21 ม.ค. 2020 เวลา 06:01 • กีฬา
GOLDEN EAGLE FESTIVAL : เทศกาลคืนชีพและต่อยอดตำนานนักล่าอินทรีทองคำ
ในชีวิตประจำวันของเรานั้นจะสามารถเลี้ยงนกอินทรีได้สักกี่คน?
แน่นอน น้อยจนสามารถนับนิ้วได้ และส่วนใหญ่จะต้องเป็นการเลี้ยงแบบมัดเชือก ขังกรงเอาไว้ดูเล่นเพื่อความสวยงามเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตามมีหนึ่งชนเผ่าจากประเทศมองโกเลีย ที่สามารถสั่งการให้นกอินทรีทอง สัตว์ปีกที่หยิ่งผยองและไม่ฟังคำสั่งใคร บินไปบนฟ้าและโฉบลงมาล่าสัตว์ตามที่พวกเขาสั่ง
ไม่มีการมัดเชือก ไม่มีการขังกรง มีเพียงการตะโกนบอก และจากนั้น นกอินทรีทอง ก็จะปิดจ็อบให้พวกเขาได้อย่างสวยงาม
พวกเขาสอนสัตว์ปีกที่หยิ่งผยองได้อย่างไร และทำไมกิจกรรมล่าสัตว์ด้วยนกอินทรีจึงมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางไปมองโกเลียเพื่อเห็นมันกับตา
ติดตามทั้งหมดได้ที่นี่
มองโกเลีย
"กีฬาพื้นบ้าน" การละเล่นที่มีในกลุ่มสังคมท้องถิ่น ต่างพื้นที่ต่างภูมิลำเนาก็จะมีวิถีที่ชีวิตที่ถูกต่อยอดนำมาเป็นกีฬาพื้นบ้าน ดังนั้นสำหรับท้องถิ่นที่มีอาชีพผูกพันกับการปศุสัตว์หรือการหากินกับการไล่ล่า จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่อาชีพเหล่านั้นจะกลายเป็นกีฬาพื้นบ้านไปโดยปริยาย
Photo : www.thenational.scot
ที่ไทยอาจจะมีวัว, นก หรือ ไก่ แต่ที่ มองโกเลีย นั้นเล่นใหญ่กว่านั้น กลุ่มลูกหลาน เจงกิสข่าน หนึ่งในนักรบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ อาศัยอยู่ในประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรน้อย พวกเขามีพื้นที่กว้างใหญ่ราว 1.5 ล้านตารางกิโลเมตร (ใหญ่กว่าประเทศไทย 3 เท่า) แต่มีประชากรราว 3 ล้านคนเท่านั้น ดังนั้นในพื้นที่อันเหลือเฟือและจำนวนสัตว์ป่าก็มากเพียงพอ อาชีพนายพรานจึงกลายเป็นกีฬา หรือกิจกรรมที่สร้างความบันเทิงได้ด้วยการใช้ทักษะดั้งเดิมของพวกเขา นั่นคือการใช้ "นกอินทรีทอง" เป็นเครื่องมือในการล่าสัตว์แทน
จุดเริ่มต้นของกีฬาชนิดนี้เกิดขึ้นมานานกว่า 4,000 ปี และสืบทอดกันเรื่อยมา ปัจจุบันมักจัดแข่งกันที่เมือง Bayan-Ulgii บริเวณชายแดนของมองโกเลียที่เชื่อมระหว่างประเทศรัสเซียและจีน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันเพราะมีเทือกเขาอัลไตอยู่ จนเปรียบเหมือนเป็นบ้านและดินแดนศักสิทธิ์ แม้เมืองนี้ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมองโกเลียเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 แต่พวกเขาก็ยังมีภาษา วัฒนธรรม และประเพณีเป็นของตัวเอง
ด้วยการเป็นศาสตร์ที่หาได้ยากในโลกปัจจุบัน การบังคับสัตว์สักชนิดให้ทำงานแทน ไม่ได้ใช้แค่แรงเท่านั้น อีกทั้ง "อินทรีทอง" คือสัตว์ปีกขนาดใหญ่ ที่ไม่ได้เชื่อฟังใครง่ายๆ ต้องใช้ความเชี่ยวชาญอย่างมาก
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ชาวมองโกเลียต้องปรับตัวให้ทันยุคทันสมัย เหล่าเชื้อสายนายพรานที่จะต้องสืบทอดตำแหน่ง "นักฝึกนกอินทรีทอง" ก็หันไปหาอาชีพการงานที่ตอบโจทย์ทางรายได้มากกว่า นั่นเองทำให้การฝึกนกอินทรีทองกลายเป็นของหาดูยากไปโดยปริยาย
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ในความหาดูยากนั้น กลับส่งประโยชน์ในอีกด้าน ด้วยความยากของกีฬาหรือการโชว์วิธีบังคับนกอินทรีทอง ก็กลายเป็นจุดมุ่งหมายของเหล่านักท่องเที่ยวและผู้ชอบผจญภัยที่อยากมาเห็นวิถีชีวิตของชาวมองโกล ว่าแท้จริงแล้วเป็นอย่างไรกันแน่ และการเห็นนกอินทรีทองโบยบินบนท้องฟ้าและโฉบลงมาสังหารเหยื่อก่อนจะนำมันบินกลับมาให้เจ้าของจะเป็นภาพที่สวยงามแค่ไหน
Photo : www.toursmongolia.com
ทุกวันนี้จากนักบังคับนกอินทรีทองที่เคยเป็นอาชีพและกีฬา ก็เปลี่ยนมาเป็นเทศกาลที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกตั้งตารอคอย โดย 1 ปีพวกเขาจะจัดงานกันที่ชื่อว่า Golden Eagle Festival ซึ่งเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นในทุกวันนี้
ภายในงานก็จะมีการแข่งขันทดสอบอินทรีทอง ทั้งความเร็ว ความว่องไว และความแม่นยำ อีกทั้งยังมีพิธีกรรม การเต้น และ กีฬาประเพณีของคนท้องถิ่น ดังนั้นเทศกาลดังกล่าวทำเงินในแง่การท่องเที่ยวให้กับคนท้องถิ่นได้อย่างยอดเยี่ยม
อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์นั้นมีไว้ให้ศึกษา ก่อนจะมาถึงจุดที่นักท่องเที่ยวต่างแดนสนใจ กลับมีเรื่องราวเบื้องหลังที่ยิ่งใหญ่ของเหล่านักล่าอินทรี ที่อยู่ยั้งยืนยงจากอดีตไม่น้อยเลยทีเดียว ...
คาซัค...นักรบอินทรีทอง
แม้เทศกาล Golden Eagle Festival จะถูกจัดขึ้นในประเทศ มองโกเลีย ทว่าความจริงแล้วรากของมันมาจากชาวคาซัค (คาซัคสถาน) ตั้งแต่โลกนี้ยังไม่มีคำว่าประเทศเลยด้วยซ้ำ
Photo : www.nomadasaurus.com
วิถีของชาวคาซัคคือการใช้ชีวิตแบบเร่ร่อน ทำอาชีพปศุสัตว์อย่างเลี้ยงม้าและแกะเป็นหลัก พวกเขาจะย้ายถิ่นฐานปีละ 3 ครั้ง โดยอาศัยในเต็นท์แทนบ้าน ซึ่งการอยู่กันแบบชนกลุ่มน้อยนี้จำเป็นจะต้องมีกลุ่มนักรบเป็นกองตัวเอง ในกรณีที่สมาชิกในเผ่าพันธุ์โดนทำร้ายหรือรังแก
ดังนั้นจึงเกิดกลุ่มนักรบอินทรีทองขึ้นมา ซึ่งนักรบเหล่านี้จะเป็นชายฉกรรจ์ในเผ่า และมีทักษะในการล่าสัตว์, ขี่ม้า และเลี้ยงนกอินทรีทอง ซึ่งนกอินทรีนี้เองที่พวกเขาใช้เป็นเครื่องมือในการล่าสัตว์เล็กอย่างจิ้งจอก และกระต่าย
วิธีการล่านั้นมีไม่กี่ขั้นตอน กลุ่มนายพราน หรือนักรบชาวคาซัคจะขึ้นไปอยู่บนหลังม้าเพื่อหาสัตว์ป่าที่หมายตา และเมื่อพวกเขาเจอแล้ว ก็จะปล่อยให้นกอินทรีทองบินขึ้นไปบนฟ้าและใช้ความเร็วกว่า 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โฉบลงมาจับเหยื่อและนำมันมามอบกับผู้ที่สั่งการมัน
แม้จะน้อยขั้นตอนแต่มากด้วยรายละเอียด เพราะกว่าที่ชาวคาซัคจะสามารถบังคับนกอินทรีทองได้สักตัวไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขาจะเริ่มต้นด้วยการจับอินทรีหนุ่มอายุ 2 ปีซึ่งเป็นสัตว์ปีกท้องถิ่นของเทือกเขาอัลไต หลังจากนั้นก็จะมีการฝึกตามแบบฉบับที่บรรพบุรุษสืบทอดต่อกันมา ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นจุดที่ยากที่สุด
ชาวคาซัคจะจับนกหนุ่มมามัดขาไว้ 1 ข้างและผูกติดเอาไว้ และเมื่อมัดไว้แค่ขาข้างเดียวนกจึงสามารถบินได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเมื่อไปสุดระยะของเชือกมันก็จะตกลงมา โดยปกติแล้วนกอินทรีทองจะบินไปเรื่อยๆ เพื่อพยายามหนีจนกว่ามันจะหมดแรงและรับสภาพว่าตัวเองถูกจับ แต่ในระหว่างนั้นชาวคาซัคจะมีวิธีการที่ใช้กล่อมนกเหล่านี้ให้เชื่อฟังพวกเขาด้วยการใช้ "เสียง"
1
Photo : indy-guide.com
เจ้าของนกอินทรีจะพูดคุยหรือร้องเพลงกับนกอินทรีไปตลอดในช่วงที่มันพยายามจะหนี จนกระทั่งหมดแรงและกลายเป็น "เชื่อง" ในท้ายที่สุด กิจกรรมดังกล่าวจะใข้เวลาราวๆ 2 วัน เพื่อที่จากนั้นว่ากันว่า นกอินทรีจะสามารถแยกเสียงของมนุษย์ทั่วไปกับเจ้าของของมันได้ ... และมันยังไม่จบแค่นั้น
เมื่อนกอินทรีทองเริ่มเชื่อฟังเจ้าของแล้ว เจ้าของจะต้องดูแลประคบประหงมมันอย่างดีต่อเนื่องทุกๆ วันไม่มีวันหยุด โดยช่วงนี้จะเป็นการฝึกให้นกเริ่มบินไปล่าสัตว์และบินกลับมาหาเจ้าของ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวต้องใช้เวลาราว 3-4 ปี กว่าที่นกตัวหนึ่งจะกลายเป็นนักล่ามืออาชีพ แค่เจ้าของของมันให้ดมกลิ่นขนของสัตว์ที่เป็นเหยื่อ มันก็พร้อมที่จะบินไปหาและนำกลับมาให้อย่างสุดความสามารถแล้ว
"ในช่วงนี้นกอินทรีจะได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพและอ่อนโยนเป็นอย่างมาก เจ้าของของนกอินทรีจะร้องเพลงและส่งเสียงตลอดเพื่อให้มันถูกฝังไปในความทรงจำ" มัสซิโม่ รูมี่ ช่างภาพมืออาชีพ เล่าให้ Daily Mail ที่เขาได้ไปถ่ายและสัมผัสมา
หากนกและคนเข้าใจในทิศทางเดียวกันแล้วก็ไม่จำเป็นต้องมัดเชือกอีกต่อไป อินทรีทอง จะจำเจ้าของของมันได้และสามารถรับคำสั่งได้โดยตรง ขอแค่เพียงได้ดมกลิ่นเท่านั้นว่าวันนี้สัตว์ชนิดใดเป็นเหยื่อของมันเท่านั้นเอง
ว่ากันว่าหากนกตัวไหนที่เชี่ยวชาญมากๆ พวกมันจะเลือกโฉบเหยื่อแบบให้เหยื่อเจ็บและมีบาดแผลน้อยที่สุด เพื่อให้เจ้าของของมันสามารถนำชิ้นส่วนอย่างขนหรือหางไปขายต่อได้ในราคาที่ดีกว่าเดิม
Photo : www.responsibletravel.com
นี่คือรายละเอียดปลีกย่อยที่เปิดเผยมาเท่านั้น เพราะยังมีขั้นตอนอีกมากมายที่โลกยังไม่อาจบันทึกได้ แต่ชาวคาซัคยืนยันว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะจับนกอินทรีทองมาและฝึกสอนจนกลายเป็นหนึ่งเดียวกับมันได้ มีปัจจัยหลายอย่าง อาทิ บุคลิกของคนเลี้ยง และบุคลิกของนก ซึ่งถ้าหากเคมีไม่เข้ากัน ไม่ว่าทำอย่างไรนกอินทรีก็จะไม่ฟังคำสั่งและปฏิบัติตามได้อย่างมีประสิทธิภาพเลย
"ระหว่างที่ผมติดตามการล่าด้วยนกอินทรีทองของพวกเขา ผมมีความเคารพพวกเขาอย่างมากในการดูแลและปฏิบัติต่อนกอินทรีเหมือนกับเป็นลูกของพวกเขาเลย และเมื่อถึงเวลาครบวาระการล่า พวกเขาจะปล่อยนกอินทรีคืนสู่ป่าไปตามวิถีทาง" มัสซิโม่ กล่าวเสริม
โลกที่เปลี่ยนไป...
แม้อาชีพคนฝึกนกอินทรีทองจะเป็นศาสตร์ขั้นสูง และได้รับการยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวคาซัค (สังเกตได้จากธงชาติคาซัคสถานที่เป็นรูปพระอาทิตย์และนกอินทรีสีทอง) แต่ด้วยความยากในการฝึกและโลกยุคใหม่ จึงทำให้ชาวคาซัคในมองโกเลียหลายคนเริ่มจะให้ความสำคัญกับมันน้อยลงไปเรื่อยๆ
Photo : www.alaraby.co.uk
จนถึงทุกวันนี้มีนักล่านกทรีทองอยู่ราวๆ 250 คนเท่านั้น ส่วนใหญ่มักอยู่ในวัยที่อายุมากกว่า 40 ปีทั้งสิ้น ซึ่งในจำนวนนี้มีอีก 50-60 คนที่เป็นเหมือนจอมยุทธ์ที่ปลีกวิเวกไม่ชอบสังคมใหญ่ ไม่ชอบที่ที่คนพลุกพล่าน มีเสียงรถ, เสียงไซเรน หรืออะไรก็ตามที่ทำให้การฝึกนกของพวกเขาที่จำเป็นจะต้องใช้เสียงเป็นไปได้ยากยิ่งกว่าเดิม ดังนั้นแม้แต่งานที่เป็นชื่อเสียงอย่าง Golden Eagle Festival ก็ยากที่จะได้เห็นพวกเขาปรากฎตัว
พวกเขาเหล่านี้จึงต้องอยู่ลึกเข้าไปในที่รกร้างยิ่งกว่าเดิม ซึ่งว่ากันว่ามีสภาพอากาศที่หนาวติดลบ 40 องศาเซลเซียส ด้วยความลำบากเช่นนี้จึงทำให้ชาวคาซัครุ่นใหม่หลายคน ไม่คิดสืบทอดสิ่งที่บรรพบุรุษส่งต่อกันมาก ปัจจุบันมีหลายครอบครัวที่ย้ายไปอยู่เมืองใหญ่ ไปทำงาน หาเงินที่ได้เงินรวดเร็วและแน่นอนกว่าการเลี้ยงนกอินทรีทองเพื่อล่าสัตว์หรือโชว์ในงานเทศกาล
นอกจากเรื่องของปากท้องแล้วก็ยังมี่เรื่องของกฎหมายบ้านเมือง ที่ปัจจุบันผู้ชายชาวมองโกเลียจะต้องไปเกณฑ์ทหารเข้าสู่กองทัพ จึงทำให้การสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมไม่สามารถทำได้ง่ายๆ อย่างที่คิด
"ความอดอยาก โลกปัจจุบัน และความศิวิไลซ์ ทำให้ผู้คนที่นี่ไม่มีเวลาที่จะกังวลและวุ่นวายกับการเลี้ยงนกอินทรีทองแล้ว" Yepemes Alimkhanov เจ้าหน้าที่ของรัฐที่รับผิดชอบด้านการฟื้นฟูกิจกรรมกีฬาระดับชาติกล่าว
โลกที่เปลี่ยนไป...อีกครั้ง
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่สำหรับชาวคาซัคในมองโกเลียและนักล่าอินทรีทองกลับมาอย่างรวดเร็ว เมื่อโลกมาถึงยุคโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คเฟื่องฟู อินเตอร์เน็ต แพร่หลายไปทั่วโลก เมื่อนั้นโลกทั้งใบก็เล็กลงและสามารถถึงกันได้ขอเพียงแค่มีอินเตอร์เน็ตเท่านั้น
Photo : www.nomadictrails.com
เทศกาล Golden Eagle Festival มีเชื่อเสียงมากขึ้นหลังจากเข้าสู่ยุค 2010 เป็นต้นมา เมื่อเหล่าช่างภาพ และทีมงานสารคดีต่างๆ เดินทางไปถ่ายทำและเก็บเกี่ยวภาพสวยๆ มาอวดโฉม ทำให้ มองโกเลีย และเทศกาล Golden Eagle Festival เป็นกิจกรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยในทุกๆ การจัดงานนั้นมีจำนวนผู้เข้ามาชมที่เป็นคนนอกท้องที่เข้ามาการแข่งขันกว่า 10,000 คนเลยทีเดียว
และเมื่อการถ่ายทอดความรู้ ความหมาย และคุณค่าของคนเลี้ยงนกอินทรีทอง ทำให้ทุกอย่างกลายเป็นที่สนใจ และสุดท้ายมันก็เปลี่ยนแปลงเป็นมูลค่าที่สามารถทำเงินให้กับคนท้องถิ่นได้ไม่น้อย ทุกวันนี้ว่ากันว่านกอินทรี 1 ตัวมีมูลค่ามากถึง 12,000-15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว
เหนือสิ่งอื่นใดนอกจากการเปลี่ยนแปลงในฐานะคนนอกแล้ว การเปลี่ยนแปลงของคนในท้องถิ่นก็มีไม่น้อย พวกเขาหลายคนมองเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษสร้างมาให้ และเริ่มสร้างแรงกระเพื่อมขึ้นมาเล็กๆ แล้วในตอนนี้
มีเรื่องหนึ่งที่หลายสื่อนำเสนอไปทั่วโลกในช่วง 5 ปีก่อน เป็นข่าวเกี่ยวกับ Ashol Pan เด็กหญิงวัย 13 ปีชาวมองโกเลียเชื้อสายคาซัค ที่สามารถฝึกนกอินทรีทองได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นเลย เพราะในอดีตชาวมองโกลส่วนใหญ่จะให้ลูกชายคนโตในการออกล่าสัตว์ หาอาหาร จึงไม่มีผู้หญิงได้รับการถ่ายทอดสักเท่าไรนัก
โดยจุดเริ่มต้นที่เรื่องราวของเธอถูกถ่ายทอดนั้นเกิดจาก Asher Svidensky ช่างภาพชาวรัสเซีย ที่ตั้งใจจะไปถ่ายเรื่องราวของนักล่าอินทรีทองยุคปัจจุบัน แต่เขาก็ได้เจอกับ Ashol Pan ที่ทำในสิ่งที่แม้แต่ชายอายุ 30 ปีก็ยังทำไม่ได้
"ผมจำได้ดี สิ่งที่เธอทำมันดูนุ่มนวลและเชี่ยวชาญมาก ในทางเดียวกันมันก็มีพลังมากขึ้น คุณไม่สามารถควบคุมนกอินทรีได้เลยนะเอาจริงๆ แต่สิ่งที่เธอทำนั้น เธอสามารถสั่งมันไปทำอะไรก็ได้ เธอแค่บอกมันว่าเธออยากได้อะไรหลังจากนั้นมันก็จะไปหามาให้และบินกลับมาหาเธอ ... มันอเมซิ่งจริงๆ" ช่างภาพชาวรัสเซียกล่าว
1
Photo : www.discoveraltai.com
จากนั้นเรื่องราวของ Ashol Pan ก็ถูกเผยแพร่ไป และนำมาซึ่งการถ่ายภาพยนตร์สารคดีชีวิตจนกลายเป็นไวรัลไปทั่วโลกอินเตอร์เน็ต สร้างชื่อเสียงให้กับวัฒนธรรมชาวคาซัคในมองโกล และเทศกาลอินทรีทองคำมากขึ้นเป็นอย่างมาก
ปัจจุบัน Ashol Pan เปรียบเสมือนตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวคาซัคให้เข้ากับยุคสมัย เพราะไม่จำเป็นว่านักล่าจะต้องเป็นเฉพาะผู้ชายเท่านั้น ซึ่งนั่นเท่ากับว่าต่อจากนี้จะมีผู้สืบทอดวัฒนธรรมการเลี้ยงอินทรีทองเพื่อการล่า หรือการท่องเที่ยวมากขึ้น และเมื่อมันเป็นเช่นนั้น นักล่าอินทรีทองก็จะไม่เหลือเพียงชื่อและกลายเป็นตำนานเหมือนที่ใครเป็นห่วงกัน
บทความโดย ชยันธร ใจมูล
โฆษณา