21 ม.ค. 2020 เวลา 10:39 • ไลฟ์สไตล์
บ้านสำหรับผู้สูงวัย
เชื่อว่าหลายบ้านก็มีผู้อาวุโสเป็นสมาชิกในบ้าน ซึ่งเป็นบุคคลที่เรารัก เคารพและต้องการดูแลท่านให้ดีที่สุด
ผู้สูงวัยเหล่านี้ มีสภาวะแตกต่างกันไป ซึ่งเราอาจแบ่งการดูแลได้ดังนี้
A. ผู้สูงวัยที่สามารถดูแลตนเองได้
B. ผู้ที่ต้องมีคนช่วยดูแลในบางเรื่อง เช่นพาเข้าห้องน้ำ
C. ผู้ที่นอนติดเตียง ไม่สามารถดูแลตนเองได้
เรามาดูกันนะครับว่า มีวิธีไหนบ้างที่จะปรับปรุงที่พักอาศัยของเราให้ตอบสนองการใช้งานของคนที่เรารักได้มากที่สุด รวมไปถึงช่วยป้องกันและลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับ การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองได้นั้นเป็นเรื่องที่ดีและควรทำ เพราะทำให้ท่านมีความภูมิใจ ไม่รู้สึกเป็นภาระ และยังเอื้อให้เกิดการบริหารกล้ามเนื้อรวมไปถึงการช่วยบริหารสมองอีกด้วย
แต่การให้ท่านดูแลตัวเอง ไม่ใช่การปล่อยปละไม่สนใจนะครับ เราสามารถสร้างสุขภาวะที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตประจำวันของท่านและให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขโดยไม่รู้สึกเป็นภาระจนนำไปสู่ความเครียดอื่นๆ
มาดูกันครับว่า เราทำอะไรให้ท่านได้บ้าง
1.พื้น
สำหรับผู้สูงอายุ การหกล้มคือสิ่งที่ต้องระวังให้มากที่สุด ดังนั้นพื้นของบ้าน จะต้องไม่ลื่นและไม่ควรมีสเต็ป  หรือถ้าหลีกเลี่ยงสเต๊ปไม่ได้ ต้องหาตัวช่วยเช่น ทำทางลาดเสริม(ramp)หรือทำราวจับเพิ่ม
สำหรับทางลาด ความชันที่เหมาะกับผู้สูงอายุคือ 1:12 หมายถึง ถ้าระดับมีความสูง 1 เมตร ก็ต้องมีระยะตามแนวนอน 12 เมตร
ส่วนความสูงของราวจับจะสูงจากพื้นประมาณ 80-90 เซนติเมตร ควรเป็นราวกลม ไม่มีเหลี่ยมมุมให้รู้สึกจับไม่ถนัดมือ
เรื่องอื่นๆของพื้นที่ไม่ควรละเลยก็เช่น
พื้นห้องควรเป็นสีสว่างไม่ลายตา ไม่เก็บฝุ่น ไม่ลามไฟ รวมไปถึง ถ้าเป็นพื้นช่วยลดแรงกระแทกก็จะลดอันตรายลงได้บ้างเวลาผู้สูงอายุหกล้ม (พื้นลดแรงกระแทกจะเป็นพื้นที่มีวัสดุแกนหลักเป็นโฟม ขณะนี้มีหลายแบรนด์ที่ทำขาย)
2.ห้องน้ำ 
สิ่งที่ควรเพิ่มเติมจากมาตรฐานห้องน้ำ(ดูเรื่องการออกแบบห้องน้ำในตอนก่อนหน้านี้ได้ครับ) คือ ประตู ควรกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร เพื่อให้รถวีลแชร์เข้าได้และควรทำเป็นประตูบานเลื่อนเพราะการเปิดไม่จำเป็นต้องเอี้ยวตัวมากเหมือนบานเปิด
มือจับประตูและสุขภัณฑ์ควรเป็นแบบก้านโยกที่ไม่ต้องออกแรงนิ้วและข้อมือมากนัก
มีราวจับเสริมตามตำแหน่งต่างๆของสุขภัณฑ์
อ่างล้างมือควรเป็นแบบอ่างลอยที่มีพื้นที่ใต้อ่างให้สอดวีลแชร์เข้าไปได้
และถ้ามีพื้นที่ ควรเผื่อพื้นที่การเคลื่อนที่และกลับตัวของวีลแชร์ไว้ด้วย
พื้นที่อาบน้ำที่เป็นส่วนเปียก ก็ไม่ควรมีสเต็ป ส่วนการป้องกันน้ำ เราสามารถใช้วิธีทำร่องหรือรางน้ำแบบมีฝาปิดด้านบนเพื่อช่วยกันและระบายน้ำแทนได้ และถ้ายังพอมีพื้นที่ อาจทำเป็นที่นั่งให้ผู้สูงอายุสามารถนั่งเพื่อทำความสะอาดส่วนล่างของร่างกายแทนการก้ม ก็จะช่วยลดการก้มๆเงยๆที่จะเสี่ยงต่อการหน้ามืดเป็นลมได้
** เดี๋ยวนี้ มีตู้อาบน้ำ ที่บานประตูเปิดได้ 4 บาน โดยแบ่งเปิดซ้าย-ขวา บน-ล่างได้ เพื่อช่วยให้ผู้ดูแลสามารถช่วยอาบน้ำผู้สูงอายุโดยผู้ดูแลก็ไม่เปียก
3.ห้องครัว
ผู้สูงอายุหลายท่านยังชอบที่จะประกอบอาหารเอง เพราะใครทำให้ก็ยังไม่ถูกปาก ดังนั้นที่ทางในครัวก็เป็นสิ่งที่ควรต้องคำนึงถึง โดยพื้นฐานก็ยังเหมือนกับการออกแบบห้องน้ำ คือ ไม่ลื่น ใช้งานได้โดยสะดวก และ ปลอดภัย
เราอาจจะใช้เตาแบบเตาแม่เหล็กไฟฟ้าแทนเตาแก๊ส ซึ่งเป็นเตาที่เกิดความร้อนเฉพาะกับภาชนะที่เป็นโลหะ ไม่มีเปลวไฟหรือเป็นอันตรายในกรณีที่ลืมเปิดเตาทิ้งไว้
ระดับโต๊ะ-เคาน์เตอร์ สูงจากพื้น 80 เซนติเมตร
ด้านล่างของอ่างล่างมือ ควรโล่ง สำหรับรถวีลแชร์
เตา ตู้เย็น ลิ้นชักในครัว ไม่ควรอยู่ในซอกหรือมุมที่ยากในการใช้งาน
และอย่าเก็บสิ่งของที่จำเป็นต่างๆอยู่ในตู้สูงที่ต้องปีนขึ้นไปหยิบ ถ้าจะใช้เป็นตู้แขวน ให้อยู่ในระดับที่ 150-168 เซนติเมตร ที่เอื้อมหยิบได้สะดวก
4.บรรยากาศ
ผู้สูงอายุหลายท่าน ไม่สะดวกที่จะออกนอกบ้าน บางท่านอาศัยอยู่แต่ในห้องเดียวนานๆ เราก็ควรทำที่พักของท่านให้บรรยากาศน่าอยู่ขึ้น
เริ่มต้นจากการสอบถามถึงความต้องการของผู้อยู่ว่าอยากได้อะไรบ้าง แต่ถ้าผู้สูงอายุบางท่านเริ่มอยู่ในช่วงไม่แสดงความคิดเห็นแล้ว เราผู้เป็นลูกหลานก็อาจจะลองคิดในมุมมองของท่านว่า ท่านน่าจะอยากได้อะไรบ้าง แทนการคิดจากความต้องการของเราฝ่ายเดียว
โดยทั่วไปก็ควรจะมีความสว่างพอสมควร มีอากาศถ่ายเทที่ดี อาจทำขอบล่างของหน้าต่างให้ต่ำกว่าปกติสักเล็กน้อย เพื่อให้มองวิวได้ในกรณีที่นอนอยู่บนเตียง  อาจมีระเบียงให้นั่งเล่น รวมไปถึงการมีไม้กระถางเล็กๆหรือมีสัตว์เลี้ยง ซึ่งก็จะช่วยคลายเหงาให้ท่านได้เป็นอย่างดี
ควรจะคิดเผื่อตำแหน่งติดตั้งอุปกรณ์แก้เบื่อและให้ความบันเทิงต่างๆสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ตำแหน่งที่วางโทรทัศน์ สเตอริโอ ที่สะดวกต่อการใช้งาน
ตำแหน่งโคมไฟอ่านหนังสือ สวิตช์และปลั๊กติดสูงจากพื้นประมาณ 90 เซนติเมตรเพื่อจะได้ไม่ต้องก้ม สวิตช์ไฟควรมีขนาดใหญ่กว่าปกติและมีแสงเมื่อปิดสวิตช์  
และที่สำคัญ อย่าลืม จุดสำหรับชาร์ตแบตเตอรี่โทรศัพท์หรือแท็บเลตที่หยิบใช้งานได้โดยสะดวกด้วยนะครับ
5.อุปกรณ์เสริม
คือตัวช่วยต่างๆที่เราสามารถนำมาติดตั้งเพิ่มเติมเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้สูงอายุได้มากขึ้น เช่น
- โคมไฟแสงสว่างที่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว ซึ่งจะช่วยให้แสงสว่างในขณะที่ท่านเดินผ่านยามค่ำคืน ซึ่งอาจจะติดบริเวณใกล้เตียง หรือ ทางเดินไปห้องน้ำก็ได้
- เตียงนอน มีทั้งแบบปรับระดับสูงต่ำ ปรับความลาดเอียง รวมไปถึงเตียงที่ช่วยให้ไม่เกิดแผลกดทับในกรณีเป็นผู้ป่วยติดเตียง
ความสูงของเตียงควรสูงประมาณ 40 เซนติเมตร (สูงเท่าระดับพื้นถึงข้อพับเข่า)  มีระยะโดยรอบ 90 เซนติเมตรทั้งสามด้าน เพื่อสะดวกในการเข็นวีลแชร์และสำหรับผู้ดูแลในการอุ้มหรือเปลี่ยนเสื้อผ้าให้กับผู้สูงอายุ
- กริ่งฉุกเฉิน ที่ส่งสัญญาณให้ลูกหลานรับรู้ ยามที่ท่านเกิดปัญหา
- กล้องวงจรปิด CCTV. เมื่อเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ทโฟนก็สามารถใช้เป็นหูเป็นตาแทนลูกหลานในกรณีที่ไม่สามารถอยู่ดูแลข้างกายท่านได้ บางรุ่นสามารถใช้พูดจาโต้ตอบกัน ก็เป็นตัวช่วยตัวหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกอุ่นใจมากขึ้น ยามที่ต้องอยู่บ้านคนเดียว
- อุปกรณ์สมาร์ทโฮมต่างๆ ที่เดี๋ยวนี้สามารถใช้สัญญาณ Wifi เชื่อมต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าหลากหลายชนิดให้ทำงานผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน ทั้งระบบวัดอัตราการเต้นของหัวใจ วัดระดับออกซิเจน ระบบปรับอากาศ ระบบสั่งการด้วยเสียงและระบบไฟแสงสว่างอัตโนมัติ เป็นต้น
'ซิซีเลีย อเฮิร์น' นักเขียนชาวไอริส เคยกล่าวไว้ว่า
'บ้านไม่ใช่เพียงแค่ที่อยู่อาศัย แต่มันคือความรู้สึก'
จะช่วยให้เราตะหนักถึงความหมายของบ้านได้มากขึ้น โดยเฉพาะกับพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายของเรา ที่ท่านต้องใช้เวลาอยู่ในบ้านมากเหลือเกินในแต่ละวัน
เรามาทำที่พักอาศัยให้เป็นบ้านจริงๆสำหรับคนที่เรารักกันเถอะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา