21 ม.ค. 2020 เวลา 00:00 • กีฬา
[ #ชีวิตลูกเทวดา ]
ซน ฮึง มิน อาจมีพ่อเป็นเหมือนลมใต้ปีกที่คอยพยุงสนับสนุนให้บินสูงอยู่ตลอดเวลา
ส่วนหนึ่งอาจเพราะว่า ซน อึน จอง พ่อของเขาเป็นนักเตะอาชีพที่ไม่ได้มีชื่อเสียงน่าจดจำอะไรนัก ไม่เคยติดทีมชาติชุดใหญ่เกาหลีใต้ ผ่านแค่ทีมชาติชุดบีเท่านั้น
แรงกดดันจากชื่อเสียงในอดีตของพ่อจึงแทบไม่มี นอกเหนือจากโดนพ่อนี่แหล่ะกดดันให้ต้องอยู่ในกรอบ มีวินัยอย่างเข้มข้น
แน่นอนการที่ลูกชายคนไหนมีพ่อเป็นนักฟุตบอลย่อมได้รับโอกาสมากกว่า ในการก้าวสู่แข้งอาชีพในอนาคต
ยอร์ดี้ ครัฟฟ์ ก็เป็นอย่างนั้นเลย แต่เคสของเขาอาจต้องมีเครื่องหมายดอกจันเป็นหมายเหตุแปะไว้ข้างล่างด้วย
หมายเหตุที่ว่ามันน่าสนใจเลยทีเดียว...
ความยิ่งใหญ่ของ โยฮัน ครัฟฟ์ ในโลกลูกหนังนั้นมหาศาลขนาดไหน เราคงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณกันให้เสียเวลานัก
เขาเป็นนักเตะอาชีพที่ถูกยกย่องว่ามีฝีเท้าเหนือดุจเทวดา เป็นผู้บุกเบิกค้นพบวิธีการเล่นฟุตบอลที่ไม่ซ้ำใครหรือที่รู้จักกันในนาม "โททั่ลฟุตบอล" นั่นเอง
อาจจะจริงที่ว่า ไรนุส มิเชลส์ คือคนคิดสไตล์การเล่นนี้ขึ้นมา แต่ ครัฟฟ์ คือคนนำมาต่อยอด สร้างสรรค์ให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างชัดเจน เป็นการตอบสนองได้ดีกว่าที่คิดไว้มาก
ไม่ผิดนักถ้าเราจะบอกว่า ครัฟฟ์ ปฏิวัติขึ้นมาจากมันสมองและสองเท้าอย่างแท้จริง โดยมีกลุ่มเพื่อนอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัมในยุคกลางทศวรรษ 60 ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
"การเล่นฟุตบอลเป็นเรื่องง่าย แต่การเล่นให้ง่ายเป็นเรื่องยาก"
นี่คือวรรคทองของ ครัฟฟ์ ที่ช่วยให้โลกฟุตบอลเข้าใจแก่นของโททั่ลฟุตบอลมากยิ่งขึ้น ว่ามันคือการทดแทนตำแหน่งกันได้ตลอดเวลา รวมทั้งให้แล้วไป เคลื่อนที่ขยับหาช่องว่างเพื่อสร้างโอกาสอยู่ตลอด
ฟุตบอลในแบบฉบับของ ครัฟฟ์ มีจุดเริ่มต้นที่ "การผ่าน" เพราะหากทำได้ในครั้งแรก มันจะช่วยก่อให้เกิดไอเดียตามมาและนำไปสู่การได้ประตูที่ง่ายขึ้น
ครัฟฟ์ คว้าแชมป์เอเรดิวิซี่หรือลีกสูงสุดของฮอลแลนด์ถึง 8 สมัยใน 2 ยุคของการค้าแข้ง ตามด้วยแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพหรือเทียบเท่ายูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีกอีก 3 สมัยติดต่อกันตั้งแต่ 1971-73
พอโยกไปเล่นกับบาร์เซโลน่าก็ยังครองแชมป์ลาลีกากับโกปา เดล เรย์ได้อีก
ส่วนในนามทีมชาติก็เป็นแกนหลักผลักดันฮอลแลนด์กรุยทางถึงรอบชิงชนะเลิศในปี 1974 ก่อนพ่ายให้เยอรมันตะวันตกอย่างน่าเสียดาย
รางวัลส่วนตัวก็คับคั่งมากมาย แค่บัลลง ดอร์ 3 สมัยก็พอจะรับประกันความยอดเยี่ยมได้ โดยไม่ต้องพูดถึงอีกเพียบที่เรียงรายยาวเป็นหางว่าว
พอแขวนสตั๊ดได้ไม่ถึงปี ก็เปลี่ยนเส้นทางมาคุมอาแจ็กซ์ นำครองบอลถ้วย 2 สมัยและคัพ วินเนอร์ส คัพอีก 1
แต่ความยิ่งใหญ่ในบทบาทกุนซือต้องตอนกุมบังเหียนบาร์เซโลน่าในช่วงปลายทศวรรษ 80 จากยักษ์ใหญ่ที่กำลังหลับสลบสไล ถูกปลุกขึ้นมาอาละวาดอีกครั้ง
ครัฟฟ์ นี่แหล่ะที่นำโททั่ลฟุตบอลมาประยุกต์ ก่อนบาร์ซ่าจะกวาดแชมป์ลาลีกา 4 สมัยติดต่อกัน รวมทั้งเขย่ายุโรปด้วยแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพกับคัพ วินเนอร์ส คัพด้วย
นักเตะศูนย์กลางของทีม ซึ่งเป็นเหมือนตัวตายตัวแทนของเขาไม่ใช่ใครที่ไหนคือ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า นั่นแหล่ะ
เป๊ป ย่อมได้รับอิทธิพลจาก ครัฟฟ์ มาอย่างเต็มที่ เขาจึงเปรียบเสมือนลูกชายนักเตะเทวดา
แต่น่าเสียดายที่ไม่ใช่ลูกชายในไส้จริงๆ
ยอร์ดี้ ครัฟฟ์ ลืมตาดูโลกในปี 1974 ช่วงที่พ่อกำลังอยู่ในช่วงพีกของการค้าแข้งพอดี
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ครัฟฟ์ จะวางแผนไว้ว่าต้องปลุกปั้นลูกชายคนนี้ให้ยิ่งใหญ่บนถนนเส้นเดียวกับที่ตนเองเคยเดินอย่างสง่างาม
อายุแค่ 7 ขวบ ยอร์ดี้ ก็ถูกผลักดันเข้าไปอยู่ที่ศูนย์ฝึกของอาแจ็กซ์ ซึ่งเป็นสโมสรที่พ่อมีอิทธิพลอยู่แล้ว
เขาถูกเคี่ยวกรำอย่างดีจากสถาบันลูกหนังเยาวชนชั้นนำระดับโลก อยู่ 7 ปีเต็ม ก่อนพ่อที่ย้ายไปคุมบาร์เซโลน่าจะหอบหิ้วลูกชายไปอยู่ลา มาเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์ฝึกที่ยิ่งใหญ่ ปั้นนักเตะดังประดับวงการหลายคนเช่นเดียวกัน
ด้วยสถานะเป็นลูกของอดีตนักเตะตำนานและกุนซือคนปัจจุบัน ช่วยไม่ได้ที่ ยอร์ดี้ จะถูกสายตาหลายคู่มองมาแบบกังขาหรือเหยียดหยาม
คำพูดที่ว่า "ถ้าไม่ได้เป็นลูกของ โยฮัน ครัฟฟ์ ไม่มีทางได้มาถึงขนาดนี้หรอก" มันย่อมดังก้องหูอยู่ตลอดเวลา
เปรียบไปแล้ว ยอร์ดี้ เหมือนเด็กเส้นที่ใช้พาวเวอร์ของพ่อคอยผลักดันสนับสนุนมาตลอด
ยอร์ดี้ เล่าให้ฟังว่าบางครั้งเขารู้สึกท้อบ้าง แต่ก็เป็นพ่อนี่เองคอยปลอบอยู่เรื่อยๆ พร้อมทั้งย้ำว่า ตัวลูกเองเท่านั้นที่จะพิสูจน์และจะหักล้างความคิดลบของคนอื่นเหล่านี้ด้วยฝีเท้า
อายุครบ 18 ปี ยอร์ดี้ โปรโมตไปเล่นทีมบาร์เซโลน่าเบหรือชุดบี เพื่อเป็นการปูทางก่อนขึ้นสู่ชุดใหญ่
ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ บวกกับแรงสนับสนุนอย่างเต็มที่ของพ่อ ช่วยให้เขามีพัฒนาการที่ต่อเนื่อง
ตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรุกหรือผู้เล่นหมายเลข 10 คือพื้นที่ถนัดมากๆสำหรับ ยอร์ดี้ ซึ่งโชว์ให้เห็นการจ่ายบอลอย่างเหนือชั้น สร้างสรรค์โอกาสได้ประตู ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาของบาร์ซ่าอย่างแท้จริง
ตลอด 2 ปีที่ปักหลักในทีมชุดบี เขาสร้างผลงานได้อย่างน่าประทับใจมากๆ ไม่ใช่แค่ตัวเลขแอสซิสต์อย่างเดียวที่การันตี จำนวนประตูก็เช่นเดียวกัน ยอร์ดี้ นำดาวซัลโวร่วมกับ ออสการ์ การ์เซีย
จึงเป็นธรรมดาที่เขาจะต้องถูกจับไปเปรียบกับพ่ออีก ว่าจะก้าวมาเป็นผู้สืบสานความยิ่งใหญ่ในสายเลือด ดีเอ็นเอที่เข้มข้นจะทำให้ลูกไม้นี้หล่นไม่ไกลต้นอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตามพอเสียงชื่นชมดังมากขึ้นเรื่อยๆ ยอร์ดี้ กลับกดดันตามไปด้วย เขาไม่ชอบเลยที่ใครต่อใครจะต้องนำไปเปรียบกับพ่อ
"พ่อคือพ่อ เขาเป็นนักเตะที่ยิ่งใหญ่มากๆ โลกต้อนรับมานานแล้ว แต่ผมก็คือผม คงนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย"
ช่วงปรีซีซั่นปี 1994 ครัฟฟ์ หนีบลูกชายไปเตะอุ่นแข้งระหว่างเก็บตัวที่ฮอลแลนด์ด้วย
ยอร์ดี้ สร้างความฮือฮาอย่างมากเมื่อกดแฮตทริกทั้งสองนัดในเกมที่เผชิญหน้ากับโกรนิงเก้นและเดอ กราฟส์ชาป
ครัฟฟ์ บอกตัวเองเลยว่าถึงเวลาเหมาะสมแล้วที่จะต้องดันลูกชายขึ้นชุดใหญ่ ไม่จำเป็นต้องหวั่นเกรงเสียงครหาอีกต่อไป
ฤดูกาล 1994/95 บาร์ซ่าจบอันดับ 4 บนตารางลาลีกา ยอร์ดี้ เป็นท็อปสกอร์ของทีม ยังได้เทียบเท่ากับ ฮริสโต้ สตอยช์คอฟ และ โรนัลด์ คูมันน์
แต่ซีซั่นถัดมาเขาเริ่มได้ลงเล่นน้อยลงและยิงไปได้ 2 ประตูเท่านั้นในลีก ก่อนจะถูกแมนฯยูไนเต็ดคว้าตัวไปช่วงสิงหาคมปี 1996 โดย เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ตั้งใจจะดึงมาเล่นเป็นเพลย์เมคเกอร์ เพิ่มมิติเกมรุก
สมัยเล่นอยู่บาร์ซ่า ที่หลังเสื้อเหนือหมายเลขเบอร์ ยอร์ดี้ จะปักชื่อ Jordi เอาไว้ ด้วยเหตุผลไม่ต้องการถูกนำไปเทียบกับพ่อ อีกทั้งไม่อยากให้ใครคิดว่าใช้บารมีมาช่วย
พอย้ายมาปีศาจแดงแล้ว ตามกฎเดิมของพรีเมียร์ลีกที่กำหนดไว้คือให้นักเตะใช้ชื่อสกุลเท่านั้นที่ข้างหลังเสื้อ
เขาก็เลยต้องใช้ชื่อ Cruyff อย่างไม่มีทางเลี่ยง ซึ่งไม่แน่ใจว่ามันส่งผลต่อฟอร์มในสนามด้วยหรือไม่
แต่ที่แน่ๆ ยอร์ดี้ ไม่ได้โดดเด่นเหมือนสมัยเล่นกับบาร์เซโลน่าในช่วงแรกๆ ต้องเข้าออกระหว่างตัวจริงกับม้านั่งสำรองเรื่อยมา เป็นได้แค่แบ็กอัพในแนวรุกเท่านั้นเอง
นอกจากนั้นยังต้องเจอกับปัญหาอาการบาดเจ็บอีก ทำให้ไม่รุ่งอย่างที่ควรจะเป็น กราฟชีวิตค้าแข้งจึงดิ่งเหวลงเรื่อยๆ
4 ปีที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ดเขายิงไป 8 ประตูเท่านั้นในทุกรายการ ซึ่งถือว่าสอบตกอย่างสิ้นสภาพในตำแหน่งผู้เล่นตัวรุกที่มีค่าตัว 1.4 ล้านปอนด์ตอนย้ายมา
หลังจากล้มเหลวที่อังกฤษ ยอร์ดี้ ย้ายคืนลาลีกาอีกครั้งเล่นให้ทั้งเซลต้าและอลาเบส โดยที่เสียงเปรียบเทียบเริ่มเบาบางลง เขาเริ่มหล่นไกลจากต้นไม้ไปทุกที
แกรี่ เนวิลล์ ที่เคยร่วมงานกันสมัยอยู่แมนฯยูไนเต็ดเล่าว่า ยอร์ดี้ ไม่ชอบเลยที่จะให้ใครเรียกว่า ครัฟฟ์
นี่คือชื่อและสกุลของพ่อที่เคารพรัก แต่มันกลับมาเป็นหนามแทงใจที่อาจทำให้ชีวิตค้าแข้งไม่รุ่งอย่างที่พ่อคาดหวังไว้
เขาภูมิใจที่เป็นลูกชายของนักเตะเทวดา แต่กลับไม่กล้าใช้ชื่อเดียวกับพ่อ
บางทีชีวิตมันก็ซับซ้อนเกินกว่าจะเข้าใจได้ง่ายๆเหมือนกัน
.
ทุกท่านสามารถติดตามอ่านบทความย้อนหลังได้ที่ ..
.
และเพิ่มเพื่อนไลน์แอด "เพื่อเด้งเตือน" ให้คุณได้อ่านก่อนใคร กดที่ลิงค์นี้ครับ
ขอบคุณครับ
โฆษณา