21 ม.ค. 2020 เวลา 02:00 • การศึกษา
กรณีศึกษา ไม้เรียว กับ ความแตกต่างทางยุคสมัย
ไม่ว่าผู้คนจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม หากทำมันด้วยความบกพร่องแล้วแน่นอนว่าคนนั้นๆ ก็จะได้รับคำวิจารณ์ไม่มากก็น้อย ใครจะรู้ได้ล่ะว่าความคิดเห็นของผู้คนจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และสังคมรอบตัวของคนคนนั้นจะตัดสินอย่างไร?
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้มีข่าวที่ครูรายหนึ่งถูกย้ายงานราชการด้วยสาเหตุคือตีเด็กนักเรียนจนเกินกว่าเหตุ พร้อมกับด่าทอนักเรียนรายดังกล่าวนี้ด้วยถ้อยคำหยาบคาย รุนแรงเกินกว่าเหตุ
ข่าวดังกล่าวนี้กลายเป็นที่คนบนสื่อสังคมออนไลน์ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และออกความคิดเห็นกันไปต่างๆ นาๆ และความคิดเห็นของกลุ่มคนเหล่านี้เองที่เป็นประเด็นน่าสนใจ เพราะความคิดเห็นของผู้คนบนสื่อสังคมออนไลน์นั้น หลักๆ แบ่งเป็นสองแบบ คือฝั่งที่เข้าใจครูรายนั้น และฝั่งที่สงสารเด็กนักเรียนที่ถูกทำโทษ
บางคนที่เห็นใจฝั่งครูก็ให้ความคิดเห็นว่าผู้คนสมัยก่อนถูกทำโทษด้วยการตีจนเป็นเรื่องธรรมดา อีกทั้งยังพูดถึงคนรุ่นใหม่ในสังคมปัจจุบันว่าเปราะบาง ไม่มีภูมิต้านทานทางจิตใจ หรือหนักกว่านั้นก็คือกล่าวว่าคนรุ่นใหม่นั้นแตะต้องไม่ได้
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งสงสารเด็กนักเรียนที่ถูกทำโทษนั้น ก็มีความคิดเห็นไปในทางตรงกันข้าม โดยกลุ่มคนเหล่านี้ได้ให้ความคิดเห็นว่าการตีไม่ได้มีประโยชน์ต่อการขัดเกลาสั่งสอนแต่อย่างใด และในทางตรงข้ามมันกลับส่งผลเสียต่อเด็กที่ถูกตี
เพราะเด็กคนนั้นจะเรียนรู้ถึงความรุนแรงจากการถูกตี และยอมศิโรราบเพราะกลัวถูกตีมากกว่าที่จะได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่ตัวเองได้ทำผิดลงไป
นอกจากนี้ หลายคนถึงขั้นออกมาเล่าประสบการณ์อันเลวร้ายที่ตนเองเคยถูกคุณครูในโรงเรียนทำโทษอย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุในวัยเด็ก
แต่สิ่งหนึ่งที่ข่าวอันโด่งดังนี้ได้แสดงออกมาให้เห็นก็คือ “การเปลี่ยนแปลงทางสังคม” ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
จากข่าวที่ยกมานี้ จะเห็นได้ว่าฝั่งหนึ่งเห็นดีเห็นงามกับทรรศคติและค่านิยมดั้งเดิมที่เคยมีมา แต่อีกฝั่งหนึ่งกลับไม่เห็นด้วย และโต้แย้งด้วยชุดความคิดที่แสดงออกมาว่าสิ่งเหล่านี้ต้องการพัฒนาให้ดีกว่าเดิม
นั่นคือส่วนหนึ่งของ “ความต้องการปรุงแต่งทางวัฒนธรรม” ที่ต้องการทำสังคมของตัวเองให้มีความเจริญงอกงามมากยิ่งขึ้น จึงทำให้มีการคิดค้น , ดัดแปลงขนบธรรมเนียม นั่นจึงทำให้คนรุ่นใหม่นั้นเกิดทัศนคติและความคิดในแบบใหม่ๆ
1
แต่ทั้งนี้ การจะทำให้ทุกคนในสังคมเห็นดีเห็นงามกับแนวความคิดแบบใหม่ทั้งหมดนั้นก็คงจะเป็นไปได้ยาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนในสังคมบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นเก่า ได้รับการปลูกฝังด้วยขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมที่มีมานานจนหยั่งรากฝังลึกเข้าไปในทัศนคติ และอาจไม่คุ้นชินกับสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่บางครั้งเหล่าผู้ใหญ่อาจไม่เข้าใจถึงความคิดของคนรุ่นใหม่
เช่นเดียวกันกับคนรุ่นใหม่ที่ถูกปลูกฝังด้วยค่านิยมของยุคปัจจุบันที่แตกต่างจากโลกในยุคสมัยที่ผ่านมา ก็อาจไม่เข้าใจถึงโลกในยุคสมัยก่อนหน้านี้ จึงไม่แปลกใจเลยที่หลายครั้งจะเห็นได้ว่าคนในรุ่นผู้ใหญ่ และคนในยุคสมัยใหม่อาจไม่เข้าใจในทัศนคติของกันและกัน
แต่ถึงจะอย่างไร สังคมก็จะเปลี่ยนแปลงต่อไปเรื่อยๆ ทางที่ดีที่สุด ก็คงจะเป็นการยอมรับความเห็นต่างและเท่าทันถึงการเปลี่ยนแปลงที่บางทีอาจไม่รู้ได้เลยว่าจะรวดเร็วแค่ไหน หรือจะไปในทิศทางใด
เขียนโดย : POLALOY
ภาพประกอบ : สมองไหล
อยากรู้เรื่องอะไร อยากอ่านบทความเเบบไหน ส่งคำถามมาให้ "สมองไหล" ได้ง่ายๆ เพียง “กดลิ้ง” ข้างล่างนี้ได้เลย
โฆษณา