20 ม.ค. 2020 เวลา 11:34 • กีฬา
โซตะ ฮิรายามะ : “สัตว์ประหลาด” แห่งฟุตบอลมัธยมปลายที่ไม่เฉิดฉายในโลกอาชีพ
แม้ว่าเจลีก ลีกฟุตบอลอาชีพของญี่ปุ่นจะก่อตั้งมากว่า 20 ปี แต่ฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ฟุยุโคคุริตสึ” (ศึกชิงแชมป์แห่งชาติฤดูหนาว) ก็ยังเป็นหนึ่งในการแข่งขันที่ได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลายสำหรับชาวอาทิตย์อุทัย
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้เป็นที่สนใจ คือมันเป็นโอกาสที่จะได้เห็นฝีเท้าของเหล่าแข้งดาวรุ่ง ที่อาจก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในอนาคตของทีมชาติญี่ปุ่น เหมือนที่ เคซุเกะ ฮอนดะ, ชุนซุเกะ นาคามูระ หรือ ฮิเดโตชิ นาคาตะ ทำมาก่อน
และเมื่อราว 17-18 ปีก่อน ได้มีนักเตะคนหนึ่งกลายเป็นความหวังใหม่ของวงการฟุตบอลญี่ปุ่น หลังสร้างปรากฎการณ์สังหารประตูคู่แข่งแบบไม่ไว้หน้าในศึกชิงแชมป์ฤดูหนาว จนคว้าตำแหน่งดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของรายการ และได้รับการขนานนามว่า “สัตว์ประหลาด”
โซตะ ฮิรายามะ คือชื่อของเขา แต่หลังจากนั้น ผู้คนกลับแทบไม่ค่อยได้ยินชื่อนี้ เกิดอะไรขึ้นกับ สัตว์ประหลาดตนนี้ ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
กำเนิดสัตว์ประหลาด
ฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติ ถือเป็นหนึ่งในทัวร์นาเมนต์ที่ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น ด้วยประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และนักเตะชื่อดังหลายคนต่างเคยผ่านเวทีแห่งนี้ ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของมันไม่ต่างจาก “โคชิเอ็ง” ของเบสบอล
Photo : www.soccer-king.jp
นักเตะหลายคน จึงใฝ่ฝันอยากมาเล่นในรายการนี้ให้ได้สักครั้งในชีวิต แต่สำหรับ ฮิรายามะ เขาไม่ได้แค่มาโชว์ฝีเท้า แต่กลับสร้างตำนานให้กับตัวเองในทัวร์นาเมนต์นี้
มันเริ่มขึ้นในปี 2000 ที่ฝีเท้าเด็กของหนุ่มจังหวัดฟุคุโอกะไปเตะตา ทาดาโตชิ โคมิเนะ โค้ชคนดังของโรงเรียนคุนิมิ จากจังหวัดนางาซากิ ตอนไปซ้อมที่ศูนย์ฝึกคิวชู (ญี่ปุ่นจะมีศูนย์ฝึกฟุตบอลกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศที่เรียกว่า เทรเซ็น ซึ่งมาจาก Training Center)
ทำให้ตอน ม.3 เขาได้ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนคุนิมิ จากคำชักชวนของโค้ชโคมิเนะ ที่หมายมั่นปั้นมือว่าเด็กคนนี้จะกลายเป็นเอซคนใหม่ของทีม
“เขาเหนือกว่า ยูโสะ คุราโคชิ (อดีตเอซของคุนิมิ และหนึ่งในสมาชิกทีมชาติญี่ปุ่นชุดเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโลก U17 เมื่อปี 1993) เสียอีก” โคมิเนะกล่าว
อันที่จริง “คุนิมิ” หรือ โรงเรียนนางาซากิเคงริตสึคุนิมิ คือหนึ่งในโรงเรียนที่เอกอุด้านฟุตบอลของญี่ปุ่นอยู่แล้ว พวกเขาคือทีมที่ผ่านเข้าไปเล่นในศึกชิงแชมป์ฤดูหนาวติดต่อกันได้มากที่สุด (ก่อนจะถูก อาโอโมริ ยามาดะ ทำลายไปในปี 2018) และเป็นแชมป์ในรายการนี้ถึง 4 สมัยในตอนนั้น
Photo : www.sankei.com
แต่การเข้ามาของ ฮิรายามะ ก็เหมือนเป็นจิ๊กซอว์ที่ทำให้ คุนิมิ แข็งแกร่งขึ้น และเขาก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ฮิรายามะ เริ่มฉายแววทันทีตั้งแต่ชั้น ม.4 เมื่อประเดิมประตูแรกให้ทีมในศึกชิงแชมป์ฤดูหนาวรอบรองชนะเลิศที่พบกับ คาโงชิมา จิตสึเงียว
ประตูที่เขาทำได้ แสดงให้เห็นเซนส์ของกองหน้าอย่างแท้จริง เริ่มจากด้วยการฉีกหนีตัวประกบเข้าไปรับบอลในกรอบเขตโทษ ก่อนจะล็อคหลบกองหลังแล้วแล้วจิ้มเข้าผ่านมือผู้รักษาประตูเข้าไป ช่วยให้ทีมเอาชนะ 4-1 ก่อนจะก้าวไปคว้าแชมป์ในที่สุด
แต่นั่นก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
ชายแห่งศึกชิงแชมป์แห่งชาติ
ปีต่อมา ฮิรายามะ ก้าวขึ้นมาเป็นตัวหลักของคุนิมิอย่างเต็มตัว เขาได้มีโอกาสชิมลางฟุตบอลอาชีพ ด้วยการทำแฮตทริคได้ในศึก เอ็มเพอเรอร์สคัพ รอบแรก ในเกมเอาชนะโรงเรียนยามางาตะ จูโอ 3-0 ก่อนจะไปได้ถึงรอบ 3 หลังจอดป้ายในการพบกับ จูบิโล อิวาตะ จากเจลีก
Photo : 芸能エンタメ倶楽部.com
และมันก็ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับ ฮิรายามะ ที่ทำให้เขาสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นดาวยิงแห่งศึกชิงแชมป์แห่งชาติครั้งที่ 81 หลังไล่พังตาข่ายคู่แข่งอย่างไม่ไว้หน้า
ด้วยรูปร่างที่สูงใหญ่ และร่างกายที่แข็งแกร่ง ทำให้เขากลายเป็นกองหน้าตัวอันตรายของทัวร์นาเมนต์ โดยเฉพาะลูกกลางอากาศของเขา ที่เป็นอาวุธที่ไม่มีทีมไหนเอาอยู่ รายการนั้น เขาระเบิดตาข่ายไปทั้งสิ้น 7 ประตู คว้าดาวยิงสูงสุดของรายการ แต่น่าเสียดายที่ทีมทำได้เพียงแค่รองแชมป์
นอกจากนี้ด้วยผลงานที่โดดเด่นยังทำให้เขาถูกเรียกติดทีมชาติญี่ปุ่นชุดอายุไม่เกิน 20 ปี ชุดสู้ศึกฟุตบอลโลก U20 ที่ยูเออี ในปี 2003 และทัวร์นาเมนต์ดังกล่าวก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาไม่ได้เก่งแต่ฟุตบอลระดับมัธยมปลาย หลังยิง 2 ประตู (หนึ่งในนั้นคือเกมพ่ายบราซิล 1-5) ช่วยให้ทีมเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย
Photo : www.sankei.com
ประสบการณ์เวทีในระดับโลก ยังทำให้ ฮิรายามะ พัฒนาตัวเองไปอีกขั้น ทำให้ตอน ม.6 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในชีวิตมัธยมปลาย กลายเป็นปีที่สุกงอมของเขาพอดี
เขากลายเป็นกองหน้าจอมทำลายล้างที่หยุดไม่อยู่ และยิงประตูคู่แข่งได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแค่ลูกโหม่งเท่านั้น แต่ลูกภาคพื้นดินก็ยังทำได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ว่าการพักแล้วยิง หรือลากเลื้อยเข้าไปซัด ก็ไม่ใช่เรื่องยาก จนได้รับฉายาว่า “สัตว์ประหลาด”
หนึ่งในไฮไลต์สำคัญนั้นคือการทำแฮตทริค ในเกมรอบรองชนะเลิศที่เอาชนะทาคิงาวะ ไดนิ ของ ชินจิ โอคาซากิ ไปอย่างขาดลอย 4-0 เช่นเดียวกับนัดชิงชนะเลิศ ที่แม้จะโดนกองหลังคู่แข่งประกบหนัก แต่ไม่คณามือ หลังยิง 2 จ่าย 1 ช่วยให้คุนิมิ ไล่ถล่ม จิคุโย กัคคุเอ็ง ไปอย่างขาดลอย 6-0 คว้าแชมป์สมัยที่ 6 ได้สำเร็จ
“มันเป็นแค่การระเบิดความรู้สึกออกมา ผมแค่อยากทำประตูได้ แค่อยากจะขอบคุณทุกคน” ฮิรายามะ กล่าวกับ Nikkan Sports หลังเกม
ตลอดทั้งรายการ ฮิรายามะ ซัดให้คุนิมิไปทั้งสิ้น 9 ประตู แถมยังยิงได้ทั้ง 5 นัดที่ลงสนาม พร้อมคว้ารางวัลดาวซัลโวสูงสุดของทัวร์นาเมนต์เป็นปีที่สองติดต่อกัน ทำให้แม้ในรายการนั้น จะอุดมไปด้วยนักเตะฝีเท้าดีน่าจับตา ไม่ว่าจะเป็น เคซุเกะ ฮอนดะ (เซเรียว), โอคาซากิ (ทาคิงาวะ ไดนิ) หรือ โรเบิร์ต คัลเลน (ฟุนาบาชิ) แต่ไม่มีใครที่จะได้รับการยกย่องไปกว่า ฮิรายามะ
นอกจากนี้ 9 ประตูดังกล่าวยังทำให้เขากลายเป็นผู้เล่นที่ยิงประตูได้มากที่สุดตลอดกาลของศึกชิงแชมป์แห่งชาติ หลังยิงรวมไปทั้งสิ้น 17 ประตูจากตลอด 3 ปี ทำลายสถิติเดิมของ ฮิเดกิ คิตาจิมา ของฟุนาบาชิ ที่ทำไว้ 16 ประตู จนถูกเรียกว่า “ชายแห่งศึกชิงแชมป์แห่งชาติ”
หลังจากนั้นญี่ปุ่น ก็เริ่มเล็กไปสำหรับเขา
สู่ระดับโลก
แม้จะทำผลงานได้อย่างสุดยอดในฟุตบอลมัธยมปลาย แต่ฮิรายามะ ก็ชะลอการเป็นนักเตะอาชีพของตัวเองไว้ก่อน เมื่อตัดสินใจเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสึคุบะ หลังจบการศึกษาจากคุนิมิ
Photo : bunshun.jp
“ผมไปเรียนมหาวิทยาลัยเพราะตอนแรกยังไม่ได้คิดที่จะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ผมทำประตูได้มากมายในศึกชิงแชมป์แห่งชาติ ต้องบอกว่าเพื่อนร่วมทีมมีส่วนสำคัญมาก แน่นอนว่าเวิลด์ยูธ (ฟุตบอลโลก U20) ก่อนศึกชิงแชมป์ตอนปี 3 ทำให้ผมเล่นง่ายขึ้น” ฮิรายามะ ย้อนความหลังกับ Shupure News
แต่ดูเหมือนว่าโชคชะตาของเขาจะถูกลิขิตไว้กับเส้นทางสายนี้ เมื่อในปี 2005 เขาถูกเรียกติดทีมชาติญี่ปุ่นไปเล่นฟุตบอลโลก U20 ที่เนเธอร์แลนด์ และทัวร์นาเมนต์ดังกล่าวก็ทำให้ได้ไปค้าแข้งในยุโรป
แม้ว่าปีดังกล่าว ญี่ปุ่นจะไปได้ไกลแค่รอบ 16 ทีมสุดท้าย แต่ประตูของฮิรายามะ ในเกมพ่ายเจ้าภาพ 2-1 ก็ทำให้เขาได้รับความสนใจจากทีมในลีกดัตช์ ก่อนจะได้เซ็นสัญญากับ เฮราเคิ่ลส์ อัลเมโล่ สโมสรน้องใหม่ที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในเอเรดิวิซีลีก
“การย้ายไปอยู่เฮราเคิ่ลส์ เพราะว่าผมอยากจะเติบโตไปอีกขั้น หลังจากมีประสบการณ์ได้เล่นในเวิลด์ยูธอีกครั้ง” ฮิรายามะ อธิบายกับ Shupure News
“ตอนนั้น แม้จะเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย แต่เพราะต้องไปเล่นให้กับ U20 และโอลิมปิกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผมแทบไม่ได้เข้าเรียนเกือบครึ่ง ก็เลยคิดว่าเราจะไปมหาวิทยาลัยทำไมนะ”
Photo : soccer.findfriends.jp
แม้จะไม่เคยมีประสบการณ์ในเจลีก แต่ฮิรายามะ กลับทำได้ดีเกินคาด เขาปรับตัวเข้ากับฟุตบอลของเนเธอร์แลนด์ได้อย่างรวดเร็ว และเพียงนัดแรกที่ลงสนาม เขาก็เริ่มสร้างชื่อได้ทันที
ฮิรายามะ ถูกส่งลงมาในช่วง 15 นาทีสุดท้าย ตอนที่ทีมกำลังตามหลังเจ้าบ้าน เอดีโอ เดน ฮาก 1-0 และแค่เพียง 2 นาทีเขาก็โหม่งประตูตีเสมอให้ทีมได้สำเร็จ และก่อนหมดเวลา 6 นาที ลูกกลางอากาศของเขาก็มาแผลงฤทธิ์ หลังโหม่งประตูชัย ช่วยให้ทีมพลิกแซงคว้า 3 คะแนนได้สำเร็จ
ฤดูกาลแรกในเวทียุโรปของ ฮิรายามะ เริ่มต้นอย่างหอมหวาน เขาได้รับโอกาสลงสนามบ่อยครั้ง ก่อนจะตอบแทนความไว้ใจของโค้ช ด้วยการทำไปถึง 8 ประตู ช่วยให้ทีมรอดพ้นจากการตกชั้น พร้อมคว้ารางวัลดาวซัลโวสูงสุดของสโมสร
“ฮิรายามะเป็นพวกที่ใช้งานได้ในระดับโลก เขาทำได้ดีกับผลงานที่ยูเออี (ฟุตบอลโลก U20 ปี 2003) ทั้งการเคลื่อนที่และการอดทนต่อสภาพแวดล้อม เขาไม่ได้มีแค่เทคนิคเท่านั้น แต่เขายังมีความแข็งแกร่งทางจิตใจที่สั่งสมมาด้วย” มาซาคุนิ ยามาโมโต กุนซือทีมชาติญี่ปุ่นชุดโอลิมปิก ที่เคยเรียกเขาติดทีมลุยเอเธนส์เมื่อปี 2004 กล่าวกับ Nikkan Sports
ทุกอย่างมันเหมือนกำลังเป็นไปได้ดี การคว้าดาวซัลโวของทีมตั้งแต่ปีแรกในยุโรปถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดา แถมปีต่อมาเขายังได้รับเบอร์เสื้อหมายเลข 9 ที่แสดงให้เห็นถึงการยอมรับต่อเพื่อนร่วมทีม
แต่การจากไปของ ปีเตอร์ บอสซ์ ที่ย้ายไปรับตำแหน่งประธานเทคนิคของ เฟเยร์นูร์ด ก็เหมือนฟ้าผ่ากลางหัวของเขา การมาถึงของ รุด บรอด ทำให้เขาไม่ได้อยู่ในแผนการทำทีม จนสุดท้าย ฮิรายามะ ก็ขอยกเลิกสัญญากับทีม โดยให้เหตุผลว่าขอกลับไปศึกษาต่อ
มันเป็นการปิดฉากเส้นทางยุโรป ไปแบบไม่ตั้งตัว พร้อมกับสิ่งที่ในตัวเขาที่เริ่มมอดไหม้ไปอย่างช้าๆ
จิตใจไม่มั่นคง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุที่แท้จริง ที่ทำให้ ฮิรายามะ ขอกลับบ้านเกิด ไม่ได้มาจากเรื่องเรียน แต่เป็นเพราะ มาจากความเหน็ดเหนื่อยทั้งร่างกายและจิตใจที่ต้องฝึกฝนตัวเอง เพื่อต่อสู้กับกองหลังที่มีรูปร่างสูงใหญ่ของเนเธอร์แลนด์
นั่นจึงทำให้ เฮราเคิ่ลส์ รู้สึกโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ตอนที่เห็นฮิรายามะ เปิดตัวกับ เอฟซี โตเกียว ทั้งที่เพิ่งยกเลิกสัญญากับพวกเขาได้ไม่กี่เดือน
Photo : www.fctokyo.co.jp
“เขาเป็นกองหน้าพรสวรรค์ แต่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับที่นี่ได้ ในจุดหนึ่งเขามาหาเราพร้อมกับประกาศว่าเขากำลังคิดที่จะเลิกเล่นฟุตบอล” ยาน สมิธ ประธานสโมสรเฮราเคิ่ลส์ ย้อนความหลังกับ voetbalprimeur.nl
“เขาอยากกลับไปญี่ปุ่น เพื่อเรียนต่ออีกครั้ง หลังจากนั้นเราก็ยินดีที่จะยกเลิกสัญญาและอวยพรให้เขาโชคดี”
“แต่สองวันต่อมา ฮิรายามะ ยิงประตูแรกให้กับสโมสรใหม่ที่ญี่ปุ่น บางครั้งคุณก็ต้องพูดความจริง”
และปัญหาทางจิตใจก็ส่งผลต่อตัวเขาเรื่อยมา แม้แต่ตอนที่กลับมาที่ญี่ปุ่น ในช่วงแรกอาจจะดูเป็นปกติ เพราะเขายังยิงได้ในหลัก 7-8 ประตูต่อฤดูกาล แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันก็เริ่มชัดเจนขึ้น
ในช่วงต้นปี 2009 เขาเริ่มมีปัญหาสภาพจิตใจอย่างหนัก เขาเริ่มรู้สึกไม่มั่นคง และไม่รู้ว่าจะจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้อย่างไร เขากลายเป็นคนเกเร มาซ้อมสาย แม้ว่าบ้านพักจะอยู่ใกล้กับสนามซ้อมของโตเกียว จนทำให้ถูกดร็อปจากทีมของ ฮิโรชิ โจฟุคุ กุนซือของโตเกียวในตอนนั้น
Photo : www.jsgoal.jp
“ชีวิตนักฟุตบอล จะให้มันจบลงไปด้วยสภาพที่เสื่อมถอยอย่างนี้หรือ” ฮิรายามะกล่าวกับ The Page
“ผมรู้สึกว่า ไม่ว่าจะได้ลงสนามหรือไม่ได้ลงสนาม แต่ก็ต้องซ้อมเหมือนกัน ชีวิตนักฟุตบอลมันสั้น ผมรู้สึกเสียดายกับเวลาที่เสียไป (ในการซ้อมแต่ไม่ได้ลง)”
นอกจากนี้ เขายังรู้สึกว่า ตั้งแต่จบจากคุนิมิมา ไม่มีโค้ชคนไหน ที่สามารถดึงศักยภาพของเขาออกมาได้เหมือนกับโค้ชโคมิเนะ เหมือนที่เคยสร้างให้เขากลายเป็น “สัตว์ประหลาด” แห่งฟุตบอลมัธยมปลาย
อย่างไรก็ดี คำพูดของ โจฟุคุ ก็ทำให้เขาได้สติกลับมา
“ผมถูกเตือนหลายครั้งว่า ทั้งๆ ที่ได้เล่นฟุตบอลที่ชอบเป็นอาชีพและได้เงินด้วยซ้ำ ถ้าเดิมพันชีวิตกับฟุตบอลไปแล้ว จะมาสายก็คงจะไม่ได้แล้ว พอหันกลับมามองก็รู้ได้ว่าชีวิตมันต้องหนักแน่นกว่านี้” ฮิรายามะ ย้อนความหลัง
ทำให้หลังจากนั้น ฮิรายามะ เขาขอแก้ตัวใหม่ เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง ซึ่งไม่ใช่แค่มาซ้อมทันเวลาเท่านั้น แต่เขายังอยู่ซ้อมต่อในช่วงบ่าย และซ้อมพิเศษกับโค้ชกายภาพ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางร่างกาย
หลังจากเสียเวลาไปกับปัญหาทางจิตใจที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาฝีเท้า เขาก็เริ่มเขาก็กลับมาทวงตำแหน่งกองหน้าตัวจริงของทีมได้อีกครั้ง และไม่เพียงแต่พาทีมจบฤดูกาล 2009 ในอันดับ 5 ของตาราง แต่ยังยิงประตูช่วยให้ โตเกียว คว้าแชมป์ เจลีก คัพ ในปีนั้นได้อีกด้วย
“ฟุตบอลกลายเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกของผมตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากที่เห็นด้วยตา ผมอยากตระหนักรับรู้ได้ว่าอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง”
และมันก็เป็นเหมือนช่วงขาขึ้นของ ฮิรายามะ เมื่อเขามีชื่อติดทีมชาติญี่ปุ่น ชุดทำศึกเอเชียนคัพรอบคัดเลือก 2011 ก่อนจะประเดิมสนามได้อย่างยอดเยี่ยม ซัดแฮตทริค ช่วยให้ญี่ปุ่นที่ตามหลังเยเมน 2-0 พลิกแซงเอาชนะไปได้ 3-2
แต่ช่วงเวลาแห่งความสุขก็อยู่กับเขาได้ไม่นานอีกครั้ง
เคราะห์ซ้ำกรรมซัด
“ผมได้โอกาสดีๆ เสมอ แต่ผมไม่สามารถสานต่อมันได้เลย” ฮิรายามะกล่าวกับ Shupure News
ในปี 2010 เป็นเหมือนปีที่ขึ้นสุด-ลงสุดสำหรับฮิรายามะ เขาเพิ่งเริ่มต้นได้อย่างยอดเยี่ยมกับทีมชาติญี่ปุ่น แต่ตรงข้ามกับสโมสร เมื่อโตเกียวทำผลงานได้อย่างย่ำแย่ จนทำให้ โจฟุคุ ถูกปลด และสุดท้ายก็ไม่รอด เมื่อทีมร่วงตกชั้นตอนจบฤดูกาล
Photo : www.sankei.com
และเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อในเดือนเมษายนปี 2011 ระหว่างที่เจลีกพักเบรกชั่วคราวจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น เขาดันมาได้รับบาดเจ็บ หน้าแข้งขวาหักในการฝึกซ้อมช่วงจนต้องพักยาวจนจบฤดูกาล
แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น ฮิรายามะ มาได้รับบาดเจ็บที่จุดเดิมอีกครั้ง ในเดือนพฤษภาคม 2012 ทั้งที่ทีมได้เลื่อนชั้นกลับมาเล่นในเจ 1 ที่ทำให้เขาต้องหายหน้าหายตาไปจากวงการฟุตบอลอยู่พักใหญ่
ฮิรายามะ กลับมามีชื่ออีกครั้งในช่วงท้ายฤดูกาล 2012 หลังถูกส่งลงสนามในช่วง 9 นาทีสุดท้ายในเกมถล่ม เวกัลตะ เซนได 6-2 แต่เขาก็รู้ว่าตัวเขาคนเก่า ไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิมอีกแล้ว
“สัญชาติญาณในการเล่นฟุตบอลของผมทื่อลงไปมาก ผมลืมความรู้สึกของการทำประตูไปแล้ว” ฮิรายามะระบายกับ The Page
“การเตรียมตัวก่อนเกมเกมการแข่งขัน และความเครียดที่สะสมมาทำให้ร่างกาย ของผมไม่สามารถลงไปสู้ได้ครบ 90 นาทีอีกแล้ว ลำพังแค่การซ้อมเรียกความฟิต ร่างกายของผมก็แทบจะไม่ไหว”
มันคือช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่เขาใช้ไปกับการรักษาอาการบาดเจ็บ แต่วิบากรรมของเขาไม่ได้จบแค่นั้น เมื่อฮิรายามะ มาได้รับบาดเจ็บข้อเท้าขวาหักในเดือนกันยายน 2014 ที่ทำให้เขาต้องพักยาว และลงเล่นในเจ 1 ฤดูกาล 2015 ไปเพียงแค่ 2 นัดเท่านั้น​​​
เขาพยายามสู้ต่อ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ไหว การบาดเจ็บซ้ำๆ บั่นทอนทั้งร่างกายและจิตใจเขาเหลือเกิน แม้จะย้ายมาเล่นให้กับ เวกัลตะ เซนได ในปี 2017 แต่อาการบาดเจ็บ ยังคงตามมาหลอกหลอน ทำให้เขาหมดความอดทน และตัดสินใจแขวนสตั๊ดอย่างสุดช็อคด้วยวัยเพียง 32 ปี
Photo : gekisaka.jp
“การได้รับบาดเจ็บซ้ำๆ และไม่ค่อยได้ลงเล่น ทำให้ผมตัดสินใจเลิกเล่น ผมต้องขอโทษที่ทำให้สโมสรต้องเดือดร้อนในช่วงเวลาที่สำคัญก่อนเปิดฤดูกาล ยิ่งไปกว่านั้น ผมรู้สึกขอบคุณมากที่ยอมรับการตัดสินใจนี้” แถลงการณ์ในเว็บไซต์เวกัลตะ ของฮิรายามะ
“แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ผมต้องขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้องกับ เวกัลตะ เซนได ทุกคน ทั้งสตาฟโค้ช ผู้เล่นที่ทำให้ผมรู้สึกว่าผมเป็นส่วนหนึ่งของสโมสรแห่งนี้”
“สำหรับ เอฟซี โตเกียว ผมเคยเล่นที่นั่น 11 ปี และรู้สึกราวกับที่นั่นเป็นบ้าน ผมรู้สึกมีความสุข สนุก เสียใจ เศร้าใจ และมีความทรงจำมากมายที่นั่น”
“การได้เจอกับคนมากมายถือเป็นสิ่งล้ำค่าสำหรับ ผมต้องขอบคุณการสนับสนุนของแฟนบอลในปี 2010 ที่ให้กำลังใจในช่วงเวลาที่ยากลำบากตอนที่เราตกชั้นไปเจ 2”
มันคือการปิดฉากอย่างน่าเศร้า ของนักเตะคนหนึ่งที่เคยเป็นความหวังของวงการฟุตบอลญี่ปุ่น
สู่เส้นทางใหม่
หลังเลิกเล่น ฮิรายามะ ในวัย 32 ปี หวนกลับเข้าสู่วงการการศึกษาอีกครั้ง หลังกลับไปเรียนใหม่ที่มหาวิทยาลัยเซนได ในสาขาพละศึกษา โดยหวังว่าใบปริญญา และความรู้ที่ได้จะนำทางเขาไปสู่เส้นทางใหม่
Photo : diamond.jp
“ผมอยากเป็นผู้จัดการทีม” ฮิรายามะ ยืนยันกับ Number
อันที่จริงเส้นทางการเป็นโค้ชส่วนใหญ่ของอดีตนักฟุตบอล มักจะมาจากการไปเรียนไลเซนส์หลังแขวนสตั๊ด และเริ่มต้นด้วยการเป็นโค้ชให้กับทีมอคาเดมี หรือทีมชุดใหญ่ของสโมสร แต่สำหรับ ฮิรายามะ เขากลับมีวิธีคิดที่ต่างออกไป
“เพราะว่าผมมีความรู้แค่ฟุตบอลที่ผมเล่น ผมก็เลยรู้สึกไม่แน่ใจ มีแต่คำถามเต็มไปหมด” ฮิรายามะกล่าวต่อ
“มีโค้ชอยู่มากมายที่รู้แค่เรื่องฟุตบอล และโค้ชที่มีความรู้กว้างขวาง รู้ทุกซอกทุกมุม ถ้าบอกว่าอันไหนดีกว่า มันก็ต้องอย่างหลัง ด้วยเหตุนี้ผมจึงอยากเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง เพื่อเรียนรู้ในสิ่งที่นอกเหนือจากฟุตบอล และมุ่งไปสู่การเป็นผู้จัดการทีม”
Photo : www.nikkansports.com
จริงอยู่ที่เส้นทางนักฟุตบอลอาชีพเขาจะต้องยุติลงก่อนวัยอันควร แต่เส้นทางใหม่ของเขาเพิ่งจะเริ่มตั้งไข่ได้ไม่นาน ปัจจุบัน เขาเป็นเพียงนักศึกษาปี 3 และมีแผนที่จะเข้ารับการอบรมไลเซนส์ ของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น
แม้ว่าสัตว์ประหลาดตนนี้ อาจจะไม่ได้เฉิดฉายอย่างที่ควรในชีวิตนักเตะ แต่ก็ไม่เสมอไปว่าเขาจะไม่ประสบความสำเร็จในเส้นทางโค้ช เส้นทางสายใหม่ที่เขาได้เลือกแล้ว
และเขายังมีเวลาอีกมากมายที่จะได้พิสูจน์
บทความโดย มฤคย์ ตันนิยม
โฆษณา