19 ม.ค. 2020 เวลา 11:05
“เบียร์ไร้แอลกอฮอล์” คืออะไร แล้วทำไมรัฐจ่อขึ้นภาษี
เพิ่งผ่านพ้นเทศกาลเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ไปไม่นานเนอะ ผมว่าหลายคนคงเปรมปรีดิ์กับการสังสรรค์กันเต็มที่กับ เหล้า ยา ปลาปิ้ง ภักษาหาร มังสาหาร ซึ่งรวมทั้งผมด้วยเช่นกัน แหม...นานทีปีหน การเฉลิมฉลองกับคนรู้ใจ เพื่อนที่รู้จัก ครอบครัวที่เรารัก มันก็คือความสุขของมนุษย์คนหนึ่งแหละ แต่ที่แน่ๆ คือฉลองแล้วต้องไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่คนอื่น อันนี้สำคัญมากๆ
เอาจริงๆ ผมเองก็คือผู้ชายคนหนึ่งที่ก็มีดื่มบ้างเป็นปกติ ทั้งเหล้า เบียร์ ไวน์ หรือของมึนเมาอื่นๆ ตามประสาคนทั่วไป แต่เมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาผมได้ลองลิ้มชิมรสกับเครื่องดื่มรูปแบบหนึ่งที่ผู้ผลิตให้คำนิยามว่า “เบียร์ไร้แอลกอฮอล์” ถึงแม้ว่าผมจะเคยได้ยินมาสักพักใหญ่ๆ ว่ามันมีเครื่องดื่มแบบนี้เข้ามาตีตลาดในไทยสักระยะแล้ว แต่ก็ยังไม่เคยได้ลองชิมเสียที จนกระทั่งเมื่อตอนปีใหม่ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสชิม ซึ่งมันก็มีรสชาติแทบไม่ต่างๆ จากเบียร์ปกติธรรมดาทั่วๆ ไป แต่ที่ต่างก็คือ ดื่มเท่าไหร่ก็ไม่เมานี่แหละ
1
เดี๋ยวจะเข้าใจกันว่าผมมาขายเบียร์ หรือชวนดื่มเบียร์นะ เพราะจริงๆ แล้ว ผมสนใจในความต่างของผลิตภัณฑ์เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ว่ามันคืออะไร เพราะปลายปีที่แล้วก็มีข่าวว่า กรมสรรพสามิต จะขึ้นภาษีเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ภายในปีนี้ (เดี๋ยวนะ ผมเพิ่งจะได้ลองกินท่านก็จะขึ้นภาษีเสียแล้วฤา) โดยให้เหตุผลว่า เพื่อป้องกันนักดื่มหน้าใหม่เข้าสู่วงการคอทองแดง ฉะนั้นผมเลยไปหาข้อมูลมาว่า จริงๆ แล้วเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ที่มันขายอยู่ในตลาด กับเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ รวมเหล้า ไวน์ และน้ำผลไม้ผสมแอลกอฮอล์เนี่ย แต่ละยี่ห้อมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์กี่เปอร์เซ็นต์ และมีการเก็บภาษีกันกี่เปอร์เซ็นต์
2
**รู้จักกับ “เบียร์ไร้แอลกอฮอล์” ของใหม่ในไทยแต่ไม่ใหม่ในตลาดโลก**
ก่อนอื่นผมขอแนะนำสั้นๆ ให้รู้จักเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ก่อนว่า มันคืออะไร? แล้วทำอย่างไรมันถึงไม่มีแอลกอฮอล์?
จริงๆ แล้วเครื่องดื่มชนิดนี้ในมีชื่อทางการว่า “เครื่องดื่มมอลต์ (Malt drink) มันถูกผลิตขึ้นมาครั้งแรกตั้งแต่ปี 1978 แล้ว หรือราวๆ 40 ปีที่แล้ว โดยเจ้าแรกที่ผลิตเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ขึ้นมาคือ “บาวาเรีย” ค่ายเบียร์ในเนเธอร์แลนด์ โดยมีจุดประสงค์ก็เพื่อเป็นเบียร์ทางเลือกให้กับนักดื่มที่ต้องการพักตับ แต่ก็ยังอยากลิ้มรสของเบียร์ หลังจากนั้นก็มีแบรนด์ต่างๆ ทยอยส่งเบียร์ไร้แอลกอฮอล์เข้ามาชิงส่วนแบ่งทางการตลาดเช่น อาซาฮี ซันโทรี คิริน ซัปโปโร จากประเทศญี่ปุ่น ไฮ้ (Hite) จากเกาหลีใต้ รวมทั้งแบรนด์เจ้าใหญ่ระดับโลกอย่าง ไฮเนเก้น จากเนเธอร์แลนด์บ้านเดียวกับเบียร์บาวาเรีย ก็ส่ง “Heineken 0.0” ชิงส่วนแบ่งทางการตลาดเมื่อปี 2017
2
ส่วนกรรมวิธีผลิตก็แล้วแต่สูตรของแต่ละเจ้าเลยว่าจะทำอย่างไรให้เบียร์ของตัวเองปราศจากแอลกอฮอล์ แต่ยังคงรสชาติเดิมเอาไว้แบบไม่ผิดเพี้ยน ยกตัวอย่างเช่น ยี่ห้อ “บาวาเรีย” ใช้เทคโนโลยีที่เรีกยว่า Bioreactor หรือถังหมักที่ใช้เลี้ยงจุลินทรีย์ โดยควบคุมการหมักด้วยถังปฏิกรชีวภาพเพื่อหยุดยั้งเซลล์ของยีสต์ไม่ให้สร้างโครงสร้างโมเลกุลที่จะเรียงตัวกัน และเกิดเป็นแอลกอฮอล์ซึ่งจะมีรสชาติเหมือนเบียร์ทุกประการ เพียงแต่ไม่มีแอลกอฮอล์
1
ส่วนเบียร์เจ้าใหญ่ของโลกอย่างไฮเนเก้น จะใช้วัตถุดิบเหมือนทำเบียร์สูตรมีแอลกอฮอล์ปกติเลย แต่จะมีกรรมวิธีการกลั่นถึง 2 รอบ แล้วใช้กระบวนการทางการผลิตที่เรียกว่า Dealcoholized เพื่อนำแอลกอฮอล์ออกไป จากนั้นนำมาหมักบ่มใหม่ใช้สูตรเฉพาะ เพื่อให้ได้รสชาติของไฮเนเก้นกลับมาเหมือนเดิม ดังนั้นผู้ที่คุ้นเคยกับรสชาติของไฮเนเก้น จึงไม่ต้องกังวลเลยว่ารสชาติจะผิดเพี้ยนไปจากเดิม
1
เปรียบเทียบได้กับ กรณีของกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีน นั่นแหละ หลักการก็คล้ายๆ กัน
ความจริงแล้วเครื่องดื่มประเภท “ไร้แอลกอฮอล์” (Alcohol-Free หรือ Non-Alcohol) นั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นเครื่องดื่มที่ไม่มีปริมาณแอลกอฮอล์ผสมอยู่เลยเสียทีเดียว เพียงแต่มีปริมาณแอลกอฮอล์ผสมอยู่ในปริมาณที่ต่ำมากจนกฎหมายอนุญาตให้ใช้คำว่า “ไร้แอลกอฮอล์” ในการเรียกผลิตภัณฑ์หรือในการโฆษณาได้
1
อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา และบางประเทศในยุโรปอนุญาตให้เรียกเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ผสมน้อยกว่าร้อยละ 0.5 ว่า “ไร้แอลกอฮอล์” ขณะเดียวกันประเทศสหราชอาณาจักร ระบุคำว่า “ไร้แอลกอฮอล์” กับเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ผสมน้อยกว่าร้อยละ 0.05 เท่านั้น
3
ส่วนประเทศไทยของเรานั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ผู้ประกอบการ ธุรกิจสามารถขอขึ้นทะเบียนเบียร์ไร้แอลกอฮอล์เป็นผลิตภัณฑ์อาหารตามกฎหมายได้แต่ต้องมีปริมาณ แอลกอฮอล์ผสมไม่เกินร้อยละ 0.5 เช่นเดียวกับยุโรปและสหรัฐ
**สังคมถกเถียง สรรพสามิตเตรียมขึ้นภาษีเบียร์ไร้แอลกอฮอล์**
คนเราเนอะ พอได้ยินคำว่า “ขึ้นภาษี” เมื่อไหร่ เมื่อนั้นต่อมปรี๊ด!! มันจะพุ่งขึ้นทันที เพราะแบบว่าอะไร ก็จะขึ้นภาษีอีกแล้ว ซึ่งรวมไปถึง “เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ด้วย” เพราะกรมสรรพสามิตผู้ดูแลการจัดเก็บภาษีเหล้าเบียร์ ของมึนเมาทั้งหลาย ก็จ้องเขม็งเตรียมขึ้นภาษีกับเขาด้วย โดยบอกว่า มันถูกจัดเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทหนึ่งแต่ยังไม่มีพิกัดภาษี ซึ่งจะต้องมีการออกเป็นกฎกระทรวง เสนอ รมว.คลัง และคณะรัฐมนตรี เห็นชอบก่อนที่จะประกาศมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะรวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องแต่เป็นนวัตกรรมของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร - สุราอัดเม็ด ที่ยังไม่เคยมีพิกัดภาษีด้วย
3
แต่การจัดเก็บภาษีเบียร์ไร้แอลกอฮอล์จะไม่กระทบกับราคาขายปลีก เนื่องจากปัจจุบันเบียร์ไร้แอลกอฮอล์มีการเสียภาษีที่ต่ำกว่าเบียร์ปกติ คือเสียในอัตราเครื่องดื่มทั่วไป เช่น น้ำอัดลม ที่ 14% ดังนั้นถ้ามีการจัดเก็บภาษี ราคาขายจึงไม่มีเหตุผลให้ต้องปรับขึ้น
รวมทั้งเป็นการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่เข้าสู่วงการสายเมาด้วย
เอาละ ตรงนี้ก็พอเข้าใจความปรารถนาดีของกรมสรรพสามิตนะที่อยากให้คนไทยห่างไกลจากอบายมุข แต่ผมก็อดสงสัยไม่ได้อยู่ดีว่า ในเมื่อเบียร์มันไม่มีแอลกอฮอล์ กินแล้วไม่เมา แถมยังเป็นเครื่องดื่มทางเลือกเพื่อสุขภาพอย่างหนึ่งที่สามารถฉลองสังสรรค์ได้ โดยไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนจากสติสัมปชัญญะที่ลดลงในการขับขี่ยานพาหนะ แต่ก็มีการปรับขึ้นภาษีที่สูงกว่าเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์บ้างชนิดเสียอีก
**เทียบชัดๆ ปริมาณแอลกอฮอล์ต่ออัตราภาษีของเครื่องดื่มมึนเมา**
ด้วยการที่ผมก็เป็นนักเขียน และขี้สงสัยเสียด้วย เลยอยากรู้ว่าเครื่องดื่มมึนเมาที่วางขายในท้องตลาดของประเทศไทยที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีเนี่ย มันมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์กี่เปอร์เซ็นต์ และมีการเสียภาษีกี่เปอร์เซ็นต์ และเมื่อผมอ่านข้อมูลจากฉลากรวมทั้งข้อมูลภาษีต่อปริมาณแอลกอฮอล์จะพบ “ความงงงวย” อยู่ไม่น้อย เพราะเครื่องดื่มบางชนิดที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูง กลับจ่ายภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ที่ต่ำกว่า ดังรูปภาพที่ผมทำเปรียบเทียบมาให้ดูนี่และ
1
คำถามคือ ทำไมเครื่องดื่มบางยี่ห้อ บางชนิด ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงเช่น สุรา ถึงเก็บเก็บภาษีต่ำกว่าเบียร์ หรือน้ำผลไม้ผสมแอลกอฮอล์ ถึงเก็บภาษีถูกกว่าเบียร์ไร้แอลกอฮอล์และน้ำอัดลม ทั้งๆ ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงกว่าแบบชัดเจน อันนี้น่าคิดนะครับ และอยากให้กรมสรรพสามิต อธิบายว่ามีเกณฑ์อะไรพิจารณาเพิ่มเติมที่ทำให้ข้อมูลที่ได้มันดูย้อนแย้งแปลกๆ แบบนี้
2
บาวาเรีย VS ไฮเนเก้น เปิดหน้าชิงเจ้าตลาดเบียร์ไร้แอลกอฮอล์
เอาละ มาถึงตรงนี้ ผมว่าหลายคนคงจะเห็นข้อมูล และรู้จักว่าเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ มันคืออะไรแล้ว ที่สำคัญมันกำลังจะเจอกับอัตราภาษีใหม่ในปีนี้ แต่ 2 ผู้ผลิตเบียร์ไร้แอลกอฮอล์รายใหญ่จากดินแดนกังหันลมอย่าง “บาวาเรีย” และ “ไฮเนเก้น” ต่างรุกทำตลาดในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของนักดื่ม
โดย “บาวาเรีย” นับเป็นเจ้าแรกที่เข้ามาทำตลาดเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ในประเทศไทยแบบเงียบๆ ตั้งแต่ปี 2014 ภายใต้การนำเข้าของบริษัทกัปตัน บาร์เรล จำกัด ซึ่งบาวาเรียนับเป็นเจ้าแรกของโลกที่ผลิตเบียร์ไร้แอลกอฮอล์เมื่อ 40 ปี ที่แล้ว ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ “บาวาเรีย 0.0% มอลต์ ดริ้งค์”
ความน่าสนใจของบาวาเรีย 0.0% ก็คือ การมีรสชาติที่หลากหลายกว่าแบรนด์อื่น โดยในไทย มี 3 รสชาติ ได้แก่ แอปเปิ้ล สตรอเบอร์รี่ และเลมอน ส่วนในตลาดโลกมีถึงกว่าสิบรสชาติ ทั้งพีซ เสาวรส ข้าวสาลี เป็นต้น ซึ่งยังเป็นความต่างและมีทางเลือกที่มากกว่าให้แก่ผู้บริโภค
3
ส่วนในปีนี้บาวาเรีย มีแผนที่จะลุยทำตลาดเบียร์ไร้แอลกอฮอล์มากขึ้น ตั้งเป้าหมายว่าในปีนี้จะมีอัตราการเติบโตราว 20% ตามกระแสเทรนคนรักสุขภาพ
ส่วน “ไฮเนเก้น” ค่ายเบียร์รายใหญ่ของโลก ก็ส่ง “ไฮเนเก้น 0.0” ลงชิงส่วนแบ่งการตลาดเบียร์ไร้แอลกอฮอล์เช่นกัน แม้จะเข้ามาทีหลังคู่แข่งหลายปี แต่นับว่าเปิดตัวแรงและทำการตลาดเต็มที่ไม่มีกั๊ก พร้อมออกตัวว่า ไฮเนเก้น 0.0 ไม่ใช่เบียร์นะจ๊ะ แต่เป็นนวัตกรรมของเครื่องดื่มทางเลือกเพื่อสุขภาพ เพื่อตอบรับความต้องการของผู้บริโภคที่เข้าสู่สังคมแบบ Healthy Balance Lifestyle หรือวิถีชีวิตที่อยู่บนความพอเหมาะพอควร และสอดคล้องกับเทรนด์ในการบริโภคแอลกอฮอล์แบบพอเหมาะพอควร ที่เป็นกระแสคลื่นความนิยมของคนยุคนี้ทั่วโลก
1
จุดเด่นของ ไฮเนเก้น 0.0 ที่นอกจากจะเป็นเครื่องดื่มที่ปราศจากแอลกอฮอล์ตามคำนิยามของกฎหมายแล้ว ยังให้พลังงานต่ำเพียง 69 แคลอรี่ เป็นมิตรต่อห่วงยางรอบเอว ถึงแม้ทางแบรนด์จะตัดแอลกอฮอล์ออกจากตัวเครื่องดื่ม แต่เนื่องจากไฮเนเก้น 0.0 อยู่ภายใต้แบรนด์ไฮเนเก้น แบรนด์จึงพยายามใช้ข้อกำหนดในการจำหน่ายให้เหมือนกัน สำหรับการซื้อขายในประเทศไทย ไฮเนเก้น 0.0 จะจำหน่ายให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ เท่านั้น เพื่อเป็นการเคารพต่อกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2
สุดท้ายนี้อยากให้ทราบว่า ตลาดเบียร์ในประเทศไทย นับว่าเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเมื่อปี 2018 มีมูลค่าตลาดสูงถึง 199,000 ล้านบาท และเบียร์เกรดพรีเมียมก็มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 6,000 ล้านบาท ซึ่งเจ้าตลาดในเบียร์กลุ่มนี้ก็คือไฮเนเก้น
1
แต่หลังจากนนี้ก็ต้องมารอดูว่าทิศทางการเติบโตของตลาดเบียร์ไร้แอลกอฮอล์จะมีมูลค่ามากขึ้นเพียงใด รวมทั้งเรื่องของการปรับขึ้นภาษีที่ยังต้องรอดูว่าจะมีการกำหนดการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มชนิดนี้อยู่ที่เท่าไหร่ และเป็นธรรมกับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด แต่อย่างน้อยเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งของนักดื่มที่นอกจากจะยงสังสรรค์ได้เหมือนปกติแล้ว ยังเป็นการรับผิดชอบต่อสุขภาพของตัวเอง และรับผิดชอบต่อสังคมอีกทางหนึ่งอีกด้วย
โฆษณา