พอเข้าไทย กลัวคนไทยจะไม่เก็ท กับชื่อโกเจ็ก ก็เลยตั้งชื่อว่า GET มันซะเลย
GET วางตัวเป็นไลฟ์สไตล์แอป รวมบริการทุกอย่างที่คนกรุงเทพฯ ต้องการ ทั้งส่งของ สั่งอาหาร เรียกรถมอเตอร์ไซค์
- ในรูป ขาด LINE MAN ส่งอาหาร ไป ไม่แน่ใจเหมือนกัน ว่าไม่กินเส้นกับ 3 เจ้าข้างต้นหรือไม่ เลยไม่มีในรูป
แต่ LINE MAN เพื่อนๆ รู้จักกันดีอยู่แล้ว เค้าเป็นพันธมิตรกับบริษัท Wongnai สัญชาติไทยอีกด้วย
- ถามว่ามีแอปพลิเคชัน คนไทยไหม ก็ต้องตอบว่า "มี" แต่ไม่ได้ดังมาก ส่วนหนึ่งก็ ไม่ได้มีเงินไปทำประชาสัมพันธ์ และโปรโมชั่น เหมือนรายใหญ่
ตัวอย่างเช่น Indie dish ให้บริการส่งอาหาร เป็นแหล่งรวมอาหารคลีน เหมาะกับคนรักสุขภาพ!
Cr. Soimilk
- ก็ไม่น่าแปลกใจสักเท่าไหร่ ที่ผู้ให้บริการเจ้าใหญ่จะมาจากต่างประเทศล้วนๆ เนื่องจากพวกเค้าได้เปรียบหลายอย่างตามที่บรรยายไว้ด้านบน
โดยสรุป ภาพนี้ภาพเดียว ทำให้คิดหลายอย่าง ทำให้เราเห็นถึง คลื่นความเปลี่ยนแปลง แบบ Disruption ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้
ที่น่าคิดต่อ ก็คือ มีจุดไหนที่เราสามารถมองเป็นโอกาสได้หรือไม่?
ยกตัวอย่างเช่น หากมีแอปพลิเคชัน ที่เปรียบเทียบ ค่าส่งอาหารของผู้ให้บริการส่งอาหารทั้งหมดในประเทศได้ ก็คงจะน่าเล่นไม่ใช่น้อย อารมณ์ แบบ Expedia หรือ Shopback
หรือเราจะยกระดับ ชีวิตคนขับรถได้ไหม คนที่ต้องไปเผชิญฝุ่น PM 2.5 บนท้องถนนแทนเราๆ ท่านๆ ที่กดสั่งซื้ออาหาร
หรือจะเป็นเรื่องของขยะจากบรรจุภัณฑ์ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากบริการส่งอาหาร
จะดีมากๆ หากแอปฯ หรือวิธีการแก้ปัญหาใหม่ๆ นั้น มาจากมันสมองและสองมือของคนไทย
แอดมินเชื่อว่าคนไทยก็อยากสนับสนุนคนไทยด้วยกัน และพร้อมที่ใช้บริการแอปพลิเคชั่นแบบไทยๆ ที่เข้าใจลูกค้าคนไทย
1
รอใช้บริการอยู่ครับ
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และกลยุทธ์ทางธุรกิจ
กดติดตาม "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า"
และ เชิญเข้าร่วมกลุ่มผู้นำเข้าส่งออก ได้ที่ http://bit.ly/2OYDbxL
โฆษณา